ในสภาวะที่ข้าวหนึ่งกล่อง อาหารหนึ่งมื้อช่วยให้คนที่กำลังลำบากได้อิ่มท้องและมีกำลังใจ หลายคนจึงอยากแบ่งปันอาหาร ทั้งสั่งทำข้าวกล่องไปบริจาคหรือร่วมสมทบทุนให้โรงครัวที่จัดตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อปรุงอาหารแจกจ่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด สำหรับคนที่มีทั้งแรงกาย แรงใจ ทำอาหารเป็นอยู่บ้างแล้วเกิดอยากปรุงอาหารเพื่อแบ่งปันขึ้นมา การเดินดุ่มๆ หอบความตั้งใจไปพร้อมอาหารกล่องที่ปรุงมาอย่างดี คัดสรรวัตถุดิบมาอย่างดี อยากให้คนได้รับกินอร่อยโดยไม่มีข้อมูลรองรับ ในบางครั้งอาหารอาจเหลือทิ้ง เน่าเสีย เพราะการช่วยเหลือแบบรถไฟชนกัน ไปกระจุกตัวในที่ที่หนึ่ง
KRUA.CO สนับสนุนความตั้งใจของคนที่จะลุกขึ้นมาทำข้าวกล่องเพื่อแบ่งปันกันในยามนี้นะคะ และครั้งนี้ที่เราตั้งใจทำข้าวกล่องไปแบ่งปันคนไร้บ้าน จึงรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ติดต่อมอบข้าวกล่อง คำนวณวัตถุดิบให้พอดี แพคอาหารส่งถึงมือ มาแชร์ให้คนที่กำลังอยากทำข้าวกล่อง หรือมีใจจะทำแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงค่ะ
สำรวจความต้องการ เป็นการตั้งต้นทำข้าวกล่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดมีตั้งแต่ผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน คนที่ต้องกักตัวเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดภายใน หรือคนตกงาน ทำมาค้าขายไม่ได้ทำให้ขาดรายได้ ด่านหน้าอย่างหมอพยาบาลที่ต้องรับมือกับคนไข้จำนวนมหาศาลจนแทบจะไม่มีเวลากินดีนอนดี แคมป์คนงานที่โดนสั่งปิด ไปจนถึงกลุ่มเปราะบางที่ในเวลาปกติก็แทบจะไม่ได้รับการเหลียวแลอยู่แล้วอย่างคนไร้บ้าน ล้วนมีความต้องการที่แตกต่างกันในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ โดยพิจารณาจากสิ่งเหล่านี้
- รู้บริบทแวดล้อม และความต้องการของกลุ่มคนที่เราจะนำข้าวกล่องไปมอบ: เริ่มจากหาข้อมูลคร่าวๆ ก่อนว่าที่ไหนต้องการรับความช่วยเหลือเป็นข้าวกล่องบ้าง เพราะไม่ใช่ทุกที่ที่เปิดรับข้าวกล่องนะคะ จากนั้นสอบถามความต้องการโดยตรงไปยังกลุ่มคนที่เราจะนำข้าวกล่องไปมอบเรื่องจำนวนความต้องการ วัยและศาสนาของผู้รับ มื้ออาหารเป็นเช้า เที่ยง หรือเย็น เช่น หากเป็นแพทย์ พยาบาล มื้อเช้าที่เร่งรีบอาจเป็นอะไรที่กินได้ง่าย เร็ว หรือในหนึ่งชุมชนอาจมีความหลากหลายทั้งศาสนาและวัย เหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลในการเลือกเมนูอาหารให้เหมาะสมด้วย
- นัดแนะวัน เวลา: สถานที่ที่เปิดรับบริจาคข้าวกล่องหลายที่มีการประชาสัมพันธ์จนคนรับรู้ทั่วถึง ย่อมมีความช่วยเหลือแวะเวียนมาไม่ขาดสาย เพื่อไม่ให้ความช่วยเหลือกระจุกตัวอยู่ในวันใดวันหนึ่งจนข้าวกล่องล้นเกินความต้องการ จึงควรนัดวันเวลาให้ชัดเจน หากเราเองตั้งธงไว้ในใจแล้วว่า ฉันว่างวันนี้เท่านั้น ก็ให้รีบติดต่อแจ้งวันที่เราสะดวกไว้แต่เนิ่นๆ ท้ายที่สุดถ้าไม่ได้จริงๆ ก็เปลี่ยนที่มอบข้าวกล่องได้ค่ะ ดีกว่าดึงดันเอาไปให้แล้วอาจเหลือทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ เพราะยังมีคนต้องการข้าวกล่องอยู่อีกมาก
เลือกเมนูให้เหมาะสม เมื่อสำรวจความต้องการเบื้องต้น นัดแนะวันและเวลาเรียบร้อยแล้ว ก็เลือกเมนูอิงจากข้อมูลที่เราสำรวจมาประมวลกับปัจจัยต่างๆ ให้ได้เมนูที่เหมาะสม โดย KRUA.CO ติดต่อมอบข้าวกล่องเป็นมื้อกลางวัน ผ่านมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ที่ดูแลกลุ่มเปราะบางทั้งคนไร้บ้าน เด็กด้อยโอกาส ลูกหลานและครอบครัวแรงงานต่างด้าวที่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ จำนวน 100 กล่อง ซึ่งทางมูลนิธิจะลงพื้นที่ไปแจกจ่าย พร้อมกับข้าวสารอาหารแห้งที่มูลนิธิได้รับการสนับสนุน ด้วยความที่มีเด็กอยู่มากเราจึงเลือกเมนู ‘ไก่ผัดกระเทียมกับไข่ดาว’ เพราะรสไม่จัดจ้าน กินได้ทุกเพศทุกวัย คนที่นับถือศาสนาอิสลามก็กินได้ สิ่งที่ควรพิจารณาในการทำข้าวกล่องบริจาคนอกจากเป็นเมนูที่ทุกคนกลุ่มวัยกินได้ คือ
- ไม่มีส่วนผสมที่ทำให้อาหารบูดเสียง่าย เช่น แกงใส่กะทิ
- เลือกเมนูที่ปรุงง่าย ขั้นตอนไม่ซับซ้อนเกินไป เพื่อไม่ให้เสียเวลาไปกับการปรุงมากจนอาจทำไม่ทัน
- กินง่าย สะดวก ไม่เลอะเทอะ เลือกเป็นเมนูแห้งแทนเมนูน้ำอย่างก๋วยเตี๋ยวน้ำ ที่ต้องแยกน้ำ แยกเส้น แยกเครื่องปรุง ทำให้ไม่สะดวกในการกิน
- หากเป็นอาหารที่มีน้ำจิ้ม ควรมีช่องแบ่งหรือถ้วยพลาสติกเล็กแยกเป็นสัดส่วน
- ผักสด ผักแนม แยกเป็นสัดส่วนจากข้าวและกับ เช่น แตงกวากินเคียง ไม่ควรโปะไปบนอาหาร อาจทำให้เกิดการเน่าเสีย ด้วยสภาพอากาศและระยะเวลาที่ต้องเก็บข้าวกล่อง ในกรณีที่อาจไม่ได้กินทันทีในมื้อนั้น
หมายเหตุ: หากไม่ทราบบริบทที่ละเอียดนัก รู้เพียงจำนวน ให้เลือกเมนูกลางๆ ไว้ค่ะ กลางทั้งรสชาติไม่เผ็ดจัดจ้านกินได้ทุกวัย เนื้อสัตว์เลือกเป็นปลา ไก่ กินได้ทุกศาสนา
คำนวณวัตถุดิบ
การทำข้าวกล่องเพื่อบริจาคในปริมาณมาก แม้จะเป็นเมนูง่ายๆ แต่เรื่องการคำนวณวัตถุดิบที่ต้องบวก ลบ คูณ หาร ให้เพียงพอต่อจำนวนที่ต้องทำ ไม่ให้ขาดจนต้องวิ่งหาซื้อให้เสียเวลา หรือมากเกินความจำเป็นจนเหลือทิ้ง จนถึงการกะปริมาณเครื่องปรุงให้ได้รสชาติกลมกล่อมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ไม่เคยทำอาหารในปริมาณมาก ทีมอาหารของครัวแนะนำให้ลองปรุงเมนูที่เราเลือกใน portion สำหรับกินหนึ่งคน และชั่งตวงทุกอย่างเอาไว้
ข้าวไก่กระเทียม 1 จาน ใช้เนื้อสะโพกไก่หั่นชิ้น 150 กรัม
หากต้องทำ 100 กล่อง ต้องใช้เนื้อสะโพกไก่หั่นชิ้น = 150 x 100 =150,00 กรัม
สรุปแล้วต้องใช้เนื้อสะโพกไก่ 15 กิโลกรัม
วัตถุดิบอื่นๆ ก็ใช้วิธีเช่นนี้ เว้นแต่เครื่องปรุงอาจมีเพิ่มรส ให้ใช้วิธีค่อยๆ ปรุง ค่อยๆ ชิม อย่าหนักมือตั้งแต่ต้นนะคะ เพราะถ้ารสอ่อนไปก็ปรุงเพิ่มได้ แต่ถ้ารสจัดเกินจะแก้ไขลำบาก
การหุงข้าวปริมาณมาก
นอกจากกับข้าว การหุงข้าวในปริมาณมากก็ต้องอาศัยประสบการณพอสมควร เพราะอาจได้ข้าวดิบบ้าง แฉะบ้าง สุกไม่ทั่วถึง หลักเกณฑ์ที่เอาไปใช้ได้ง่ายๆ ให้ใช้ข้าวสาร 1 ส่วน ต่อน้ำ 1.5 ส่วนและเพื่อความสะดวกแนะนำให้หยิบยืมหาหม้อใบใหญ่มาใช้ในการหุงข้าวนะคะ
สำหรับข้าว 100 กล่อง เราใช้ข้าวสารประมาณ 6.7 กิโลกรัม หุงในหม้อข้าวขนาด 10 ลิตร 2 หม้อ แบ่งหุงหม้อละ 3.35 กิโลกรัม นำข้าวไปซาวน้ำให้สะอาดสัก 2 รอบ พักให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำลงหม้อหุง ข้าวสาร 3.35 กิโลกรัม ใช้น้ำประมาณ 4 .5 ลิตร (หากเป็นข้าวหอมมะลิ ข้าวใหม่ที่อาจจะมียางข้าวอยู่มาก ให้ลดน้ำลงเหลือสัก 4 ลิตร) หุงได้สักพัก ลองเปิดดูถ้ารู้สึกว่าข้าวแข็งไปก็เติมน้ำเพิ่มได้ค่ะ สัก 15-20 นาที ก็นำทัพพีมาเกลี่ย คดข้าว พลิกขึ้นมา เกลี่ยให้ร่วนทั่วทั้งหม้อเพื่อกระจายความร้อนให้ทั่วถึง ปิดฝาหุงต่อจนครบเวลาจะได้ข้าวนุ่ม สุกทั่วทั้งหม้อ
ไก่ผัดกระเทียม (สำหรับ 100 กล่อง)
สะโพกไก่เราะกระดูกหั่นชิ้นพอคำ 15 กิโล
น้ำมันหอย 875 กรัม
ซีอิ๊วขาว 875 กรัม
น้ำตาลทราย 525 กรัม
น้ำมันพืช 2000 กรัม
กระเทียมกลีบใหญ่สับ 400 กรัม
กระเทียม เจียว 200 กรัม
พริกไทยขาวป่น 100 กรัม
ข้าวสวยสำหรับจัดเสิร์ฟ 20 กิโลกรัม
(ใช้ข้าวสาร 6.7 กิโลกรัม หุงสุกจะได้ข้าวสวยประมาณ 20 กิโลกรัม)
ไข่ดาว 100 ฟอง
แตงล้านหั่นชิ้น 7 กิโลกรัม
เตรียมเนื้อไก่ส่วนสะโพก โดยเราะกระดูกออก หั่นเป็นชิ้นพอคำ ใส่อ่างผสมใบใหญ่ เตรียมน้ำหมักไก่ โดยผสม น้ำมันหอย ซีอิ๊วขาวและน้ำตาลทราย คนให้เข้ากันจนน้ำตาลละลาย เทน้ำหมักลงในอ่างผสมเนื้อไก่ คลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ 10-15 นาที ตั้งกระทะใบใหญ่ใส่น้ำมันและกระเทียมลงเจียวจนหอม ใส่เนื้อไก่หมักลงผัด (ถ้ารู้สึกว่าตอนผัดเยอะไป แบ่งผัดทีละครึ่งได้) ที่สำคัญเลยการทำอาหารปริมาณมากๆ คือความแรงของไฟต้องแรง อาหารของเราจะอร่อยไม่แฉะ ผัดไก่กระเทียมให้เข้ากันจนสุก โรยด้วยพริกไทยให้ทั่ว ผัดจนสุก ชิมรสสักหน่อย ตักขึ้นใส่ถาดใบใหญ่ รอให้คลายความร้อนนิดหน่อยแล้วบรรจุลงถุง
คำนึงถึงความสะอาดทุกขั้นตอน
การปรุงอาหารนอกจากเรื่องความสะอาดล้างวัตถุดิบ อุปกรณ์ต่างๆ ที่คนทำอาหารต้องใส่ใจเป็นปกติอยู่แล้ว การเว้นระยะห่าง ใส่ถุงมือทุกขั้นตอน พร้อมทั้งใส่หน้ากากอนามัยตลอดการปรุงอาหารจนส่งมอบนั้นเป็นอีกสิ่งที่จำเป็นมากๆ ในสถานการณ์แบบนี้ และควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของทุกคนที่มาช่วยกันทำอาหาร และคนที่ได้รับข้าวกล่องไปจากเรานะคะ
จัดสรรเวลา ปรุง แพค จัดส่ง
ควรวางแผนจัดสรรเวลาให้ดีทั้งก่อนปรุงและเริ่มปรุง เพราะวัตถุดิบบางอย่างสามารถซื้อเก็บเตรียมไว้ล่วงหน้าได้อย่างทีมงานครัวทำข้าวไก่กระเทียมก็เตรียมปอกกระเทียมไว้ล่วงหน้าก่อนวันปรุง และซื้อแตงกวา ไข่ไว้พร้อม ตอนเช้าก็ซื้อเพียงไก่สด แล้วเริ่มลงมือแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชัดเจน จำนวนคนทำก็มีผลกับการกะเกณฑ์เวลาด้วยเหมือนกัน ทีมครัวมีอยู่ 6 คน เริ่มทำตั้งแต่ 7 โมงเช้า แบ่งหน้าที่เป็นคนตอกและทอดไข่ดาว หั่นผัก หั่นเนื้อ ผัดปรุง ใครทำหน้าที่ตัวเองเสร็จก็เวียนไปช่วยอีกฝ่าย
เมื่อข้าวสุก ไก่กระเทียมพร้อม ไข่ดาวพร้อมเสร็จสรรพรอให้ทุกอย่างคลายความร้อนสักนิดก็จัดแจงแพคลงกล่อง กล่องข้าวมีให้เลือกหลายแบบค่ะ ทั้งกล่องพลาสติกแข็ง กล่องโฟม กล่องกระดาษจากวัสดุรักษ์โลก เราเลือกใช้กล่องกระดาษรีไซเคิลที่ย่อยสลายได้ แต่ก็ต้องกัดฟันใช้ถุงร้อนใส่ข้าวไก่กระเทียมพับถุงแยกต่างหากเพราะมีน้ำขลุกขลิกกันเลอะเปรอะเปื้อน แตงร้านหั่นชิ้นใส่ถุงแยกต่างหากกันบูดเสีย เพราะผู้รับไปอาจกินเป็นมื้อเที่ยงทันทีหรือเก็บไว้เป็นมื้อเย็นค่ะ
เสร็จสิ้นในเวลา 11:00 น. พร้อมจัดส่งให้มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ในวันนั้นข้าวกล่องของเราถึงมือคนไร้บ้าน เด็ก ครอบครัวในแคมป์คนงานต่างด้าว พร้อมกับข้าวสารอาหารแห้งที่มูลนิธินำไปมอบให้ หนึ่งอิ่มเล็กๆ นี้นับเป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่เราชาวครัวตั้งใจส่งให้ค่ะ
อ่านบทความเพิ่มเติม
- กินอาหารอย่างไร เมื่อต้อง Home Isolation
- รวมช่องทาง ‘แบ่งปันอาหาร’ ข้าวหนึ่งมื้อก็ต่อชีวิตได้
- ฟ้าทะลายโจร ปราบ Covid-19 จริง หรือ หลอก??