Robinhood ฟู้ดเดลิเวอรี ‘พี่นี้มีแต่ให้’ จาก SCB

2,153 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ฮือฮากันทีเดียวเมื่อไทยพาณิชย์กระโดดเข้าสู่วงการฟู้ดเดลิเวอรี่ แถมไม่มีค่า GP อีกด้วย

เมื่อเกือบเดือนที่ผ่านมา วงการฟู้ดเดลิเวอรีถึงกับสั่นสะเทือน เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศว่ากำลังจะเปิดตัวแอปส่งอาหาร ใช่แล้ว อ่านไม่ผิด ธนาคารจะกระโดดลงมาในบิสเนสส่งอาหาร ได้ยินแล้วก็ต้องเลิกคิ้วพร้อมอุทาน “หืออออ” แต่นั่นยังไม่พอ เพราะแอปส่งอาหารนี้จะมาแบบไม่มีการเก็บค่า GP (Gross Profit – ค่าคอมมิชชั่นที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับแอปสั่งอาหาร เป็นค่าดำเนินการที่แต่ละแอปเรียกเก็บ) ข้อหลังนี้เองที่ทำให้ใครๆ พากันฮือฮา

บ่ายวันหนึ่งในช่วงที่สถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น เราเลยตรงไปที่ ธ.ไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่เพื่อคุยกับ คุณบิ๊ก-สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องแอปส่งอาหารอันมีชื่อจะว่าคุ้นก็คุ้นจะว่าแปลก (สำหรับบิสเนสนี้) ก็แปลก นาม Robinhood

คุณบิ๊กต้อนรับเราด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะพร้อมการเล่าเรื่องอย่างสนุกสนานและเป็นกันเองแบบที่ต้องใช้คำว่าทำลายภาพจำของผู้บริหารระดับสูงไปเลยทีเดียว

จุดเริ่มต้นของแอป Robinhood

“ไอเดียแรกเริ่มมาจากซีอีโอของเรา คุณอาทิตย์ (อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์) ช่วงที่ทุกชีวิตถูกบังคับให้ล็อกดาวน์เพราะโควิด ประมาณเดือนมีนาฯ ท่านก็เหมือนทุกคนที่อยู่บ้าน ใช้บริการสั่งอาหารเยอะมาก และพบว่าบางทีมาแบบพอร์ชั่นเล็กจิ๋วบางอย่างก็ค่าขนส่งแพง บางเจ้าค่าอาหารแพงกว่าซื้อที่ร้าน จากราคาหน้าร้าน 50 โดนไป 80 ท่านเลยเรียกพวกเราคุยผ่านไมโครซอฟต์ทีม และเริ่มจุดไอเดียขึ้นมา”

ด้วยความที่ธุรกิจหลักคือธนาคารที่มีลูกค้าเป็นร้านค้าจำนวนมาก ไอเดียแรกเริ่มคือการทำแพลตฟอร์มเพื่อช่วยร้านขนาดเล็กให้สามารถอยู่ต่อไปได้ในวิกฤตโควิดที่หลายร้านต้องปิดตัว บางร้านที่ปรับมาออนไลน์ก็โดนเก็บค่าดำเนินการกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

“คนพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าแบงค์ เราอยากช่วยให้เขาลืมตาอ้าปาก มีเงินเข้าถึงจะนิดหน่อย ก็ยังเอามาจ่ายดอกเบี้ยได้เลยใช้เวลาในการหาข้อมูล เปรียบเทียบบิสเนสโมเดลจนถึงจุดหนึ่งก็ตกผลึกเรื่องการทำให้ต่างจากคนอื่น เพราะเรามาเป็นตัวสำรองไม่ใช่เบอร์ 2 นะ เบอร์ 4 เบอร์ 5 เลย” คุณบิ๊กหัวเราะพร้อมยืนยันว่าไม่ได้ต้องการเป็นเบอร์ 1 แค่อยากเป็นทางเลือก แต่จะทำยังไงให้คนเลือก นี่เองคืองานหนักเพราะใช้คนทำงานในไทยพาณิชย์ทั้งหมด

“ใช้เวลาเดือนเดียวในการคุย แล้วมาลงมือกันอีกเดือน ลำบากมากครับ แต่โปรดักติวิตี้สูงมาก เพราะทุกคนทำด้วยแพสชั่น มาช่วยกันลงแขก ทีมเราใช้คนในหมด เพราะช่วงล็อกดาวน์มันมีเวลาว่างพอมิสชั่นนี้อกมา ทุกคนก็เข้ามาร่วมกันทำ”

โปรเรื่องการเงินแต่เป็นศูนย์เรื่องส่งอาหาร

งานแบงค์มันว่ากันตามข้อมูลตัวเลข ไม่มีเรื่องเพอซันนอล โอนเงินผิดมา โอเค เราจัดการให้ ดูแลได้ โอนคืน แต่งานฟู้ดเดลิเวอรี่มันอีโมชั่นนอลมาก สั่งหมูได้ไก่มา สั่งอาหารมาแล้วไม่อร่อย เราจะทำยังไง แบงค์เราไม่เคยทำ!” คุณบิ๊กย้ำถึงความยากของการกระโดดเข้าสู่บิสเนสที่ไม่เคยทำมาก่อน

แต่เพราะความตั้งใจที่จะช่วยร้านค้า ขยายไปจนถึงลูกค้าและคนขับเป็นหลัก เรียกว่าจุดประสงค์แตกต่างจากแอปฟู้ดเดลิเวอรี่ในท้องตลาดอย่างสิ้นเชิง ความยากจึงหมายถึงในแง่ของบิสเนสโมเดล และรายละเอียดของงาน ไม่ใช่ในแง่ของเป้าหมายหรือทาร์เก็ต

“เราไม่คิด GP เรามองแพลทฟอร์มนี้เป็นการเชื่อมลูกค้า คนขับ คนขาย แพลทฟอร์มนี้ไม่มีของคนไทย ให้ต่างชาติมาเก็บไปหมดมันก็ไม่แฟร์”

ใครๆ ก็สงสัย ไม่เก็บ GP แล้วจะได้อะไร

คำตอบง่ายกว่าที่คิด เพราะนี่คืองาน CSR (Corporate Social Responsibility – กิจกรรมเพื่อให้ความสำคัญต่อสังคม ด้วยการใช้ทรัพยากรในมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด)

“แต่ละปีเรามีงบ CSR อยู่แล้ว เมื่อก่อนอาจจะให้เงินไปปลูกป่า เก็บขยะ เบสออนอีเวนต์ 1 ครั้งจบ แต่วันนี้เราทำ CSR แบบลองเกอร์เทอม ครีเอทจ๊อบ เปิดโอกาสทางธุรกิจ ถามว่าเราได้อะไร ได้สร้างอินฟราสตรัคเจอร์ เหมือนเมื่อก่อนที่เราประกาศลดค่าธรรมเนียม ตรงนั้นคือจุดรีเซ็ตสแตนดาร์ด”

วิกฤตโควิดก่อให้เกิดความเคยชินกับพฤติกรรมใหม่ๆ อาทิ คิวอาร์เพย์เมนต์ ดิจิทัลเพย์เมนต์ ที่เติบโตขึ้นถึง 3 เท่า สังคมกำลังจะเข้าสู่ยุคของการไม่ใช้เงินสด แพลทฟอร์มนี้จะนำพาทุกคนเข้าสู่การเป็นดิจิทัล สิ่งนี้คือวัตถุประสงค์ตั้งต้น ส่วนในอนาคต 5-6 ปีข้างหน้าจะมีการนำเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ในเชิงการเงินก็เป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งคุณบิ๊กย้ำว่าเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น

“เรื่องหลักๆ คือหนึ่ง แพลทฟอร์มพวกนี้มีแต่ของต่างชาติ เราไม่อยากให้เขาได้จาก 60 ไปเป็น 80 ไปเป็น 100 เหมือนอะโกด้าไงครับ เราทำโรงแรงหมื่นกว่าล้าน ทำทุกอย่างเองหมด แต่ไม่ได้อะไรเลย ต้องมาจัดการต้นทุนเอง ผิด และตอนนี้เราเพิ่งภาพรวมออกมาแค่ 2-3 วีค แต่แกรบเรียกร้านค้าไปคุยลด GPแล้ว แค่นี้ก็วินแล้วนะครับ โอเคแล้วในภาพรวมของประเทศ เมื่อเช้าแบงค์ชาติยังบอกว่าดีเลย

“อย่างเมื่อก่อนแบงค์ชาติเคยเรียกเราไปคุยว่าทำไมต้องเอาค่าโอน 25-30 บาท เราก็ต้องมาสร้างอินฟราสตรักเจอร์พร้อมเพย์ขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่การลดราคานะครับ ในท้ายที่สุดมันต้องไม่มีส่วนนี้เลย ต้องเบลนด์อินเข้าไปกับลูกค้าจะมาเก็บค่าต๋งจากวิภาฯ ไปรัชโยฯ จ่ายค่าผ่านทางมา 5 บาทไม่ได้ มันต้องไม่มีอีกต่อไป

“สำหรับแพลทฟอร์มนี้ เราใช้ฐานร้านค้าเดิมได้ใช้แม่มณี ใช้คิวอาร์โค้ดได้ แต่ละสาขาก็รู้จักร้านค้าที่อยู่ในรัศมี 5-6 กม. เดินไปหาได้ ช่วยออนบอร์ดได้ ถ่ายรูปเมนูสวยงามขึ้นให้ได้ และในส่วนของการเพย์เมนต์ เราเป็นแบงค์เลยไม่รับเงินสด สั่งปุ๊บ ตัดเงินออนไลน์ หรือจะโอนจ่ายก็ได้ เครดิตเดบิตทุกบัตรทุกธนาคารได้หมด ข้อดีของการจัดการเพย์เมนต์ดิจิทัลทำให้เราเข้าเงินร้านค้าได้ทุกชั่วโมง จากปกติที่ขายอาหารวันนี้กว่าจะได้เงินรออีก 2 วัน มันช้ำสำหรับร้านค้านะครับ เข้าออนไลน์โดน GP 30 เปอร์เซ็นต์ไม่พอ ยังได้เงินช้าอีก เราคือที่แรกของเรื่องพวกนี้ แพลทฟอร์ม Robinhood เกิดขึ้นเพื่อสร้างโครงสร้างที่ดีที่เป็นการปูฐานแพลทฟอร์มดิจิทัลให้กับประเทศ”

นี่เองคือที่มาของชื่อแอป Robinhood

“พี่อาทิตย์ท่านเป็นคนคิด จุดไอเดียตรงการช่วยเหลือสังคม ช่วยคนด้อยโอกาสให้เทียบเท่าคนมีโอกาส มันคือความแฟร์ จัดการความยุติธรรมให้ทุกส่วนทั้งผู้ขาย ผู้ซื้อ คนขับ ทุกคนได้ทั้งหมดเหมือนจอมโจรโรบินฮู้ดที่สร้างความยุติธรรมให้กับคนที่ไม่มีโอกาส”

(Robinhood ยังเป็นชื่อบริษัทสตาร์อัพโบรกเกอร์ในอเมริกาที่จัดการซื้อขายหุ้นโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม เรียกว่ามาในอุดมการณ์เดียวกัน)

ร้านอาหารสเกลเล็กที่เป็นร้านของตัวเองจะไม่มีค่า GP ในขณะที่ร้านแบบเชนคิดค่า GP 8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้นำไปเข้าไทยพาณิชย์ แต่ดึงมาเพื่อพาสทรู อาทิ สั่งข้าวผัดปูร้านดังราคา 100 บาท โดนตัด 8 บาท บ้านคนสั่งอยู่ใกล้ร้าน เสียค่าส่ง 5 บาท แทนที่จะต้องจ่าย 105 บาท แอปจะนำ 8 บาทมาเป็นส่วนลดค่าส่ง ตัดไป 5 บาท ยังเหลือ 3 บาท ก็จะนำมาเป็นส่วนลดค่าอาหารจาก 100 เหลือ 97 บาท ฉะนั้น การสั่งข้าวผัดปูราคา 100 บาท+ ค่าส่ง 5 บาทผ่าน Robinhood ที่สุดแล้วคุณจะจ่ายเพียง 97 บาท

ในขณะที่สำหรับร้านอาหาร Robinhood เป็นอีกหนึ่งออปชั่นที่สามารถมาขายของโดยไม่โดนเอาเปรียบ ส่วนต่าง 30 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องจ่ายให้แอปอื่น นำมาทำโปรโมชั่นเป็นส่วนลดหรือของแถมได้ตามแต่ความคิดสร้างสรรค์

“ฟรีในการทำ ฟรีในการคิด เราเป็นแค่ถนน เป็นเหมือนสะพานในมุมลูกค้า จ่ายราคาถูกลง แต่ได้พอร์ชั่นเดิม เราก็จะรู้สึกว่าร้านดูแลดี ไม่เอาเปรียบ ในส่วนของร้าน ทุกวันนี้มีร้านเล็กๆ ที่ไม่อยากขึ้นแพลทฟอร์มพวกนี้ เขาก็รวมตัวกันเอง ให้ลูกค้าโทรสั่งตรงกับร้าน เดี๋ยวให้วินมาส่งโดยต้องเสียค่าส่ง หลักการเดียวกันเลย ทุกคนได้หมด ไม่มีใครเสีย เป็นแพลทฟอร์มที่ ‘พี่นี้มีแต่ให้’” คุณบิ๊กจบประโยคด้วยเสียงหัวเราะ

แพลทฟอร์ม Robinhood มีกำหนดเปิดตัวในเดือนสิงหาคมนี้ พื้นที่ให้บริการเริ่มต้นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยขอเชิญชวนทั้งลูกค้า พาร์ทเนอร์ ร้านค้า มาร่วมกันทดสอบและปรับปรุงการใช้งานเพื่อแพลทฟอร์มที่จะตอบโจทย์ชีวิตดิจิทัลในอนาคต

ร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมติดต่อได้ที่:

Website: https://onboard.robinhood.in.th
Call Center: โทร. 02-777-7564 (เวลา 8:30 – 20:00 น.)
ธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS