ลอดช่องละมุนนุ่มลิ้นจากต้นสาคูแท้ 100%

1,966 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ลัดเลาะตำบลนาข้าวเสีย เยื่อนถิ่นต้นสาคู เรียนรู้กรรมวิธีแปรรูปจากต้นไม้สู่ ‘ลอดช่อง’ แสนอร่อย

เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ฉันออกเดินทางเพื่อไปตามหา ‘ลอดช่อง’ ขนมขึ้นชื่อที่ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จัก แต่จะมีสักกี่คนที่จะเคยได้ลิ้มรสลิ้มลองลอดช่องที่ทำจากแป้งสาคู 100% ทั้งนุ่มนวล หอม อร่อย ฉันไม่รอช้าจับกล้องบินตรงไปตรัง เพื่อมุ่งสู่ศูนย์การเรียนรู้ ‘กลุ่มผู้หญิงป่าสาคูรวมใจ’ ตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ที่ที่แปรรูปสาคูต้นให้กลายมาเป็น ‘แป้งสาคู’ วัตถุดิบหลักในการทำลอดช่องและขนมแสนอร่อยอีกมากมาย 

จากสาคูต้นสู่แป้งสาคู

ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าๆ เกือบ 2 ชั่วโมงจากบ้านฉัน มุ่งตรงไปสู่บ้าน ป้าเมียด-คุณละเมียด รัตนะ ประธานกลุ่มผู้หญิงสาคูรวมใจ คุณป้าแสนใจดีที่ฉันยกให้เป็นคุณครูสอนวิชาทำขนมให้กับฉันในวันนี้ ป้าเมียดจัดแจงยกอุปกรณ์ต่างๆ ออกมาวางตรงลานที่ฉันเรียกมันว่าลานกิจกรรมก็แล้วกัน เตรียมพร้อมสำหรับการสอนทำขนมลอดช่องจากแป้งสาคู ก่อนจะเริ่มเรียน ป้าเมียดก็อธิบายถึงขั้นตอนกว่าจะมาเป็นแป้งสาคูต้องทำอย่างไรบ้าง โดยป้าเมียดเริ่มเล่าจากการตามหาต้นสาคูก่อนเลย 

การตามหาต้นสาคูไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องสังเกตให้เป็นว่าต้นไหนพร้อมที่จะนำมาทำเป็นแป้งสาคูแล้ว สาคูต้นที่พร้อมใช้งานจะมีสัญลักษณ์ที่เรียกว่า ‘เขากวาง’ ออกมาให้เห็น ป้าเมียดบอกว่าต้นแบบนั้นแหละที่เหมาะกับนำมาทำแป้งมากที่สุด เพราะสีจะสวย และแป้งที่ได้ก็จะมีคุณภาพที่ดีมาก “รอนานเลยนะกว่าจะได้เนี่ย” ซึ่งหมายถึงเวลา 10 กว่าปีกว่าจะตัดใช้งานได้ หลังจากเจอต้นสาคูแล้วก็จัดการโค่น เราะเอาเปลือกด้านนอกออก ให้เหลือแค่เนื้อไม้ด้านใน จากนั้นก็เริ่มกระบวนการแปรรูปได้เลย 

การจะทำแป้งสาคูก็ไม่ง่าย เพราะต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรกว่าจะขูดเนื้อไม้ให้เป็นขุยๆ ถ้าใครนึกไม่ออก ป้าเมียบอกว่าให้นึกถึงมะพร้าวขูดที่ขายตามตลาดแบบนั้นเลย จากนั้นก็เอามาตำจนเนียน (ละเอียด) แล้วก็ปั่น (คั้น) กับน้ำ ผ่านผ้าขาวบาง ให้ได้หลายๆ น้ำ น้ำที่คั้นออกมานั้นด้านล่างจะมีกองแป้งกองอยู่ นั่นแหละที่จะเอามาทำแป้งสาคู พอได้แล้วก็นำมาตากแดด ถ้าแดดดีๆ หน่อย ไม่นานก็จะได้แป้งสาคูมาใช้งานได้แล้ว เล่าจบป้าเมียดก็นำเอาแป้งสาคูที่สำเร็จพร้อมใช้งานออกมาให้ดู สีแป้งที่ออกน้ำตาลอ่อนๆ ได้กลิ่นหอมๆ ของเนื้อไม้ ทำให้ฉันนึกไปว่าถ้าเอามาทำขนมคงจะหอมอร่อยไม่ใช่เล่น 

ด้วยความสงสัยของฉันว่าเขารู้กันได้อย่างไรว่าต้นไม้นี้เอามาทำแป้งได้ ก็เลยถามป้าเมียดแบบไร้เดียงสาไปว่า “ป้ารู้ได้อย่างไรคะว่าต้นไม้นี้มันเอามาทำเป็นแป้งได้” ป้าหัวเราะกับความไร้เดียงสาของฉันแล้วตอบว่า “ไม่รู้เหมือนกัน พ่อกับแม่ฉันทำมาก่อนฉันอีก เค้าทำมาตั้งแต่รุ่นๆ ก่อนหน้า ฉันก็ทำตามๆ กันมา” นี่แหละนะคงเป็นแบบที่เขาเรียกว่าภูมิปัญญาชาวบ้าน! 

น่าเสียดายที่ครั้งนี้ไปไม่ได้ไปเดินล่าตามหาต้นสาคูเหมือนอย่างที่ขอร้องป้าเมียดไว้ เพราะฝนเจ้ากรรมที่ขยันตก ทำให้พลาดโอกาสในการเดินสำรวจป่าสาคูที่ป้าเมียดบอกว่าอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านแกนี้เอง แต่ไม่เป็นไร ไว้โอกาสหน้าฉันจะขอร้องให้ป้าเมียดพาไปตามล่าหาป่าสาคูใหม่อีกครั้ง  

แป้งสาคู สู่ ‘ลอดช่อง’ แสนอร่อย

หลังจากเรียนรู้วัตถุดิบหลักที่จะนำมาทำขนมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ป้าเมียดก็มีผู้เสริมกำลังทัพอีกสองสาวมาช่วย เป็นพี่สาวและลูกพี่ลูกน้องของป้าเมียดนั่นเอง บอกเลยว่าอายุสามคนรวมกัน 100 กว่าเลยนะจ๊ะ แต่กำลังวังชาเหมือนสาวรุ่นๆ ยังไงยังงั้นเลย

เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา ป้าเมียดเรียกฉันให้เข้ามาดูการผสมแป้งลอดช่องก่อนนำไปกวน เริ่มจากตวงแป้งลงในกะละมัง จากนั้นก็ผสมแป้งถั่วเขียวลงไปนิดหน่อย (อันนี้แกบอกว่าจะใส่ก็ได้ไม่ใส่ก็ได้) จากนั้นก็ค่อยๆ ตักน้ำปูนใส่ทีละขัน ทีละขัน ใช้มือกวนไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าได้ที่แล้วก็กรองเอาเศษแป้งออก จากนั้นก็ใส่ลงในหม้อ ยกขึ้นตั้งบนเตาแล้วก็เริ่มกวนไปเรื่อยๆ

ฉันขันอาสาว่าเดี๋ยว “หนูกวนให้นะคะ” แกบอกว่า “อย่าเลยเดียวจะกวนไม่ไหวเอา” จากนั้นป้าเมียดลากเก้าอี้มานั่งกวนไปเรื่อยๆ จนแป้งเริ่มข้นขึ้น ขั้นตอนนี้ถ้าเรารู้สึกว่าแป้งข้นเกินไปให้เอาน้ำปูนมาใส่เพิ่มได้ ป้าขอให้ลูกพี่ลูกน้องเอาน้ำปูนมาใส่เพิ่มอีกประมาณ 3 ขันเห็นจะได้ จากนั้นก็กวนต่อไปเรื่อยๆ 

ระหว่างที่ป้าเมียดกวนแป้ง พี่สาวป้าเมียดก็จัดแจงปอกมะพร้าวอย่างชำนาญการ เพื่อที่จะนำไปขูดแล้วนำไปคั้นเป็นน้ำกะทิสำหรับทำน้ำลอดช่อง

พอแป้งลอดช่องกวนได้ที่แล้วก็เทแป้งลงในภาชนะที่ป้าเมียดเตรียมไว้ นั่นก็คือหม้อมีหูแล้วเจาะรูตรงก้นหม้อเพื่อให้แป้งลอดช่องไหลผ่านลงมาเป็นสาย ด้านล่างของหม้อวางกะละมังใบใหญ่ใส่น้ำเตรียมไว้ พอแป้งไหลผ่านลงตามช่องก็จะลงไปยังน้ำในกะละมัง ป้าเมียดบอกว่าช่วงแรกไม่ต้องกดแป้งนะ ให้แป้งค่อยๆ ไหลลงไปเอง ค่อยมาช่วยกดตอนที่แป้งไม่มีแรงดันแล้วค่อยๆ ใช้ฝาหม้อกดลงไปให้น้ำหนักมือเสมอกัน ไม่อย่างนั้นแป้งที่ได้ออกมาจะหน้าตาเหมือนลูกอ๊อดยังไงยังงั้นเลย >.<

ส่วนแป้งที่เหลือติดอยู่ก้นหม้ออยู่นั้นก็ไม่เสียเปล่า เพราะป้านำมาใส่น้ำตาลแล้วกวนเป็นขนมเปียกปูนให้กินเล่นๆ ระหว่างรอน้ำตาลกะทิ หลังจากป้าเมียดพูดไม่ถึง 10 นาที ฉันก็ได้เปียกปูนรสหวานกำลังดีกินกับมะพร้าวขูดขาวคลุกเกลือกับน้ำตาลอ้อยเล็กน้อยกินเพลินๆ ระหว่างรอลอดช่อง

ป้าเมียดเรียกฉันให้ไปดูเส้นลอดช่องที่ทำจากแป้งสาคู ว่ามีความต่างจากที่ฉันเคยเห็นหรือเคยกินยังไง สัมผัสแรกที่ฉันเอามือจับเส้นขึ้นมานั้นบอกได้เลยว่าลื่นและนุ่มมาก ซู้ดเข้าปากก็เลื่อนลงคอไปเลย แล้วยังได้กลิ่นหอมอ่อนๆ จากตัวแป้งสาคู เนื้อสัมผัสต้องบอกว่าไม่เหมือนกับลอดช่องสีเขียวที่กินตามท้องตลาดทั่วไป ที่แป้งจะแข็ง กัดแล้วขาด เพราะแป้งสาคูนี้เหนียว นุ่ม หนึบ ป้าเมียดยังบอกอีกว่าเส้นลอดช่องที่ดีจะต้องเหนียวนุ่มแบบนี้แหละ สัดส่วนของแป้งกับน้ำและจังหวะที่กวนนั้นต้องไปด้วยกัน ถึงจะได้แป้งที่สมบูรณ์แบบ 

ระหว่างป้าเมียดเรียกฉันไปดูเส้นลอดช่อง อีกด้านก็ตระเตรียมน้ำตาลกะทิสำหรับกินกับลอดช่องเสร็จเรียบร้อย ฉันไม่รอช้า รีบเดินไปหยิบถ้วยที่ทำจากกะลามะพร้าว ตักแป้งลอดช่องใส่ลงในถ้วยแล้วเดินไปขอน้ำตาลกะทิกับพี่สาวป้าเมียดทันที กลิ่นของกะทิที่คั้นสดๆ ร้อนๆ นี้มันหอมอย่างบอกไม่ถูก ไม่กี่อึดใจฉันซู้ดเส้นลอดช่องเข้าไปจนหมดถ้วย ความนุ่มนวลของเส้น ความหอมของน้ำกะทิ ทำให้ฉันลืมลอดช่องที่เคยกินๆ มาไปหมดเลย มันหอมหวานนวลไปทั่วทั้งปาก “อร่อยใช่มั้ยล่ะ” ป้าเมียดถามพลางยิ้มไปด้วย 

เกือบทั้งวันที่ฉันขลุกตัวเองอยู่กับป้าเมียดและพี่ๆ น้องๆ ของป้าเมียด ทำให้ฉันรับรู้ได้ถึงความตั้งใจที่จะอนุรักษ์ รักษา และผลักดันให้สาคูต้น พืชประจำถิ่นที่อยู่คู่กับชุมชนและคนในพื้นที่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ และกลุ่มผู้หญิงป่าสาคูรวมใจที่มีป้าเมียดเป็นโต้โผใหญ่ คอยผลักดันแปรรูป ‘สาคูต้น’ ให้กลายเป็นขนมแสนอร่อยมากมาย แบบไม่หวงวิชาเลยแม้แต่น้อย 

ใครอยากมาเรียนรู้การทำขนมจากแป้งสาคู ติดต่อมาได้เลย รับประกันว่าจะเจอคุณครูใจดีทั้ง 3 คนพร้อมขนมอร่อยๆ รอต้อนรับด้วยความเต็มใจ

กลุ่มผู้หญิงป่าสาคูร่วมใจ
(ศูนย์การเรียนรู้การจัดการและการใช้ประโยชน์ป่าสาคูอย่างยั่งยืน)
พิกัด: 5 หมู่ 7 บ้านทุ่งแกเจ้ย ตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง
โทร: 086-0080953 (กรุณาติดต่อป้าเมียดล่วงหน้าหากต้องการเข้าไปศึกษาเรียนรู้)  

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS