กว่าจะเป็น ‘ต้มยำกุ้ง’ มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

36 VIEWS
PIN

image alternate text
อาหารไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการอาหารไทยไปเมื่อเดือนธันวาคมปี 2567 เพราะ ต้มยำกุ้ง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็น ‘มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ’ จากยูเนสโก เป็นลำดับที่ 5 ของไทย ต่อจาก โขน (2561) นวดไทย (2562) โนรา (2564) และสงกรานต์ (2566) นับจนถึงปัจจุบัน ต้มยำกุ้งถือเป็นอาหารเพียงหนึ่งเดียวของไทยเท่านั้น ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ  

แม้จะมีความสำคัญขนาดนี้ แต่รู้ไหมคะว่าเราไม่สามารถฟันธงสืบสาวจุดกำเนิดของต้มยำกุ้งแบบแน่ชัดได้ว่าใครกันคือผู้คิดค้น มีเพียงข้อสันนิษฐานและมุมมองจากนักประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่กล่าวว่าต้มยำเป็นผลผลิตจากการผสมผสานวัฒนธรรมการกินผ่านเส้นทางการค้าโบราณ โดยได้รับอิทธิพลจากสองขั้วสำคัญ คือ ‘แกงน้ำข้นแบบอินเดีย’ และ แกงน้ำใสแบบจีน’ ซึ่งเข้ามาพร้อมกับการค้าทางทะเลอันดามันและศาสนาพราหมณ์-พุทธ

ต้มยำกุ้ง

ช่วงพ.ศ.2352-2367 สมัยรัชกาลที่ 2 มีคำว่า ‘ต้มยำ’ อยู่ในวรรณคดีไทยเรื่องเสภาขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี และคำว่า ‘แกงต้มยำ’ ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ตอนพิธีราชาภิเษกพระราม

สมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฎชื่อต้มยำกุ้งในปะทานุกรม การทำของคาวหวานอย่างฝรั่งแลสยาม (พ.ศ. 2441) ที่บันทึกสูตร ‘ต้มยำกุ้งกับเห็ดโคน’ และ ‘ต้มยำกุ้งทรงเครื่อง’ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นคนละเรื่องกับต้มยำกุ้งที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน เพราะมีส่วนผสมอย่าง เนื้อหมูต้มฉีก ปลาใบไม้เผา ปลาแห้ง กระเทียมดอง แตงกวา มะดัน และใช้เครื่องปรุงรสแสนเรียบง่ายเพียงแค่น้ำปลา น้ำกระเทียมดอง น้ำตาลทราย และน้ำมะนาว เท่านั้น

ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ (พ.ศ. 2451) โดย ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ตำราอาหารอย่างเป็นทางการเล่มแรกของไทยก็มีชื่อ ‘ต้มยำเขมร’ หรือ ‘แกงนอกหม้อ’ แต่หน้าตาก็ยังคงไม่เหมือนต้มยำกุ้งที่เรากินกันในปัจจุบัน

กระทั่งปีพ.ศ. 2505 หม่อมราชวงศ์กิตินัดดา กิติยากร ปรุงต้มยำกุ้งเป็นเครื่องเสวยทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้ง 4 พระองค์ จากนั้นชื่อต้มยำกุ้งก็ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในหนังสือของเสวย ( พ.ศ. 2507) ที่เขียนโดยหม่อมราชวงศ์กิตินัดดา กิติยากร เป็นการบันทึกสูตรต้มยำกุ้งที่ใกล้เคียงกับที่เรารู้จักในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของเมนูนี้ที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จนกลายเป็นต้มยำที่มีเอกลักษณ์สองแบบ คือ ‘ต้มยำน้ำใส’ และ ‘ต้มยำน้ำข้น’ โดดเด่นด้วยรสชาติกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์ครบทั้ง 4 รสคือเปรี้ยว เผ็ด เค็ม หวาน ผสานกลิ่นหอมของสมุนไพรอย่างข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด

ต้มยำกุ้ง

เราอาจจะไม่สามารถระบุที่มาที่ไปของต้มยำกุ้งได้ แต่ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือต้มยำกุ้งเป็นอาหารที่มีเรื่องราวผสมผสานทั้งวัฒนธรรม พัฒนาการ อีกทั้งยังรวมถึงความชาญฉลาดของคนในอดีต ที่ช่วยให้กินเครื่องสมุนไพรไทยที่เป็นยาได้ง่ายขึ้น และที่จะละเลยไปไม่ได้ นั่นคือต้มยำกุ้งเป็นภาพสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ข้างครัวมีสมุนไพร ครบเรื่อง ครบรส ครบบริบท สมบูรณ์ในทุกองค์ประกอบ ที่อาหารเมนูหนึ่งๆ จะพึงสะท้อนถึงเรื่องราว วิถีชีวิต ภูมิปัญญา ได้ขนาดนี้ก็สมควรแล้วที่ถูกยกย่องให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม

ที่สำคัญ ต้มยำกุ้งยังอร่อยมากๆๆๆๆ อร่อยจนตัวฉันเองกินต้มยำกุ้งบ่อยกว่าผัดกะเพราเสียอีก ฉะนั้นแล้ว ทุกคนจงมาเป็นต้มยำกุ้งเลิฟเว่อร์กันเถอะ ด้วยสูตรต้มยำกุ้งทั้งแบบออริจินอลและแบบฟิวชั่นที่คัดสรรมาให้แล้วว่าเด็ด จะปรุงกินเองหรือปรุงรับเพื่อนต่างชาติแขกบ้านแขกเมืองก็รับรองว่าถูกปากถูกใจแน่นอน

ต้มยำกุ้ง

คลิกดูสูตร

ต้มยำกุ้งมะพร้าวน้ำหอม

ต้มยำกุ้งน้ำใส

ต้มยำกุ้งใหญ่

ราเม็งต้มยำกุ้ง

เฟตตูชินี่ครีมต้มยำกุ้ง

ซุปบิสค์ต้มยำกุ้ง

ข้าวผัดต้มยำกุ้ง

ไข่ตุ๋นต้มยำกุ้ง

ไข่กระทะต้มยำกุ้งมะเขือเทศ

ที่มา: https://news.trueid.net/detail/LeRQWjQ4D1jJ

https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/kin-duem/593271

https://mgronline.com/travel/detail/9670000116929

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS