เชฟเต้น-ทะเลจันทร์ แค่รัก (ขนมหวาน) ยังไม่พอ

3,732 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
เส้นทางเชฟขนมหวานที่มีความรักเป็นจุดเริ่มต้น ตามด้วยความอดทนและหนักแน่น

หลายคนชอบพูดว่าชีวิตจริงไม่เหมือนในละคร แต่บ่อยครั้งละครก็ยังสุขเศร้าเหงาสู้ไม่เท่าชีวิตจริง เหมือนเรื่องราวของ เชฟเต้น-ทะเลจันทร์ บุณยรักษ์ หญิงสาวตัวเล็ก เจ้าของใบหน้าหวานกับรอยยิ้มสดใสคนนี้ ลำพังมองแค่รูปลักษณ์ จะบอกว่าเธอเป็นนางเอกเชฟที่หลุดออกมาจากซีรี่ส์สักเรื่อง เราก็เชื่อ และยิ่งเมื่อได้คุยกัน ชีวิตของผู้หญิงที่หลงรักขนมหวานตั้งแต่อายุ 12 คนนี้ก็น่าสนใจไม่น้อยจนน่าจะนำไปสร้างซีรี่ส์ได้เลยทีเดียว

วาร์ปมาที่ปัจจุบัน เธอเป็นเจ้าของร้าน Talaychan Patisserie ร้านขนมสไตล์ฝรั่งเศสที่ใครๆ ก็อยากลิ้มลอง 2-3 ปีก่อน เธอมีร้านเล็กๆ น่ารักกลางสวนอยู่ในย่านพระราม 9 ที่มีคนแวะเวียนมาเยี่ยมชิมทั้งทาร์ต บราวนี่ เค้กแคร็อท ที่อร่อยล้ำเลื่องชื่อแบบไม่ขาดสาย แต่ก็เพราะความ ‘ไม่ขาดสาย’ นี้เองที่ทำให้เต้นตัดสินใจปิดร้านเล็กๆ แห่งนี้ของเธอ โดยคงเหลือเพียงหน้าร้านที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์และไอคอนสยาม

มันเพราะอะไร ไปพบกับความจริงที่อาจจะไม่สวยงามเหมือนฝันกัน ณ บัดนี้

การเดินทางของเด็กสาวผู้หลงรักขนมหวาน

เต้น หรือชื่อจริงแสนเก๋ว่า ทะเลจันทร์ เป็นลูกสาวของนักเขียนชื่อดัง ‘วดีลดา เพียงศิริ’ มารดานักเขียนและบิดาที่เป็นศิลปินเลี้ยงลูกสาวมาในสไตล์ศิลปิน นั่นคือสนับสนุนให้ทำในสิ่งที่เธอรัก แม้มันจะหมายถึงการ ‘เป็นคนทำขนม’ ที่ค่อนข้างแหวกแนวไปจากครอบครัว และถือเป็นเรื่องที่ยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับสักเท่าไหร่ในช่วงนั้น

“เต้นเป็นเด็กที่กลางมาก เขียนหนังสือไม่เก่ง วาดภาพไม่สวย เรียนก็ไม่ดี แล้วก็ไม่รู้ว่าตัวเองควรจะเรียนอะไรต่อ” เธอรำลึกความหลังให้ฟังพร้อมเสียงหัวเราะ “จบม.6 เพื่อนเขารู้กันหมดว่าอยากเรียนอะไร อยากเป็นอะไร แต่เต้นไม่รู้ คิดออกอย่างเดียวว่าเราชอบทำขนม ก็เลยขอพ่อกับแม่ไปเรียนทำขนม”

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เต้นในวัย 12 ปีใช้เวลาอยู่ที่บ้านอาม่าที่เป็นกงสี จัดเต็มทั้งอาหารและขนม อาอึ้มของเธอทำขนมฝรั่งอย่างเอแคลร์ บราวนี่ เด็กหญิงเต้นนอกจากจะชอบกินยังชอบช่วยทำด้วยเหตุผลว่ามันทั้งหอมทั้งอร่อย และยังน่าตื่นเต้นที่ได้เห็นไข่ไก่ แป้ง น้ำตาลกลายร่างออกมาเป็นอะไรที่ฟู หอม อร่อย ชอบถึงขั้นที่ไปลงเรียนทำขนมที่  UFM เชียงใหม่ (บ้านเดิมของเธออยู่ที่จ. เชียงใหม่) และขลุกอยู่แต่กับหนังสือตำราอาหาร กระทั่งลงมือทำเองจริงจัง

“ตอนแรกชอบที่มันอร่อยและน่าตื่นเต้นดี แต่พอทำๆ ไปก็เริ่มรู้สึกว่าเราอยากทำขนมเพราะอยากให้ครอบครัวและคนที่เรารักได้กินของอร่อย”

เด็กอายุ 19 เพิ่งจบม.6 เลยได้บินไปเรียนทำขนมที่ Le Cordon Bleu Paris ประเทศฝรั่งเศสแบบตัวคนเดียวเดี่ยวโดด ภาษาอังกฤษแค่พอเอาตัวรอดได้ ภาษาฝรั่งเศสไม่ต้องพูดถึง ไม่ได้เลย แถม Le Cordon Bleu Paris ในปีพ.ศ. 2506 ยังแทบไม่มีนักเรียนไทย อายุก็น้อยนิดห่างจากเพื่อนร่วมชั้น กำแพงภาษา แถมคนละชนชาติอีก ชีวิตหนักหนาจนมีแค่คำว่า ‘รักจะทำขนม’ คำเดียวที่ช่วยให้เธอยืนหยัดต่อไปแม้จะถึงขั้นโทรกลับมาร้องไห้กับแม่ที่เมืองไทย

“เต้นเรียนแบบอินเทนซีฟ 8 โมงเช้ายันสองทุ่ม  ยากมาก เหนื่อย เครียด แล้วในครัวมีเรื่องกดดันหลายอย่างที่เราไม่เด้เตรียมใจ ทั้งเด็ก ทั้งไม่เคยออกมาเจออะไรแบบนี้ เรียกว่าไปผจญภัยเลยดีกว่า เจอคนฝรั่งเศสใจร้ายก็เยอะแยะ แต่ก็เป็นองค์ประกอบที่เราต้องเจอและก้าวผ่านเพื่อไปสู่การทำขนมที่เป็นความฝันของเรา”

จากความแพรวพราวของปารีสสู่ความเงียบเหงาของสวิสเซอร์แลนด์

พากเพียรเรียนทำขนมอย่างเข้มข้นอยู่ 6 เดือน สูญเสียทั้งเหงื่อและน้ำตา เธอก็ได้ดิโพลมา แต่ด้วยความที่พ่อกับแม่อยากให้ลูกสาวมีดีกรีปริญญาตรีติดตัว เต้นเลยต้องเก็บกระเป๋าออกจากปารีสไปเรียนการโรงแรมที่สวิสเซอร์แลนด์ แม้ใจจะยังคงอยู่กับครัวและการทำขนมก็ตาม

6 เดือนที่ปารีส แม้จะเหนื่อยเหน็ดโหดหินแค่ไหน เต้นยังมี ‘การทำขนม’ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง แต่ขวบปีที่สวิสเซอร์แลนด์เธอบอกว่าไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวจิตใจเลย

“เทอมแรกได้อยู่แคมปัสที่โอเค สวยมาก เปิดหน้าต่างห้องมาเจอทะเลสาบ โอ้โห สวยเหมือนฝัน แต่พอเทอมสอง เขาส่งเราไปอีกแคมปัสหนึ่งในเมืองที่แปลเป็นภาษาไทยชื่อเมือง ‘วัว’ เป็นเมืองที่มีแต่วัวจริงๆ ไม่มีแล้ววิวทะเลสาบ มีแต่ทุ่งหญ้ากับวัว เมืองเงียบมาก เหงามาก วันเสาร์ร้านต่างๆ ปิดห้าโมง วันอาทิตย์ไม่มีร้านไหนเปิด จะไปซื้อของทีต้องวางแผน แล้วเดินไปซื้อที่สถานีรถไฟ แสงสีไม่ต้องพูดถึงเลย ไม่มี แล้วเรามาจากปารีสที่เต็มไปด้วยแสงสี ชีวิตทั้งเหงาทั้งหงอย น่าเบื่อสุดๆ”

เป็นอีกครั้งที่เต้นอดทนจนเรียนจบ ก่อนจะกลับปารีสอีกครั้ง เพื่อรื้อฟื้นวิชาขนมหวานที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมา

“ลืมทุกอย่างหมดแล้ว” เธอหัวเราะจนตาปิด “เราเรียนอินเทนซีฟ ไม่มีเวลาไดเจสท์เลย ตอนนั้นให้ทำเอแคลร์ใหม่ ต้องตีแป้งยังไง ทำไม่ได้แล้ว”

กลับปารีสครั้งนี้ เธอไปในฐานะผู้ช่วยครูที่ Le Cordon Bleu เป็นบทบาทใหม่ที่แม้ไม่ได้ลงมือทำขนมเอง แต่ก็ได้ทบทวนวิชา เพราะงานของเธอคือการช่วยจัดเตรียมของต่างๆ ที่ใช้ในการสอนให้เชฟ ก่อนจะข้ามไปสู่การฝึกงานกับร้านขนมที่ดังระบือลือเลื่องในตอนนั้นอย่าง Pierre Hermé ที่ซึ่งเตรียมความพร้อม รวมทั้งเตรียมใจให้ชีวิต ‘คนทำขนมหวาน’ ของเธอ เพราะก็อีกเช่นกันที่การทำขนมไม่ใช่การแต่งตัวแต่งหน้าสวยยืนชิลล์ๆ ริมหน้าต่างกลางแดดอุ่นขณะประดิษฐ์ประดอยตกแต่งหน้าตาขนม แต่คือการขลุกอยู่ในครัว วุ่นกับการเตรียมส่วนผสมต่างๆ ไปจนถึงการ ‘แบก’ ข้าวของ และทำงานแข่งกับเวลา

บททดสอบชีวิตการทำงานที่เมืองไทย

แล้วเต้นก็กลับเมืองไทย งานแรกของเธอคือการรับผิดชอบเอ๊าท์เล็ท Goodies ที่โรงแรมบันยันทรี

“ได้ทำขนมแบบที่อยากทำแล้ว และได้อยู่ในสังคมทำงานจริงๆ ได้เรียนรู้อะไรเยอะ ได้รู้ว่ามันไม่ง่าย หนึ่งปีที่ Goodies เต้นตื่นตีสี่ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง กลับบ้านหกโมงฟ้ามืดแล้ว เป็นปีที่ไม่เห็นท้องฟ้าเลยทั้งปี ไม่มีเพื่อนด้วย เราทำได้แค่เขียนไดอารี่ระบายโน่นนี่ไป แล้วสังคมก็ไม่ได้สวย มีการอิจฉาตาร้อน มีเรื่องอื่นๆ ที่มากับการที่เราแค่ชอบทำขนม”

เธอยืนยันว่าต้องการเพียงแค่เป็นคนทำขนม แต่ในชีวิตจริง การเป็นคนทำขนมมาพร้อมเรื่องราวแวดล้อมมากมายที่ก็ต้องทำให้ได้ดี ทั้งเรื่องเพื่อนร่วมงาน สังคมการทำงาน เป็นปีที่เธอใช้คำว่า ‘ฝ่าฟัน’ พอสมควร แต่ชีวิตต้องสู้ (ฟังเรื่องของเธอมาถึงตอนนี้ เราขออนุญาตใช้คำนี้แหละ เพราะมันเหมาะสมเหลือเกิน) เต้นได้รับบทบาทใหม่อีกครั้ง คราวนี้ในฐานะผู้ช่วยสอนที่ Le Cordon Bleu ที่มาเปิดที่ไทยได้หลายปีแล้ว

“เป็นอีกหน้าที่หนึ่ง พอเชฟฝรั่งเศสสอนแบบสาธิต เช่น ทำครัวซองต์ให้ดูเสร็จ นักเรียนต้องทำตาม เราก็ต้องอยู่กับนักเรียนคอยดูว่าเขาทำออกมาตามที่เชฟสอนมั้ย เรียกว่าเป็นคุณครู”

อีก 1 ปีผ่านไปกับการสอนให้คนทำขนม และก็ถึงเวลาที่เธออยากลงมือทำขนมของตัวเองจริงๆ สักที โดยใช้เวลาช่วงเสาร์-อาทิตย์ทำขนมที่คอนโดเล็กๆ ของเธอนั่นเอง

“เปิดรับออร์เดอร์ในเฟสบุ๊ค ใครอยากสั่งเลม่อนทาร์ตบ้าง ปรากฏว่าคนชอบ สั่ง เยอะ เราก็เลยไปออกงานแบงคอกฟาร์มเมอร์มาร์เกต เข็นรถ ขับรถไปขายเอง ลูกค้าชอบ แต่ก็เหนื่อยมากจริงๆ”

หลังออกจาก Le Cordon Bleu  เต้นก็เดินตามความฝันของเธออย่างจริงจัง ด้วยการเปิดร้าน Talaychan Patisserie ร้านเล็กๆ กลางสวน สถานที่ที่เรามานั่งคุยกับเธอวันนี้แหละ กำลังจะกล่าวแสดงความยินดีที่ในที่สุดการเดินทางอันยาวไกลและแสนลำบากก็พาเธอมาสู่สิ่งที่ฝันเสียที และถ้าเป็นในซีรี่ส์ นี่ควรจะเป็นตอนจบที่แฮปปี้เอนดิ้ง แต่ก็ต้องหยุดปากไว้เพราะเต้นบอกว่าใจจริงไม่ได้อยากมีร้าน มารดาเป็นผู้จัดการให้ อ้าว ทำไมเป็นอย่างนั้น!

“เพราะเราแค่อยากทำขนม เรารู้ว่าเราทำได้แค่ขนม การคุยกับลูกค้า การแมเนจต่างๆ เราไม่เก่งเลย เราเก่งแค่ในครัว แต่แม่ไม่อยากให้เราเร่ร่อน” อีกครั้งที่เธอหัวเราะจนตาปิด “อยู่ตรงนี้คนจะได้หาเจอ แต่ก็อีกแล้ว พอมีร้านก็มีสวนที่ต้องทำ ต้องจัดดอกไม้ ต้องเซอร์วิสถานที่จอดรถ มันมีอะไรต่างๆ ที่ควบคุมไม่ได้ ในขณะที่ตัวเต้นแอบชอบอะไรที่คอนโทรลได้ เหมือนที่ชอบทำขนมเพราะเราคอนโทรลมันได้ เรื่องนอกครัวเราไม่ได้เก่งขนาดนั้น คอนโทรลพนักงานไม่ได้ เจอแก้วแตกก็เครียด ลูกค้ามาเยอะ ไม่มีที่นั่ง ให้เขามายืนรอ ยุงกัด ฝนตก จัดการอะไรไม่ได้เลย ขนาดเปิดแค่ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ยังไม่ไหว เลยปิดร้านไปก่อนไม่งั้นจะสติแตกตาย”

การเป็นเจ้าของแบรนด์และเจ้าของร้านอาจเป็นความฝันขั้นสูงสุดของใครหลายคน แต่กับเต้น มันทำให้เบิร์นเอ๊าท์จนหมดไฟ ถึงขั้นที่เธอบอกว่าเบื่อมากๆ เพียงแค่คิดว่าต้องทำขนม แม้จะยังคงรักการทำขนมอยู่เหมือนเดิม แต่ก็มาถึงจุดที่อยากหนี อยากลาออก

“แต่มันไม่ได้ไง เพราะเราเลือกทางนี้แล้ว จะเบื่อจะท้อ จะอยากหนียังไง มาคิดดีๆ เราจะไปไหนได้ ในเมื่อเราเลือกสิ่งนี้มานานมากแล้ว”

รัก’ อย่างเดียวไม่พอ ต้องอดทนและหนักแน่น

ความรักอาจเป็นจุดเริ่มต้น แรงผลักดัน กำลังใจ แต่ชีวิตจริงไม่เหมือนในละครที่เมื่อได้ทำในสิ่งที่รักแล้วก็จบบริบูรณ์ มองอีกทีความสัมพันธ์กับสิ่งที่รักของเต้นก็ให้อารมณ์เหมือนการแต่งงาน ที่แม้มีความรักเป็นสารตั้งต้น แต่สิ่งที่จะประคับประคองให้ชีวิตคู่ (กับการเป็นคนทำขนม) ไปได้ตลอดรอดฝั่งอคือความอดทนและหนักแน่น เพราะความรักมาพร้อมแพกเกจเรื่องคน การบริหารจัดการ งานเซอร์วิส บัญชี ที่อยากจะหนีเข้าครัวอย่างเดียวก็ไม่ได้

แต่การหยุดพักเพื่อเติมไฟก็ช่วยได้มาก เต้นบอกว่าถึงเธอจะคุยเก่งแบบนี้แต่จริงๆ แล้วเป็นคนอินโทรเวิร์ท ชอบอยู่คนเดียว ทำขนมคนเดียว นั่นทำให้เธอไม่ค่อยมีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจเท่าไรนัก จนกระทั่งได้ไปออกรายการ Top Chef Thailand การได้พบคนที่มีความรักในสิ่งเดียวกัน นอกจากจะช่วยเติมไฟยังช่วยเติมเพื่อนในชีวิต ตอนนี้เธอเลยได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่เป็นการร่วมมือกับเหล่าเชฟที่รู้จักกันในรายการ

“อย่างช่วงกินเจ เราก็มารวมตัวกันทำขนมเจในแบบของแต่ละคน เต้นได้ลองทำทาร์ตวีแกน ซึ่งปกติไม่ทำ เพราะเป็นคนชอบกินเนยมาก ทำขนมก็จะใส่นมใส่เนยแบบสุดพลังเพื่อความเข้มข้น แต่พอมาทำวีแกน เออ มันก็สนุกดีนะ แล้วก็ได้เปิดตัวเองเข้าสู่อะไรใหม่ๆ ด้วย อย่างตอนนี้ก็เพิ่งรู้ว่ามีนมข้นหวานมะพร้าวที่อร่อยมากกกกก แล้วเทรนด์ตอนนี้คนหันมารักสุขภาพกันมากขึ้น เลือกกินอะไรที่เฮลธ์ตี้ ในขณะที่เรามาสายจัดเต็ม เพราะหลักการของเต้นคือขนมจะต้องอร่อย ถ้าไม่อร่อยก็ไม่ทำ แล้วขนมหวานฝรั่งจะอร่อยได้ก็ต้องหนักเครื่อง น้ำตาลเยอะ เนยเยอะให้ เปลี่ยนมาใช้หญ้าหวาน สำหรับเรามันก็แปร่งๆ แต่พอได้มาลองโปรเจ็คต์นี้ก็รู้สึกว่าเออ มันมีอะไรที่ทดแทนได้แหละ แค่เราต้องค่อยๆ ปรับไปเพื่อคงความอร่อยในแบบที่เราตั้งใจ เป็นความท้าทายและสนุกดี เหมือนไฟลุกอีกครั้ง กลับมาเกิดใหม่ หลังจากที่หมดไฟมาทั้งปี”

ทาร์ตแสนอร่อย

แบรนด์ทะเลจันทร์โดดเด่นเรื่องทาร์ต เพราะเต้นชอบกินทาร์ตหนึ่งละ กับความจำเป็นและความเหมาะสมในแง่ธุรกิจ

“จริงๆ ตอนเริ่มทำขนมขาย เต้นอยากทำเยอะไปหมด เริ่มต้นที่บราวนี่ อันนี้คิดว่าทุกคนคงคล้ายๆ กัน พอมาเปิดร้านก็มาคิดว่าเราจะทำอะไรดี เต้นชอบกินทาร์ต ชอบขนมที่มีความเปรี้ยวหอมของผลไม้ ก็เลยทำทาร์ตดีกว่า อีกอย่างเราต้องไปงานมาร์เก็ตเอ๊าท์ดอร์เมืองไทย อากาศแบบนี้คงทำเค้กมูสไม่ได้”

เธอบอกว่าสำหรับคนทำขนมฝรั่งเศส ความใฝ่ฝันน่าจะคล้ายๆ กันคือการเปิดร้านเค้กมูส เพราะมันสวยอลังการ แต่ก็เหมือนที่เราพูดไป ความฝันบางทีก็ถูกฉุดรั้งไว้ด้วยความเป็นจริง ในกรณีของเต้น อุณหภูมิเดือดๆ ของเมืองไทยกับรสนิยมผู้บริโภคทำให้เธอจำต้องเก็บเค้กมูสไว้ในใจ แล้วเลือกทาร์ตที่ไม่พ่ายต่ออุณหภูมิ รวมทั้งยังกินง่าย กินได้บ่อยๆ มาเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์

“คนไทยคงไม่กินเค้กมูสทุกวัน แต่ทาร์ตกินได้เรื่อยๆ เปลี่ยนหน้าไป คนก็กินได้ไม่เบื่อ วันนี้ทาร์ตแอปเปิ้ลครัมเบิล พรุ่งนี้ทาร์ตพีช บราวนี่ แครอทเค้ก เต้นเชื่อในขนมรสชาติคลาสสิก เราอาจจะทำขนมซีซันนอลได้ รสแปลกๆ ได้ แต่คนก็ยังจะเลือกอะไรที่คลาสสิกอยู่ดี หรือถ้าอยากครีเอทรสชาติแปลกๆ ก็ต้องไม่หลุดโลก ไม่เกินความเข้าใจของคน ทั้งรสชาติทั้งหน้าตาขนมเราไม่ได้ออกแนวโมเดิร์น เรามาแบบเทรดิชั่นนอล อาจจะมีบ้างที่ครีเอทหน้าตา แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานว่าเราใส่อะไรลงไป อย่างทาร์ตขนมไหว้พระจันทร์ของเต้น ข้างในมีส้ม ก็ต้องแต่งด้วยส้มไม่ใช่สตรอว์เบอรี่”

เต้นพาเราเข้าไปในครัวที่อยู่ด้านหลังร้าน เธอหยิบจับอุปกรณ์และลงมือทำทาร์ตให้เราดูอย่างคล่องแคล่ว กลิ่นเนยที่อบอวลกับภาพหญิงสาวตัวเล็กกำลังชั่งตวง ปาดแป้ง และประดิษฐ์หน้าทาร์ตเข้ากันเหมาะเจาะกับคำยืนยันของเธอว่าหัวใจสำคัญของการทำขนมให้อร่อยคือเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีมาก ให้อย่างเต็มที่ ไม่มีการหวงเครื่อง และมาในปริมาณที่เหมาะสมแบบกินอิ่ม

“อยากให้คนกินขนมของเราได้กินของอร่อย กินอิ่ม และมีความสุข” เธอย้ำคำเดิม “ขนมเราเลยไม่ได้เน้นความสวยหรือแฟชั่นแบบซื้อมาถ่ายรูปลงไอจีแล้วจบ เน้นความจริงใจ ซื้อแล้วซื้อซ้ำ เต้นอยากให้เขาจดจำเราไปได้เรื่อยๆ อยากกินขนมอร่อยต้องมาหาเรา ก็เลยไม่เคยทำตามกระแส อย่างตอนเขาฮิตชีสเค้กหน้าไหม้ ทอมแอนด์เจอรี่อะไรกัน เราก็ไม่ได้ทำ หลักๆ คือคงความเทรดิชั่นนอลไว้ก่อน ถ้าอารมณ์ดีมีเวลาก็อาจจะครีเอทอะไรใหม่ๆ แต่บางทีเจอปัญหาแวดล้อม ต้องไปจัดการปัญหาก่อน ครีเอทขนมไว้ทีหลังนะ” เธอหัวเราะทั้งที่ความหมายในคำพูดไม่น่าจะชวนให้หัวเราะออก

ก็อย่างที่พูดไป ชีวิตจริงไม่ได้มีตัวหนังสือ ‘จบบริบูรณ์’ ขึ้นบนจอเมื่อได้แต่งงานกับคนที่รักเหมือนในละคร หากยังต้องก้าวต่อไปอีกไกลโดยใช้ความรักเป็นตัวประคับประคอง

“ไม่ใช่แค่คนทำขนม แต่ทุกสาขาอาชีพแหละ เริ่มต้นด้วยความรักแล้วต้องหนักแน่น ต้องถามตัวเองว่าเราชอบมันจริงไหม เพราะเราจะไม่ได้เจอแต่ความสนุก ยังต้องเจอความทุกข์ด้วย ฉะนั้น เราต้องหนักแน่น เท้าข้างหนึ่งก้าวไปแล้ว อีกข้างต้องตามไปให้สุด รักแล้วต้องทนและทำอย่างเต็มที่”

ข่าวดีคือเชฟเต้นผู้ทำขนมอร่อยมากกลับมามีไฟในการทำขนมอีกครั้ง และอาจจะกลับมาเปิดร้านเล็กๆ น่ารักแห่งนี้อีกรอบ แต่ระหว่างรอ สามารถพิสูจน์ความอร่อยของทาร์ต บราวนี่ เค้กแครอทของเธอได้ที่ Talaychan Patisserie สาขาเอ็มควอเทียร์และไอคอนสยามหรือทาง FB: TalaychanPatisserie

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS