ทำไมจึงมี ‘ไชน่าทาวน์’ อยู่ทั่วทุกมุมโลก?

6,478 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
สอดส่องมองย่านจีนนอกแผ่นดินใหญ่ ตั้งแต่เยาวราชเรื่อยไปจนถึงโซโห

ไม่ว่าจะอยู่บนผืนแผ่นดินใดในโลกนี้ก็ตาม หากเราเดินทางลอดผ่านซุ้มประตูจีนเข้าไปเจอย่านการค้าที่เต็มไปด้วยแสงสีและความคึกคักทั้งกลางวันกลางคืน เป็นอันเชื่อได้ว่าเราได้ก้าวเท้าเข้าสู่พื้นที่ของชุมชนชาวจีน หรือ ‘ไชน่าทาวน์’ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ย่านไชน่าทาวน์ทุกหนทุกแห่งบนโลกใบนี้ให้กลิ่นไอและบรรยากาศใกล้เคียงกัน จะมีข้อแตกต่างกันอยู่บ้างก็ตรงที่ความทันสมัย ความอึกทึก และฟู่ฟ่าที่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปตามแต่รสนิยมของเมืองนั้นๆ

ซุ้มประตูจีนกลายเป็นแลนด์มาร์กบอกอาณาเขตของไชน่าทาวน์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในเมลเบิร์น ออสเตรเลีย, โซโห ลอนดอน, มอนทรีออล แคนาดา, ซานฟรานซิสโกแห่งสหรัฐอเมริกา, เมืองโยโกฮาม่าในญี่ปุ่น กระทั่งประเทศที่หลายคนนึกไม่ถึงอย่างอินเดียและอเมริกาใต้ก็มีย่านไชน่าทาวน์เป็นแหล่งการค้าสำคัญด้วยเช่นเดียวกัน

แน่นอนว่าในประเทศไทยเองก็มีชุมชนชาวจีนอยู่แทบจะทุกพื้นที่ จึงเกิดไชน่าทาวน์ขึ้นในหลายจังหวัด ทั้งในบริบทของการเป็นชุมชน เป็นที่อยู่อาศัย และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างย่านตรอกเล่าโจ้วในจังหวัดเชียงใหม่ และย่านเยาวราชในกรุงเทพมหานครที่ได้ชื่อว่าเป็นไชน่าทาวน์ที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว

ไทยจีนใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกัน

เมื่อจะพูดถึงการแพร่กระจายของวัฒนธรรมจีนในไทย เห็นจะต้องเท้าความกันยาวตั้งแต่ในยุคสมัยที่ชาวจีนเริ่มอพยพออกจากแผ่นดินเกิดไปตั้งรกรากถิ่นฐานยังประเทศอื่นๆ ผ่านเส้นทางการเดินเรือที่โยงใยไปหลายประเทศทั่วโลก ชาวจีนนั้นได้ชื่อว่าเป็นนักผจญภัยชั้นเลิศ ด้วยส่วนหนึ่งมักเดินทะเลเป็นอาชีพหลัก ต้องรอนแรมกลางมหาสมุทรและใช้ชีวิตบนแผ่นดินอื่นเป็นเวลานานๆ เสมอ เมื่อประชากรจีนเพิ่มขึ้นจนทรัพยากรและเศรษฐกิจไม่อำนวยต่อการใช้ชีวิต จึงไม่แปลกที่จะมีการอพยพไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ในประเทศไทยเอง พบว่ามีชาวจีนที่อพยพมาตั้งแต่ช่วงก่อนสมัยอยุธยา โดยในยุคแรกนี้จะเป็นกลุ่มพ่อค้ากะลาสีที่อาศัยอยู่แถบริมทะเล เดินทางโดยเรือ และขึ้นฝั่งที่เมืองท่าต่างๆ ในภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี หลังจากนั้นในสมัยอยุธยาจึงเป็นกลุ่มพ่อค้าวานิช

จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งมีการเลิกทาส เป็นความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างครั้งใหญ่ที่มีผลให้ประเทศขาดแคลนชนชั้นแรงงาน จึงมีแรงงานชาวจีน หรือ ‘กุลีจีน’ อพยพเข้ามาจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มนายหน้าที่จัดหากุลีจีนมายังประเทศไทย และกลุ่มนายทุนที่มองเห็นลู่ทางการค้า เรื่อยมาจนถึงช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และเริ่มลดจำนวนลงเมื่อรัฐบาลมีนโยบายลดจำนวนชาวจีนอพยพที่เข้ามาใหม่ให้น้อยลงในปี พ.ศ. 2493

ชาวจีนอพยพเหล่านี้เมื่อขึ้นฝั่งได้ก็เดินทางตามเส้นทางรถไฟไปตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วประเทศ การอพยพของชาวจีนมีลักษณะเป็นกลุ่มก้อน ครอบครัว ถึงแม้จะเดินทางมาโดยลำพังก็ยังสร้างความสัมพันธ์ขึ้นใหม่แบบพี่น้องร่วมสาบาน เมื่อย้ายไปอยู่ที่ใดก็ตามจึงมีลักษณะเป็นชุมชน มีการเกาะกลุ่ม ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ยังคงรักษาวัฒนธรรมจีนไว้ได้อย่างเหนียวแน่นแม้ไม่ได้อาศัยอยู่บนแผ่นดินเกิดอีกต่อไป จนก่อให้เกิดสถานที่ซึ่งเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรม ทั้งที่เป็นความเชื่ออย่างเช่นศาลเจ้า โรงเจ และที่เป็นวิถีชีวิตอย่างเช่นตลาด ซึ่งนอกจากจะมีบทบาทในการรักษาอัตลักษณ์จีนไว้ แล้ว ยังเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมจีนกลายเป็นความป๊อบอย่างหนึ่งมาจนถึงทุกวันนี้

เป็นที่รู้กันดีว่า นอกจากจะเป็นนักผจญภัยชั้นเลิศแล้ว ชาวจีนยังเป็นนักธุรกิจที่เก่งกาจหาตัวจับยาก เรียกได้ว่าเมื่อมีชุมชนจีนอยู่ที่ใดก็จะมีตลาดอยู่ที่แห่งนั้นเสมอ แหล่งการค้าที่ต้อนรับผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ให้มาชุมนุมกันเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิต บริการ สินค้าและอาหาร จึงเป็นแหล่งเผยแพร่วัฒนธรรมที่เป็นมิตรและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ตลาดของชุมชนจีนเป็นเสมือนพื้นที่ที่ชาวจีนสามารถสื่อสารกับคนนอกวัฒนธรรมด้วยความรอมชอม เพราะมันเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการสื่อสาร การต่อรองและการแลกเปลี่ยน จนทำให้วัฒนธรรมจีนไม่ใช่สิ่งน่ากลัวหรือต้องสงสัย แต่กลับเป็นความคุ้นเคยที่อยู่ในสังคมไทยได้อย่างกลมกลืนจนมีคำพูดว่า จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน (中泰一家亲) เกิดขึ้นเลยทีเดียว

เยาวราช – ก่อนจะเป็นไชน่าทาวน์อันดับหนึ่งของประเทศไทย

เมื่อมองมาถึงภาพเล็กเฉพาะในพื้นที่ถนนเยาวราช ไชน่าทาวน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และถือได้ว่าเป็นชุมชนจีนโพ้นทะเลที่เก่าแก่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก เมื่อย้อนรอยไปที่ประวัติของย่านอาจกล่าวได้ว่า ชาวจีนอพยพมีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่ยุคสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ในบทบาทของแรงงานสร้างสาธารณูปโภคของเมืองหลวงใหม่ ซึ่งมีตรอกสามเพ็งหรือสำเพ็งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหลัก ก่อนจะขยายไปตามแนวคลองวัดสามปลื้ม คลองโรงกระทะ และคลองวัดสำเพ็ง จนเกิดเป็นย่านการค้าของชาวจีนที่กินพื้นที่ไปจนถึงตลาดน้อย ตลาดวัดเกาะ ตลาดเก่าและตลาดสะพานหัน

ชุมชนจีนที่ว่านี้อาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่นจนเกิดปัญหาเรื่องสาธารณสุขและอัคคีภัย จึงต้องมีการตัดถนนใหม่เพื่อขยายเส้นทางสัญจรและแก้ปัญหาความแออัดนี้ การตัดถนนแทรกระหว่างถนนเจริญกรุงและถนนวาณิช 1 (ซึ่งในอดีตคือถนนสำเพ็ง) เป็นไปอย่างล่าช้าเพราะมีปัญหาเรื่องการเวรคืนพื้นที่ จนต้องใช้เวลากว่า 8 ปี จึงจะตัดถนนเส้นใหม่นี้สำเร็จในปี พ.ศ.2443 และได้ตั้งชื่อว่า ‘ถนนเยาวราช’ และมีการตัดถนนในพื้นที่รอบๆ เพื่อแก้ไขปัญหาแบบเดียวกันนี้ จากที่ดินรกร้างจึงกลายเป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของชุมชนชาวจีนและย่านการค้า เยาวราชจึงเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญอีกแห่งนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ความคึกคักของถนนเยาวราช นอกจากจะเกิดขึ้นจากการค้าขายสำเภา ขายสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีน และขายสินค้าจีนที่ผลิตโดยคนจีนในประเทศไทยแล้ว การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจยังดึงดูดความบันเทิงและแหล่งสันทนาการอื่นๆ เข้ามาอยู่ในพื้นที่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรงฝิ่น โรงระบำ โรงงิ้ว ที่พัฒนาต่อเนื่องมาเป็นโรงภาพยนตร์และห้างสรรพสินค้า แต่การถูกชูขึ้นมาให้เป็นถนนสายอาหารอย่างเป็นทางการ น่าจะเกิดขึ้นในยุคของ Amazing Thailand ในช่วงปี พ.ศ.2540 นั่นเอง

หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี พ.ศ. 2540 รัฐบาลมีความพยายามกระตุ้นการจับจ่ายด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ทั้งสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวชาวไทยเองก็ตาม คอนเสปต์ ‘เรายกฮ่องกงมาไว้ที่นี่’ รวมถึง ‘Amazing Chinatown Yaowaraj’ ซึ่งจัดขึ้นโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2541-2542 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ถนนเยาวราชกลายเป็นย่านท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว โดยมีจุดขายคือวัฒนธรรมจีน ความเชื่อ และอาหาร แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมผ่านเทศกาลต่างๆ ที่จัดขึ้นหมุนเวียนตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลกินเจ เทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง ฯลฯ เมื่อบวกรวมกับต้นทุนทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของย่านแล้ว จึงสามารถผลักดันให้เยาวราชกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คึกคักและสร้างรายได้อย่างมหาศาลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ไม่เพียงแต่เฉพาะกับชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกเท่านั้น กระทั่งเจ้าของวัฒนธรรมอย่างนักท่องเที่ยวจีนก็ปักหมุดให้เยาวราชเป็นสถานที่ที่ต้องมาเยือนเป็นอันดับต้นๆ เมื่อได้แวะเวียนมาถึงกรุงเทพฯ ด้วยว่าเป็นการสัมผัสรากเหง้าของวัฒนธรรมตัวเองที่เลือนหายไปจากแผ่นดินเกิด เนื่องจากคนจีนกลุ่มนี้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก่อนเกิดการปฏิวัติ จึงยังหลงเหลือวัฒนธรรมและวิถีปฏิบัติที่ชัดเจนและเหนียวแน่นกว่าจืนแผ่นดินใหญ่ในหลายพื้นที่เสียอีก

โดยสรุปก็คือ สิ่งที่อาจเป็นคำตอบว่าเหตุใดเยาวราชจึงกลายเป็นไชน่าทาวน์ที่ยิ่งใหญ่ติดอันดับโลก ก็คงพูดได้ว่าการรวมกลุ่มของคนจีนอพยพจนทำให้เกิดศูนย์รวมทางวัฒนธรรม และการสนับสนุนให้เยาวราชกลายเป็นย่านท่องเที่ยว ทั้งโดยส่วนกลางและโดยพ่อค้าแม่ค้าเอง ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการเติบโตของเยาวราชทั้งสิ้น หากแต่จะสรุปให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็คงไม่ถูกต้อง เพราะพื้นที่หนึ่งๆ ย่อมจะมีกลไกความสำเร็จที่แตกต่างกันอีกยิบย่อย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลดังที่กล่าวไว้ข้างต้นเป็นส่วนสำคัญที่มีบทบาทค่อนข้างสูง

ปัจจุบัน ความเป็นจีนของเยาวราชอาจไม่ใช่ภาพเดียวกับในอดีต เพราะมีการคัดเลือกและปรับตัวเพื่อให้ความเป็นจีนที่เหลืออยู่เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ป๊อบ ทำความเข้าใจง่าย และพร้อมใช้งาน เห็นได้จากร้านรวงเก่าแก่ที่เมื่ออยู่ในมือของคนรุ่นที่สองที่มีความคิดความอ่านเป็นไทยมากขึ้น ก็จะมีการปรับตัวให้ทันสมัยและตอบโจทย์การค้ามากขึ้นนั่นเอง ความเป็นจีนที่ไม่ถูกผูกขาดแช่แข็งไว้เพียงแบบใดแบบหนึ่งเช่นนี้ก็อาจเป็นอีกเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้เยาวราชยังคงครองแชมป์การเป็นไชน่าทาวน์ระดับโลกไว้ได้ด้วยเช่นกัน

Chinatown around the world

เมื่อมองภาพกว้างไปยังไชน่าทาวน์นานาประเทศ จะเห็นได้ว่าแต่ละแห่งล้วนมีความเป็นมาที่คล้ายเคียงกัน โดยเริ่มต้นจากกลุ่มจีนอพยพเป็นหลัก และมีความเป็นย่านการค้า ย่านเศรษฐกิจ โดยมีวัฒนธรรมจีนเป็นต้นทุนสำคัญ แต่มีความแตกต่างกันในแง่ของการต่อรองกับแต่ละพื้นที่ แต่ละเมือง และเหตุการณ์สำคัญของแต่ละเมืองก็มีผลให้ไชน่าทาวน์แต่ละแห่งเจริญเติบโตต่างกันด้วย

ยกตัวอย่างเช่นไชนาทาวน์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกแห่งหนึ่งในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่รู้จักกันในชื่อย่านบินอนโด เกิดจากการที่พ่อค้าชาวสเปนได้ยกที่ดินในย่านนั้นให้ช่างฝีมือและกลุ่มการค้าชาวจีนได้ค้าขายอย่างปลอดภาษี ภายหลังบินอนโดจึงกลายเป็นชุมชนชีนอพยพที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นหลัก และในรุ่นต่อมาที่พ่อค้าชาวสเปนได้แต่งงานกับหญิงชาวจีนหรือชาวฟิลิปปินส์เองจึงทำให้คนรุ่นที่สองแห่งบินอนโดส่วนใหญ่เป็นลูกครึ่งตะวันตก จึงทำให้ไชน่าทาวน์แห่งนี้มีความเป็นตะวันตกอยู่ด้วยแม้จะอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ก็ตาม

หรือจะเป็นย่านโซโหอันลือเลื่อง ที่เกิดจากการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวจีนที่เคยอาศัยอยู่ในเมืองท่าของลอนดอน แต่เมื่อประชากรจีนอพยพเริ่มหนาแน่นขึ้น การค้าขายมีคู่แข่งมาก ชาวจีนส่วนหนึ่งจึงออกมาอาศัยอยู่ยังย่านโซโห ประจวบเหมาะกับการหวนกลับสู่แผ่นดินเกิดของทหารผ่านศึก ที่ล้วนแต่ถูกส่งไปรบยังประเทศตะวันออกหลายแห่ง เมื่อกลับไปถึงอังกฤษแล้วก็ยังคงติดใจรสชาติอาหารแบบเอเชีย อาหารจีนและย่านโซโหจึงได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดนับจากนั้นเป็นต้นมา เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ไชน่าทาวน์ของลอนดอนคึกคักและเป็นแหล่งอาหารการกินที่ขึ้นชื่อที่สุดอีกแห่งหนึ่งในโลก

หรืออย่างในกรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ที่มีไชน่าทาวน์เป็นย่านการค้าซึ่งดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวชาวจีนอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ แต่กลับแทบไม่มีคนจีนหลงเหลืออยู่เลย เพราะชาวจีนที่อพยพเข้าไปทำงานแทนที่ทาสชาวแอฟริกันในคิวบา แม้จะได้ลงหลักปักฐานและได้รับสถานะเป็นผู้อยู่อาศัย แต่ส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจโยกย้ายที่อยู่อีกครั้งในช่วงปฏิวัติคิวบาเมื่อปี ค.ศ.1959 ชาวจีนในคิวบาหลั่งไหลเข้าสู่อเมริกาเป็นจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันไชน่าทาวน์ในกรุงฮาวานาไม่ค่อยมีคนจีนอาศัยอยู่ แต่ยังคงมีวัฒนธรรมจีนที่เหนียวแน่นอย่างที่ว่ามีหนังสือพิมพ์ภาษาจีนที่ตีพิมพ์ต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1848 จนถึงปัจจุบัน

หากจะให้กล่าวถึงไชน่าทาวน์ของทุกประเทศก็คงกินเวลากันหลายวันหลายคืน แต่ก็เชื่อว่าไชน่าทาวน์ของแต่ละแห่งจะมีเรื่องเล่าเฉพาะตัวแตกต่างกันไปอย่างที่เล่าเท่าไรก็ยังคงสนุกและน่าสนใจอยู่เช่นเคย และไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน การเกาะกลุ่มกันของชาวจีน การริเริ่มค้าขาย และการส่งเสริมไชน่าทาวน์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ยังเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ไชน่าทาวน์สามารถเติบโตและอยู่ร่วมกับวัฒนธรรมที่แสนแตกต่างได้ทั่วโลก

เช่นนี้แล้วจึงอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับการเกิดขึ้นของชุมชนคนไทยในหลายๆ ประเทศที่เริ่มกลายเป็น ‘ไทยทาวน์’ ด้วยเหมือนกัน อย่างเช่นในลอสแองเจลิสที่มีคนไทยอยู่มากกว่า 120,000 คน ทำให้เกิดซูเปอร์มาร์เก็ตสินค้าไทย ร้านนวด ร้านอาหารไทย ร้านหนังสือไทย แหล่งความบันเทิงอย่างร้านคาราโอเกะและคาเฟ่ และมีวัดไทยมากกว่า 10 วัด ไทยทาวน์ในลอสแอนเจลิสมีอายุกว่า 20 ปี มีการจัดเทศกาลประจำปีอย่างงานสงกรานต์จนกลายเป็นอีกหนึ่งไอคอนของชาวไทยในต่างแดน เป็นแหล่งการค้าที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนจำนวนไม่น้อย และวันหนึ่งอาจเติบโตไปในทิศทางเดียวกับไชน่าทาวน์ทั่วโลกก็เป็นได้

นอกจากนี้แล้วยังมีอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่ต้องจับตาดูความเติบโตต่อไปภายหน้า ก็คือปรากฏการณ์ New Chinatown ที่เกิดขึ้นในไทย อย่างเช่นย่านรัชดา ห้วยขวาง หรือเสือป่าพลาซ่า ซึ่งเป็นการเข้ามาทำธุรกิจของคนจีนรุ่นที่สอง หรือที่เรียกว่า ซินอี๋หมิน แตกต่างกับชาวจีนอพยพในอดีตอย่างชัดเจน คือเป็นชาวจีนที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดี และมุ่งเข้ามาเพื่อการค้าการลงทุนตั้งแต่อายุยังไม่มาก ไม่ได้เข้ามาเพื่อขายแรงงานอย่างเช่นที่ผ่านมา

เมื่อประกอบกับความเป็นนักธุรกิจ นักเสี่ยงภัยเสี่ยงโชคที่มีอยู่เป็นทุนเดิม New Chinatown ในพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ก็เติบโตอย่างรวดเร็วและมีตัวเลขเงินหมุนเวียนอยู่มหาศาล ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และเรื่องอื่นๆ ทั้งในภาพเล็กเฉพาะย่าน และในภาพรวมระดับประเทศด้วย ซึ่งจะเป็นผลดีหรือผลเสียกับไทยมากกว่าก็คงขึ้นอยู่กับการรับมือและแผนการจากภาครัฐเป็นสำคัญ

ข้อมูลจาก

https://www.the101.world/new-chinatown-chada-interview/
https://www.the101.world/one-on-one-wasana-interview/
https://www.silpa-mag.com/history/article_26173
ย่านไชน่าทาวน์เยาวราช: พื้นที่การนำเสนออัตลักษณ์เชิงซ้อนของวัฒนธรรมความเป็นจีนในสังคมไทยร่วมสมัย โดย นรุตม์ คุปต์ธนโรจน์ ปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กราฟิก: ณัฐฐินันท์ นนทสิงห์

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS