ด้วยความเท่าเทียมในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ทำให้ทุกวันนี้มีเพลงท้องถิ่นที่ฮิตในแดนของตนจนสร้างยอดวิวทะลุร้อยล้าน และส่งเสียงดังมาถึงกลางเมือง เกิดเป็นปรากฏการณ์ป่าล้อมเมืองให้เห็นอยู่เป็นระยะ ในช่วงเวลาไม่กี่ปีนี้ก็เช่น ‘ผู้สาวขาเลาะ’ ของ ลำไย ไหทองคำ, ‘คำแพง’ ของ แซ็ค ชุมแพ และ ‘เต่างอย’ ของ จินตหรา พูนลาภ อีกเพลงหนึ่งที่ฮิตติดลมในภาคอีสานคือ ‘ห่อหมกฮวกไปฝากป้า’ ของ ลำเพลิน วงศกร กับ เต๊ะ ตระกูลตอ ที่มาพร้อมจังหวะสนุกสนานและเนื้อเพลงสะดุดหู ว่าด้วยหนุ่มน้อยกับภารกิจเอาห่อหมกฮวกไปให้ป้า ไม่มีอะไรลึกซึ้งไปมากกว่าการเอาอาหารพื้นบ้านหากินยากไปฝากญาติผู้ใหญ่ แต่หารู้ไม่ บางทีอาหารที่ว่ามันก็ส่อความหมายที่วัยรุ่นกรี๊ดกร๊าดกันก็เป็นได้
‘ห่อหมกฮวก’ ก็คือห่อหมกลูกอ๊อด ซึ่งในภาคอีสานหากินได้เฉพาะช่วงหน้าฝนเท่านั้น และต้องอยู่ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์มากพอให้กบมาวางไข่ ดังนั้นการจะหาฮวกมาในปริมาณที่จะสามารถทำอาหารสักเมนูจนเผื่อแผ่กันได้ทั้งบ้านตัวเองและข้างเคียงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เนื้อเพลงที่คุณแม่ใช้ลูกชายเอาห่อหมกฮวกไปฝากป้าสะท้อนให้เห็นสังคมชนบทที่พร้อมจะแบ่งปันของกินดีๆ ให้คนที่รัก แต่เรื่องมันไม่จบเท่านี้สิ เพราะเจ้าลูกชายต้องผจญทั้งฟ้าฝนกระหน่ำ มอเตอร์ไซค์คันเก่า ป้าก็ไม่อยู่บ้าน หมาก็เห่าไล่ รถก็พัง หำก็เปียก!
ความสนุกของเพลงนี้นอกจากเนื้อหาที่ว่าด้วยอาหารพื้นบ้านอีสานหากินยากแล้ว มันยังเต็มไปด้วยศัพท์อีสานที่ออกเสียงด้วย ‘ห’ และ ‘ฮ’ ทั้งเพลง แล้วเอามาร้อยเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต ซึ่งกุญแจสำคัญอยู่ตรงท่อนที่ว่า “ฮาดหัวไหลมาฮอดหำ ฝนตกฮำเฮาเปียกฮอดหมกฮวก” ที่แปลเป็นภาษากลางได้ประมาณว่า “ไหลอาบลงมาตั้งแต่หัวจรดหำ ฝนตกพรำๆ เปียกยันหมกฮวก” ด้วยความดิ้นได้ของภาษา มันจึงเป็นที่รู้กันของชาวอีสานได้อีกนัยหนึ่ง …ซึ่ง ‘หมกฮวก’ ในที่นี้อาจไม่ได้หมายถึงเมนูพื้นบ้านอย่างเดียว แต่สื่อได้ถึง ‘หำเปียก’ ก็ได้
นี่จึงเป็นความเหนือชั้นของเพลง ‘ห่อหมกฮวกไปฝากป้า’ และคนแต่งอย่าง เต๊ะ ตระกูลตอ หนึ่งในนักร้องนั่นเอง ที่นอกจากจะนำเสนอดนตรีพื้นบ้านแล้ว ยังสามารถสะท้อนวิถีชีวิตท้องถิ่นอีสาน ความรุ่มรวยทางภาษา และช่องโหว่ทางภาษาในการนำเสนอความทะลึ่งตึงตังนิดๆ โดยที่ยังสามารถนำไปร้องเล่นบนสื่อกระแสหลักได้อย่างปลอดภัย
ถ้าจะเทียบกันให้เห็นชัดขึ้น เราขอยกตัวอย่างเพลง ‘จี่หอย’ อีกหนึ่งเพลงฮิตจังหวะโจ๊ะๆ ของ พี สะเดิด ที่จะว่าไปมันก็พูดถึงวิถีชาวอีสานในการกำราบหอยที่มากัดกินต้นข้าวในนามาจี่เป็นอาหารแกล้มเหล้า แดดดีฟ้าใสชวนพรรคพวกมากินจี่หอยร่วมกันดีกว่า แต่ในขณะเดียวกัน หากลองอุปมาหอยว่าไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นอวัยวะหนึ่งของมนุษย์ มันก็มีหลายท่อนที่ส่อไปในเรื่องเพศพอให้ชวนคิดลึก จี๊กจี้นิดๆ ด้วยเช่นกัน เมื่อส่วนหนึ่งของเนื้อหาบอกว่าหอยเหล่านั้นจัดเตรียมไว้ให้โดยสาวๆ คนงามนั่นเอง
หลายคนอาจจะบอกว่าผู้เขียนเป็นคนลามก คิดสกปรกไปเอง จะว่าอย่างนั้นคงไม่ผิด แต่ก็ต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า วัฒนธรรมความบันเทิงพื้นบ้านของไทยนั้นมักสอดแทรกเนื้อหาใต้สะดือทั้งแบบโจ่งแจ้งและอ้อมค้อมเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นเพลงลูกทุ่ง ลำตัด ลิเก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหมอลำ ที่มีมุกทำนองนี้หลายตับเรียกเสียงฮาจากผู้ชมจนไม่มีเวลาให้หาวยันซอดแจ้งกันเลยทีเดียว
นี่นับว่าเป็นช่องโหว่ทางภาษาและวัฒนธรรมของบ้านเรา ที่มีความแตกต่างหลากหลายในแต่ละจังหวัด โดยไม่ใช่แค่ศัพท์เฉพาะ แต่ต่างก็มีไวยกรณ์เฉพาะตัว และมันก็ไม่ได้รับการสนับสนุนให้เรียนรู้อย่างทั่วถึงตามหลักสูตรการศึกษา ช่องว่างตรงนี้เองที่เปิดโอกาสให้เกิดความบันเทิงในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของตัวเองโดยที่ส่วนกลางไม่ทันได้สังเกต อาทิ หนังเรื่อง ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’ ที่พูดอีสานกันไฟแลบ ยังคงมีบทพูดหลายประโยคในนั้นที่สื่อถึงเรื่องทางเพศแบบตรงไปตรงมาและหนักหน่วง แต่ก็อาศัยช่องว่างทางภาษาในการแปลบทบรรยายภาษากลางให้นุ่มนวลลงได้ หรือเพลง ‘สี่คน’ ที่ประกอบหนังเรื่อง ‘แหยมยโสธร 3’ ซึ่งคำว่า ‘สี่’ อาจหมายถึงจำนวนคนก็ได้ หรือถ้าเว้าอีสานโลด ‘สี่’ อาจหมายถึง ‘การร่วมเพศ’ เลยก็ฮาไม่น้อย
ในความเป็นจริง ผู้แต่ง ‘หมกฮวกไปฝากป้า’ และเพลงอื่นๆ ที่ยกตัวอย่าง อาจไม่ได้คิดอะไรเกินเลยไปกว่าบรรทัดฐานทางภาษาที่ปรากฏอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็นับเป็นการเล่นเจ้าล่อเอาเถิดกับช่องว่างระหว่างบรรทัดให้ผู้รับสารตีความกันเอาเอง เพื่ออรรถรสในการเสพความบันเทิงให้บันเทิงยิ่งขึ้น ซึ่งคงดีไม่น้อยหากความหลากหลายทางภาษาที่มีอยู่จริงในสังคมไทย จะได้รับการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เพื่อความเท่าทันและเท่าเทียม อย่างน้อยก็เพื่อความบันเทิงที่จะสามารถซึมซับได้ทั่วถึงกันในสักวันหนึ่ง ‘หมกฮวก’ ในการรับรู้ของทุกคนจะได้เป็นอะไรที่ไกลกว่า ‘หมกลูกอ๊อด’ อย่างที่เป็นอยู่