ปู ปลา กุ้ง หมึก ต้องเลือกซื้อไซซ์ไหน ถึงจะไม่ทำร้ายท้องทะเล

1,713 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
เคล็ดลับในการเลิกอุดหนุนสัตว์น้ำวัยอ่อน สังเกตง่ายๆ ไม่มีพลาด

หากยังพอจำได้ ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา เราอาจเคยได้เห็นข่าวที่ภาคประชาสังคมและเครือข่ายสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้ห้างสรรพสินค้าหยุดจำหน่ายอาหารจากสัตว์ทะเลวัยอ่อนมาก่อน 

สัตว์น้ำวัยอ่อน หมายถึงสัตว์ที่ยังไม่โตเต็มวัย ยังเป็นลูกปลา ลูกกุ้ง ลูกหมึก ซึ่งถูกตั้งชื่อขึ้นใหม่และทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์ทะเลสายพันธุ์เล็ก อย่างเช่นปลาข้าวสาร ปลาจิ้งจั้ง ปลาฉิ้งฉ้าง ปลาสายไหม (ลูกปลากะตัก) หมึกกะตอย (ลูกหมึกกล้วย) ปูกะตอย (ลูกปูม้า) ปลาทูแก้ว (ลูกปลาทู) ฯลฯ 

หากไม่ใช่คนที่มีประสบการณ์ออกทะเลกับเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ น้อยคนนักที่จะรู้ว่าสัตว์น้ำวัยอ่อนเป็นเพียงผลพลอยได้จากการลากอวนจับปลาเท่านั้น อธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือ เรือประมงขนาดใหญ่จับสัตว์ทะเลโดยใช้อวนลาก อวนที่ว่านี้ไม่ใช่อวนตัวเล็กๆ แต่เป็นตาข่ายตาถี่คล้ายถุงขนาดใหญ่มหึมา เมื่อกางออกมาใต้ผิวน้ำทะเลแล้วจะกินพื้นที่มหาศาล กวาดเอาทั้งปลาตัวใหญ่ที่เป็นเป้าหมายหลักของการออกเรือ และทั้งสัตว์น้ำวัยอ่อนอื่นๆ ที่ติดมาด้วย ต่างกับประมงพื้นบ้านหรือเรือเล็กของคนในท้องที่ ที่เลือกจะใช้อวนตาห่าง หรือใช้วิธีอื่นในการจับสัตว์ทะเลโดยเจาะจงเฉพาะตัวที่โตเต็มวัยเท่านั้น 

การลากอวนตาถี่แต่ละครั้ง อวนขนาดมหึมาจะกวาดเอาสัตว์ทะเลมาแบบไม่เลือกหน้า จึงมีสัตว์ที่เป็นสัตว์น้ำวัยอ่อนรวมถึงสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่ไม่ใช่เป้าหมายในการออกเรือมากถึง 2 ใน 3 ดังนั้นชาวประมงหัวใสจึงกอบโกยเอาสัตว์ทะเลวัยอ่อนมาเปลี่ยนให้เป็นรายได้ด้วยอีกทางหนึ่ง โดยสวมทับด้วยชื่ออื่นและนำมาวางขายตามท้องตลาด และก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา สัตว์น้ำวัยอ่อนกลายเป็นอีกผลผลิตที่ได้รับความนิยมมาก เหตุผลนั้นมีอยู่สองข้อ คือหนึ่ง เพราะปลาเล็กปลาน้อยเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี และสอง เพราะผู้บริโภคไม่รู้ว่ามันคือลูกสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย

นอกจากการนำมาต้ม ตากแห้ง และวางขายเป็นแหล่งโปรตีนราคาย่อมเยาแล้ว ลูกสัตว์ทะเลตัวเล็กๆ พวกนี้ยังถูกขายเหมาแบบคละประเภท แล้วตั้งชื่อเสียใหม่ว่า ‘ปลาเป็ด’ ใช้เป็นแหล่งโปรตีนในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อีกด้วย คุณูปการของปลาเป็ดคือมันเป็นแหล่งโปรตีนที่มีขายทั้งปีและราคาไม่แพงเกินไปนัก 

ฟังเผินๆ อาจดูไม่น่ากลัวและไม่อันตราย เพราะปลาเป็นสินทรัพย์จากธรรมชาติไม่น่าจะมีวันหมด แต่ในความเป็นจริงก็คือ การกว้านจับสัตว์ทะเลโดยไม่เลือกหน้า ไม่เลือกประเภท ไม่เลือกอายุแบบนี้ส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของท้องทะเลมากกว่าที่ใครหลายคนจะคาดคิด ผลการสำรวจของกรมประมงพบว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา สถิติการจับปลาในท้องทะเลไทยลดลงจากชั่วโมงหนึ่งราว 300 กิโลกรัม เหลือเพียง 20 กิโลกรัมเท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เคยทำมาในอดีตอย่างเช่นการกินสัตว์น้ำวัยอ่อน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสิ่งที่ควรทำต่อไปในอนาคต

ปัจจุบันเราน่าจะเห็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำวัยอ่อนลดน้อยลงมากๆ ในตลาด Modern trade อย่างห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ก็ใช่ว่าลูกปู ลูกปลา ลูกหมึก และลูกกุ้งจะหายไปจากท้องตลาดเสียทั้งหมด เพราะในแอพลิเคชันออนไลน์ชอปปิงหมึกกะตอย ปลาทูแก้ว และสารพัดสัตว์น้ำวัยอ่อนยังมีขายกันเกลื่อน ตามตลาดนัดยังมีลูกปูม้าตัวจิ๋วที่ขายตัวละสิบบาท ยี่สิบบาท รอกระโดดลงน้ำยำและครกส้มตำอยู่เหมือนเดิม

ในบทความนี้ก็คงจะไม่โลกสวยถึงขนาดที่บอกว่าการจะเป็นผู้บริโภคที่ดีจะต้องไม่มีประสบการณ์คาบเกี่ยวกับการบริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อนเลย เพราะหากยอมรับกันตามจริงแล้ว ในอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมา การซื้อ ขาย และกินลูกสัตว์ทะเลพวกนี้ไม่ได้เป็นเรื่องประหลาดหรือผิดบาป แต่ ณ ปัจจุบันที่ข้อมูลและความสมบูรณ์ของท้องทะเลกำลังฟ้องถึงผลกระทบของการกินลูกปู ลูกปลา ก็คงจะเป็นเวลาอันควรแล้วที่ผู้บริโภคจะได้ทำหน้าที่ในการปกป้องท้องทะเลบ้าง

กลไกสำคัญที่จะทำให้การจับสัตว์น้ำวัยอ่อนลดลงอย่างจริงจังก็คือการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ซึ่งภาคประชาสังคมหลายหน่วยงานต่างก็กำลังเร่งมือกันอย่างไม่หยุดหย่อน จึงมีแคมเปญมากมายที่เราร่วมลงชื่อสนับสนุนเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายได้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ และในระหว่างนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคทำได้ทันทีก็คือการงดซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ว่างขายตามท้องตลาดโดยเด็ดขาด

ไม่ว่าที่ผ่านมาเราจะบริโภคและสนับสนุนการซื้อขายสัตว์น้ำวัยอ่อนโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ณ วันนี้ในฐานะผู้บริโภค เมื่อเรารับรู้และมองเห็นหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นกับท้องทะเลแล้ว ก็คงไม่ใช่เรื่องเกินกำลังในการเลือกซื้ออย่างมีวิจารณญาณ ซื้อเฉพาะสัตว์ทะเลที่โตเต็มวัยเท่านั้น 

แน่นอนว่าไม่มีใครยืนยันได้ว่า การที่เราหลีกเลี่ยงไม่ซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อนจะช่วยให้ประมงพาณิชย์ลดปริมาณการจับลง หรือเปลี่ยนวิธีจับให้ยั่งยืนขึ้นได้แบบ 100% แต่หากมองตามหลักอุปสงค์ อุปทานแล้ว สิ่งใดที่ไม่มีคนซื้อ ผู้ขายก็ย่อมจะหมดความพยายามในการนำมาวางขายไปด้วย และที่สำคัญคือการเลือกซื้อเฉพาะปู ปลา กุ้ง หมึก ที่ขนาดโตเต็มวัยได้มาตรฐาน ยังทำให้เราได้กินอาหารทะเลที่อร่อยกว่าอย่างเต็มปากเต็มคำอีกต่างหาก 

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราแยกได้ว่าอันไหนคือสัตว์น้ำที่โตเต็มวัยแล้ว และอันไหนคือสัตว์น้ำวัยอ่อน ก็คือ ‘ขนาด’ ของสัตว์ทะเล และนี่คือตัวช่วยง่ายๆ ที่เรานำมาฝาก เพียงแค่เทียบกับแบงก์ 100 ในมือ 

ก่อนจะจับจ่ายซื้อซีฟู้ดมาทำเมนูโปรดครั้งต่อไป อย่าลืมหยิบแบงก์ 100 มาเทียบขนาดกันด้วยนะคะ

หรือถ้ายังไม่แน่ใจ อยากถามเกี่ยวกับสัตว์น้ำวัยอ่อนเพิ่มเติม เช่น ตัวนี้ใช่วัยอ่อนไหม หรือช่วยเป็นหูเป็นตาว่าเจอร้านไหนขายสัตว์น้ำวัยอ่อน สามารถแอดไลน์เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์น้ำวัยอ่อนกับกรีนพีซ ประเทศไทยได้ที่ @juvenilefish2022 หรือ https://lin.ee/LGaZHjE  

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่  https://www.greenpeace.org/thailand/juvenile-fish/

ข้อมูลจาก

  • จาก’เล สู่จาน A Guide to Sustainable Seafood โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สำนักงานประเทศไทย)
RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS