ทำไมเรือเล็กควรออกจากฝั่ง

6,543 VIEWS
PIN

image alternate text
จากกรณีเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขพระราชกำหนดการประมง ปี 2558 ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำประมงพื้นบ้าน เริ่มตั้งแต่นิยามที่ว่า การทำประมงพื้นบ้าน คือการทำประมงในเขตชายฝั่งเท่านั้น ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิในการทำประมง ตลอดจนข้อเรียกร้องให้ยกเลิกเครื่องมือที่ทำลายระบบนิเวศ เป็นต้น

หลายคนอาจสงสัย ทุกวันนี้เรือเล็กไม่ออกจากฝั่งแล้วอย่างนั้นหรือ? และทำไมเรือเล็กควรออกจากฝั่ง! เรื่องราวต่อจากนี้จะทำให้เราได้เห็นว่า เรือเล็ก-เรือใหญ่ เชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ มากกว่าที่เราคิด ทั้งระบบนิเวศใต้น้ำ เศรษฐกิจ การเมือง ภูมิปัญญา จนถึงเรื่องในจานอาหาร

“โลกของเรากำลังเผชิญกับปัญหา over fishing คือการจับเกินปริมาณที่สัตว์น้ำจะเกิดลูกหลานมาทดแทนได้ เพราะเทคโนโลยีการจับปลาพัฒนาขึ้น จำนวนเรือประมงมากขึ้น และความต้องการของคนกินสูงขึ้น บ้านเราจึงมีกฎหมายใหม่ออกมา เพื่อป้องกันการทำประมงแบบทำลายสิ่งแวดล้อม ข้อกำหนดส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเรือพาณิชย์ แต่ก็มีบางข้อที่เกี่ยวกับเรา เดี๋ยวผมจะอธิบายให้พี่น้องฟัง” ปิยะ เทศแย้ม หัวหน้าชมรมประมงพื้นบ้านบ้านทุ่งน้อย อธิบายกลางที่ประชุมสามัญประจำปี เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ทีมงานนัดคุยกับปิยะหลังเลิกประชุม ระหว่างรอเราจึงได้นั่งร่วมฟังการประชุมด้วย ข้อกำหนดในกฎหมายใหม่ส่วนใหญ่เน้นเขตพื้นที่ และระบุประเภทเครื่องมือทำประมงทำลายสิ่งแวดล้อมที่ห้ามใช้ เนื่องจากที่ผ่านมาเรือประมงพาณิชย์ได้ลักลอบเข้ามาทำประมงในเขตชายฝั่งบ่อยจนทรัพยากรสัตว์ทะเลร่อยหรอ เกิดข้อพิพาทกับชาวบ้าน ประมงเรือเล็กไม่มีอำนาจใดต่อรอง เพราะใครที่อาจหาญเข้าไปแสดงตนขัดแย้ง มักไม่ได้อยู่อย่างเป็นสุข บ้างก็ถูกซ้อมเจ็บตัวกลับมา ปิยะเองก็เคยถูกทำร้ายจากการต่อต้านเรือคราดหอย การรวมกลุ่มทำให้พวกเขามีอำนาจการต่อรองมากขึ้น และมีหูมีตาคอยเฝ้าระวังเรือทำผิดกฎหมายในทะเล

เหตุที่พื้นที่ชายฝั่งเป็นปัญหาเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวคือบ้าน และแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลวัยอ่อน กุ้ง หอย ปู ปลา ส่วนใหญ่จะมาวางไข่ ออกลูกในพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นอ่าว มีปากแม่น้ำ เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์จากตะกอนที่แม่น้ำพัดพามา ลักษณะชายฝั่งที่มีสัตว์ทะเลชุกชุมน้ำจะขุ่น ไม่ได้ใสเหมือนในโปสการ์ดการท่องเที่ยว ลักษณะพื้นอ่าวเป็นเลน และชุมชนประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่ก็ตั้งอยู่โดยรอบพื้นที่ลักษณะนี้

ความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำเชิญชวนให้เรือพาณิชย์เข้ามาหาปลาในอ่าว ทั้งประหยัดน้ำมัน ไม่ต้องออกเรือไกล ผลที่ได้ก็คุ้มทุน ปัญหาระหว่างเรือใหญ่กับเรือเล็กจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกชุมชนประมงพื้นบ้าน หลายชุมชนที่รวมตัวกันได้ ก็ต่อสู้กันไป บางชุมชนสู้ไม่ไหวก็ล่มสลายไปทั้งชุมชน เมื่อเกิดข่าวยุโรปให้ใบเหลืองเตือนการประมงไทยให้ปรับปรุงเรื่องปัญหาการใช้แรงงานทาส และการจับสัตว์น้ำอย่างไร้ความรับผิดชอบ ประมงพาณิชย์ทั้งหลายจึงถูกเพ่งเล็ง

แต่กระนั้นทางฝ่ายเรือใหญ่ก็ยังมีคำอธิบายเพื่ออ้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเองว่า เขาไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้ปลาหมดทะเล ปลาหายจากทะเลเพราะเรือเล็กต่างหากที่จับปลาใหญ่ไป ทั้งๆที่ชาวประมงพื้นบ้านรู้ดีว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ปลาหายากขึ้น เพราะเรือใหญ่เอาอวนมาลากมารุนจนพื้นทะเลเสียหาย และใช้อวนตาถี่จับลูกปลา เราแลกเปลี่ยนกับปิยะในประเด็นนี้

“ลองคิดดูนะ ถ้าปลาทุกตัวได้วางไข่ก่อนถูกจับ จากร้อยมันจะกลายเป็นหมื่นเป็นแสน ถ้าปะการังไม่ถูกทำลาย สัตว์มีที่อยู่ได้เกิดลูกเกิดหลานได้ ปลาจะหมดทะเลได้อย่างไร ใครว่าเพราะเราจับปลาใหญ่ ปลาจึงหายไปจากทะเล มันไม่จริง

“บ้านเรามีกฎหมายคุ้มครองการทำประมง แต่บางครั้งการบังคับใช้กฎหมายมันไปเอื้อให้นายทุน เขาเลยแอบมาทำประมงตามแนวเขตชายฝั่ง ชายฝั่งมันเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำ พอโตมันจึงออกทะเลลึก นอกชายฝั่งในเขตน้ำลึกปลาไม่เยอะเท่า เรืออวนลาก อวนรุน เรือคราดหอย ก็แอบเข้ามาทำประมงในเขตชายฝั่งน้ำตื้น มันได้ปลาเยอะ แต่เขาจับไม่เลือก เอาอวนมาลาก พื้นทะเลจะเหลืออะไร ที่เคยเป็นหลุมเป็นบ่อให้กุ้งให้ปูได้อยู่ ก็เรียบหมด น้ำเสียหมดเพราะตะกอนเลนฟุ้งกระจาย ปะการังไม่เหลือ ปลาไม่มีที่อยู่ ประมงพื้นบ้านก็ไม่เหลืออะไรให้จับ”

“ชาวประมงพื้นบ้านเรายังเลือกว่าออกทะเลแต่ละครั้ง เราจะจับอะไร เรืออวนลากเขาลากจับหมดตั้งแต่สัตว์ที่อยู่หน้าดินจนถึงผิวน้ำ ปะการังเสียหาย ลูกปลาติดอวนตาย กลายเป็นปลาเป็ด (ปลาขนาดเล็ก สัตว์ทะเลวัยอ่อน) ติดมาแล้วขายไม่ได้ ไม่มีใครกิน แล้วมันก็เข้าโรงงานปลาป่น เป็นอาหารสัตว์”

“ตอนนี้กฎหมายประมงกำหนดให้เรือประมงพื้นบ้านทำประมงอยู่ได้แค่เขตชายฝั่งไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล เพื่อแบ่งเขตประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้านให้ชัดเจน ปกติเราออกเรือกันไกลกว่านั้น ขึ้นกับลักษณะพื้นใต้ทะเล และขึ้นกับว่าเราจะไปจับปลาประเภทไหน บางอ่าวน้ำตื้นจนสิบไมล์ พอกำหนดมาแบบนี้ปลาที่เราจับได้ก็มีความหลากหลายน้อยลง พื้นที่จับปลาก็ทับซ้อนเพราะประมงพื้นบ้านเรามีเยอะ พวกที่มีเรือใหญ่หน่อยประมาณ 10 ตันกรอสส์ ก็ต้องขึ้นทะเบียนเป็นเรือพาณิชย์ออกไปหาปลานอกเขต 3 ไมล์ แต่ใช้เครื่องมือพื้นบ้าน วิธีนี้เหมือนจะช่วยนะ แต่ผมว่ามันจะยิ่งทำให้ประมงพื้นบ้านอยู่ไม่ได้ เพราะในเขตสามไมล์ การทำประมงจะเข้มข้นมากๆ และความหลากหลายของระบบนิเวศริมฝั่งจะถูกทำลายในระยะยาว”

สิ่งที่ปิยะเล่าทำให้ฉันคิดถึงคำพูดของนัท ไต้ก๋งเรืออายุน้อย ที่ฉันและทีมงานขอติดเรือของเขาออกไปดูการกู้อวนปูด้วยในช่วงเช้ามืดก่อนมาเข้าร่วมฟังประชุม นัท หรือ ธนัท แช่มช้อย เป็นคนทุ่งน้อยแต่กำเนิด เขาออกเรือกับพ่อตั้งแต่อายุ 12 ปี พออายุ 14 ก็ขึ้นตำแหน่งไต้ก๋งเรือแทนพ่อเหมือนกับเพื่อนๆรุ่นราวคราวเดียวในหมู่บ้าน เรือของนัทเป็นเรือค่อนข้างใหญ่ จึงถูกกฎหมายจัดเป็นประเภทเรือประมงพาณิชย์ และต้องออกไปทำประมงนอกเขตชายฝั่ง ฉันถามนัทว่า เขามองตัวเองเป็นประมงเรือใหญ่หรือประมงเรือเล็ก นัทบอกว่าเขาเป็นประมงเรือเล็ก แค่ขนาดลำใหญ่ เมื่อต้องออกไปทำนอกฝั่งไกลๆก็ประสบปัญหาเหมือนกัน

“นัทจับปูแบบเรือเล็ก เอาอวนปูมาจับปูอย่างเดียว ไม่ได้ลากหมดทะเล…อวนปู เวลาวางมันจะอยู่นิ่งๆกับพื้น ปูมันจะมาติดเอง หน้าอวนสูงขึ้นมาประมาณฟุตหนึ่ง นัทเลือกวางตรงที่ที่เคยจับได้ ตรงไหนที่เราเคยจับได้มันก็จะมีปูอยู่เรื่อยๆ พอวางอวนเสร็จ นัทต้องรีบแจ้งพิกัดให้เรือใหญ่ที่จับปลาแถวนี้รู้ ไม่งั้นเช้ามาเรือใหญ่กวาดไปหมด บางทีบอกแล้ว เขาก็มาลากหายไปบ้างเหมือนกัน”

นัทยังเล่าให้ฟังด้วยว่า แต่ก่อนที่อ่าวหน้าบ้านมีปลาทูมาก ชาวบ้านทุ่งน้อยออกเรืออวนปลาทูกันทุกคน ครอบครัววาฬบลูด้าตามฝูงปลาเข้ามาหากินในอ่าวอยู่บ่อยๆ จนไม่นานมานี้ปลาทูเริ่มหายไป ชาวบ้านจับกันแทบไม่ได้ หลายครอบครัวต้องขายอวนปลาทูแล้วหันมาซื้ออวนจับปูแทน นัทก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น

“นัทเห็นเขาเอาอวนตาถี่ปั่นไฟมาจับลูกปลา” นัทพูดแล้วนิ่งไปสักพัก “แต่เหตุผลนัทมันสวนทางกับเรือใหญ่ เขาว่าเรือเล็กจับแม่ปลาหมด ลูกปลาเลยเกิดไม่ทัน เรือพื้นบ้านก็บอกว่าเรือใหญ่จับปลาเล็กหมด ปลามันเลยโตไม่ทัน (หัวเราะ)”
“นัทคิดว่าเหตุผลไหนน่าจะถูก” ฉันถามต่อ

“มันก็ต้องเป็นเพราะเขาจับปลาเล็กหมดสิ เราใช้อวนตาใหญ่จับปลาขนาด 14-15 ตัวโล ถ้าเล็กกว่านั้นก็ว่ายลอดไปได้เลย อวนตาถี่ที่เขาใช้มันเลือกไม่ได้ สัตว์อะไรที่เข้ามาอยู่ในวงอวนก็ถูกยกขึ้นมาหมด ลูกปลาขนาดหลายร้อยตัวโลก็ติดมาด้วย ถ้าปล่อยให้ปลาชุดนั้นโตขึ้นมา นัทว่าเราคงจับกันไม่ไหว ปลาคงจะเยอะมาก เพราะปลามันมีโอกาสได้โต ได้วางไข่ ได้สืบพันธุ์ แต่ตัวเล็กๆที่เขาจับไปบางตัวยังไม่ได้วางไข่ ยังไม่ได้สืบพันธุ์เลยก็ตายแล้ว” นัทตอบยิ้มๆ

“เมื่อ 4-5 วันที่แล้ว มีวาฬบลูด้าตายไปเกยที่ฝั่งเขาแดง ตัวขนาด 5-6 เมตรได้ ไม่รู้โดนอะไรมา มีเจ้าหน้าที่เขามาตรวจพิสูจน์ แต่นัทก็ไม่รู้ว่ามันตายเพราะอะไร โดนอวนลากเรือใหญ่รึป่าวไม่รู้”

เสียงวิทยุสื่อสารเหนือหัวดังขึ้น นัทคว้ามาพูดตอบไป เพื่อนไต้ก๋งจากเรือลำอื่นๆส่งเสียงมาทักทาย หยอกล้อกันตามประสาวัยรุ่น ทุกคนกำลังมุ่งหน้าไปทำงานในทะเล เรือแต่ละลำพอมองเห็นอยู่ห่างกันลิบๆ ทุกคนแบ่งปันข่าวสารคลื่นลม และพื้นที่วางอวน ว่าตรงไหนมีปูมาก

ถึงจุดวางอวน นัทปล่อยให้เรือลอยลำระหว่างที่พ่อของเขาสาวอวนปูขึ้นมาปลดบนเรือ พ่อของนัทแยกปูไข่นอกกระดองไปอนุบาลต่อ เพื่อรอให้แม่ปูวางไข่ก่อนปล่อยลูกปูสู่ทะเล ปูที่ติดอวนส่วนใหญ่เป็นปูม้า มีปูหน้าตาประหลาดไม่เคยเห็นติดมาบ้าง แต่ลูกเรือก็ปลดแล้วปล่อยลงทะเลไปเพราะเนื้อมันน้อย ไม่มีใครกิน

ปูที่นัทจับได้จะมีแม่ค้ามารับไปขาย แม่ค้าคนกลางจะเข้ามาถึงท่าเทียบเรือในหมู่บ้าน ราคาปูดีกว่าราคาปลาทู ชาวประมงสามารถต่อรองได้ ถ้าคนซื้อให้ราคาต่ำก็เก็บไปขายเจ้าอื่น แต่ถ้าครอบครัวไหนเป็นหนี้กับแพปลา ทุกอย่างที่จับได้มาก็ต้องขายให้กับแพปลาทั้งหมด โดยแพปลาเป็นผู้กำหนดราคา พอขึ้นฝั่งพ่อของนัทก็นำแม่ปูที่มีไข่นอกกระดอง มาอนุบาลในบ่อธนาคารปูของชุมชน นัทได้ปูมาไม่มาก แต่ละตัวขนาดประมาณฝ่ามือ ชุมชนประมงพื้นบ้านโดยส่วนใหญ่จะมีข้อตกลงกันไม่ให้จับสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัยทุกชนิด

แม้กุ้งหอยปูปลาที่ได้จากทะเลแต่ละครั้ง จะหมายถึงปากท้องของคนในครอบครัวประมงพื้นบ้าน แต่เขารู้ว่า เขาคิดถึงปากท้องของครอบครัวแค่วันนี้ไม่ได้ เมื่อทะเลมอบอาหารและชีวิตให้กับเขา เขาก็ต้องรักษาให้ทะเลเป็นอู่ข้าวอู่ปลาให้ลูกหลานต่อไปในวันหน้าด้วย

“เรือเล็กในทะเลใหญ่”

สองวันก่อนที่ทีมงานลงพื้นที่บ้านทุ่งน้อย เราไปออกเรือกับชาวประมงพื้นบ้านที่อ่าวคั่นกระได ช่วงเช้าวันนั้นแดดแผดจ้า แต่พยากรณ์อากาศบอกว่าตอนบ่ายชายฝั่งด้านตะวันออกจะมีคลื่นสูง ลมแรง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง เราได้แต่ภาวนาให้ลมเดินทางช้าๆ ขอให้เราออกเรือได้ และงานวันนั้นสำเร็จด้วยดี

ทีมงานใส่เสื้อชูชีพนั่งรอดูคลื่นลมอยู่ที่ชายหาดตั้งแต่บ่ายจนเกือบสี่โมงเย็น กว่าจะได้ยินข่าวดี “ขี้เมฆยังไม่ตั้ง ลมยังไม่เปลี่ยนทิศ เราออกเรือได้” บุช จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงพื้นบ้าน ตำบลคั่นกระได อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หันมาพูดกับเรา

บุช เป็นคนคั่นกระไดแต่กำเนิด เขาออกเรือกับพ่อตั้งแต่เด็ก ในช่วงชีวิตของบุช เขาได้เห็นวันที่อ่าวคั่นกระไดอุดมสมบูรณ์ เรือแต่ละลำจับปลาทูได้วันละหลายร้อยกิโล ผ่านช่วงที่ปลาหายไปจากอ่าว ชาวบ้านจับปลาไม่ได้ต้องโยกย้ายไปทำกินถิ่นอื่น จนชุมชนเกือบล่มสลาย มาถึงวันนี้ที่คนในหมู่บ้านหันหน้ามาพูดคุย ร่วมกันหาทางแก้ปัญหา สร้างซั้ง ทำบ้านปลา ก่อตั้งธนาคารปู จนความอุดมสมบูรณ์ค่อยๆกลับคืนสู่อ่าวคั่นกระไดอีกครั้ง

เรือของบุชเป็นเรือจับปลาอกกะแล หรือคนทั่วไปเรียกปลาหลังเขียว เป็นปลาที่มีมากในอ่าวคั่นกระได ปลาชายฝั่งชนิดนี้มองผ่านๆคล้ายปลาทู แต่ปากเชิด ตัวแบนและขนาดเล็กกว่า ปลาอกกะแลมีก้างมากและไม่เป็นระเบียบ แต่เนื้อหวาน คนเฒ่าคนแก่ชอบกิน ชุมชนริมทะเลนิยมนำมาทำปลาเค็ม โดยหมักเกลือทั้งเกล็ด เวลาทอดเกล็ดปลาชนิดนี้จะฟูบานออก เนื้อเฟิร์มแข็ง กินกับแกงส้มเข้ากันดีมาก

เรือของบุชเป็นเรือขนาดเล็ก มีลูกเรือ 3 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นหลานชายของเขา เราต่างเอาสัมภาระเทินหัว แล้วลุยน้ำทะเลลึกประมาณสะโพกไปขึ้นเรือ เรือของบุชไม่มีหลังคา มีพื้นที่ให้เรายืนเกาะเสาไม่มาก บุชสตาร์ทเครื่องแล้วค่อยๆขับเรือโต้คลื่นออกไปในอ่าว ระหว่างนั้นเราก็ตะโกนคุยกับบุชแข่งกับเสียงเครื่องเรือไปพลางๆ

บุชเล่าถึงชีวิตตัวเองให้ฟังว่า “ผมเคยสมัครเป็นลูกเรือประมงใหญ่ ตอนนั้นในหมู่บ้านมีคนไปทำงานเป็นลูกเรือที่มาเลเซีย เขากลับมามีเงินทอง แล้วเขาก็เล่าเรื่องบ้านเมืองที่เมืองนอกให้ฟัง เราก็อยากไปบ้าง พ่อห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง ผมไปทีเดียวเข็ดเลย สองเดือนไม่ได้กลับบ้าน เขาออกเรือไกลมาก ผมเป็นเด็กโดดน้ำ เวลาเขาลงอวน ต้องโดดลงไปเอาเชือกมาโยงกับเรือ มันลึกและมืดมาก เขาให้โดดก็ต้องโดด เหนื่อยก็ต้องโดด ว่ายน้ำไปมาทั้งคืน เข็ดเลยไม่เอาอีกแล้ว กลับมาทำที่บ้านเราดีกว่า”

บุชทำประมงมาตลอดชีวิต ค่อยๆเก็บเงินที่ขายปลาได้มาซื้อเรือขนาดกลาง ลำที่เขาใช้อยู่ปัจจุบัน “เมื่อก่อนผมออกทะเล ผมก็คิดแค่ว่าวันนี้จะได้ปลาเยอะแค่ไหน จะได้เงินให้ลูกมากเท่าไร เพราะเมื่อก่อนปลามันเยอะ เยอะมากจนผมไม่คิดว่ามันจะมีวันหมด ออกจากฝั่งมานิดเดียวก็จับได้แล้ว แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างมันไม่เหมือนเดิม ปลาหายไปเยอะมาก เดี๋ยวนี้ผมออกทะเล ผมคิดถึงวันข้างหน้าของลูกผม เราจับอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรักษาทะเลด้วย วันข้างหน้าลูกหลานจะได้มีกิน”

บุชเคยได้รับผลกระทบจากเรือคราดหอยลาย และการทำประมงอย่างไร้ความรับผิดชอบของคนในพื้นที่ ตัวเขาเองก็ยืดอกยอมรับอย่างลูกผู้ชายว่า เคยใช้อวนตาถี่จับลูกปลาและทำร้ายทะเล “ปลามันหายไป เมื่อก่อนปลาทูหน้าอ่าวนี่เยอะมาก พอออกเรือแล้วจับปลาไม่ได้ เราก็หาวิธี มาใช้อวนตาถี่ขึ้น ถี่ขึ้น สุดท้ายนี่ถี่ขนาดจับลูกปลาขนาดพันตัวกิโล ยกขึ้นมานี่เป็นน้ำหายไปเลย ตัวมันเล็กมาก”

“ผมต้องย้ายครอบครัวไปหากินที่อื่น ไปมาทั่ว ชุมพร บางสะพาน ไปเช่าบ้านเขาอยู่ แล้วเขาก็มาไล่ผมเพราะไปจับลูกปลาเขา ครั้งสุดท้ายเขาแจ้งตำรวจไปรอจับผมที่ท่าเรือเลย เขายึดเครื่องมือผมทั้งหมด แล้วให้ออกจากพื้นที่ทันที…พอหมดหนทางผมก็ต้องกลับบ้าน กลับมาเผชิญหน้ากับปัญหา เราลองคุยกับพี่น้อง พอดีพี่ตุ๊ก เสาวลักษณ์ ประทุมทอง เขาทำงานเอ็นจีโอเข้ามาช่วยพาชาวบ้านแก้ปัญหา โครงการอนุรักษ์ก็เริ่มต้นขึ้น” บุชพูดพลางโยกหางเสือ หันหัวเรือโต้คลื่นใหญ่ที่กำลังเคลื่อนเข้ามา

“เดี๋ยวผมพาไปดูซั้งกอ ดูจากซาวเดอร์จะเห็นเลยว่ามีฝูงปลาอยู่ มันจะขึ้นเป็นเม็ดๆบนหน้าจอ แต่เราจะไม่วางอวนตรงนั้น มันเป็นข้อตกลงของชุมชนร่วมกัน ยกเว้นเรือเบ็ดตก เพราะเขาจับทีละตัว” บุชขับเรือเฉียดเข้าไปใกล้กลุ่มลำไม้ไผ่ ที่ปลายเหนือน้ำเอนลู่ไปตามคลื่น จุดฝูงปลาปรากฏขึ้นที่หน้าจอ “นี่น่าจะเป็นอกกะแล ฝูงใหญ่ด้วย” บุชพูดพลางชี้จอให้เราดู

ซั้งกอ คือภูมิปัญญาของชาวประมงพื้นบ้านที่ทำสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน บางชุมชนทำสืบทอดกันมาต่อเนื่อง บางชุมชนภูมิปัญญานี้ก็สูญหายไป อย่างที่อ่าวคั่นกระได มีการฟื้นฟูภูมิปัญญานี้ขึ้นมาใหม่ ด้วยหวังให้ซั้งนำความอุดมสมบูรณ์กลับมา

ซั้งทำจากทางมะพร้าวสดผูกกับลำไม้ไผ่ แล้วถ่วงด้วยหินก้อนใหญ่ หรือแท่นปูนหล่อ เพื่อเป็นที่อยู่ให้กับลูกปลา และดึงฝูงปลาให้เข้ามาอยู่ใกล้ฝั่ง ชาวประมงจะได้ไม่ต้องออกเรือไปจับปลาไกลๆ ชาวประมงจะเลือกพื้นที่ทิ้งซั้งไม่ห่างจากฝั่งนัก หนึ่งกอมีลำไม้ไผ่ประมาณสิบกว่าลำ ฝูงปลาเล็กปลาใหญ่จะเข้ามาอาศัยหลบภัยใต้ใบมะพร้าว

“แรกที่เราทำมีคนต่อต้านเยอะ ในชุมชนของเรานี่แหละ เขาบอกว่าซั้งมันเกะกะ เขาออกเรือวางอวนลำบาก ครั้งแรกที่เราไปวาง เช้าวันรุ่งขึ้น ซั้งทุกต้นถูกอวนลากไปกองรวมกันเป็นกอใหญ่กอเดียวเลย ผมพยายามพูดคุย แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร พอผ่านไปอาทิตย์หนึ่งมีฝูงปลาจะละเม็ดเข้ามาตอม เจ้าของเรือที่ลากซั้งไปรวมกัน เขาก็ได้ล้อมได้จับปลาอยู่ตรงนั้น อาทิตย์เดียวได้เป็นแสน เขาเลยได้เห็นกับตาว่าซั้งมีประโยชน์ ตอนนี้ทุกครั้งที่ชุมชนเราทำซั้ง เขาก็เข้ามาร่วมกับเราตลอด” บุชพูดด้วยรอยยิ้ม

“ชุมชนเราทำซั้งกอทุกปี รอบต่อไปตั้งใจจะเอาไปทิ้งช่วงเดือนพฤษภา ครั้งนี้เราเปลี่ยนมาลองใช้ซั้งเชือก ให้คนในหมู่บ้านช่วยกันทำ เพราะไม้ไผ่กับทางมะพร้าวมันเปื่อยไว 2-3 เดือน ก็ถูกคลื่นซัดขาดหมด ที่คั่นกระไดทำซั้งมาสองปีแล้ว เห็นผลเลยว่าปลามันเริ่มกลับมา กุเลาตัวโลกว่าสองโล เด็กที่หมู่บ้านก็ตกได้ จะละเม็ดดำที่หายไปนาน ปีนี้ชาวบ้านก็จับได้เยอะ”

ฉันถามบุชว่า ถ้ามีคนสนใจอยากมาร่วมวางซั้ง หรือออกเรือด้วยจะเป็นไปได้ไหม บุชหันมาตอบเราด้วยรอยยิ้มว่า “มาได้เลยครับ เรายินดีต้อนรับเสมอ”

บุชผละจากฉันหันไปมองทางหัวเรือ หลานชายของเขาปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนเสากระโดง ตะโกนเรียกพลางชี้ไปทางด้านหน้า บุชเพ่งมองตาม “ปลามันขึ้นเอาหางดีดน้ำ นั้นๆเห็นไหม” บุชชี้ ฉันมองอะไรไม่เห็นเลยนอกจากยอดคลื่นเป็นริ้วขาวๆเต็มทะเลไปหมด

บุชหักหัวเรือไปทางทิศนั้น เขาขับเรือไปและคำนวณทิศทางน้ำไปอย่างนิ่งเงียบ เย็นวันนั้นน้ำกำลังลง กระแสน้ำเคลื่อนออกจากฝั่ง บุชต้องกะความเร็วน้ำแล้วขับเรือไปดักหน้าฝูงปลา พร้อมกับคำนวณระยะที่น้ำจะพัดพาอวนไป เมื่อถึงที่หมายเขาก็ส่งสัญญาณให้หลานปล่อยอวน เขาขับเรือตรงต่อ อวนผืนยาววิ่งลงจากเรืออย่างรวดเร็ว อวนปลาอกกะแล เป็นอวนลอย ชายไม่ถึงหน้าดิน ใช้จับเฉพาะปลาชนิดนี้เท่านั้น ปลาอกกะแลโตเต็มวัยที่บุชจับขนาดยาวประมาณฝ่ามือ ตัวเล็กจะไม่ติด ส่วนปลาชนิดอื่นอย่างปลาทู หมึก กุ้ง อาจวิ่งชนบ้าง แต่ไม่ค่อยติดอวน

บุชปล่อยอวนจนหมด ช่วงอาทิตย์ลับขอบฟ้าพอดี ท้องฟ้ามีแสงโพล้เพล้ไม่ถึงกับมืดสนิท เป็นช่วงที่บุชบอกว่าปลาจะมองไม่เห็นอวน แต่ถ้าปล่อยให้ฟ้ามืดกว่านั้น ในทะเลจะมีพรายน้ำเรืองแสง ทำให้ปลาเห็นอวนแล้วมันจะไม่ติด บุชเดินเรือตรวจอวนขึ้นลงสองรอบ ระหว่างที่เรือเคลื่อน หลานชายอีกคนของเขาเดินมาคว้าไฟฉาย ส่องลงไปในน้ำบริเวณหน้าอวน “ปลามันจะตกใจแสงไฟ แล้วว่ายไปติดอวน” บุชบอก เวลาแสงไฟสาดผ่านเราเห็นปลาหลายตัวกระโดดข้ามอวนไป วันนั้นเรากลับเข้าฝั่งเกือบสี่ทุ่ม พร้อมกับปลาอกกะแลฝูงใหญ่ มีกุ้งตัวเท่าฝ่ามือ และหมึก 8-9 ตัว ปลาจะละเม็ดดำ 2 ตัว และกุเลาขนาดเท่าท่อนแขน 1 ตัว

 

เรื่องโดย ญดา ศรีเงินยวง
ตัดตอนจากนิตยสารครัว ฉบับที่ 274

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS