พืชผัก ผลไม้ สัตว์ตามธรรมชาติล้วนมีฤดูกาลเกิด เติบโต และออกดอกให้ผล หรือแม้พืชผลบางชนิดที่อาจหากินได้ตลอดทั้งปี แต่หากจะกินให้อร่อยสุดก็ต้องกินให้ถูกฤดูกาล คนสมัยก่อนจึงรู้ว่าเมื่อเข้าฤดูหนาวจะได้กินข้าวใหม่ ปลาในฤดูนี้จะมีรสมันเป็นพิเศษ เข้าฤดูร้อนจะได้กินมะม่วงสุกหอมหวาน แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาตอบสนองความต้องการ พืชผลหลายอย่างจึงมีให้กินทุกฤดู จนเราไม่รู้แล้วว่า ฤดูกาลไหนควรกินอะไร
กินอาหารตามฤดูกาลนอกจากจะได้ความอร่อย เรายังปลอดภัยจากสารเคมีต่างๆ เพราะเป็นพืชผลที่เติบโตตามธรรมชาติ ไม่มียาเร่งดก เร่งโต เร่งออกผลนอกฤดูกาล อีกทั้งยังราคาย่อมเยาเพราะให้ผลผลิตมาก
KRUA.CO จึงรวบรวมของอร่อยตามฤดูกาลไว้ในปฏิทินกินตามกาล ด้วยหวังให้ทุกคนได้กินดี มีสุขภาพแข็งแรง สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้านะคะ 🙂
มกราคม
สะเดา เริ่มต้นปีด้วยผักรสมันขมกินเป็นยาอย่าง ‘สะเดา’ ที่คนโบร่ำโบราณจับรสขมไปกินคู่น้ำปลาหวาน สะเดาเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ให้ใบอ่อนเก็บกินกับน้ำพริกได้ตั้งแต่ต้นฤดูหนาวราวเดือนพฤศจิกายน เรื่อยมาจนถึงปลายฤดูหนาวราวมกราคม-กุมภาพันธุ์ เป็นช่วงที่ออกดอกมากสุด ดอกสะเดาให้รสขมมันหวานนิดๆ กินอร่อย โดยเฉพาะเมนูสะเดาน้ำปลาหวาน ที่มักกินกับกุ้งย่าง ปลาดุกย่างในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูปลามัน กุ้งมันเนื้อแน่นได้รสอร่อยสุด
ชมพู่มะเหมี่ยว ผลไม้ที่หากินได้เฉพาะฤดูกาล เป็นผลไม้บ้านที่ปลูกได้ทั่วพื้นที่ประเทศไทย แต่หากินได้ไม่ง่ายนัก ชมพู่มะเหมี่ยว หรือมะเหมี่ยวผลสุกมีสีแดงเข้ม แดงเลือดหมู เนื้อขาวหนานุ่มฟู รสเปรี้ยวอมหวาน มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ นอกจากความสดชื่นยังมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร ขับเสมหะ ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน ฯลฯ
ปลาอินทรี ฤดูกาลตกปลาอินทรีของชาวประมงพื้นบ้านทะเลใต้ เริ่มต้นกันตั้งแต่มกราคมเรื่อยไปจนถึงพฤษภาคม เป็นช่วงที่ปลาอินทรีชุกชมและตัวโตเต็มวัยที่ 100 – 200 กิโลกรัม ส่วนภาคตะวันออกไล่ตั้งแต่ระยอง จันทบุรีและตราด จะเริ่มจับปลาอินทรีกันตั้งแต่ปลายฝนช่วงปลายเดือนตุลาคมและชุกชุมมากในช่วงต้นปีจนถึงกุมภาพันธ์ ปลาอินทรีสดๆ เนื้อแน่น มันอร่อย และหากินได้มากสุดจึงเริ่มกันตั้งแต่ต้นปี
กุมภาพันธ์
มะยงชิด สิ้นสุดฤดูหนาวและเตรียมเข้าสู่ฤดูร้อน ก็มีผลไม้สีสันสดใสเป็นสัญลักษณ์ของฤดูกาลอย่างมะยงชิดออกมาต้อนรับ มะยงชิดผลโต เนื้อเปรี้ยวอมหวานนั้นให้ความสดชื่น กินสด นำไปทำลอยแก้ว หรือช่วงที่ออกพีคมากๆ ราวเดือนมีนาคมก่อนจะสิ้นสุดฤดูกาลในเดือนเมษายนของทุกปี จะได้เห็นเมนูมะยงชิดฟีเวอร์อย่างเค้กมะยงชิด ไอศกรีมมะยงชิด
ใบเหลียง หรือที่คนใต้เรียกผักเหมียง เป็นผักพื้นบ้านภาคใต้ที่เริ่มหากินได้ในช่วงนี้ มีต้นขนาดใหญ่ ใบและยอดกินเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกหรือผักเหนาะเคียงขนมจีน แกงเลียง แกงกะทิ และที่ถูกอกถูกใจคนทุกภูมิภาค ทุกวัย คือเมนูง่ายๆ อย่างใบเหลียงผัดไข่ ผัดให้สลดแล้วใบนุ่มหอมหวานอ่อนๆ
ตาลเฉาะ หรือลูกตาลอ่อน ช่วงปลายกุมภาพันธ์เป็นต้นฤดูกาลเก็บลูกตาลโตลด มาเฉาะกินเนื้ออ่อนๆ เรียกว่าลูกตาลอ่อนหรือตาลเฉาะ มีเนื้อนุ่ม ละมุน รสหวานหอมของลูกตาลอ่อน ต้นตาลโตนดจะออกผลอ่อนตั้งแต่ต้นปีจนสิ้นปลายฤดูที่เดือนเมษายน นำมาทำลอยแก้วกินดับร้อนได้ดี
มีนาคม
ไข่มดแดง เข้าสู่ฤดูร้อนแล้งและว่างเว้นจากการเพาะปลูก ก็เป็นฤดูทองของไข่มดแดง ตั้งแต่มีนาคม– เมษายน ใครที่มีเทือกสวนก็จะชวนกันไปแหย่ไข่มดแดงที่สร้างรังด้วยใบไม้เป็นกลุ่มก้อนน้อยใหญ่ตามยอดกิ่ง บ้างก็ชวนกันไปหาแหย่ไข่มดแดงตามป่า เอามาทำยำไข่มดแดง แกงผักหวานไข่มดแดง ทอดกับไข่ ฯลฯ
ผักหวานป่า เรียกว่ามาคู่กันกับไข่มดแดง เพราะแตกยอดอ่อนรสหวานอร่อยให้ได้เก็บกันก็ช่วงนี้ถึงเดือนเมษายน ผักหวานป่านั้นเป็นคนละชนิดกับผักหวานบ้าน มักขึ้นในป่าเบญจพรรณ พื้นดินแห้งปนทราย หากินได้เฉพาะฤดูกาลนี้ หากเดินตลาดแล้วเริ่มเห็นไข่มดแดงวางขายเป็นล่ำเป็นสัน ข้างๆ กันก็ต้องมีผักหวานป่าวางขายจนกลายเป็นธรรมเนียม ‘แกงเลียงผักหวานป่า’ จึงเป็นเมนูโอชะแห่งฤดูกาลไปโดยปริยาย
มะปรางหวาน ช่วงที่มะยงชิดเริ่มทยอยออกผล ไล่หลังกันมาติดๆ ก็เป็นมะปรางหวานที่หน้าตาอาจคลับคล้ายคลับคลาจนหลายคนอาจสงสัยว่ามันต่างกันยังไง จริงๆ แล้วก็เป็นพี่น้องร่วมสายพันธุ์มะปรางเช่นเดียวกัน ความต่างคือมะปรางหวาน` ผลเล็ก เปลือกสีเหลืองนวล เม็ดใหญ่ รสชาติหวานหอมอ่อนๆ หรือหวานจืด แต่ก็ให้ความสดชื่นไม่แพ้กัน กินสดหรือทำมะปรางริ้วลอยแก้วก็อร่อย
เมษายน
ลูกหว้า ตั้งแต่ปลายมีนายนจนถึงเมษาเรื่อยไปจนมิถุนายน เรียกว่าเป็นฤดูกาลของราชา – ราชินีผลไม้อย่าง ทุเรียน มังคุด ชนิดที่ว่าไม่ต้องตักเตือนกันแล้วว่าเข้าสู่ฤดูกาล เพราะวางขายกันคึกคัก ผลไม้ที่เราอยากใส่ไว้คอยเตือนในปฏิทินจึงเป็น ‘ลูกหว้า’ ผลไม้ที่หนึ่งปีจะมาแวะเวียนกันได้เห็นสักครั้ง ถ้าบางปีออกผลไม่มากก็เหมือนไม่ได้เห็นกันเลย ต้นหว้าเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ พบมากแถบเพชรบุรีและภาคใต้โดยเฉพาะอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ผลสุกสีม่วงดำ รสชาติหวานฝาดนิดๆ กินสด บางทีจะเห็นรถเข็นขายผลไม้นำมาคลุกพริกเกลือเป็นถาดๆ ตักแบ่งขาย รสหวานๆ ฝาดๆ ตัดกับรสเค็มเผ็ดของพริกเกลือกินเพลิน สีของลูกหว้านี่ติดปากม่วง ฟันม่วงกันเลย ระยะเวลาเก็บผลช่วงสั้นๆ แค่ปลายเดือนเมษายน – พฤษภาคม จึงนำไปแปรรูปให้เก็บได้นานเป็นไวน์ลูกหว้า น้ำลูกหว้า
น้ำผึ้งเดือนห้า นับตามปฏิทินจันทรคติแบบไทยหมายถึงปลายเดือนมีนาคม – เมษายน ถือว่าเป็นสุดยอดน้ำผึ้งที่คุณภาพสมบูรณ์ที่สุดเพราะไม่มีน้ำฝนมาเจือจางความเข้มข้น รสจึงหวาน หอม โดยเฉพาะน้ำผึ้งป่าเดือนห้าที่เต็มเป็นด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ทำให้น้ำหวานที่ผึ้งเก็บจากเกสรนานาพันธุ์นั้นปรุงแต่งรสน้ำผึ้งให้มีมิติซับซ้อนมากขึ้น นอกจากปรุงอาหารในตำราแพทย์แผนโบราณยังนิยมใช้น้ำผึ้งเดือนห้าปรุงยาด้วย
หอยนางรม อีกสิ่งที่มีให้กินตลอดทั้งปี แต่กินให้อร่อยที่สุดและเป็นช่วงที่หอยนางรมสมบูรณ์คือเดือนเมษายน
ข้อควรระวังคือต้องเลือกหอยนางรมสดใหม่ ฝาหอยปิดสนิท เนื้อติดกับฝา หากเป็นหอยนางรมแกะแช่น้ำมาแล้ว ให้สังเกตน้ำต้องใส ไม่ขุ่น และไม่ควรกินหอยนางรมช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม เพราะเป็นช่วงว่างไข่และหอยนางรมเปลี่ยนเพศ ทำให้อยู่ในช่วงไม่สมบูรณ์
พฤษภาคม
เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ ย่างเข้าหน้าฝนในฤดูแห่งการเพาะปลูก ชาวนาเริ่มปลูกข้าวนาปี ระหว่างที่รอพืชผลเพาะปลูกงอกงาม ธรรมชาติก็จัดสรรพืชผลที่ขึ้นเองตามฤดูกาลมาให้เช่นเห็ดเผาะ (ภาษาอีสาน) หรือ เห็ดถอบ (ภาษาเหนือ) เห็ดเผาะ หาได้ในป่าเต็งเร็ง บริเวณดินโคกคือลักษณะเป็นดินเหนียวปนทราย เห็ดอ่อนๆ นั้นอร่อยสุด มีสีน้ำตาล ข้างในยังเป็นขอบขาวกัดแล้วแตงในปากดัง เป๊าะ เผาะ รสหวาน เคี้ยวแล้วกรอบมัน นิยมทำแกงเห็ดเผาะ คั่วเห็ดเผาะ
สะตอ สะตอรสหวานมัน กลิ่นเขียวเป็นเอกลักษณ์วัดใจคนกินชนิดที่ว่าไม่ชอบก็เกลียดกันไปเลย สำหรับใครที่หลงรักสะตอ ให้รอซื้อสะตอในเดือนพฤษภาคมเพราะเป็นช่วงที่อุดมสมบูรณ์และให้ผลผลิตมากสุด สะตอจะมีรสหวานมัน กลิ่นไม่แรงและราคาย่อมเยากว่าสะตอนอกฤดูอยู่มาก
หน่อไม้ ผืนดินฉ่ำฝนเรียกว่าเป็นฤดูหน่องอกงาม เราจะได้เห็นหน่อไม้หลายสายพันธุ์ให้เลือกอร่อยกันก็ฤดูนี้ อย่างหน่อบงหวาน หรือหน่อหวาน ให้รสหวานเนื้อกรอบพอดี เหมาะต้มกับกระดูกหมูซดน้ำหวานๆ ของหน่อไม้ หน่อไม้ไร่หรือหน่อไร่ หัวเล็กๆ เอามาทำซุบหน่อไม้ ยำหน่อไม้ แกงหน่อไม้ไร่ แกงเปรอะ
ปูม้า สำหรับคนที่ชอบกินปูไข่หรือมันปูแน่นๆ ให้รอกินฤดูหนาว แต่กับคนที่หลงรักความหวานของเนื้อปูม้า ให้เลือกกินปูม้าเดือนพฤษภาคม เพราะมีเนื้อแน่นและรสหวานที่สุด เป็นช่วงลมทะเลสงบและสัตว์ทะเลรวมทั้งปูม้าอุดมสมบูรณ์
มิถุนายน
เห็ดโคน หรือเห็ดปลวกปี เห็ดโคนหรือเรียกอีกชื่อว่าเห็ดปลวก ตามลักษณะการเกิดและเจริญเติบโตได้ดีบริเวณจอมปลวก และในพื้นที่ปกคลุมด้วยเศษไม้ ใบไม้ โดยเริ่มออกดอกให้เก็บชุดแรกราวเดือนมิถุนายน เรียกว่า ‘เห็ดปลวกปี’ และอีกครั้งราวเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงน้ำหลาก เห็ดโคนมีดอกตูมเป็นหมวกแหลมขนาดเล็ก ดอกบานเป็นปีกหมวก รสรสชาติหวาน อูมามิตามธรรมชาติ นำมาย่างกิน หรือคั่วกับน้ำปลา ต้มยำ ทำข้าวต้มเห็ดโคนซดอุ่นๆ ก็อร่อย
ปลาจะละเม็ด หนึ่งในอาหารทะเลที่มักจับได้ในหน้านี้ก็คือ ปลาจะละเม็ดปลาที่พบได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ปลาจะละเม็ดมีรสชาติหวาน เนื้อแน่น จึงเป็นที่นิยมกินกันมาก และการกินปลาจะละเม็ดในช่วงหน้าฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมแบบนี้นี่เอง คือช่วงที่ปลาโตสมบูรณ์เต็มที่ รสชาติก็อร่อยเต็มที่เช่นกัน
ผักหวานบ้าน หมดจากผักหวานป่าก็เข้าสู่ฤดูผักหวานบ้าน ที่หน้าตาและรสชาติยอดใบกรอบหวานคล้ายกัน แต่เป็นพืชคนละชนิด ผักหวานบ้านนั้นหากินได้ตลอดทั้งปี แต่แตกยอดอ่อนงอกงามให้เก็บกินได้มากสุดก็ช่วงนี้
กรกฎาคม
หอยลาย อาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำติดทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มีเนื้อนุ่ม หวาน หากินได้มากในช่วงฤดูฝน นำมาทำผัดหอยลายผัดน้ำพริกเผา แกงคั่วหอยลาย ผัดฉ่า
ปลาเห็ดโคน บางพื้นที่เรียกปลาทรายขาว เป็นปลาทะเลขนาดเล็ก หากินได้ช่วงกลางฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ปลาโตเต็มที่ มีเนื้อสีขาว นุ่ม รสหวาน นำมาทำแกงป่าปลาเห็ดโคน หรือทอดกระเทียมกรอบๆ กินได้ทั้งตัว
ดอกขี้เหล็ก ต้นขี้เหล็กเป็นไม้เบญจพรรณขนาดใหญ่ ขึ้นเองตามธรรมชาติริมทาง ป่าเขา และปลูกบ้างตามบ้านเรือน
ออกยอดและแตกใบอ่อนให้เก็บกินได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ รสชาติหวานขม แต่ดอกขี้เหล็กมีมากแค่ช่วงฤดูฝนนี้ โดยเฉพาะดอกตูมนั้นให้รสชาติมันมาก ขมหน่อยๆ หวานนิดๆ เอามาปรุงอาหารอร่อย ขี้เหล็กเอามาทำแกงกะทิใส่ปลาย่าง หรือแกงใส่น้ำย่านางก็อร่อย และรสขมของขี้เหล็กทั้งดอกและใบยังมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อนๆ ลดความเสี่ยงความดันโลหิตจาง บำรุงโลหิต ฯลฯ
สิงหาคม
น้อยหน่า เดือนนี้น้อยหน่าออกผลให้ได้เก็บกินทั้งน้อยหน่าเนื้อและน้อยหน่าหนัง น้อยหน่าเนื้อหรือพันธุ์ฝ้าย เป็นพันธุ์พื้นเมือง เปลือกมีตาเป็นร่องลึกชัดเจน เนื้อทราย ค่อนข้างเละ กลิ่นหอมรสหวานจัด เมล็ดใหญ่ อีกชนิดคือน้อยหน้าหนังหรือน้อยหน่าญวน ตาแหลมนูนแต่ไม่เป็นร่องชัด เปลือกลอกออกเป็นแผ่นได้ง่าย รสหวานอมเปรี้ยวนิดๆ เนื้อเหนียวแต่กลิ่นไม่หอมเท่าน้อยหน่าเนื้อ ทั้งน้อยหน่าเนื้อและน้อยหน่าหนังต่างก็มีจุดเด่นอยู่ที่ว่าใครชอบกินแบบไหนก็เลือกแบบนั้น
ลำไย ฤดูลำไยที่ออกผลมากสุด ชนิดที่ว่าบางปีล้นตลาดขายกันไม่ทัน ราคาตกจนต้องหาทางระบาย แปรรูปอบแห้งขาย ใครที่ชอบกินลำไยก็ช่วยอุดหนุนเกษตรกรหาซื้อลำไยติดบ้านกันช่วงนี้ เอามาคว้านเมล็ดแช่ตู้เย็น เก็บไว้กินเย็นๆหวานฉ่ำชื่นใจ หรือใครจะเอาไปทำของว่างไทยอย่างส้มฉุนก็อร่อยสดชื่น
ส้มโอ ในเดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่ส้มโอผลแก่พร้อมเก็บกิน ส้มโอนั้นมีอยู่หลายพันธุ์ โดยพันธุ์แรกๆ ที่เริ่มเก็บผลในเดือนนี้คือพันธุ์ขาวแป้น รสชาติหวานอมเปรี้ยว เนื้อสีขาว พันธุ์ขาวพวง รสชาติเปรี้ยวอมหวาน แก่จัดรสหวานมากกว่าเปรี้ยว เนื้อสีขาวอมเหลืองอ่อน นิยมนำไปทำยำส้มโอ ตามมาด้วยพันธุ์ขาวทองดี รสหวานนำอมเปรี้ยวเล็กน้อย ไม่มีรสขมซ่า เนื้อสีขาวอมชมพูฉ่ำที่จะออกมากในเดือนกันยายนไปจนถึงตุลาคม
กันยายน
เห็ดระโงก ปลายฤดูฝนก็มีเห็ดสารพัดให้เก็บกินไม่แพ้ต้นฤดู หนึ่งในนั้นคือเห็ดระโงกหรือเห็ดไข่ห่านที่หากินได้เฉพาะฤดูกาลนี้เท่านั้น และพบมากที่ภาคเหนือกับภาคอีสาน ลักษณะดอกตูมกลมเหมือนไข่ มีทั้งดอกสีเหลือง ขาวและแดง โดยมากชาวบ้านจะเก็บเห็ดระโงกในยามกลางคืน เพราะเห็ดจะโผล่ดอกให้เห็นในช่วงค่ำ นำมาแกงเห็ดระโงกใส่ใบมะขามอ่อน นำมานึ่งจิ้มกับแจ่ว และผัดน้ำมันหอย ฯลฯ
เห็ดโคนเมืองกาญจน์ อย่างที่บอกไปว่าเห็ดโคนหรือเห็ดปลวกนี้ออกดอกมาให้กินชุดแรกกันตั้งแต่เดือนมิถุนยน แต่ออกมากที่สุด หากินได้เยอะที่สุด โดยเฉพาะแหล่งที่มีเห็ดโคนคุณภาพดีคือเห็ดโคนกาญจนบุรีนั้นจะเริ่มออกดอกให้เก็บกินในเดือนกันยายนไปจนถึงปลายฤดูกาลช่วงพฤศจิกายนนำมาย่างกิน หรือคั่วกับน้ำปลา ต้มยำ ทำข้าวต้มเห็ดโคน
ตุลาคม
ตุลาคมเรียกว่าเป็นสวรรค์ของคนรักปู ยกกันมาทั้งปูไข่ทะเล ปูนา และปูแป้น เพราะเป็นช่วงที่อากาศเริ่มหนาว ทำให้ปูไข่ สะสมสารอาหารและไขมันในร่างกายไว้เป็นจำนวนมาก ในตัวจึงเต็มไปด้วยไข่ปูหรือมันปูแน่นๆ (แต่ไม่สนับสนุนให้กินไข่ปูนอกกระดอง เพราะนั่นคือเหล่าปูนับหมื่นนับแสนที่กำลังจะไปเติบโตในท้องทะเล) ปูแป้น ปูตัวเล็กสองน้ำ มันปูหอมเป็นเอกลักษณ์นี้ก็หากินได้สักครั้งหนึ่งของปีช่วงตุลาคมจนสิ้นสุดปลายฤดูในเดือนธันวาคมเท่านั้น (อ่านปูแป้นเพิ่มเติม)สุดท้ายคือ ปูนา ที่มันและอร่อยที่สุดก็ช่วงหน้าหนาว หลังฤดูเก็บเกี่ยวชาวเหนือและอีสานจะพากันขุดรูหาปูนามาทำกิน
พฤศจิกายน
ข้าวใหม่ (นาปี) ‘ข้าวใหม่’ ไม่ใช่พันธุ์ข้าว แต่คือข้าวที่ชาวนาเพิ่งจะเก็บเกี่ยวนำไปสี ช่วงต้นฤดูหนาวราวพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวใหม่นาปี (ข้าวที่ปลูกและเก็บเกี่ยวตามฤดูกาล) ไม่เพียงกลิ่นหอมยวนใจ เมล็ดข้าวยังนุ่ม มียางหนืด มีความชื้นมากกว่าข้าวนาปรัง (ข้าวที่ปลูกนอกฤดู) จึงนิยมหุงเป็นข้าวต้ม โจ๊ก ยางข้าวหนืดๆ ทำให้สัมผัสละมุนและส่งกลิ่นหอมฉุย
ยิ่งถ้ารู้เทคนิคหุงข้าวสวยด้วยข้าวใหม่จะยิ่งได้ข้าวสวยนุ่ม หอมฟุ้ง อร่อยจนคุณอาจติดใจข้าวสวยจากข้าวใหม่ เพราะแค่ข้าวอร่อยกินกับอะไรก็อร่อย… จำง่ายๆ ว่า หุงข้าวใหม่ ใส่น้ำแต่น้อย หมั่นสังเกตว่าปริมาณน้ำเท่าไรจึงจะเหมาะกับข้าวใหม่ล็อตที่คุณได้มา ที่สำคัญควรรู้ไว้ว่าธรรมชาติของข้าวใหม่นั้นไม่ขึ้นหม้อ
ปลาลิ้นหมา ปลาลิ้นหมาทะเลคือปลาที่ดันเกิดมามีลักษณะคล้ายลิ้นหมา หาได้เฉพาะช่วงหน้าหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่มันจะว่ายขึ้นมาจากผิวน้ำให้ชาวประมงจับได้ง่าย เห็นหน้าตาประหลาดๆ อย่างนี้ รสชาติไม่ประหลาดนะ เอาไปทอดกระเทียม กรอบอร่อยมาก หรือจะลอกหนังทิ้ง ปรุงรสนิดหน่อย เอาไปจี่ในกระทะก็อร่อยไปอีกแบบ
กุ้งแม่น้ำ กุ้งแม่น้ำมีให้กินตลอดทั้งปี แต่ถ้าจะกินให้อร่อยอย่างคนโบราณเขาว่าไว้ ต้องไม่พลาดกุ้งแม่น้ำช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เพราะเป็นช่วงที่กุ้งได้รับสารอาหารตามธรรมชาติอย่างเต็มที่ เอาไปเผาไฟ มันกุ้งเยิ้มๆ หอม มัน เนื้อหวานแน่นเด้ง หรือทำต้มยำกุ้งน้ำข้นตามสูตรต้นตำรับที่ไม่ต้องพึ่งนมข้นจืด ก็ได้น้ำต้มยำรสหวานมันกลมกล่อมจากมันกุ้งธรรมชาติ
ธันวาคม
ปลาทู แม้จะหากินได้ตลอดทั้งปี แต่ปลาทูหน้านาวตั้งแต่ปลายพฤศจิกายน ธันวาคม จนถึงมกราคมนั้นเนื้อแน่น หวานมันอร่อยที่สุด เป็นช่วงที่ปลาทูโตเต็มวัย เป็นปลายปีที่อุดมสมบูรณ์ได้กินทั้งข้าวใหม่และปลามัน โดยเฉพาะปลาทูแม่กลอง หน้างอคอหักรสมันเป็นเอกลักษณ์ และมีจัดเทศกาลกินปลาทูในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี นอกจากปลาทู ปลาน้ำจืดเช่นปลาไหล ปลาดุก ก็มีรสมันจัดเพราะกักเก็บไขมันไว้มากในหน้าหนาวนี้
ส้มเขียวหวาน ส้มเขียวหวานเป็นผลไม้ที่หากินได้ตลอดทั้งปี แต่ในเดือนธันวาคม ที่ผ่านพ้นฤดูฝนมาสักระยะ เป็นช่วงที่ต้นส้มพักจากการแตกใบอ่อน ขยายราก ทำให้ส้มที่ออกผลช่วงนี้มีรสชาติหวาน จัดจ้าน เพราะได้รับสารอาหารเต็มที่
อ้างอิง
- https://www.raktalaethai.org
- https://siamrath.co.th/n/151961
- https://www.komchadluek.net/news/400316
- https://www.youtube.com/watch?v=MPyIVood5UU
- https://krua.co/cooking_post/แกงกะทิปูม้าย่าง/
- https://www.youtube.com/watch?v=rS96dVRPWkQ
- http://forprod.forest.go.th/forprod/ebook/เห็ดโคนกับปลวก/เห็ดโคนกับปลวก.pdf
- https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/504717/
- https://www.thailandplus.tv/archives/261696