ขนมปังปี๊บ รสชาติที่ผูกพันในทุกช่วงเวลา

9,906 VIEWS
PIN

image alternate text
วันวานของขนมปังปี๊บและความเป็นไปในปัจจุบัน

ช่วงสิ้นปี สำหรับคนทำงานถือเป็นช่วงเวลาที่มีไฟขยันขันแข็งเคลียร์งาน เพื่อใช้สมองอันปลอดโปร่งไปกับวันหยุดยาว เสพบรรยากาศ festive เป็นเวลาแห่งความสุขและเต็มไปด้วยบรรยากาศของการแบ่งปัน มอบของขวัญ จับฉลากแลกของขวัญ พลันให้ฉันนึกถึง ‘ขนมปังปี๊บ’ ขึ้นมา 

นานแล้วที่ไม่ค่อยเห็นคนซื้อขนมปังปี๊บมาจับฉลากของขวัญ

ในวัยเด็กจำได้ว่า นอกจากคุกกี้กล่องแดง กล่องน้ำเงิน ปีโป้ ขนมปังปี๊บก็เป็นของขวัญในหมวดขนมยอดนิยม และดูเหมือนเป็นรางวัลใหญ่ ด้วยขนาดปี๊บที่ดูมหึมาในสายตาเด็กตัวเล็กๆ แต่ถึงจะชอบกินขนมแค่ไหน ฉันในวัยเด็กก็ภาวนาให้จับได้อย่างอื่น ของเล่น ตุ๊กตา หรืออะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ขนมปี๊บ เพราะที่บ้านจะมีขนมปี๊บไส้สับปะรดเป็นของโปรดของพ่อและตาติดบ้านไว้ให้เราหยิบกินได้ตลอด

พอโตขึ้นมาหน่อย ขนมปังปี๊บก็โผล่มาในงานกีฬาสี เป็นรางวัลแห่งชัยชนะที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อ เพื่อแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันของคนในทีม แต่กลายเป็นศึกระหว่างสี ที่ต้องฟาดฟัน โดยมีขนมปังปี๊บเป็นเดิมพัน จนหลายคนพูดติดตลกว่า ไอ้ขนมปังปี๊บนี่น่าจะเป็นขนมแห่งความแตกแยกเสียมากกว่า 

ขนมปังกรอบรูปดอกไม้ไส้สับปะรด ขาไก่ ขนมปัง ABC คุกกี้ครีม เวเฟอร์สติ๊กหลากสีหรือที่ใครๆ พากันเรียกว่าโอโจ้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของขนมปังปี๊บที่แทบจะอยู่ในทุกช่วงเวลาของใครหลายๆ คน ทั้งวันเด็ก วันปีใหม่ งานกีฬาสีโรงเรียน มหาวิทยาลัย จนถึงของขวัญของฝากในวาระต่างๆ จึงชวนทุกคนมารำลึกความหลังและดูความเป็นไปของ ‘ขนมปี๊บ’ ในปัจจุบัน 

ขนมปังปี๊บมาจากไหน 

ขนมบรรจุปี๊บหรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘ขนมปังปี๊บ’ ‘ขนมปี๊บ’ สันนิษฐานว่า ไทยเราได้รับอิทธิพลมาจากบรรดาทหารต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานทัพในไทย ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และนำการกินขนมปังกรอบเข้ามาด้วย แม้ว่าไทยจะรู้จักแป้งสาลีซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของขนมปังมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ยังเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้าจึงมีราคาแพง และกินกันเฉพาะเจ้าขุนมูลนายในวาระพิเศษ ขนมปังกรอบที่เหล่าบรรดาทหารต่างชาติกินจึงเป็นสินค้าที่นำเข้ามาเช่นกัน 

จนเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับการกินเค้ก ขนมปัง แต่ร้านรวงก็ยังมีไม่มาก กระทั่งถึงสมัยสงครามเวียดนาม ไทยเป็นที่ตั้งฐานทัพของทหารต่างชาติอีกครั้ง ช่วงนี้เองที่เกิดโรงงานโม่แป้งสาลีขึ้นแห่งแรกในไทย ทำให้ร้านเบเกอรีเริ่มมากขึ้น พร้อมกับการผลิตขนมปังกรอบบรรจุปี๊บแห่งแรกในไทยของบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ที่ชื่อว่า ‘คงหงวน’ ก่อนที่จะเกิดโรงงานผลิตขนมปังปี๊บสัญชาติไทยตามมา 

รสชาติและรูปทรงหลากร้อยแบบ ความวาไรตี้ที่ต้องบรรจุปี๊บ 

พูดถึงความหลากหลายของขนมปังปี๊บ ในหัวฉันก็วนเวียนอยู่ไม่กี่อย่างตามที่กล่าวไป จนเมื่อไปเดินตลาดไทที่เป็นตลาดค้าส่งของกินทุกชนิด ซอกแซกจนมาเจอขนมปี๊บตั้งเรียงรายให้เลือกที่โซนตลาดขนม และพบกับพี่นัท เจ้าของร้านเจ๊กีขายส่ง-ขายปลีกขนมปี๊บอยู่ภายในตลาด กำลังหยิบขนมจากปี๊บบรรจุลงถุงเล็กๆ แบ่งขาย 

พี่นัทว่าลำพังในร้านแบ่งยิบย่อยนับคร่าวๆ ก็กว่า 60 ชนิด แต่แบ่งหลักๆ ได้เป็นคุกกี้ คุกกี้สอดไส้ครีม รวมมิตรคุกกี้ ขนมปังกรอบ ขนมปังกรอบสอดไส้กะทิสับปะรด ขนมปัง ABC เวเฟอร์แท่งหรือขนมโอโจ้ เวเฟอร์แผ่น เวเฟอร์เต๋า ขาไก่เค็ม ขาไก่หวาน ไปจนถึงขนมปังปี๊บหน้าไม่คุ้นอย่างขนมอบกรอบรูปปู หมีช็อกโก้ที่ไม่คุ้นว่ามันมีสิ่งนี้บรรจุปี๊บขาย แต่เห็นแล้วก็พาลนึกถึงขนมสอดไส้ช็อกโกหน้าตาเป็นโคอะลาที่คุ้นเคยอยู่ เลยพอจะเดารสได้ และขนมหัวจุกสีๆ ที่พี่นัทรวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าเจ้าอื่นๆ ในตลาดต่างพากันเรียกว่า ‘เม็ดพลอย’

‘ขนมเม็ดพลอย’ เป็นชื่อที่เพิ่งเคยได้ยินเพราะฉันและเพื่อนอีกหลายคนก็เรียกว่าขนมหัวจุกมาตลอด ความน่าสนใจคือขนมเม็ดพลอยนี้มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ชื่อว่า Iced Gem Biscuits ก่อนขยายความนิยมมายังสิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ไทย ออสเตรเลีย ฯลฯ​ เราจึงเห็นขนมนี้ได้ในหลายประเทศ ตัวขนมปังกรอบท็อปด้วยน้ำตาลหวานๆ บางประเทศอาจเติมรสและกลิ่นผลไม้เปรี้ยวๆ เข้าไปด้วย รวมทั้งสีสันที่ทางฝั่งเอเชียจะเน้นสีสดๆ ส่วนบ้านเกิดของขนมเม็ดพลอยที่ประเทศอังกฤษจะเป็นสีหวานพาสเทล

แล้วทำไมต้องใส่ปี๊บ? 

แน่นอนว่าเราเรียกขนมปังปี๊บเพราะมันใส่ปี๊บ และเหตุผลที่ใส่ปี๊บเพราะปี๊บโลหะนั้นเก็บถนอมขนมปังให้ยังคงความกรอบได้ดีกว่าการใส่ถุงพลาสติกหรือใส่โหลพลาสติกที่อากาศซึมเข้าได้ง่าย อีกทั้งรูปทรงเหลี่ยมๆ ของปี๊บนั้นสะดวกสำหรับการจัดเรียงขนส่งทางไกล 

แต่พี่นัทในฐานะเจ้าของร้านที่เปิดขนมปังปี๊บมาบรรจุถุงแบ่งขายไม่รู้กี่ปี๊บ กี่ยี่ห้อ ว่ากันตามจริงก็เจอที่แตกหักอยู่บ้างเป็นธรรมดา เจอแตกก็คัดออกเลือกเฉพาะคงรูปใส่ถุง ขนมถุงเล็กๆ นี้ราคาทั้งขายปลีก-ส่ง อยู่ที่ถุงละ 11 บาท ไม่มีขั้นต่ำว่าต้องซื้อกี่ถุง หากเป็นปี๊บใหญ่ราคาอยู่ที่ ปี๊บละ 250 – 380 บาท ลดหลั่นกันไปแล้วแต่ชนิดและยี่ห้อขนม หากเป็นปี๊บเล็กราคาอยู่ที่ปี๊บละ 130-170  ถ้าใส่โหลพลาสติกขนาดกลางก็ราคา 60 บาท 

ขนมปังปี๊บยังคงขายได้ดี ขายได้เรื่อยๆ แม้จะเจอกับสถานการณ์โควิดแต่ยอดขายก็ไม่ได้ลดลง สำหรับขนมปังปี๊บใหญ่คนนิยมซื้อไปบริจาค ไปแจกตามงานต่างๆ เช่น งานโรงเรียน มหาวิทยาลัย ส่วนขนมปังบรรจุถุงเล็กพี่นัทว่ามักมีร้านค้าที่ขายของกินอยู่ในโรงงานตามนิคมต่างๆ มารับไปขายอีกทอดหนึ่ง อื่นๆ ก็จะเป็นคนที่ตั้งใจมาซื้อกิน หรือพ่อค้าแม่ค้าที่รับเอาไปขายต่อทั้งปี๊บ รวมทั้งไปจัดแบ่งใส่ถุงขายเองในตลาดนัด ที่นิยมขายถุงละ 20 บาท 3 ถุง 50 บาท 

ความอร่อยที่ยังคงอยู่ 

ขนมปี๊บพัฒนาทั้งรูปลักษณ์ รสชาติที่หลากหลายตามยุคสมัย ทำให้ขนมปี๊บไม่เคยหายไปเพียงเปลี่ยนรูปแบบนำเสนอที่หลากหลายขึ้นจากบรรจุปี๊บเป็นบรรจุโหลเหลี่ยมพลาสติก โหลกลมพลาสติก หรือบรรจุถุงเล็กๆ แบ่งขายให้ได้เห็นตามร้านชำ รถเข็นร้านกาแฟโบราณ ตลาดนัด ไปจนถึงร้านสะดวกซื้อที่เริ่มมีขนมปี๊บ (เดาว่าคงเลือกจากความนิยมเป็นหลัก) เช่น บิสกิสรูปดอกไม้ไส้สับปะรด ขนมขาไก่ คุกกี้ไส้ครีมบรรจุปี๊บเหล็กไซซ์เล็กวางจำหน่าย หรือใส่กระปุกพลาสติกเล็กก็มีเหมือนกัน

ข้อดีของการลดไซซ์ลงเป็นปี๊บเล็กหรือแม้แต่ถุงเล็กๆ คือราคาย่อมเยา เข้าถึงง่าย คนกินเลือกซื้อขนมได้หลากชนิดขึ้น 

เพราะปี๊บใหญ่ๆ กว่าจะกินให้หมดปี๊บก็ใช้เวลานานอยู่ บางทีเบื่อแล้วแต่ก็ต้องกินซ้ำๆ ให้หมด 

พี่นัทเล่าว่าขนมปี๊บขายได้เรื่อยๆ ไม่มีขาลง แต่ช่วงที่ขายขนมปี๊บได้ดีและคึกคักเป็นพิเศษก็คือช่วงปีใหม่ คนซื้อไปเป็นของขวัญ หรือของฝากกลับไปฝากญาติพี่น้องที่ต่างจังหวัด ในฐานะที่เป็นทั้งร้านขายส่งและขายปลีก เลยให้พี่นัทช่วยจัดอันดับขนมขายดี 5 ชนิด เรียงตามความนิยมให้หน่อย และแอบถามว่า ในบรรดาขนมปังปี๊บเหล่านี้พี่นัทชอบกินอะไรที่สุด สำหรับเจ้าของร้านที่เห็นขนมปังทุกวี่ทุกวันบอกตามตรงว่าออกจะเบื่อ แต่ถ้าชอบกินที่สุดก็เป็นเวเฟอร์สอดไส้ครีมน่ะแหละ 

5 อันดับ ปังปี๊บรสนิยม 

1. กะทิสับปะรด ขนมปังปี๊บยอดนิยมและติดอันดับขายดีมาทุกยุคทุกสมัยคือเจ้าบิสกิตรูปดอกไม้โรยน้ำตาลทราย สอดไส้สับปะรดกวน รสเปรี้ยวๆ หวานๆ เรียกว่าเป็นขนมที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตากันดี ความพิเศษนอกจากตัวบิสกิตกลิ่นกะทิหน้าตาน่ารักคือรสชาติของสับปะรดกวนที่ให้ความหนึบหนับเปรี้ยวหวาน ไม่เลี่ยน เป็นเอกลักษณ์ของบิสกิตสไตล์ไทย รสถูกปากถูกจริตกับทุกเพศทุกวัย รวมทั้งคนสมัยก่อนที่ไม่ชินกับรสเลี่ยนๆ ของบรรดาขนมไส้ครีม 

2. ขนมขาไก่ ปัจจุบันขนมขาไก่ปี๊บก็แตกไลน์จากขาไก่รสเค็มดั้งเดิม เป็นเคลือบรสเผ็ด สามรส เนื้อขนมเงาๆ น้ำเคลือบ

ไปจนถึงรูปทรงที่หลากหลายขึ้นทั้งทำเป็นทรงน่องไก่ ทำเป็นเม็ดสี่เหลี่ยมเล็กๆ แต่ก็ยังเรียกว่าขนมขาไก่ และในบรรดาขาไก่ทั้งหลาย ขาไก่เค็มรสต้นตำรับนั้นขายดีสุด น้องสาวและคนชื่นชอบขนมขาไก่รวมทั้งฉันยืนยันหนักแน่นว่า ทั้งรสชาติและสัมผัสของขนมขาไก่ปี๊บรสเค็มนั้น ไม่เหมือนขาไก่เคลือบรส  

3. คุกกี้ไส้ครีม เบสิกคุกกี้ของขนมปี๊บที่ได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัย มีให้เลือกทั้งครีมใบเตย ครีมช็อกโกแลต ครีมนม ครีมสตรอว์เบอร์รี แต่ที่นิยมสุดเป็นไส้ครีมนม สำหรับใครที่เลือกไม่ได้ชอบกินไปเสียทุกรสก็มีแบบรวมรสไว้ในปี๊บเดียวกันเป็นคุกกี้ไส้ครีมรวมมิตร

4. หมีช็อกโก้ เจ้าบิสกิสรูปหมีสอดไส้ช็อกโกแลต ที่ทำให้เรานึกถึงขนมโคอะล่าได้รับความนิยมแซงหน้าบรรดาขนมปี๊บรุ่นพี่ที่อยู่มานานอีกหลายชนิด

5. เวเฟอร์สติ๊ก หรือที่หลายคนเรียกเหมารวมเรียกว่าโอโจ้ สอดไส้ครีมสตรอว์เบอร์รี ช็อกโกแลต ส้ม ไปจนถึงสีสันเรนโบว์ ก็ยังเป็นขนมยอดนิยมมาทุกยุคด้วยความอร่อย กินง่าย แป้งกรอบร่วนไส้ครีมเน้นๆ 

รสชาติและรูปทรง รวมถึงชนิดความนิยมของขนมปังปี๊บอาจเปลี่ยนไปตามยุคสมัยของคนกินเป็นธรรมดา 5 อันดับขนมขายดีนี้ เราจึงไม่เห็นขนมหัวจุกหรือที่พ่อค้าแม่ค้าขนมปี๊บเรียกว่า ‘เม็ดพลอย’ อยู่ในลิสต์ และเมื่อถามแม่ค้าอย่างพี่นัทก็บอกว่ามันไม่ได้ขายดีสักเท่าไรหรอก แต่ถ้าถามว่าหลายคนรู้จักไหม เจ้าขนมเม็ดพลอยหรือหัวจุกนี้ต้องผุดขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ เช่นเดียวกับขนมบิสกิตรูปตัวอักษร A B C กรอบๆ เค็มๆ 

สำหรับบางคนขนมปี๊บจึงไม่ใช่เพียงความอร่อย แต่เป็นรสชาติที่พาเราย้อนกลับไปในช่วงวันวาน 🙂

ขอบคุณข้อมูลจาก 

 

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS