บนโลกนี้มีเพียงไม่กี่อย่างที่เราล้วนนิยามตรงกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของความสดชื่น สดใส เป็นอะไรที่ใครเห็นเป็นต้องถูกอกถูกใจ และเชื่อว่ามีน้อยรายนักจะไม่ชอบ ‘ดอกไม้’ นอกจากจะแพ้พ่ายให้กับเกสรของมัน
แต่นอกจากความสวยสดใส ดอกไม้ยังมีจุดขายในแง่ของการเป็นอาหารด้วยเช่นกัน…
เหตุผลเบสิกนั้นก็เพราะดอกไม้หาง่าย ไม่ต่างจากพืชผักใดที่มนุษย์ใช้เป็นอาหารมานานนับล้านปี ทว่าเหตุผลที่ทำให้เมนูดอกไม้อยู่ยืนยงในอาหารของแต่ละชนชาติก็ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเพราะความเชื่อทางศาสนา หรือเพราะสรรพคุณนานาที่ดอกไม้แต่ละชนิดเก็บงำไว้ก็ตาม
และถ้าว่ากันตามหลักฐานที่บันทึกไว้ ก็พอบอกได้ว่ามนุษยชาติกินดอกไม้กันมาตั้งแต่ 140 ปีก่อนคริตศักราชนู่น โดยเฉพาะชาวกรีกโรมัน และอียิปต์ที่ใช้ดอกไม้ผสมในอาหาร เหล้า และเครื่องหอมกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน กระทั่งในคัมภีร์ไบเบิลเองก็ระบุถึงการใช้ดอกแดนดิไลออน (Dandelions) เป็นยาสมุนไพร และเจ้าดอกสีขาวสะอ้านที่ขึ้นอยู่ทั่วทั้งทวีปยุโรปนี้ก็กลายเป็นวัตถุดิบสำคัญที่พบเห็นได้ในหลายเมนู ไม่ว่าจะสตูว์ สลัด หรือตกแต่งหน้าขนมหวานเพิ่มความสวยงามในสมัยวิคตอเรียน… นอกจากสวยงามและเป็นยา สำหรับชาวยุโรปและอาหรับ (ซึ่งติดต่อค้าขายและรบรากับยุโรปอยู่ตลอด) แล้วดอกไม้ยังมีคุณค่าในอีกหลายมิติ อาทิ ดอกทิวลิป กุหลาบ และเบญจมาศ ที่มีสัญญะถึงความสุขสงบ จึงมักปรากฎตัวในอารามและเมนูที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนาอยู่เสมอ
กลับมามองทางฝั่งเอเชีย ก็พบว่าเราเด็ดดอกไม้ใส่อาหารกันมานานแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะดินแดนที่มีวัฒนธรรมอาหารเเข็งแรงอย่างจีน ถึงกับมีบันทึกวิธีปรุงอาหารจากดอกไม้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อาทิ เมนูจากดอกไม้มงคลอย่างเบญจมาศที่กลายเป็นทั้งเหล้าหมัก และผสมอยู่ในเค้กข้าวที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในสมัยจักรพรรดินีบูเช็คเทียน เพราะเชื่อกันว่าเป็นวิธีทำให้อาหารเป็นสิริมงคล และสูงค่าเหมาะสำรับใช้บูชาหรือเป็นอาหารชาววัง
ก่อนต่อมาดอกเบญจมาศจะขยายความนิยมสู่ประเทศญี่ปุ่น (จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์) และอีกหลายประเทศในเอเชียรวมถึงประเทศไทย ยังไม่นับ ‘ชาดอกไม้’ ที่ชาวจีนและญี่ปุ่นหลงใหล ตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่น ‘น้ำเก๊กฮวย’ จากดอกเก๊กฮวย (ซึ่งสายพันธุ์ใกล้กันกับเบญจมาศ) ก็เป็นหนึ่งในอาหารดอกไม้ที่ดับกระหายได้อย่างงดงาม
สำหรับเมืองร้อนอย่างไทยเราก็มีตำรับดอกไม้ไว้ให้ชื่นใจกับเขาเหมือนกัน ยิ่งในรั้วในวังซึ่งนิยมทำสวนดอกไม้ หรือที่เรียกกันว่า ‘สวนทวาย’ ไว้คู่ตำหนัก อาหารดอกไม้จึงมีมากมายพอๆ กับมาลัยและเครื่องแขวนแสนสวย ไม่ว่าจะข้าวแช่ในน้ำลอยดอกมะลิ ขนมช่อม่วงจากสีอัญชัญ ชากุหลาบมอญ หรือกลีบบัวหลวงในจานยำ
เหล่านี้ทำให้เราพอสรุปได้ว่าอาหารดอกไม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้ระยะหลังมันจะกลายเป็นเทรนด์ในแวดวงอาหารประเภท Real food หรืออาหารที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง จนทำให้หลายดอกเป็นกระแสขึ้นมา แต่ต้องยอมรับว่าอาหารดอกไม้เป็นเรื่องใหญ่ ในแง่ว่ามันผสมกลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิต และอาหารการกินของเรามาเนิ่นนาน…
เหมือนดอกไม้กินได้ต่อไปนี้ ที่เราเลือกเด็ดมาลองชิมดูแล้วพบว่าน่าสนใจ ทั้งในแง่รสชาติและเรื่องราวที่ซ่อนไว้ภายใต้ความงดงาม
สีขาว / มะลิ ลั่นทม ดอกแค ซ่อนกลิ่น
ดอกไม้สีขาวในบ้านเรามีหลากหลาย แต่ที่แมสหน่อยเพราะทั้งหอมและความหมายดี คงหนีไม่พ้น ‘มะลิ’ ดอกที่คนไทยนิยมปลูกไว้ติดบ้าน ใช้ลอยในน้ำฝนเพิ่มความชื่นใจ หรืออบร่ำในตำรับที่ต้องอาศัยความพิถีพิถันอย่างข้าวแช่ และขนมไทยอีกหลายชนิด ส่วนดอกสีขาวที่แมสมากอีกอย่างคือ ‘ดอกแค’ ไม่ว่าจะนำไปแกงส้ม ผัดน้ำมันหอย หรือยัดไส้หมูสับทอดในน้ำมันร้อนๆ ก็อร่อย เป็นดอกที่พบได้ตามท้องไร่ปลายนา มีสรรพคุณช่วยถอนพิษในร่างกาย ใครตัวรุมๆ เหมือนจะเป็นไข้ลองได้ซดแกงส้มดอกแครับรองหายเป็นปลิดทิ้ง ส่วนดอกขาวสุดท้ายอย่าง ‘ลั่นทม’ หลายคนอาจงงว่ากินได้จริงไหม? ขอบอกว่าได้ อร่อยด้วย แต่ต้องตัดขั้วของลั่นทมออก แล้วนำไปแช่น้ำเกลือให้หมดยางซะก่อน จากนั้นนำไปชุบแป้งทอดในน้ำมันร้อนๆ เท่านี้ก็ได้อาหารดอกไม้แบบง่ายๆ อีกจาน ส่วนดอก ‘ซ่อนกลิ่น’ นั้นคนโบราณนิยมนำมาแกงกะทิ หรือผัดน้ำมัน มีกลิ่นหอมอบอวลยามกลืน แถมมีสารต้านมะเร็งด้วยนะ
สีเขียว / ผักปลัง กุยช่าย ชมจันทร์
ใครไม่เคยกิน ‘กุ๊ยช่าย’ คงไม่มี… กุ๊ยช่ายนั้นแท้จริงเป็นพืชวงศ์เดียวกับหอมและกระเทียม ที่เราเห็นตามตลาดว่าเป็นกุ๊ยช่ายเขียว กุ๊ยช่ายขาว และดอกกุ๊ยช่าย ล้วนเป็นสายพันธุ์เดียวกัน ต่างกันที่วิธีปลูก ส่วนของดอกกุ๊ยช่ายนั้นมีวิตามินเอและเส้นใยอาหารสูงมาก ช่วยบำรุงสายตาและผิวพรรณ ส่วนดอกเขียวอีกดอก เราขอบอกว่า ‘ผักปลัง’ นั้นแสนอร่อย! คนเหนือนิยมนำไปแกงใส่ปลาย่าง ดอกมีรสหวาน เคี้ยวกรุบ มีเมือกเหนียวนิดๆ เป็นยาระบายอ่อนๆ ส่วนเขียวสุดท้ายเราขอยกให้ ‘ชมจันทร์’ ดอกชื่อเพราะ รสติดขมเล็กๆ มีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อนๆ จะปลูกเป็นไม้ประดับก็งาม จะนำมาปรุงเป็นอาหารก็อร่อยไม่แพ้ดอกไหน
สีเหลือง / โสน ดอกกวางตุ้ง ดอกกะหล่ำ ดอกเบญจมาศ
ดอกสีเหลืองสว่างอย่างโสนนั้นอยู่คู่ครัวไทยมานาน เป็นทั้งของหวานอย่างขนมดอกโสน (ดอกโสนนึ่งกับแป้งและน้ำตาลคลุกผสมกับมะพร้าวขูดฝอย) หรือของคาวนานาชนิดไล่มาตั้งแต่แกงส้ม แกงเลียง ไข่เขียวดอกโสน อร่อยและมีวิตามินเอสูงในระดับเดียวกับมะเขือเทศทีเดียวเชียว ส่วน ‘กะหล่ำดอก’ ชื่อก็บอกว่าเป็นส่วนดอกของต้นกะหล่ำ แต่น้อยคนจะรู้ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นพืชท้องถิ่นของฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน แถมมีสรรพคุณลดอาการปวดหัวปวดตัวได้ชะงัดนัก ด้าน ‘ดอกกะหล่ำ’ นั้นหลายคนว่าคล้ายกับ ‘ผักกาดจ้อน’ ที่คนเหนือนำมาดองทำเป็นผักกาดจอ มีรสหวาน กรุบ ต้มหรือผัดก็อร่อย หรือนำไปดองน้ำเกลือก็เก็บไว้กินได้นานแรมปี ส่วนเหลืองสุดท้ายอย่าง ‘เบญจมาศ’ นั้นแท้จริงแล้วกินได้ คนจีนกับคนญี่ปุ่นนิยมนำมาปรุงอาหารกันมาร่วมพันปีแล้ว ไม่ว่าจะชาดอกเบญจมาศหรือนำมาโรยแต่งในจานซูชิก็เข้าที
สีชมพู / พวงชมพู ดอกชงโค บัวหลวง
ดอกไม้สีหวานที่เหมาะกับเทศกาลแห่งความรัก นอกจากดอกกุหลาบแล้วเรายังอยากแนะนำ ‘พวงชมพู’ ไว้ให้เป็นอีกตัวเลือก เพราะนอกจากหน้าตาจุ๋มจิ๋มน่ารัก มันยังกินได้ ผลิดอกตลอดทั้งปี และมีสรรพคุณช่วยให้หลับสบาย ส่วน ‘ชงโค’ หรือที่คนท้องถิ่นภาคอีสานเรียกกันว่า ‘ดอกผักเสี้ยว’ มีทั้งสีชมพูและขาว ส่วนใบนิยมนำมาแกง ส่วนดอกนั้นใช้ชุบแป้งทอด หรือยำก็อร่อย มีสรรพคุณช่วยถอนพิษไข้ได้ดี… ดอกชมพูต่อมาเราขอนำเสนอ ‘บัวหลวง’ แต่ต้องเป็นสายพันธุ์ย่อย ‘บัวแหลม’ เท่านั้นนะถึงจะกินอร่อย มีรสฝาดอมเปรี้ยวนิดๆ เหมาะใช้ในจานยำ แถมช่วยลดอาการอ่อนเพลียได้ด้วย!