อย่างไรถึงเรียกว่า ‘อาหารฮาลาล’
STORY BY นภาพร สิมณี | 02.03.2022

26,432 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ไขทุกข้อสงสัยว่าอะไรคือ 'ฮาลาล' และทำไมพี่น้องมุสลิมถึงต้องกินแต่อาหารฮาลาลเท่านั้น?

หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘อาหารฮาลาล’ กันมาบ้าง และมีจำนวนไม่น้อยเลยที่เข้าใจว่าอาหารฮาลาลเป็นอาหารของคนมุสลิม ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ เพราะอาหารฮาลาลเป็นอาหารประเภทหนึ่งเท่านั้น ทุกคนสามารถรับประทานได้ แล้วอาหารฮาลาลก็ไม่ใช่แค่ไม่มีหมูแล้วจะเป็นฮาลาลได้เหมือนที่หลายๆ คนเข้าใจ แต่ยังมีข้อห้ามมากมายกว่านั้น โดยอิงจากหลักศาสนาอิสลาม 

พูดโดยง่าย อาหารฮาลาลเป็นอาหารที่ผ่านกรรมวิธีในการทำ ผสม ปรุง ประกอบ หรือแปรสภาพ ตามศาสนบัญญัติ ซึ่งเป็นการรับประกันว่าชาวมุสลิมโดยทั่วไปสามารถบริโภคอาหาร หรืออุปโภคสินค้าและบริการต่างๆ ได้โดยสนิทใจ ตามหลักศาสนาอิสลาม เพราะคำว่า ‘ฮาลาล’ แปลว่า ‘อนุมัติ’ ซึ่งหมายความว่าอนุมัติให้ดื่ม อนุมัติให้ทำ อนุมัติให้รับประทาน ที่กินความกว้างไกลกว่าแค่เรื่องอาหาร แต่หมายรวมถึงวิถีชีวิตของชาวมุสลิมนั่นเลย 

แต่วันนี้เราจะพูดถึงฮาลาลในแง่ของอาหารกัน ‘ฮาลาล’ มีความหมายตรงข้ามคำกับว่า ‘ฮารอม’ ที่แปลว่า ‘ต้องห้าม’ หรือ ‘ไม่อนุมัติ’ อาหารฮารอมก็หมายความว่าเป็นอาหารที่ห้ามบริโภคตามหลักศาสนาอิสลาม โดยข้อห้ามต่างๆ ของศาสนาอิสลามมีดังนี้

ห้ามบริโภคสัตว์เหล่านี้ 

  • หมู หมูป่า สุนัข
  • ห้ามบริโภคสัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหารที่มีเขี้ยวและกรงเล็บ เช่น เสือ สิงโต รวมถึงนกล่าเหยื่อที่มีกรงเล็บ เช่น นกอินทรี นกแร้ง 
  • สัตว์มีพิษ เช่น ตะขาบ แมงป่อง งู
  • สัตว์ที่ห้ามฆ่าในศาสนาอิสลาม เช่น ผึ้ง มด และนกหัวขวาน
  • สัตว์น่ารังเกียจโดยทั่วไป เช่น เห็บ หมัด แมลงวัน หนอน หรือสัตว์อื่นๆ ที่คล้ายกัน
  • สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ คางคก และสัตว์อื่นๆ ที่คล้ายกัน
  • ลาและล่อที่เลี้ยงเอาไว้ใช้งาน 
  • เนื้อของซากสัตว์ หมายถึงสัตว์และสัตว์ปีกที่ตายเองโดยไม่ได้ผ่านการเชือดอย่างถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนา 
  • สัตว์บกและสัตว์ปีก ที่ไม่ได้เชือดอย่างถูกต้องตามกฎศาสนาอิสลาม เช่น ถูกรัดคอตาย ถูกตีจนตาย ตกมาตาย
  • สัตว์ที่ถูกพลีให้แก่สิ่งอื่นจากอัลเลาะห์ ซึ่งหมายถึงสัตว์ที่ถูกเชือดโดยผู้เชือดกล่าวนามอื่นจากนามอัลเลาะห์ เหตุผลที่ห้ามสำหรับกรณีนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความศรัทธาทั้งสิ้น 

แม้จะเป็นสัตว์ที่บริโภคได้ สัตว์ต่างๆ เหล่านั้นก็ยังจะต้องผ่านการเชือดอย่างถูกวิธีตามหลักศาสนาอิสลาม ดังนี้

1. ในส่วนของสัตว์ที่เชือดต้องมีคุณลักษณะดังนี้

  • เป็นสัตว์ที่ศาสนาอนุญาตให้บริโภค
  • การเชือดเป็นไปตามหลักศาสนา
  • ไม่มีการทรมานสัตว์ก่อนเชือด

2. ในส่วนของผู้กระทำการเชือด 

  • เป็นชาวมุสลิม
  • มีสุขภาพจิตใจที่สมบูรณ์
  • ไม่มีโรคติดต่อที่สังคมรังเกียจ

3. อุปกรณ์ที่ใช้เชือดต้องเป็นของมีคม ที่ไม่ได้ทำมาจากเล็บและกระดูก

4. วิธีการเชือด

  • หันหน้าสัตว์ที่จะเชือดไปทางทิศกิบลัต  (คือทิศที่มุสลิมหันหน้าไปยามละหมาดและขอดุอาอ์ มุ่งไปยังกะอ์บะฮ์ในนครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย) 
  • ผู้เชือดต้องกล่าวนามของอัลเลาะห์ ตาอาลา ขณะเชือด การใช้เครื่องบันทึกเสียงเปิดนามของอัลเลาะห์ ถือว่าใช้ไม่ได้ นอกจากคนที่ลืมกล่าวนามของ อัลเลาะห์ สัตว์ที่เขาเชือดถือว่าอนุญาตให้รับประทานได้
  • การเชือดจะต้องเชือดในคราวเดียวกันโดยเชือดให้หลอดลม หลอดอาหาร เส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดงให้ขาดออกจากกัน
  • สัตว์ที่ถูกเชือดจะต้องตายเพราะถูกเชือดเท่านั้นก่อนที่นำไปปรุงอาหาร
  • ยกเว้นเนื้อปลาที่นำมาปรุงได้เลยไม่ต้องทำการเชือดก่อน

และยังมีอาหารอื่นๆ ที่ศาสนาอิสลามห้ามบริโภคอีก เช่น

1. เลือดที่มาจากการเชือดหรือไหลออกจากร่างกาย ในทางศาสนาถือว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจต่อความรู้สึกของมนุษย์ และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน

2. อาหารและเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดความมึนเมาหรือเป็นพิษ และก่อให้เกิดอันตราย

3. อาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบจากการดัดแปรงพันธุกรรม (GMO) จากพันธุกรรมของสัตว์ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามหลักศาสนาอิสลาม 

นอกจากข้อห้ามต่างๆ ก่อนนำมาปรุงอาหารฮาลาล ในขณะที่กำลังจะทำอาหารฮาลาลก็ยังต้องคำนึงถึงวัตถุดิบอื่นๆ ที่ต้องสะอาด การจัดเก็บวัตถุดิบต้องแยกสัดส่วนชัดเจนไม่ปะปนกับอาหารอื่นๆ กระบวนการผลิต การปรุงและการประกอบอาหารจะต้องสะอาด องค์ประกอบไม่มีสารปรุงแต่งตามหลักศาสนา

สำหรับในประเทศไทยการยื่นขอ ‘ตราฮาลาล’ ต้องผ่านกระบวนการมากมาย เริ่มตั้งแต่ตรวจสอบว่ามีสำนักงานอิสลามประจำจังหวัดหรือไม่ จากนั้นเตรียมเอกสารให้พร้อม ซึ่งประกอบไปด้วยเอกสารคำขอ HL.Cicot OC 01-08 ได้แก่ คู่มือฮาลาลเพื่อการรับรอง สัญญาคำขอเครื่องหมายฮาลาล หลังจากยื่นเอกสารเรียบร้อยแล้ว จะมีการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร จากนั้นผู้ประกอบการจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตรวจสอบสถานประกอบการ และเจ้าหน้าที่ก็จะมาตรวจรับรองสถานประกอบการ ในขั้นตอนนี้จะตรวจสอบกันอย่างละเอียดตั้งแต่วัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต คลังสินค้า ตลอดจนการขนส่ง หากเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ฮาลาลซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ตรวจสอบเกิดข้อสงสัยในส่วนผสมบางอย่าง จะต้องส่งส่วนผสมไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการเพื่อความชัดเจน เมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจสอบเรียบร้อย คณะกรรมการจึงจะทำการอนุมัติเครื่องหมายฮาลาล

‘ตราฮาลาล’ จะประทับหรือแสดงบนฉลาก ผลิตภัณฑ์ หรือกิจการใดๆ โดยใช้สัญลักษณ์ภาษาอาหรับว่า ‘ฮาลาล’ ภายในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หลังกรอบเป็นลายเส้นแนวตั้ง ใต้กรอบภายในเส้นขนานมีคำว่า ‘สนง.คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย’ จะออกให้กับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารด้วย 

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยมากกว่า 1 แสนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตราฮาลาล ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ตราฮาลาลถูกแสดงบนฉลากสินค้าที่หลากหลายมากมายที่สุดในโลก 

ข้อมูลจาก

กราฟิกโดย วิภาดา พัชรธนาโสภณ

อ่านบทความเพิ่มเติม

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS