อาหารไทยกับพริกเป็นอะไรที่แยกกันไม่ออก ดูได้จากครัวไทยที่ไม่ว่าบ้านไหนๆ ล้วนต้องมี ‘พริก’ ติดครัวกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะพริกสด พริกแห้ง พริกป่น พวงเครื่องปรุงก็ต้องมีพริกแบบขาดไม่ได้ ชาวไทยเลิฟพริกกันขนาดนี้ พริกในบ้านเราก็เลยมีให้เลือกหลากหลายชนิด ทั้งเม็ดเล็ก เม็ดใหญ่ สีเขียว สีแดง เผ็ดมาก เผ็ดน้อย และพ่อครัวแม่ครัวมือเซียนนั้นก็จะเลือกใช้พริกให้ตรงกับความต้องการ ได้พริกชนิดไหนมาก็จะต้องรู้ว่าเผ็ดมากหรือน้อย เพื่อที่จะได้ปรับสูตรใส่เครื่องให้เหมาะสมกับระดับความเผ็ด
ว่าแล้วก็เข้าเรื่องกันเลยค่ะ มาเรียงลำดับความเผ็ดของพริก 10 ชนิดในบ้านเราให้เห็นกันจะจะไปเลยว่าน้องคนไหนเผ็ดน้อย น้องคนไหนเผ็ดจัด ไล่ไปจากอันดับ 10 ถึง 1 เพื่อที่ถ้าไปหาซื้อพริกในตลาดกลับมาทำอาหาร หรือยืนแถวร้านส้มตำ เล็งพริกแล้วจะได้รู้ว่าควรใส่มากน้อยแค่ไหน เคยกินน้องอันดับ 4 สามเม็ดกำลังดี แต่ไปเจอน้องอันดับ 1 สามเม็ดก็หูอื้อตาลายได้นะเออ
10 พริกยักษ์หรือพริกหวาน
เป็นพริกที่มีสีสันสวยงาม เนื้อหนา มีหลายสี ทั้งเขียว แดง เหลือง ส้ม รสชาติหวาน ไม่เผ็ดเลย จะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็กินได้สบายๆ แถมเวลาเอามาทำอาหารยังทำให้จานนั้นๆ ดูมีสีสันน่ากินไปอีก พริกหวานยังช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุ ขับเหงื่อ ขับลม ขับเสมหะ แก้อาเจียน และช่วยลดความดันโลหิตได้
09 พริกบางช้าง
หน้าตาใกล้เคียงกับพริกมัน แต่ขนาดใหญ่กว่า โคนผลใหญ่ ปลายเรียว ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีแดงจัด เนื้อมาก เมล็ดน้อย เป็นพริกที่ขึ้นชื่อมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อาหารชาววังในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) นิยมใช้พริกบางช้าง เพราะมีจุดเด่นตรงกลิ่นหอม สีสวยสด รสชาติไม่เผ็ดมากนัก
08 พริกหยวก
ลักษณะเป็นทรงกรวยยาว ปลายผลเรียว มีขนาดใหญ่ ผิวเปลือกหนาลื่นเป็นมัน ผลดิบสีเขียวอ่อน ผลสุกสีแดงอมส้ม ภายในกลวงมีแกนกลางที่มีเมล็ดเล็กๆ สีเหลืองอ่อนเกาะอยู่ รสชาติหวานกรอบ ด้วยความที่ไม่เผ็ดมาก จึงสามารถกินสดหรือจะนำไปประกอบอาหารก็ได้
07 พริกสิงคโปร์
ผลมีลักษณะเป็นผลกลมๆ เผ็ดพอสมควร (แต่ไม่มากนัก) สีสันน่ากิน ด้วยความสวยและความเผ็ด จึงสามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับสวยงามได้อีกด้วย
06 พริกมัน
ลักษณะเด่นของพริกมันก็เหมือนกับชื่อ นั่นคือผลจะมีความมันและเงาที่มองเห็นได้ชัดเจน เป็นพริกที่มีความเผ็ดแต่ไม่มากนัก และผลใหญ่พอสมควร
05 พริกหนุ่ม
เป็นพริกที่มีความเผ็ดแบบรับรู้ได้ และไม่ว่าจะเป็นผลแก่หรือผลสุกก็จะมีสีเขียว คนส่วนมากนิยมนำมาทำน้ำพริกหนุ่ม รับประทานคู่กับแคบหมู เป็นอาหารท้องถิ่นของภาคเหนือ
04 พริกชี้ฟ้า
ที่มาของชื่อมาจากการที่ผลจะตั้งและชี้ขึ้นไปบนฟ้า ผลมีลักษณะทรงกลมยาว ปลายเรียวแหลม โค้งงอ ผิวเปลือกหนาลื่นเป็นมัน ผลดิบสีเขียวเข้ม ผลสุกสีแดง รสชาติเผ็ดพอประมาณ เป็นพริกที่มีรูปลักษณ์สวยโดดเด่น
03 พริกจินดา
อยู่ในกลุ่มพริกขี้หนูผลใหญ่และเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย ผลมีขนาดเล็กเรียวยาวและชี้ขึ้นเป็นส่วนมาก ผลดิบสีเขียวแก่ ผลสุกสีแดงเข้ม ใช้ได้ทั้งแบบสดและแห้ง ผลที่ตากแห้งแล้วสีจะสวย กรอบ ตำให้แหลกง่าย เม็ดมาก น้ำหนักมาก รสเผ็ดค่อนข้างมาก
02 พริกขี้หนู
ผลมีลักษณะยาวรี ปลายผลแหลม ผลอ่อนมักชี้ขึ้น เมื่อแก่แล้วจะชี้ลง ผลดิบสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงหรือสีแดงปนสีน้ำตาล ลักษณะของผลมีผิวลื่น ภายในผลกลวงและมีแกนกลาง รอบ ๆ แกนจะมีเมล็ดแบนสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนเกาะอยู่ รสชาติเผ็ดจัด นิยมนำมาปรุงเป็นเครื่องเทศในอาหารไทยหลายชนิด
01 พริกขี้หนูสวน
ผลมีขนาดเล็ก ผิวเปลือกหนาลื่นเป็นมัน ผลดิบสีเขียว ผลสุกสีแดง รสชาติเผ็ดร้อนขั้นสุด เป็นเครื่องเทศที่นิยมนำมาประกอบอาหารไทยเมนูต่างๆ เทียบกันแล้วพริกขี้หนูสวนมีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาพริกทั้ง 10 ชนิด แต่ความเผ็ดดุเดือดนำไปหลายช่วงตัว จนเกิดเป็นวลีที่ว่า ‘เล็กพริกขี้หนู’ ซึ่งหมายถึงตัวเล็กแต่แสบสันต์นั่นเอง
ที่มา: http://www.toptenthailand.com/
ภาพ: www.greendelifoods.com/ www.tse2.mm.bing.net/ www.bitdefenderlogins.com/ www.dynamicseeds.com/ www.f.ptcdn.info/ www.res.cloudinary.com/ www.simummuangmarket.com/ www.thaihitz.com/ www.thairath.co.th/