ตะลุยกินขนมไทยที่ตลาดน้ำอัมพวา

33,730 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ลัดเลาะริมคลอง ย่ำไปในถิ่นขนมไทยละลานตา พาไปเดินกิน เติมความหวานกันให้ฉ่ำอุรา

ใครใคร่ดูหิ่งห้อยก็ตามใจ แต่สำหรับพวกเราชาวครัวที่ถือคติ ‘เรื่องกินเรื่องใหญ่’ จะพาไปตะลุยกินขนมหวานไทยที่อัมพวา เรื่องมันเริ่มจากน้องฝึกงาน เด็กสาวจากอัมพวา คะยั้นคะยอเรานักหนาว่า “พี่ๆ อัมพวาขนมหวานอร่อยๆ เยอะมาก” ถ้าเป็นเรื่องกิน คณะเราชาวครัวดันเชื่อคนยากซะด้วย เลยต้องยกโขยงตั้งหนาตั้งตาไปกินขนมหวานที่อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อพิสูจน์ว่าอร่อยและละลานตาขนาดไหน กินกันให้ฉ่ำอุราตาหยาดเยิ้มไปเลยจ้า

เริ่ม! ถึงตลาดน้ำอัมพวาอย่างฉับไว
แค่ปากทางเข้าตลาดก็สะดุดตากับอาลัวหลากสีในหม้อดินเหนียวหม้อน้อยๆ น่ารัก หันซ้ายเจอปลาทูทำหน้างอคอหักใส่ หอยดองก็มี ปลาหวานก็มา อาหารทะเลสลับกับแผงขนมไทยดูแปลกตาดี เดินตรงมาเจอสะพานข้ามคลองให้เลี้ยวขวา เดินต่อไม่ไกลเจอแผงขายขนมไทยหน้าตาวิจิตร อยู่หน้าร้านตลับพระ ให้หยุดทันที 

สุจิตราขนมไทย

พวกเราหยุดยืนอุทานเชิงกระซิบกระซาบว่าขนมสวยๆ ทั้งนั้นเลย ทั้นใดนั้น “งามแท้จ่ามงกุฎ งามที่สุดมงกุฎทอง” ป้าสุจิตรา ก็เอ่ยกาพย์ใส่เราเป็นการทักทายและยืนยันกลายๆ ว่า แน่นอน… หน้าตาสะสวยแต่จะให้รู้รสก็ต้องลอง เริ่มกันที่ตระกูลขนมกวน

‘จ่ามงกุฎ’ สุดประณีต (เป็นจ่ามงกุฎเวอร์ชั่นวิจิตร ที่เพิ่งเกิดขึ้นสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ‘ขนมดาราทอง’ หรือ ‘ทองเอกกระจัง’) ใช้เวลาปั้นแต่งชิ้นละ 7 นาที เทกเจอร์ฐานขนมเป็นแป้งกรอบกรุบ กับเม็ดแตงโมเคลือบน้ำตาลที่เสียบไว้รอบ ผสมผสานเนื้อขนมนวลเนียน นุ่ม หวานกำลังดี ป้าบอกว่าถ้าแช่ให้เย็นสักหน่อยฐานจะกรอบอร่อยยิ่งกว่านี้

‘เสน่ห์จันทน์’ หน้าตาน่ารักถอดแบบลูกจันมาเลย แม้แต่เนื้อขนมก็ผสมลูกจัน ไม่ได้เติมความหวานด้วยน้ำตาล แม้แต่น้อย แต่หวานหอมธรรมชาติด้วยเนื้อลูกจันสุกงอม เนื้อเนียนเหนียวเคี้ยวหนึบมากๆ หนึบหนับอารมณ์ทุเรียนกวนเลย

‘ทองเอก’ พิมพ์รูปดอกกุหลาบ เนื้อนุ่มๆ รสชาติหวานน้อยสุดในบรรดาขนมกวนทั้งสามชนิด แต่โดยรวมแล้วก็หวานอ่อนๆ ทุกชนิด ขนมหวานที่ไม่หวานยังมีอยู่บนโลก รับรองว่าสายขนมหวานที่ไม่ชอบหวานมากต้องหลงรักแน่ๆ ถ้าได้ลอง

ปิดท้ายกันที่ ‘ผกากรอง’ ขนมกวนใส่ไส้ทองหยอด หน้าตาสะสวยหลากสี ทั้งแดง เขียว เหลือง ม่วง จับจีบดอกด้วยแหนบเป็นชั้นๆ เหมือนดอกผกากรอง เนื้อขนมเป็นแป้งรสอ่อนๆ แต่ความหวานจะไปอยู่ที่ไส้ทองหยอด ขนมทั้งหมดในร้านเป็นฝีมือของแม่สุจิตราที่ลองผิดลองถูกจนได้สูตรอร่อย  

พิกัดร้าน : เดินเข้าตลาดน้ำ (ทางเข้าฝั่งอุทยาน ร.2) เจอสะพานข้ามคลอง ให้เลี้ยวขวา เดินไปเรื่อยๆ จะเห็นแผงขายขนมร้านสุจิตรา ตั้งอยู่หน้าร้านตลับพระ

ร้านทองธรรมชาติ ขนมถ้วยน้ำตาลสด

กลิ่นหอมหวานและควันฉุยๆ ทำให้เราต้องหยุดสาวเท้าสั่งขนมถ้วยที่หยอดกันสดๆ นึ่งกันตรงหน้าร้าน มาลองดูซิว่าสดแค่ตาเห็นหรือเปล่า โอโห คุณพระคุณเจ้า แป้งน้ำตาลสดมันช่างดีงาม หอม หวานละมุนละไมอยู่ในทุกคำจริงๆ เป็นระดับความหวานที่พอดีสุดๆ แป้งน้ำตาลสดกับหน้ากะทิสัดส่วนพอดี สารภาพว่าเคยกินขนมถ้วยน้ำตาลสดเจ้าอื่นแล้วหวานแหลมแสบคอ ตั้งแต่นั้นก็ไม่คิดอยากกินอีกเลย แต่พอเปิดใจลองขนมถ้วยน้ำตาลสดร้านนี้แล้ว คุณเอ้ยยย แนะนำให้ลอง  ยิ่งได้กินอุ่นจากเตาแบบนี้ ฟินมากค่ะ

พิกัดร้าน : เดินเข้าตลาดน้ำ (ทางเข้าฝั่งอุทยาน ร.2) เจอสะพานข้ามคลอง ให้เลี้ยวซ้าย เดินตรงไปเรื่อยๆ ร้านจะอยู่ขวามือ  

ขนมลืมกลืน

เห็นเด็กๆ ผู้หญิง 2-3 คนนั่งขายขนมลืมกลืน ที่หยอดเป็นวงๆ 5 วงติดกันบนใบตอง ทำกันสดๆ ร้อนๆ ข้างร้านเลยอดแวะชิมไม่ได้ ได้ยินชื่อมานาน วันนี้ได้ลองแล้ว สัมผัสลื่นละลายหายไปในพริบตา อาการลืมกลืนสมชื่อจริงๆ ด้านล่างหยอดเป็นแป้งน้ำดอกอัญชันสีม่วงอมน้ำเงินรสหวาน ราดด้วยกะทิรสเค็มอ่อนๆ ตัดรสกันได้ดี

พิกัดร้าน : เดินเข้าตลาดน้ำ (ทางเข้าฝั่งอุทยาน ร.2) ข้ามสะพานข้ามคลอง แล้วเลี้ยวซ้าย เดินตรงไปเรื่อยๆ ผ่านพิพิธภัณฑ์วันเก่าไปนิดหน่อย ร้านอยู่ซ้ายมือ

จ่ามงกุฎบ้านครูปราณี

นี่แหละ หน้าตาจ่ามงกุฎดั้งเดิม มีส่วนผสมแบบขนมไทยแท้ เป็นแป้ง น้ำตาล กะทิ กวนแล้วแปะด้วยเม็ดแตงโม ห่อด้วยใบตองแห้ง สัมผัสด้านนอกกรอบๆ เทกเจอร์คล้ายอาลัว แต่ไม่เหมือนซะทีเดียว เนื้อในหวานและเหนียวหนึบกว่าอาลัวมาก เคี้ยวเพลินๆ ส่วนตัวชอบกว่าจ่ามงกุฎเวอร์ชั่นวิจิตร อันนี้แล้วแต่ความชอบเลยจ้า แต่ถ้าเจอก็แนะนำให้ลองชิมกันดูค่ะ 

พิกัดร้าน : เดินเข้าตลาดน้ำ (ทางเข้าฝั่งอุทยาน ร.2) ข้ามสะพานข้ามคลอง แล้วเลี้ยวซ้าย เดินตรงไปเรื่อยๆ ผ่านพิพิธภัณฑ์วันเก่า เลยร้านขายขนมลืมกลืนมาไม่ไกล จะเห็นแผงเล็กๆ ตั้งป้ายว่าขนมบ้านครูปราณี

ร้านกลุ่มอนุรักษ์ขนมไทยในวรรณคดี

แค่ชื่อร้านก็น่าสนใจแล้ว พอได้เห็นพี่เจ้าของร้านสาธิตขนมไทยโบราณอย่าง ‘เรไร’ และได้พูดคุยกับพี่เอ็มพี่โอมเจ้าของร้านถึงที่มาที่ไปยิ่งทำให้เราสนใจใคร่รู้ ใคร่ชิม

เหตุที่ร้านใช้ชื่อนี้เกิดจากจุดเปลี่ยนที่แม่เข้าไปเที่ยวชมอุทยาน ร.2 ซึ่งรัชกาลที่ 2 ได้ทรงนิพนธ์ “กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน” เพื่อชมฝีมือทำอาหารของมเหสี (สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี) แม่ประทับใจเลยเกิดสนใจทำขนมไทยขึ้นมา ทั้งๆ ที่คุณชวดก็เป็นช่างทำขนมไทย แต่เพราะใกล้ตัวเลยมองข้ามไป แม่เลยไปเรียนทำขนมไทย ทั้งสูตรที่ไปร่ำเรียนมาและสูตรที่ส่งต่อมาจากชวด ลองผิดลองถูก ทำกินเองในบ้านจนอร่อยเข้าที่จึงทำขาย และด้วยอยากอนุรักษ์ขนมไทย ทั้งพี่เอ็มและคุณแม่จึงค้นคว้าหาข้อมูล เพื่อเป็นหลักฐานเผยแพร่เรื่องราวขนมไทยโบราณให้เป็นที่รับรู้ ลูกค้าที่มาร้านจึงได้รู้จักรากของขนมไทย มากกว่าแค่รสชาติและหน้าตา อย่างที่เราได้มาสัมผัสวันนี้

‘ขนมเรไร’ สีสันพาสเทลสุดน่ารักนี้ เดิมชื่อ ‘ขนมรังไร’ เปรียบเสมือนรังนก ก่อนจะเพี้ยนเป็นเรไร เป็นคำคล้องจองที่ไม่ได้มีความหมายสอดคล้องกับขนม ฉะนั้นก็สุดแท้แต่ จะเรียก ‘เรไร’ หรือ ‘รังไร’ ก็ได้ รังไรเป็นขนมชนิดหนึ่งที่อยู่ในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานของ รัชกาลที่ 2

เรไร เป็นขนม 3 แป้ง คือ แป้งมัน แป้งข้าวเจ้า แป้งเท้ายายม่อม นวดมือ 2 ชั่วโมง ตัวแป้งสีพาสเทลนั้นล้วนเป็นสีธรรมชาติได้จากแก่นไม้ฝาง อัญชัน ใบเตย แล้วนำมากดพิมพ์เป็นเส้นๆ ก่อนนำไปนึ่ง

เวลาจะกินก็โรยน้ำตาล งา มะพร้าวขูดเส้น แล้วราดด้วยกะทิสดแช่เย็น เราได้ชิมแล้วติดใจมาก รสชาติกะทิสดที่ไม่ปรุงแต่งใดๆ หอมและสัมผัสสะอาดปาก สดชื่นเพราะแช่เย็น กินคู่กับเส้นสดใหม่ผสมกับความหอมของงา และรสหวานจากน้ำตาลทรายที่โรยลงไปนิดหน่อย มันสดชื่นจริงๆ ค่ะ

‘โสมนัส’ เรียกอีกชื่อว่าขนมพระนารายณ์ เพราะเป็นขนมในยุคพระนารายณ์มหาราช ยุคเดียวกับตัวละครอย่างแม่การะเกดนั่นแหละ เป็นขนมอบชนิดแรกๆ ของไทยที่เติมไข่ขาวในส่วนผสมแป้ง น้ำตาล มะพร้าวคั่ว นิยามความเป็นโสมนัส คืออยู่ตรงกลางระหว่างขนมผิงกับเมอแรงค์ เนื้อกรอบนอกและหนึบตรงกลาง หอมมะพร้าวคั่วมันๆ ผสมกับรสหวาน ยิ่งเคี้ยวยิ่งเพลิน

‘ข้าวเหนียวหน้านวล’ ข้าวเหนียวมูน ราดด้วยกะทิข้นหอมมัน หย่อนทองหยอดลงบนหน้ากะทิ ข้าวเหนียวนุ่มกำลังดี กับกะทิข้น หอมกะทิสด ไม่หวานมาก กินคู่กับทองหยอดก็เพิ่มความหวานขึ้นมาอีกหน่อย

นอกจากขนมไทยโบราณที่หากินได้ยาก ยังมีขนมไทยประยุกต์รสชาติอย่างขนมชั้นแคนตาลูป หอมแคนตาลูปมากๆ เพราะใช้ไส้แคนตาลูปเป็นส่วนผสม ที่สำคัญคือขนมของร้านวรรณคดีแทบทุกชนิดนั้นอ่อนหวาน เพราะต้องการให้กินได้ทุกวัย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และเป็นขนมสดใหม่ทำขายวันต่อวัน และยังได้ชมสาธิตทำขนมไทยไปพร้อมๆ กัน

พิกัดร้าน : เดินเข้าตลาดน้ำ (ทางเข้าฝั่งอุทยาน ร.2) ข้ามสะพานข้ามคลอง แล้วเลี้ยวซ้าย เดินตรงไป ร้านจะอยู่ขวามือ เป็นซุ้มไม้วางขนมอยู่หน้าร้าน 

ร้านบ้านคุณยาย

มีทั้งขนมแห้ง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง อยากกินทั้งหมดอย่างละนิดละหน่อยก็ไม่ใช่ปัญหา เขาจัดขนมตระกูลทองรวมกันเป็นกล่องเล็กๆ ให้ได้กินครบอย่าง จึงไม่แปลกที่นักท่องเที่ยวจะเวียนเข้าเวียนออกร้านนี้ เพราะจัดชุดได้รู้ใจนักหิ้วของฝาก เป็นของฝากรสชาติดีด้วย

และยังมีขนมสดอุ่นร้อนในหม้อดินใบใหญ่ เช่น ครองแครงน้ำกะทิ เต้าส่วน รวมมิตรก็มี อัมพวาเป็นเมืองมะพร้าว เจอขนมสดน้ำกะทิก็ต้องลอง สั่งครองแครงน้ำกะทิแป้งเหนียวนุ่มกับน้ำกะทิหอมมันสมชื่อแหล่งมะพร้าว นั่งกินครองแครงอุ่นๆ ริมน้ำอัมพวา กับฝนปรอยๆ มันช่างดีจริงค่ะ

แนะนำอีกอย่างคือ หมี่กรอบโบราณร้านนี้เด็ดมาก มีทั้งแบบดั้งเดิม และแบบเพิ่มความหอมด้วยสมุนไพรไทยทอดกรอบ

พิกัดร้าน : เดินเข้าตลาดน้ำ (ทางเข้าฝั่งอุทยาน ร.2) เจอสะพานข้ามคลอง เลี้ยวขวาเดินตรงไปเรื่อยๆ จนสุดทาง จะเห็นป้านร้านบ้านขนมคุณยาย หน้าร้านมีที่นั่งกินขนมริมน้ำ

ร้านกล้วยป่ะ

แผงสารพัดผลไม้เชื่อมละลานตา มีกระทะกล้วยเชื่อมที่เดือดปุดๆ อยู่ข้างร้านกล้วยป่ะ ถึงจะชื่อร้านกล้วยป่ะแต่ก็ไม่ได้มีแค่กล้วยเชื่อม เพราะมีทั้งมะยม กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า มัน สาเก พุทรา มะตูม ฯลฯ เยอะจนเรายืนงงในดงของเชื่อม ไม่รู้จะเริ่มจากอะไรก่อนดี

ป้ากานต์กับลุงสันต์ก็ใจดี ให้เราชิมดูก่อน กล้วยน้ำว้าเชื่อมเนื้อหนึบหวานหอมน้ำตาลมะพร้าว หรือสาเก เชื่อมหวานกำลังดี เนื้อหนึบ รสชาติมันๆ แต่ไม่เหมือนมันเชื่อมเพราะกลิ่นสาเกอ่อนๆ เป็นเอกลักษณ์

สาเกเชื่อม

ผลไม้เชื่อมทั้งหลายเป็นผลไม้ตามฤดูกาล หาได้ในท้องถิ่น จึงมีผลไม้สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามแต่ละฤดู ก็ต้องมาลุ้นเอาหน้าร้านว่าจะมีผลไม้อะไรให้กินบ้าง 

พุทราเชื่อม เปรี้ยวๆ หวานๆ 

จากที่เราได้สัมผัส ขนมอัมพวาละลานตารสชาติดี ด้วยอัมพวาเป็นเมืองมะพร้าว จึงมีทั้งกะทิ น้ำตาลมะพร้าวสดใหม่จากสวนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักอย่างหนึ่งในขนมไทย และน่าภูมิใจที่คนในท้องถิ่นยังสืบสานการทำขนมไทยต่อไป   

พิกัดร้าน : เดินเข้าตลาดน้ำ (ทางเข้าฝั่งอุทยาน ร.2) เจอสะพานข้ามคลอง เลี้ยวซ้าย เดินตรงไปเรื่อยๆ จะพบแผงผลไม้เชื่อมอยู่ซ้ายมือ

ลาดน้ำอัมพวา เปิดวันศุกร์-อาทิตย์ ช่วงเวลาตั้งแต่ 11 โมงเป็นต้นไป

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS