สูตรลัดจำง่าย น้ำผักผลไม้ดีไซน์เองได้ ต้านโควิด-19

2,595 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
น้ำผักผลไม้ปั่น ทางเลือกกินผักผลไม้ให้เพียงพอต่อวัน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

สถานการณ์โรคโควิด-19 ในปัจจุบันจัดว่ามีแนวโน้มร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ การเตรียมพร้อมร่างกายให้แข็งแรง มีภูมิต้านทานที่ดีจึงเปรียบเสมือนสร้างเกราะป้องกันให้ตัวเอง การออกกำลังกายเป็นประจำ ทำจิตใจให้แจ่มใส ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะหมวดผักและผลไม้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในผักและผลไม้มีสารสำคัญที่เรียกว่า สารต้านอนุมูลอิสระหรือ สารพฤกษาเคมี (Phytochemicals) ซึ่งเป็นสารที่พบได้ทั่วไปในพืช ช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายแข็งแรงสามารถต่อสู้กับอนุมูลอิสระและเชื้อโรคต่างๆ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจโรคหลอดเลือด มะเร็ง เบาหวาน อัลไซเมอร์ เป็นต้น

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าเราควรกินผักผลไม้ให้ได้ประมาณ 6-8 ส่วน หรือราวๆ 400 กรัม ต่อวันจึงจะดีต่อร่างกาย แต่ถ้าต้องมานั่งกินผักผลไม้เกือบครึ่งกิโลฯ ทุกวันก็คงจะไม่ไหวใช่ไหมล่ะ การหันมาทำน้ำผักผลไม้ปั่นจึงเป็นหนึ่งทางเลือกที่ช่วยทำให้เรากินผักผลไม้ครบโดสง่ายขึ้น แถมการดื่มน้ำผักผลไม้ปั่นไม่เพียงช่วยให้เราได้สารต้านอนุมูลอิสระยังได้รับไฟเบอร์ที่จำเป็นต่อร่างกายและระบบขับถ่ายอีกด้วย

สารสร้างภูมิคุ้มกันในผักผลไม้มีอะไรบ้าง ?

  1. เบต้าแคโรทีน (Betacarotene) : เป็นสารที่ใช้สร้างวิตามินเอ ช่วยต้านการอักเสบและกระตุ้นภูมิคุ้มกัน พบได้ใน ผักผลไม้สีเขียว เช่น ตำลึง คะน้า กวางตุ้ง ผักโขม แตงกวา แอปเปิลเขียว และ ผักผลไม้สีเหลือง-ส้ม เช่น ฟักทอง ส้ม แครอท มะละกอ มะม่วงสุก ข้าวโพด เสาวรส   
  2. แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) : ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและต้านการติดเชื้อไวรัสได้ ทั้งยังเป็นสารที่ช่วยให้วิตามินซีออกกฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้นด้วย ส่วนมากพบใน ผักผลไม้สีม่วง-แดง เช่น ผลไม้ตระกลูเบอร์รี อย่าง สตรอว์เบอร์รี บลูเบอร์รี เชอร์รี ราสป์เบอร์รี่ ลูกหม่อน บีทรูท กะหล่ำปลีม่วง มะเขือเทศ
  3. จินเจอร์รอล (Gingerol) : เป็นสารให้รสเผ็ดร้อน ช่วยลดการอักเสบและยับยั้งเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ พบมากในขิง
  4. เคอร์คิวมิน (Curcumin) : ช่วยลดการอักเสบ มีฤทธิ์ต้านไวรัสก่อโรคและแบคทีเรียได้ พบมากในขมิ้นชัน
  5. อะลิซิน (Allicin) : พบมากในกระเทียม ช่วยต้านการอักเสบ ลดเคอเรสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด ช่วยยับยั้งการเจิรญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย
  6. เคอร์ซีติน (Quercetin) : มีฤทธิ์ต้านไวรัสก่อโรคและแบคทีเรีย ต้านการอักเสบและป้องกันอาการแพ้ พบได้ใน หอมแดง หอมใหญ่ แอปเปิ้ลและพืชตระกลูถั่ว

เลือกผักผลไม้ทำน้ำปั่นอย่างไร?

หลักเกณฑ์ในการเลือกผักผลไม้จริงๆ ขึ้นอยู่กับความชอบและความต้องการของแต่ละคน อยากดื่มแล้วสดชื่นก็ใส่ผลไม้เยอะ วันไหนอยากเพิ่มไฟเบอร์ก็ใส่ผักใบเยอะหน่อย หรือถ้าอยากกินเป็นยาก็ใส่สมุนไพรลงไป ผักผลไม้รสหวาน ฉุน เผ็ดจะให้ฤทธิ์ร้อน ส่วนผักผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว จืด ขม จะให้ฤทธิ์เย็นแก่ร่างกาย ซึ่งเราจะขอแบ่งผักผลไม้ที่ใช้ทำน้ำปั่นออกเป็น 3 กลุ่ม ให้เข้าใจกันง่ายๆ ดังนี้

กลุ่มผักผลไม้ที่เป็น Base กลุ่มนี้นอกจากจะช่วยทำให้น้ำปั่นอร่อยขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มเนื้อในน้ำปั่นให้ข้นเนียนขึ้นด้วย ส่วนใหญ่เป็นผักผลไม้ที่มีน้ำและเนื้อเยอะ ช่วยเสริมรสชาติและเข้ากันได้ดีกับผักผลไม้ชนิดอื่น ได้แก่ แอปเปิ้ล แครอท มะเขือเทศ ส้ม บีทรูท สับปะรด

กลุ่มผักผลไม้ที่เป็นตัวหลัก ขึ้นอยู่กับความต้องการว่าแก้วนี้อยากใช้ผักผลไม้ชนิดใดเป็นหลัก ได้แก่ผักใบต่างๆ เช่น ผักโขม เซเลอรี ขึ้นฉ่าย คะน้า กวางตุ้ง ผักสลัด ผักเนื้อแข็ง เช่น แตงกวา บรอกโคลี กะหล่ำปลี รวมทั้ง ผลไม้ต่างๆ เช่น สตรอว์เบอร์รี แคนตาลูป มะม่วง กล้วย

กลุ่มผักและสมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยา เป็นกลุ่มพืชผักสมุนไพร ช่วยต้านโรคและกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่น ขิง ข่า กระเทียม ขมิ้นชัน กระชาย สะระแหน่ โหระพา กะเพรา รวมทั้งพืชสมุนไพรต่างๆ

วิธีการล้างและเก็บ

หัวใจที่สำคัญอีกอย่างในการทำน้ำผักผลไม้คือ ‘การล้าง’ ควรล้างเอาดินที่ติดมาออกให้หมดก่อน จากนั้นแช่ผักผลไม้ในน้ำที่ผสมเบกกิ้งโซดาหรือน้ำส้มสายชู โดยใช้ เบกกิ้งโซดา 1/2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตร  หรือ น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15-20 นาทีเพื่อเป็นการล้างเอาสิ่งสกปรกและสารเคมีออก ล้างด้วยน้ำให้สะอาดอีกรอบ พักไว้ให้แห้งสนิท เก็บใส่กล่องหรือถุงซิปล็อคเป็น portion แช่ไว้ในตู้เย็น หรือหั่นเป็นชิ้นๆ แบ่งเก็บไว้ได้ แต่ไม่ควรเก็บนานเกิน 2 วัน

ผักใบหรือผักที่แกะเป็นกลีบๆ ได้ เช่น คะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำปลี ให้ตัดส่วนที่ไม่กินหรือส่วนที่เสียทิ้งไปแล้วคลี่ออกเป็นใบๆ ก่อนแช่น้ำ ผักผลไม้เนื้อแข็ง เช่น มะเขือเทศ แตงกวา แอปเปิล ให้แช่น้ำได้เลยหรือล้างผ่านน้ำไหลนาน 1-2 นาที ส่วน ผลไม้เนื้ออ่อน เช่น สตรอว์เบอร์รี องุ่นและตระกลูเบอร์รีต่างๆ เมื่อจะใช้ค่อยนำมาล้างผ่านน้ำ แล้วซับให้แห้ง เพียงแค่นี้เราก็จะได้ผักผลไม้ที่สด สะอาดและปลอดภัย พร้อมนำไปทำน้ำปั่นแล้ว

เนรมิตน้ำปั่นง่ายๆ ใน 3 ขั้นตอน!

  1. ใส่ผักผลไม้เนื้อแข็งปั่นยากลงในโถปั่นก่อน ช่วยทำให้ปั่นละเอียดมากขึ้น
  2. ใส่ผักผลไม้ที่เป็น Base ช่วยเพิ่มเนื้อเนียนและความอร่อยให้น้ำปั่น
  3. ปิดท้ายด้วยผักใบหรือผลไม้เนื้ออ่อน

(ใส่ธัญพืชหรือของเหลว เช่น น้ำ นม น้ำผลไม้ น้ำมะพร้าว โยเกิร์ต / แต่งรสชาติด้วยน้ำเชื่อมหรือน้ำผึ้งได้)

ดูแล้วการนำผักผลไม้มาปั่นๆ รวมกันก็เหมือนจะง่ายอยู่นะ… แต่จะหยิบผักผลไม้อะไรมาปั่นดีละ แล้วต้องใส่เยอะแค่ไหนถึงจะอร่อย ถ้าใครยังไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มยังไงดี เรามีสูตรลัดจำง่ายมาบอก แล้วยังแถมสูตรน้ำผักผลไม้ปั่นอีก 3 สูตร ให้ไปลองทำที่บ้านกัน

หมายเหตุ: กลุ่มผักผลไม้ที่เป็น Base (2 ส่วน) + กลุ่มผักผลไม้ที่เป็นตัวหลัก (1 ส่วน) + กลุ่มที่มีฤทธิ์เป็นยา (¼ ส่วน) หากรสชาติยังไม่อร่อยให้เติมกลุ่มผักผลไม้ที่เป็น Base เข้าไปอีก 1 ส่วน

อ่านบทความเพิ่มเติม 

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS