ซอสศรีราชาที่ไม่ได้มาจากชื่ออำเภอ

5,383 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
เรื่องราวของซอสสีแดงชื่อคุณหูคนไทย มีผู้คิดค้นเป็นชาวเวียดนาม และถูกคิดค้นขึ้นในอเมริกา ฉงนงงงวยหลายตลบแต่ยังอร่อยถูกปากถูกใจคนทั้งโลกเหมือนเดิม

เอ่ยชื่อ ‘ศรีราชา’ สำหรับคนไทยคงนึกถึงอำเภอหนึ่งในจังหวัดชลบุรี แต่ถ้าไปถามคนทั้งโลก ซอสสีแดงๆ รสจัดจ้านน่าจะกระจ่างชัดขึ้นมาเป็นลำดับแรก ใช่แล้ว! มันคือซอสพริกศรีราชา แต่ซอสพริกศรีราชาของคนไทยกับคนทั้งโลกก็ไม่เหมือนกันอีกอยู่ดี

สำหรับคนไทยนั้นมักคุ้นกับซอสพริก ‘ศรีราชาพานิช’ ซึ่งในเว็บไซต์ของบริษัท ไทยเทพรส (จำกัด) ระบุว่ามันได้รับการพัฒนาสูตรมานานกว่า 80 ปีแล้ว โดยคุณแม่ถนอม จักกะพาก ที่เดิมทีทำกินกันเองในครอบครัว จุดเริ่มต้นอยู่ที่ ตรอกแหลมฝาน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี รสชาติเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร กลายเป็นสินค้า OTOP ของที่นี่ กระทั่ง พ.ศ. 2527 ไทยเทพรสจึงเข้าซื้อกิจการเพื่อกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ โดยวัตถุดิบหลักๆ คือพริกชี้ฟ้าแดง น้ำส้มสายชู น้ำตาลทรายขาว และเกลือทะเล กลายเป็นซอสพริกเนื้อซอสสีส้มราดไข่เจียวแบบที่เราคุ้นชินกัน

แต่ในการรับรู้ของชาวประชาสากลนั้น ‘ซอสศรีราชา’ คือซอสชนิดหนึ่ง เนื้อซอสสีแดงเข้ม รสชาติเผ็ดร้อน จัดจ้าน กลิ่นอายแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยยี่ห้อที่คุ้นเคยกันมีโลโก้ตราไก่ของฮวยฟงฟู้ดส์ (Huy Fong Foods) และยิ่งขุดรากลึกลงไปจะพบว่า ซอสศรีราชาของฮวยฟงฟู้ดส์นั้น เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมอย่างสนุกสนาน เพราะมันเป็นแบรนด์อเมริกา แต่ผู้คิดค้นสูตรคือเดวิด ทราน ชาวเวียดนามผู้อพยพมาจากสงครามเวียดนามเมื่อปี 1978 ด้วยเรือบรรทุกสินค้าของไต้หวันที่ชื่อฮวยฟง และเมื่อมาอยู่อเมริกาเขาก็พยายามหาสูตรซอสสักอย่างเพื่อมากินกับเฝอ จึงออกมาเป็นซอสชนิดนี้  โดยมันวางขายครั้งแรกในปี 1980 และสาเหตุที่มันถูกเรียกว่าซอสศรีราชา ก็เพราะว่าเดิมทีฮวยฟงผลิตซอสเผ็ดออกมาสามสูตร คือ ซัมบัล เป็นพริกล้วน (sambal oelek เป็นน้ำพริกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในแถบ มาเลเซีย อินโดนีเซีย) อีกสูตรคือซัมบัลที่เพิ่มกระเทียมเข้าไป และสูตรสุดท้ายคือซอสศรีราชา ประกอบด้วยพริก กระเทียม และน้ำตาล อันมีความคล้ายคลึงกับซอสศรีราชาฉบับแม่ถนอมที่สุด แม้รสชาติจะคนละเรื่องเลยก็ตามเพราะวัตถุดิบหลักอย่างพริก ของอเมริกาใช้พริกจาลาปิโน ไม่ใช่พริกชี้ฟ้าอย่างที่ศรีราชา

การกระจายสินค้าของซอสศรีราชาตราไก่ เริ่มจากมันขึ้นไปตั้งอยู่บนโต๊ะร้านเฝอ ค่อยๆ ก้าวสู่ภัตตาคารอาหารจีน และเมื่อชาวอเมริกันเริ่มคุ้นกับรสชาติจัดจ้านของมันแล้ว ถึงขยับขยายสู่ร้านอาหารนานาชาติ อาทิ ทาโกเบลล์ ยันฟาสต์ฟู้ด เบอร์เกอร์คิง เกิดเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมป๊อปของวงการอาหารอเมริกันเมื่อมันเข้าสู่ยุคโซเชียล ในฐานะของซอสที่ไม่ว่าจะกินกับอะไรก็อร่อย ไม่ว่าจะเป็น ซุป เบอร์เกอร์ ฮอตดอก สปาเกตตี กระทั่งคนบีบซอสศรีราชากินกับโอริโอ้ยังมี!

และเพราะคุณสมบัติของซอสศรีราชาที่กินกับอะไรก็อร่อยเช่นนี้เอง เลยทำให้เกิดส่วนผสมทางรสชาติจนเป็นสินค้าที่วางขายแบบทางการอีกมากมาย ดังที่เราจะยกตัวอย่างนี้

อมยิ้มรสซอสศรีราชา

ใครจะคิดว่าความเผ็ดร้อนของซอสศรีราชาจะคลี่คลายออกมาเป็นลูกอม! คุณสมบัติที่ชาวอเมริกันชื่นชอบในซอสศรีราชาคือความจัดจ้านของมันช่วยชูรสชาติดั้งเดิมของอาหาร เป็นความสนุกเล็กๆ น้อยๆ เมื่อกินอะไรก็ตามเข้าไปแล้วสัมผัสได้ถึงความเผ็ด อมยิ้มนี้เป็นของยี่ห้อ Lollyphile ที่พยายามคิดค้นรสพายฟักทองมาในช่วงเทศกาลขอบคุณพระเจ้า แต่คิดไปคิดมาไอ้พายฟักทองที่นิยมใส่ซอสศรีราชาอยู่แล้วนั้น หากดึงแค่รสซอสขึ้นมาผสมรสชาติเดิมของเบคอนที่ยี่ห้อนี้เคยคิดค้นเอาไว้อยู่แล้วจะเป็นอย่างไร ก็กลายเป็นว่าอมยิ้มรสซอสศรีราชาเบคอนนี้ได้รับความนิยมจนขายดีเรื่อยมา

ช็อกโกแลตรสซอสศรีราชา

ความมหัศจรรย์ของอาหารอย่างหนึ่งคือ เมื่อพริกมาเจอกับช็อกโกแลตมันดันกลายเป็นส่วนผสมที่เข้ากันดีเฉยเลย เพราะฉะนั้นจึงมีการนำความเผ็ดร้อนของซอสศรีราชามารวมกับความเข้มของดาร์คช็อกโกแลต เกิดเป็นช็อกโกแลตบาร์รสซอสศรีราชาเอาไว้กินเล่น ซึ่งยี่ห้อ Sriracha ผลิตออกมาก่อน จนกระทั่งมันโดนตีราบคาบเมื่อ ฮวยฟงกระโจนมาทำตลาดเสียเอง

มันฝรั่งรสซอสศรีราชา

หากจะให้รสชาติเผ็ดร้อนของซอสศรีราชาเข้ากับของกินเล่นสักชนิด คงหนีไม่พ้นมันฝรั่งทอดกรอบ และยี่ห้อที่เป็นเจ้าแห่งการคิดค้นรสชาติใหม่ๆ เสมออย่าง Lay’s ก็ผลิตขึ้นมาสองสูตร คือรสซอสศรีราชา และรสซาวร์ครีมกับซอสศรีราชา เป็นมันฝรั่งที่กินพลางดูดนิ้วพลางเพื่อดื่มด่ำความจี๊ดจ๊าดของมัน นอกจาก Lay’s แล้วยังมียี่ห้อ Kettle และฮวยฟงเองด้วย แต่ไม่ขายดีเท่า

ป๊อปคอร์นรสซอสศรีราชา

นอกจากมันฝรั่งทอดกรอบแล้ว ก็คงจะเป็นป๊อปคอร์นนี่แหละที่สามารถใส่รสชาติจัดจ้านของซอสศรีราชาลงไปได้อย่างไม่ขัดเขิน ซึ่งก็มีอยู่หลายยี่ห้อที่ผลิตออกมา ไม่ว่าจะเป็น Kettle และฮวยฟง ล่าสุดป๊อปคอร์นหน้าโรงหนังเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ บ้านเรา ก็ผลิตรสซอสศรีราชากับเขาด้วย แต่รสชาติจะออกมาทางซอสศรีราชาพานิชที่เราคุ้นเคยมากกว่า  

ถึงซอสศรีราชาพานิชของแม่ถนอมจะมาก่อนฮวยฟงราว 50 ปี แต่ในความคุ้นชินของคนทั้งโลก รสชาติของซอสศรีราชามันคือฮวยฟงตราไก่ ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายแม้ไม่ได้ทำการตลาดใดเลยก็ตาม เพราะฉะนั้นหากซอสศรีราชาพานิชไปวางขายในอเมริกา มันก็จะเป็นเพียงอีกยี่ห้อหนึ่งของซอสศรีราชาที่มีผลิตอีกมากมายในตลาดเท่านั้น ต้องใช้กำลังภายในมหาศาลหากคิดจะตีตลาดซอสศรีราชาตราไก่ลงได้

เมื่อเข้าไปอยู่ในตลาดใหญ่ก็เหมือนการนับหนึ่งใหม่ในเวทีโลก ความเป็นออริจินัลคงไม่ได้ช่วยเท่าไรนัก

ดูเส้นทางความยิ่งใหญ่ของซอสศรีราชาฮวยฟง ได้จากสารคดีสั้นของ ผกก. กริฟฟิน แฮมมอนด์ ที่มีใช้ชมฟรีในยูทูบ

 

ภาพ : www.nbcnews.com / www.usatoday.com

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS