เดินเท้าเข้าป่าตามหาน้ำผึ้ง ให้รู้ถึงวิถี ‘ผึ้งพาอาศัย’
STORY BY | 16.05.2018

9,722 VIEWS
PIN

image alternate text
ทริปตามหาน้ำผึ้งป่าที่ทั้งหอมหวานและมีสรรพคุณนานา ซึ่งหลบซ่อนอยู่ในป่าใหญ่ของชาวปกาเกอะญอ

ตั้งแต่จำความได้ เราก็รู้จักและรักในรสชาติของน้ำผึ้งเสียแล้ว…

ด้วยน้ำผึ้งคือส่วนผสมหลักในอาหารหลากชนิด ทั้งขนมนมเนย รวมถึงอาหารคาวหวานทั้งไทยเทศก็นิยมใช้น้ำผึ้งแต่งกลิ่นรสให้หวานละมุน เป็นความหอมหวานที่แตกต่างจากน้ำตาลหรือสารให้ความหวานชนิดอื่นอย่างสิ้นเชิง ด้วยน้ำผึ้งมีกลิ่นอายของธรรมชาติอยู่เต็มเปี่ยม นับเป็นผลผลิตแสนพิเศษที่ธรรมชาติมอบให้แก่มนุษยชาติไว้เติมความอร่อย มากกว่านั้น ยังรวมถึงการเป็นยารักษาโรคที่ช่วยชีวิตมนุษย์มานานนับพันปี

ทว่าวันเวลาผ่านไป จากน้ำผึ้งธรรมชาติ ที่เป็นผลผลิตจากผึ้งตัวจิ๋วที่อาศัยในป่าลึก ก็กลับกลายเป็นน้ำผึ้งเชิงอุตสาหกรรมเสียส่วนใหญ่ กล่าวคือ เป็นน้ำผึ้งที่ได้จากการนำกล่องไม้ไปวางไว้ในสวนผลไม้ขนาดใหญ่ จากนั้นรอเวลา ก่อนเก็บเกี่ยวรังผึ้งมาคั้นเอาน้ำผึ้งหอมหวานไว้ทำกำไร

แม้การเลี้ยงผึ้งแบบนี้จะมีผลดีตรงทำให้น้ำผึ้งราคาไม่สูง และมีปริมาณมากพอให้คนทั่วไปหาซื้อกันได้ไม่ยาก ทว่าถ้าเทียบกันในเชิงรสชาติและคุณค่าทางสารอาหาร ‘น้ำผึ้งป่า’ ก็ยังนับเป็นที่หนึ่ง!

และนั่นเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เราตัดสินใจเดินเท้าเข้าป่าไปเรียนรู้วิถีชีวิต และตามหาน้ำผึ้งป่าในหมู่บ้านเล็กๆ ของชาวปกาเกอะญอ ที่ซ่อนตัวอยู่ใจกลางป่าลึกของจังหวัดเชียงราย

หมู่บ้าน ‘ห้วยหินลาดใน’ คือจุดหมายปลายทางของการเดินทางตามหาน้ำผึ้งครั้งนี้ของเรา เกริ่นให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า หมู่บ้านแห่งนี้มีอายุอานามนับร้อยปี มีวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติในระดับคนเมืองอย่างเราๆ อาจนึกไม่ถึง ที่สำคัญคือเป็นหมู่บ้านที่มีน้ำผึ้งป่ารสชาติอร่อยล้ำ เพราะถูกล้อมรอบด้วยพืชพรรณนานาชนิดที่ชาวปกาเกอะญอร่วมใจกันดูแลรักษาให้อุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ

The Honey Journey Begins

บ่ายวันนั้นเราเดินทางออกจากสนามบินเชียงใหม่ด้วยรถขับเคลื่อน 4 ล้อ และราว 2 ชั่วโมงถัดมา ทิวทัศน์สองข้างทางก็เริ่มเปลี่ยนแปรจากเสาไฟฟ้าเป็นต้นไม้หนาตาขึ้นเรื่อยๆ… ไม่นานจากนั้นเราและสมาชิกร่วมทริปอีกราว 10 ชีวิตก็เดินทางถึงหมู่บ้านห้วยหินลาดใน หมู่บ้านเล็กๆ ของชาวปกาเกอะญอซึ่งโอบล้อมไว้ด้วยเสียงหริ่งเรไรและต้นไม้ตระหง่านเขียวชอุ่ม

หลังก้าวลงจากรถ จั้มพ์-ณัฐดนัย ตระการศุภกร ลูกหลานชาวปกาเกอะญอวัยยี่สิบกลางๆ หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงของทริปตามหาน้ำผึ้งครั้งนี้ก็เดินทางมาต้อนรับเราด้วยรอยยิ้ม ก่อนเกริ่นถึงกิจกรรมอันน่าตื่นเต้นที่ทั้งคณะกำลังจะได้เผชิญ ว่านอกจากต้องเตรียมตัวเดินขึ้นเขาระยะทางร่วม 3 กิโลเมตรแล้ว หากฝนตกขึ้นมาวันนี้ ผึ้งน้อยใหญ่อาจอารมณ์ไม่ดี และจู่โจมเราชนิดที่ไม่ทันได้ตั้งตัว!

ยังไม่ทันได้เตรียมใจ ปรอยฝนก็โปรยปรายลงมา…

เราหลบละอองฝนเข้าบ้านพัก ซึ่งคือบ้านไม้สองชั้นสองชาวปกาเกอะญอที่โปร่งรับอากาศเย็นสบายแม้เป็นช่วงปลายเดือนเมษายน เรียกว่ามองออกไปจากหน้าต่างห้องพักสามารถเห็นผืนป่าทั้ง 2 หมื่นไร่โอบล้อมไว้ได้เลยทีเดียว! ก่อนใช้เวลาหลังฝนหยุดเดินสำรวจรอบๆ ชุมชนตลอดทั้งบ่าย กระทั่งค่ำวันนั้นทั้งหมู่บ้านห้วยหินลาดในจึงเข้าสู่ความเงียบสงัด มีเพียงแสงไฟสลัวจากเครื่องปั่นไฟที่ดับลงพร้อมกันราว 4 ทุ่ม จากนั้นความง่วงงุนก็เข้าจู่โจมจนเราผล็อยหลับไปพร้อมคาดหวังถึงการผจญภัยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมง

ผึ้งหลวงบินไกล 

เช้าวันถัดมา เรากับสมาชิกร่วมทริปก็กลับมาเจอกันที่จุดนัดหมายกลางหมู่บ้าน ก่อน พ่อหลวงชัยประเสริฐ โพคะ หัวหน้าหมู่บ้านห้วยหินลาดใน ผู้คลุกคลีอยู่กับน้ำผึ้งป่ามานานหลายสิบปีจะอธิบายถึงเส้นทางการตามหาน้ำผึ้งให้เราฟังทีละขั้นทีละตอน “เป้าหมายแรกของเราวันนี้คือ ผึ้งหลวง” พ่อหลวงว่า พลางชี้ให้เราดูเส้นทางลูกรังเล็กๆ ที่ทอดยาวขึ้นไปบนสันเขา เป็นอันรู้กันว่านี่แหละทางที่เราจะไปกันในวันนี้

เราเดินเท้าขึ้นไปตามทางนั้นทีละก้าว จากพื้นราบก็ลาดชันขึ้นเรื่อยๆ จนต้องหยุดพักเหนื่อยเป็นระยะ และระหว่างนั้นเราก็พบกับกล่องไม้สี่เหลี่ยมวางแอบไว้ทุกร้อยเมตร ชวนให้สงสัยว่านี่คือกล่องอะไร ใช่กล่องเลี้ยงผึ้งไหม แล้วผึ้งที่เรากำลังเดินทางตามหาล่ะ อาศัยอยู่ตรงไหนกัน?

หนึ่งชั่วโมงเศษหลังออกเดิน พ่อหลวงก็พาเราลัดเลาะแทรกตัวเข้าไปในป่าลึก เป็นเส้นทางที่ถูกปกคลุมด้วยต้นไม้แน่นขนัดและสูงชันจนเราต้องเกาะแขนคนข้างหน้าไว้ให้มั่น “เห็นต้นโน้นไหม นั่นล่ะต้นยางนา” พ่อหลวงชี้ให้เราดูต้นไม้สูงราวตึก 5 ชั้นที่ยืนต้นตระหง่านถัดไปข้างหน้าราว 50 เมตร

“เห็นรังผึ้งบนนั้นรึเปล่า?” พ่อหลวงชวนให้เราดูวัตถุสีดำขนาดใหญ่ที่ห้อยย้อยอยู่บนกิ่งหนึ่ง ก่อนอธิบายถึงลักษณะของ ‘ผึ้งหลวง’ ให้ฟังว่า “ผึ้งหลวงตัวใหญ่ที่สุดในบรรดาผึ้ง 3 ชนิดที่อาศัยในป่านี้ มีเหล็กในใหญ่ที่สุด ดุที่สุด และต่อยเจ็บที่สุด” เราตาโตถึงความเป็นที่สุดของมัน พลางถอยก้าวอย่างกล้าๆ กลัวๆ

นาทีต่อมา พี่ทศ หนุ่มชาวปกาเกอะญอหนึ่งในผู้ร่วมทางก็เดินมาสมทบ ก่อนลงมือสุมไฟด้วยไม้ไผ่และใบไม้แห้ง จนเปลวไฟลุกโชนอยู่กลางวงล้อมของเรา ซึ่งนี่คือวิธีการขออนุญาตธรรมชาติแบบฉบับชาวปกาเกอะญอ เป็นการส่งสัญญาณผ่านควันไฟให้ผึ้งรู้ว่าเรากำลังย่างกรายเข้าไปหา และควันไฟยังช่วยทำให้มันถอยไกลจากเราด้วย!

จากนั้นพี่ขุนพล ชายหนุ่มชาวปกาเกอะญอผู้รับหน้าที่เก็บรังผึ้งจนเข้าขั้นชำนาญ ก็ปรากฎตัวขึ้นในชุดเสื้อผ้ารัดกุม พร้อมตะกร้าที่บรรจุไว้ด้วยขวานและทอยไม้ไผ่ (ลิ่มไม้ไผ่) ก่อนเดินตรงเข้าไปยังต้นยางนาและจัดการตอกทอยทีละชิ้น ทีละชิ้นเข้ากับลำต้น แล้วก้าวทีละขั้นไต่ระดับขึ้นไปโดยมีจุดหมายคือรังผึ้งหลวงขนาดใหญ่ที่กลายเป็นจุดรวมสายตานับสิบคู่อยู่ ณ ขณะนั้นโดยพ่อหลวงบอกกับเราว่า หากครั้งไหนผู้เก็บรังผึ้งตอกทอยไม่เข้า หรือทอยเด้งออกจากเนื้อไม้ กระบวนการเก็บรังผึ้งทั้งหมดจะหยุดทันที เพราะชาวปกาเกอะญอถือกันว่านั่นเป็น ‘คำเตือน’ จากธรรมชาติว่ายังไม่ถึงเวลาอันเหมาะสมที่จะเข้าไปรุกล้ำพื้นที่

ราว 20 นาที พี่ขุนพลก็ขึ้นไปยืนอยู่บนกิ่งยางนาใหญ่ใกล้รังผึ้งหลวง แล้วทำการจุดไฟใส่ ‘ใบรางจืด’ ที่เตรียมไว้ ก่อนดับให้เหลือเพียงควันที่มีฤทธิ์เบื่อเมา เพื่อรมให้ผึ้งหลวงวิงเวียนและพากันกรูออกจากรัง เป็นวิธีการไล่ผึ้งแบบชาวปกาเกอะญอที่ไม่ทำร้ายและไม่ทำลายธรรมชาติให้เสียหาย

ไม่นานรังผึ้งสีดำขนาดใหญ่ก็ขยายออกเกือบเท่าตัว พ่อหลวงบอกว่านั่นคือผึ้งจำนวนนับพันที่กรูกันออกมาจากรัง และต่อตัวกันขยายเป็นยวงใหญ่ ซึ่งตอนนี้แหละจุดสำคัญ เพราะถ้ายวงนั้นหลุดขาดออกจากกันเมื่อไร หมายความว่าผึ้งหลวงจะพุ่งตรงเข้าใส่ผู้รุกล้ำ…ซึ่งก็คือพวกเรา… ทันที

ทว่าเหมือนฟ้าเป็นใจ เพราะวันนั้นผึ้งหลวงน้อยใหญ่ต่างอารมณ์ดี พี่ขุนพลเลยทำงานง่าย ตัดรวงผึ้งบางส่วนเก็บใส่ตะกร้าไม้ไผ่เสร็จก็ไต่ลงมาช้าๆ โดยที่พวกเราทุกคนไม่ได้รับพิษภัยจากเหล็กในกันสักคน!

“น้ำผึ้งหลวงมีสรรพคุณเป็นยา เพราะผึ้งหลวงบินสูง ทำรังสูง ดอกไม้ส่วนใหญ่ที่อยู่ระดับนั้นมีฤทธิ์เป็นสมุนไพร ทำให้น้ำผึ้งมีสรรพคุณทางยาตามไปด้วย พอเป็นแบบนี้เขาเลยห้ามคนท้องกินน้ำผึ้งหลวง เพราะบางทีฤทธิ์ทางยาก็ทำให้แสลงเด็กในท้อง” พ่อหลวงเล่าเรื่อยๆ “แล้วน้ำผึ้งหลวงแต่ละรังก็มีสรรพคุณไม่เหมือนกัน เพราะป่าแต่ละบริเวณมีพืชพรรณแตกต่างกัน บางรังก็แก้ไข้ บางรังก็เป็นยาบำรุง” อาทิน้ำผึ้งหลวงสีเจือแดงที่ได้จากเกสรดอกกวาวเครือ ที่เลื่องลือกันว่ามีสรรพคุณกระตุ้นกามารมณ์ไม่แพ้ยาไวอากร้าทีเดียว

เราบิรวงผึ้งเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วส่งใส่ปาก ก่อนซึมซาบรสชาติหอมหวานซับซ้อนของน้ำผึ้งหลวงอยู่หลายนาที น้ำผึ้งหลวงปลายเดือนเมษายนนั้นอาจไม่เข้มข้นเท่าเดือนก่อนหน้า ด้วยเจือน้ำฝนมาบ้างเล็กน้อย แต่นั่นก็เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้น้ำผึ้งหลวงของเดือนนี้กินได้เรื่อยๆ ไม่หวานแสบคอ ที่สำคัญคือมีกลิ่นดอกไม้ตลบอบอวลคลุ้งไปทั้งกระพุ้งแก้ม แตกต่างจากน้ำผึ้งที่เราเคยกินมาทั้งชีวิตชนิดหนังคนละม้วน!

“อร่อยมาก!”

หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันหลังได้ลองชิมน้ำผึ้งหลวงสดๆ จากนั้นคำว่าอร่อยก็ล่องลอยอยู่บริเวณนั้นอีกนานหลายนาที ยิ่งกว่านั้นสิ่งที่ทำเอาเราตะลึงไปเลยก็คือ ‘เกสรผึ้ง’ ซึ่งคือก้อนตะกอนสีเหลืองขนาดใหญ่ที่แอบซ่อนลึกอยู่ในรังผึ้ง พี่ขุนพลส่งเกสรผึ้งให้เราถือ พลางพยักเพยิดให้ลองชิมดู

เกสรผึ้งรสชาติเปรี้ยวอมหวาน หอมนัว และซับซ้อนกว่าน้ำผึ้งหลายเท่า… และเมื่อสังเกตดีๆ ก็พบว่ามีริ้วสีเขียว แดง ส้ม เรียงกันอยู่ในเนื้อเกสรผึ้งอย่างสวยงาม “มันคือตะกอนของเกสรดอกไม้ที่ผึ้งเก็บมาสะสมไว้ในรัง” พี่ทศอธิบายเมื่อเราทำหน้าสงสัย “หากินยากนะ ไม่มีขาย” เขาบอกก่อนยุให้เราบิชิมอีกชิ้น และพบถึงความหอมของดอกไม้สารพัดอบอวลอยู่ในประสาทสัมผัส

หลังชิมน้ำผึ้งหลวงกันหนำใจ พ่อหลวงก็พาเราเดินลัดเลาะเข้าไปในป่าอีกราว 200 เมตร เพื่อพบกับผึ้งชนิดต่อไป ผู้ทำหน้าที่พี่ใหญ่ในการผสมเกสรในผืนป่าใหญ่แห่งนี้…

ผึ้งโพรงพี่ใหญ่

สุดท้ายเราก็ได้รู้ว่ากล่องไม้ที่เห็นอยู่ตามรายทางคือ ‘กล่องผึ้งโพรง’ ผึ้งขนาดกลางที่อาศัยอยู่ในโพรงไม้ หรือซอกหินตามธรรมชาติ ทว่าสามารถเลี้ยงได้ด้วยการนำกล่องไม้เจาะรูไปวางไว้ในที่ผึ้งชุกชุม และใกล้แหล่งน้ำสะอาด จากนั้นรอเวลาประมาณ 3-4 เดือน ผึ้งโพรงก็จะสะสมน้ำผึ้งจนเต็มรัง

พวกเรายืนล้อมกล่องรังผึ้งที่ซ่อนอยู่ในศาลาเล็กๆ ที่สร้างไว้กันลมกันฝนให้พวกมัน พลางมองดูพ่อหลวงเคี้ยวหมากฝรั่งกลิ่นมินต์อย่างสงสัยใคร่รู้ ก่อนนาทีต่อมาจะร้องอ๋อ… เมื่อพ่อหลวงเป่าลมเข้ารูที่เจาะไว้กลางกล่องผึ้ง เพื่อ ‘ขออนุญาต’ เป็นการส่งสัญญาณว่าเรากำลังจะรุกล้ำเข้าไปขอเก็บน้ำผึ้ง และเมื่อผึ้งที่บินรอบๆ รังสงบลง พ่อหลวงจึงทำการเปิดกล่องรังผึ้งช้าๆ ก่อนภาพที่ปรากฎแก่สายตาจะทำให้เราตะลึงงัน

แผงรังผึ้งอัดแน่นอยู่เต็มกล่อง กะน้ำหนักได้ราว 10 กิโลกรัม เรียกว่าเป็นรังผึ้งโพรงขนาดใหญ่ที่สุดในรอบหลายเดือนของหมู่บ้านก็ว่าได้ ที่สำคัญคือเนื้อของน้ำผึ้งโพรงรังนี้ข้นคลั่ก! เพราะมีศาลาคุ้มฝนไว้ไม่ให้ตกลงมาเจือจางน้ำผึ้ง และหลังเก็บรังผึ้งใส่ตะกร้าเรียบร้อย พ่อหลวงก็เรียกเราเข้าไปใกล้ๆ เพื่อตัดแบ่งรังผึ้งบางส่วนส่งให้ได้ชิมกันแบบสดๆ ตรงนั้นเลย

“โห…” หลายคนร้องเป็นเสียงเดียวกัน เพราะรสชาติของน้ำผึ้งโพรงรังนี้นั้นไม่ต่างจากคาราเมลเกรดพรีเมียม ทั้งความข้น ความหนึบ และกลิ่นหอมสลับซับซ้อนที่อวลอยู่ในปากซึ่งชวนให้เราคิดว่านี่คือขนมหวานจากเชฟฝีมือดีเสียด้วยซ้ำ “เหมือนน้ำผึ้งที่เคี้ยวได้” เรานิยามมันแบบนั้น ก่อนบิชิมอีกคำเพื่อพิจารณารสชาติให้ลึกซึ้งกว่าเดิม… ด้วยผึ้งโพรงเป็นผึ้งที่บินอยู่ในระดับกลางๆ เกสรดอกไม้ที่ผลิบานในระดับนี้จึงหลากหลายเป็นพิเศษ รสชาติของน้ำผึ้งโพรงเลยซับซ้อน เปรี้ยวบ้าง ขมบ้าง หวานบ้าง ปนเปไม่เหมือนกันสักรัง

“จริงๆ แล้วน้ำผึ้งคืออาหารของตัวอ่อน” พี่ทศเกริ่น “เพราะงั้นต่อให้ปล่อยรังผึ้งทิ้งไว้หลายปี น้ำผึ้งที่ได้ก็จะเป็นของรอบปีล่าสุดอยู่ดี เพราะน้ำผึ้งรอบก่อนหน้ากลายเป็นอาหารเลี้ยงลูกผึ้งหมดแล้ว”

พ่อหลวงปิดกล่องรังผึ้งแล้วนำกลับไปวางไว้จุดเดิม ก่อนส่งยิ้มกว้างให้เรา จากนั้นเดินนำกลับไปยังหมู่บ้าน เพื่อทำความรู้จักกับผึ้งชนิดต่อไปที่ทำให้สมาชิกในทริปต้องย่นคอนิ่วหน้ากันเป็นแถว!

ชันโรงตัวจิ๋วแต่จัดจ้าน 

บริเวณลานหินใกล้กับลำธารเล็กๆ ถัดจากตัวหมู่บ้านไม่ไกล คือบ้านของ ‘ชันโรง’ ที่เราตามหา

ลำไม้สีน้ำตาลขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ถูกยกลงมาวางกับพื้น จากนั้นพี่ทศจึงจัดการใช้ขวานเฉาะเข้าเนื้อไม้ แล้วใช้มือแยกไม้ออกให้เห็นรังผึ้งสีน้ำตาลเข้มแน่นขนัดจนไม่เหลือช่องว่าง ผึ้งตัวจิ๋วกรูกันออกมาจากรังตอมบนตัวเราบ้าง ผมเราบ้าง แต่ไม่ยักกัดหรือแทงเหล็กในใส่ผิวหนังเรา “ชันโรงเป็นผึ้งตัวเล็กที่สุด ไม่มีเหล็กใน และบินหากินได้แค่ในระยะใกล้ๆ ไม่เกิน 300 เมตร” พี่ทศเล่าให้เราฟังขณะยื่นชิ้นส่วนของรังชันโรงให้เราชิม

“เปรี้ยว!”

เราร้องออกมาทันทีเมื่อประสาทสัมผัสรับรสทำงาน น้ำผึ้งชันโรงมีรสเปรี้ยวนำ ขมตาม เป็นรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ที่สุดในบรรดาน้ำผึ้ง 3 ชนิดที่เราได้ชิมในวันนั้น โดยรสเปรี้ยวของน้ำผึ้งชันโรงนั้นเกิดจากการที่มันกินชัน (ยางไม้เหนียวๆ) ในเนื้อไม้ แล้วใช้เอนไซม์ในตัวย่อยชันจนได้น้ำผึ้งออกมา และเพราะขนาดตัวเล็กจิ๋วของมัน ทำให้ต้องใช้เวลาในการสะสมน้ำผึ้งกว่าจะเต็มรังราว 2-3 ปี น้ำผึ้งชันโรงจึงหมักบ่มตัวเองจนได้รสเปรี้ยวนำและทำให้หลายคนต้องหยีตาเมื่อได้ลิ้มลอง

“คนปกาเกอะญอกินน้ำผึ้งชันโรงเป็นยา กินเช้าๆ ตอนท้องว่าง สักช้อนสองช้อน ทำให้ร่างกายแข็งแรง กระดูกไม่เปราะ เวลาก้าวพลาดเวลาขึ้นเขาลงเขาก็ไม่เจ็บ (หัวเราะ)” พ่อหลวงสำทับด้วยเสียงหัวเราะ ก่อนบอกถึงสรรพคุณของน้ำผึ้งป่าว่ามีเพียบกว่าน้ำผึ้งเลี้ยงเชิงอุตสาหกรรมหลายเท่า เนื่องจากน้ำผึ้งเป็นผลผลิตจากเกสรดอกไม้ที่ผึ้งกินเข้าไปแล้วใช้เอนไซม์ในตัวย่อยก่อนปล่อยเป็นน้ำผึ้งออกมา ฉะนั้นสรรพคุณของเกสรดอกไม้แต่ละชนิดย่อมผสมรวมอยู่ในน้ำผึ้ง ยิ่งเป็นน้ำผึ้งจากป่าใหญ่ก็ยิ่งมีสรรพคุณมากมายเกินพรรณา

จึงไม่น่าแปลกใจที่น้ำผึ้งชันโรงจะมีราคาแพงที่สุดในบรรดาน้ำผึ้งทั้งปวง ด้วยสรรพคุณทางยา ด้วยระยะเวลาการหมักบ่ม และด้วยรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ชนิดน้ำผึ้งใดก็ทดแทนไม่ได้

หลังได้รู้จักน้ำผึ้งทั้ง 3 ชนิดในป่าใหญ่แห่งนี้เป็นที่เรียบร้อย พ่อหลวงและทีมงานหมู่บ้านห้วยหินลาดในก็ชวนเราไปชิมน้ำผึ้งหลากหลายชนิดที่ชาวบ้านใส่ขวดเก็บไว้เป็นของส่วนกลาง ซึ่งแต่ละขวดล้วนมีรสชาติแปลกใหม่ น่าตื่นเต้น และมีดีเทลแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง! “น้ำผึ้งของแต่ละปี เป็นรสชาติที่สื่อสารเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปีนั้นๆ” พ่อหลวงอธิบายด้วยเสียงเรียบนิ่ง “อย่างเมื่อปีกลาย มีไฟป่าเกิดในละแวกหมู่บ้าน น้ำผึ้งปีนั้นก็มีกลิ่นควันไฟเจืออยู่นิดๆ ทำให้เราคิดถึงเรื่องราวที่ผ่านมาในปีนั้น” ก่อนจะปิดประโยคทั้งรอยยิ้ม

ผึ้งผสม คนรักษา ป่าคงอยู่ 

กิจกรรมสุดท้ายของเราในหมู่บ้านห้วยหินลาดใน คือการเรียนรู้วิธี ‘สร้างบ้าน’ ให้ทั้งเราและผึ้ง อันดับแรกคือบ้านของผึ้ง หรือก็คือรังผึ้งโพรง ซึ่งเป็นผึ้งชนิดที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ด้วยการนำไข่ไปใส่ไว้ในกล่องไม้ที่ทำขึ้นพิเศษ แล้วนำไปวางแทรกในหมู่ไม้หรือบริเวณที่มีพืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์ โดยการสร้างกล่องรังผึ้งนั้นเริ่มจากคัดเลือกไม้เนื้อแข็งที่แห้งดี มาตัดและตอกเข้าหากันจนกลายเป็นกล่องความกว้างยาวแล้วแต่ชอบ สำคัญคือต้องทำฝาของกล่องรังผึ้งให้สามารถเปิดได้เผื่อไว้สำหรับตอนนำรังผึ้งออกมาด้วย

จากนั้นพ่อหลวงนำ ‘ขี้ผึ้ง’ (ได้จากรังผึ้งเปล่าที่เอาน้ำผึ้งออกไปหมดแล้วมาหลอมจนเป็นเนื้อเดียว) มาละลายจนเหลว แล้วใช้พู่กันปาดขี้ผึ้งเหลวๆ ทาให้ทั่วด้านในกล่องรังผึ้ง รวมถึงบริเวณปากรูทางเข้า และฝากล่อง ซึ่งจะใช้วิธีทาเป็นแถบๆ อยากให้ผึ้งสร้างรังแนวไหน ก็ทาขี้ผึ้งที่ฝากล่องในแนวนั้น

“เราช่วยผึ้งขยายพันธุ์ ผึ้งก็ช่วยผสมพันธุ์พืช แล้วสร้างบ้านให้กับเรา” พ่อหลวงเปรยระหว่างทาขี้ผึ้งจนทั่ว และทำการปิดฝากล่องให้แนบสนิท รอนำไปวางไว้ในป่าชอุ่มที่เขานิยามว่าเป็น ‘บ้าน’ อีกหลัง

“ผืนป่านี้เป็นบ้านของทุกคน เราชาวปกาเกอะญอแค่ช่วยดูแลให้เท่านั้น”

เขาบอกทั้งรอยยิ้มกว้าง ก่อนเดินนำเราเข้าไปในป่า เพื่อนำบ้านของผึ้งไปวางไว้ในบ้านของเรา

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS