สมัยฉันเพิ่งรู้จักรามยอนแรกๆ แปลกใจไม่น้อยว่าทำไมคนเกาหลีถึงได้กินรามยอนกันอย่างเอร็ดอร่อยและกินกันทุกที่ทุกเวลาขนาดนั้น ทั้งที่รามยอนนั้นจริงๆ แล้วก็คือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปธรรมดาๆ นี่เองแหละ แค่มากับเส้นที่เหนียว หนึบ และมีขนาดใหญ่กว่าบะหมี่กึ่งฯ บ้านเรา ความที่เป็นคนไทยอ่ะเนอะ เราก็ไม่ค่อยจะกินบะหมี่กึ่งฯ กันอย่างจริงจังเป็นล่ำเป็นสันขนาดนั้น อาจจะกินบ่อยหน่อยก็ช่วงสิ้นเดือน >< แต่ชาวเกาหลีกินรามยอนกันทุกเมื่อ แถมกินกันทุกชนชั้นไม่ว่าจะรวยจน ใครติดตามวงการบันเทิงเกาหลีจะเห็นได้ว่าทั้งไอดอลสุดดังทั้งนักแสดงสุดฮอต ทุกคนล้วนแล้วแต่กินรามยอน ฉะนั้น มันจึงมันไม่ใช่อาหารคนจนหรืออาหารสิ้นเดือนแบบบ้านเรา เอ๊ะ บะหมี่กึ่งฯ เหมือนกันทำไมไม่เหมือนกัน
เมื่อสงสัยก็ต้องหาคำตอบ มาค่ะ ตามมาดูเรื่องราวของรามยอนตั้งแต่จุดเริ่มต้นสู่การเป็นอาหารที่ represent ความเป็นเกาหลีแบบทั้งโลกรู้จักกันในปัจจุบัน
รามยอนถือกำเนิดขึ้นกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว ในยุคสงครามเกาหลีที่ก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก รามยอนแบรนด์แรกในเกาหลีคือซัมยัง (Samyang) ที่นำเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมาใช้ในการผลิตเมื่อปี 1963 ขายเพียงซองละ 10 วอน (ประมาณ 0.3 บาท) ช่วงแรกก็แน่นอนว่าไม่ได้รับความสนใจจากชาวเกาหลีมากนัก เพราะเกาหลีก็เหมือนไทยตรงที่นิยมบริโภคข้าวมากกว่าเส้น แถมด้วยความแปลกใหม่ของหน้าตา เส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอะไรที่ชาวเกาไม่คุ้นเคย ถึงขั้นที่มีคนเข้าใจผิดว่ารามยอนคืออาหารปลอมที่ทำมาจากเส้นด้าย ไม่ก็ทำมาจากพลาสติกแน่ๆ จนต้องมีการจัดงานชิมรามยอนฟรีเพื่อให้ทุกคนรู้จักและกล้ากิน
ซัมยังโปรโมทรามยอนอย่างจริงจังในช่วงเวลา 1 ปีด้วยการออกบู้ธตามโรงภาพยนตร์ สวนสาธารณะ กระทั่งถนน เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย (แน่นอนต้องมีให้ชิมฟรี) ด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวดนี้เอง รามยอนก็ค่อยๆ เป็นที่รู้จักและกลายเป็นอาหารโปรดของคนเกาหลีในที่สุด กระทั่งทศวรรษ 1960 สงครามเกาหลีสิ้นสุดลง แต่ก็ทิ้งความยับเยินไว้ให้ เกาหลีใต้ตกอยู่ในสภาพยากจนและขาดแคลนอาหาร รามยอนจึงกลายเป็นอาหารแก้หิวและกินได้อิ่มท้อง แถมราคาถูกจนถูกเรียกว่า ‘ข้าวอย่างที่ 2’
บวกกับปี 1965 รัฐบาลเกาหลีได้ใช้นโยบาย ‘อาหารแบบผสม’ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนข้าวของประชาชน แทนที่จะกินข้าวทั้งหมด ก็ให้กินข้าวกับธัญพืชและอาหารที่ทำจากแป้ง นโยบายนี้ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตรามยอนที่รัฐสนับสนุนยิ่งเติบโต
แรกๆ นั้นรามยอนต้นตำรับทำจากซุปสีขาวที่ทำจากไก่ซึ่งไม่ถูกปากคนเกาหลีส่วนใหญ่ที่ชอบรสชาติเผ็ด พอถึงปี 1966 ประธานพัคชองฮีแห่งซัมยัง ผู้ชื่นชอบรามยอน เลยแนะนำว่าควรใส่พริกป่นลงใป เมื่อประธานบริษัทแนะนำมาทั้งที มีหรือจะเพิกเฉยได้ ซัมยังเลยปรับเปลี่ยนสูตรใหม่ ระหว่างนั้นก็มีการจัดกิจกรรมชิมฟรีเพื่อสำรวจและปรับปรุงให้ถูกปากคนเกาหลี ผลลัพธ์คือการพลิกโฉมอุตสาหกรรมรามยอนไปเลย เมื่อซัมยังเปลี่ยนมาใช้น้ำซุปที่ทำจากเนื้อและ ‘ยุคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ ก็ได้เริ่มต้นขึ้น พอถึงปี 1969 ก็มีการขายรามยอนไปแล้วถึง 15 ล้านห่อ ถัดมาอีกปีเดียวคือ 1970 ก็แตกไลน์ผลิตภัณฑ์อย่างจาจังมยอน คัลกุกซู แนงมยอนออกมาเพิ่ม
ตั้งแต่ปี 1990 อุตสาหกรรมรามยอนของเกาหลีเรียกได้ว่าเผชิญกับความท้าทายสุดๆ เนื่องจากในตลาดมีผู้ผลิตหลายเจ้า ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย รสชาติก็หลากหลาย เพื่อตอบสนองรสนิยมของผู้บริโภค ขนาดของตลาดรามยอนมีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านวอน ปี 2000 เกาหลีเริ่มส่งออกรามยอนไปต่างประเทศ บริษัทนงชิมขยายตลาดเปิดโรงงานในจีนและที่สหรัฐอเมริกา ปี 2003 บริษัทบิงเกถอนตัวออกจากตลาดรามยอน ทำให้เกาหลีมีบริษัทผลิตรามยอน 4 แห่ง ได้แก่ Nongshim, Samyang, Ottogi, Paldo
ปี 2011 ตลาดรามยอนของเกาหลีคึกคักอีกครั้งกับ ‘น้ำซุปสีขาว’ เมื่อ Paldo เปิดตัวบะหมี่ Kkokkomyeon ที่ช่วยให้ตลาดรามยอนเติบโตถึง 2 ล้านล้านวอน แต่ ‘น้ำซุปสีขาว’ ก็มีชื่อเสียงเพียง 2 ปีเท่านั้น และอีก 2 ปีต่อมาตลาดรามยอนก็กลับมาเป็นน้ำซุปสีแดงเหมือนเดิม จนถึงทุกวันนี้ที่ก็น่าจะเห็นกันว่ารามยอนเกาหลีเกือบทั้งหมดมาพร้อมน้ำซุปสีแดงรสชาติเผ็ดร้อน
ความคลั่งใคล้ที่คนเกาหลีมีต่อรามยอนปรากฎชัดเจนในรูปของสถิติ ผลสำรวจจากสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก (World Instant Noodles Association: WINA) ระบุว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในอัตราส่วนต่อหนึ่งคนแล้วเป็นปริมาณที่มากที่สุดในโลก จากสถิติเมื่อปี 2019 โดยเฉลี่ยแล้วคนเกาหลีบริโภครามยอนเป็นจำนวนราวๆ 75 ซองต่อคนต่อปี
รามยอนกับชาวเกาหลีนั้นอยู่คู่กันเสมอ จากข่าวปี 2016 ที่เกิดอุบัติเหตุที่รถไฟฟ้าใต้ดินจนมีผู้เสียชีวิต ในที่เกิดเหตุพบบะหมี่ถ้วยกระเด็นออกมาจากกระเป๋าของผู้เสียชีวิต ปี 2018 คนงานในโรงงานไฟฟ้าเสียชีวิต หนึ่งในของส่วนตัวที่เขาพกไว้คือบะหมี่ถ้วย ในข่าวพูดถึงรามยอนว่าเป็นสัญลักษณ์ของคนที่ทำงานหนัก ไม่มีเวลา และใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก แต่นอกเหนือจากการเป็นสิ่งสะท้อนถึงความยากลำบากของคนเกาหลี ตั้งแต่ยุคหลังสงครามไปจนถึงความดิ้นรนของคนในสังคมเกาหลี ยังมีอีกแง่มุมหนึ่งจากอาจารย์ยังเจซุก อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอินเจ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอาหารเอเชียตะวันออก ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนเกาหลีกับรามยอนไว้ว่า “หากไม่มีรามยอนชีวิตเราคงเปล่าเปลี่ยวเหลือเกิน รามยอนเป็นทั้งสมาชิกในครอบครัวและเป็นเพื่อนที่คอยปลอบประโลมร่างกายและจิตใจเราเสมอมา”
ก็อย่างที่ฉันตั้งข้อสังเกตุไปตอนแรก ในมุมหนึ่งรามยอนอาจจะเกิดขึ้นมาในช่วงเวลาที่ขาดแคลนและกลายเป็นสัญลักษณ์ของคนที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก แต่ก็ยังมีอีกมุมหนึ่งที่บอกว่ารามยอนเป็นเสมือนอาหารประจำชาติ ที่ไม่ว่าจะคนยากลำบากหรือสุขสบายก็กินได้เหมือนกัน นอกจากที่เห็นได้ชัดเจนในชีวิตจริงอย่างที่ฉันบอกไปว่าไอดอลและนักแสดงที่มีรายได้หลายพันล้านวอนก็ยังคงเอนจอยกับการนั่งซู้ดเส้นรามยอนที่บ้าน หลักฐานอีกอย่างก็คือเมนูจาปากูรี ในภาพยนตร์เรื่อง Parasite ที่นำเอารามยอน 2 สูตร ได้แก่ จาปาเกตตี กับ นอกูรี มาผสมกัน และใส่เนื้อวัวอย่างดีลงไป ถือว่าเป็นการกินรามยอนในแบบฉบับคนรวย Parasite นี่เองที่ทำให้จาปากูรีกลายเป็นไอคอนทางวัฒนธรรม ไม่รวมซอฟต์พาวเวอร์ที่มากับภาพไอดอลนั่งกินรามยอน เหล่าเอ็มซีในรายการวาไรตี้ชวนแขกรับเชิญกินรามยอน หรือภาพการกินรามยอนในซีรี่ส์เรื่องต่างๆ
เมื่อซอฟต์พาวเวอร์ทำงานอย่างได้ผล บวกกับการระบาดของโควิด-19 ทำให้รามยอนที่มีราคาต่ำ (สำหรับคนเกาหลีนะ ในบ้านเราราคาไม่ต่ำเลยสักนิด) และสามารถเก็บรักษาได้นานยิ่งทวีความนิยม ไม่ใช่แค่ในประเทศเกาหลีเอง แต่ไปถึงระดับโลกกันเลย
ปี 2019 ที่โควิดเริ่มแพร่ระบาด ครึ่งปีแรกการขายรามยอนในเกาหลีเติบโต 7.2 เปอร์เซนต์ คิดเป็นจำนวนกว่า 1.1 ล้านล้านวอนเมื่อเทียบเป็นรายปี และมียอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า อัตราการเติบโตของตลาดที่สูงขึ้นนี้ทำให้รามยอนได้ชื่อว่าเป็น ‘อาหารที่แข็งแกร่งในภาวะวิกฤต’ ในปี 2020 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม มีการส่งออกรามยอนเพิ่มขึ้น 36.7 เปอร์เซนต์จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้นำเข้ารามยอนรายใหญ่ที่สุดคือประเทศจีน ตามด้วยสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และด้วยกระแสฮันรยูหรือคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี ทำให้มีการส่งออกรามยอนไปยังประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมากเช่นกัน
The New York Times เลือกให้ชินรามยอนแบล็กของนงชิมเป็นรามยอนที่อร่อยที่สุดในโลก รามยอนผัดพุลดักของซัมยังเป็นเมนูฮิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รามยอนที่ขายในรูปแบบคล้ายข้าวกล่องของพัลโดก็ได้รับความนิยมมากในประเทศรัสเซีย
การกินรามยอนยังก่อให้เกิดแสลง “ไปกินรามยอนที่ห้องฉันไหม” ที่มีความหมายว่าชวนคนที่กำลังคบๆ กันอยู่ไปมีอะไรกัน ที่มาของการที่ประโยคนี้กลายเป็นการพูดแฝงนัยยะติดเรทยังไม่ชัดเจน แต่ภาพยนตร์เกาหลีเรื่องแรกๆ ที่คนเกาหลีพูดถึงซีนชวนกินรามยอนกันมากก็คือเรื่อง One Fine Spring Day (2001) อึนซูนางเอกของเรื่องชวนซังอูมากินรามยอนที่ห้อง พอซังอูเข้ามา อึนซูก็พูดว่า “คืนนี้นอนที่นี่ไหม”
ว่าแล้วฉันก็สงสัยขึ้นมาอีกแล้วว่าทำไมต้องรามยอน ทำไมไม่ชวนไปกินกิมจิหรือต๊อกบกกีที่เป็นอาหารประจำชาติเกาหลีเหมือนกัน ท่าทางจะต้องไปตามหาคำตอบกันอีกแล้ว
ภาพ: Naver / www.mygroceryph.com/ www.big.com.my/ www.images.summitmedia-digital.com/ Naver TV/Mr.Queen / www.s3.bukalapak.com/ www.i.pinimg.com/
ที่มา: https://adaymagazine.com/ramyeon / https://www.creatrip.com/th/blog/11113
บทความเพิ่มเติม
8 เส้นเกาหลีที่สายกินเส้นต้องลอง