อยู่ๆ ชาไทยก็กลายเป็นกระแสและร้านเครื่องดื่มแทบทุกร้านก็ต้องมีชาไทยเอาไว้เรียกแขก แต่ส่วนมากก็เป็นเพียงอีกแค่ 1 เมนูในร้านท่ามกลางทะเลเครื่องดื่มทั้งกาแฟ โกโก้ ชาเขียว และอื่นๆ อีกมากมาย ชาวชาไทยเลิฟเวอร์เลยน้อยใจในความเป็นนางรองอยู่เหมือนกันนะ แต่ไม่ต้องนอยด์แล้วค่ะ เพราะล่าสุดคนรักชาไทยคนหนึ่งได้เปิดร้านเพื่อขายชาไทยโดยเฉพาะ นอกจากชาไทยใส่นมที่คุ้นเคยกันแล้ว ก็ยังมีชาไทยใสไว้ให้คนชอบชาแบบออริจินได้ลิ้มรสและสัมผัสกลิ่นชาหอมๆ รวมทั้งยังมีเมนูฟิวชั่นที่นำชาไทยมาแปลงเป็นนู่นนี่นั่นอีกหลายหลาก เรียกว่าถ้ามาร้าน Khiri Thai Tea ชาไทยของเราคือนางเอก เด่นสุดเพราะไม่มีเครื่องดื่มอื่นๆ ในร้านอีกแล้ว นอกจากชาไทย ชาไทย และชาไทย
ด้วยคอนเส็ปต์ที่ชัดเจนถูกใจคนรักชาไทยทำให้ Khiri Thai Tea ฮอตมากๆ ในโซเชียล (ทั้งที่เพิ่งเปิดมาได้เพียงประมาณ 1 เดือน) บ่ายวันหนึ่ง ฉันเลยเดินทางไปเยือนตึกสีส้ม—ที่เห็นปุ๊บก็ชวนให้นึกถึงชาไทยปั๊บ—ย่านเยาวราช เปิดประตูเข้าไปก็พบกับลูกค้าที่นั่งกันเต็มหมดทุกโต๊ะ ตอกย้ำความฮอตของร้าน แต่ไม่ต้องห่วง ชั้น 2 และชั้น 3 ซึ่งเอาจริงๆ นั่งสบายกว่าชั้นล่าง เพราะพื้นที่เยอะกว่า แล้วยังถูกดีไซน์ให้ออกมาในฟีลโฮมมี่ นั่งๆ นอนๆ จิบชาแก้วโปรดได้แบบชิลล์ๆ สบายๆ ยังมี และฉันก็ได้คุยกับ คุณแพร-มิญชยา บูรณะเศรษฐกุล เจ้าของร้านที่ชั้นบนนี่เอง
จุดเริ่มต้นของ Khiri Thai Tea เกิดขึ้นจากความชอบดื่มชาไทยของคุณแพร ผู้เป็นเจ้าของร้านกาแฟอยู่แล้ว และใช้เวลาว่างเพราะร้านถูกล็อคดาวน์ในช่วงโควิดเดินทางไป staycation ที่เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และเชียงราย พบเจอกับเกษตรกรที่ปลูกกาแฟให้ “พื้นที่ของเขาปลูกชาได้ด้วย เลยคุยกันว่าเราอยากเปิดร้านชา เขาจะช่วยทำอะไรได้บ้าง”
การพูดคุยจบลงที่เกษตรกรส่งต้นกล้าใบชาไปให้จังหวัดต่างๆ ปลูก เพราะชาก็เช่นเดียวกับกาแฟ แหล่งปลูกที่แตกต่าง จะให้ชาที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน จากนั้นจึงส่งใบชากลับมา process ที่เชียงดาวทั้งหมัก ตากแห้ง บ่ม ก่อนจะส่งต่อให้ทางร้านเทสต์
“บางพิ้นที่ปลูกเบอรี่ เฟอร์เมนต์ชาต้องแรงกว่าพื้นที่ที่ไม่ปลูก ต้องดึงรสชาติเบอรี่ของใบชาออกมาให้ได้ ให้รู้สึกได้ว่ากินแต่ละตัวนึกถึงอะไร เรียกว่าเป็นไกด์ไลน์เทสต์โน้ต เพื่อให้ชาจากแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เราก็เทสต์ว่าชอบไหม เพราะใบชาแต่ละตัวไม่เหมือนกัน การชงก็ต้องใช้วิธีแตกต่างกัน”
Khiri Thai Tea จึงมีชาจากหลายจังหวัดให้เลือกดื่มตามความชอบของแต่ละคน ทั้งจากเชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน โดยมีชาใต้จากปัตตานีด้วยอีก 1 ตัว และแม้ชากับกาแฟจะมีหลักการคล้ายๆ กัน เพราะเป็นเครื่องดื่มเหมือนกัน แต่คุณแพรบอกว่าชาเซนสิทีฟกว่ากาแฟ
“พื้นที่และภูมิอากาศทางภาคเหนือเหมาะจะปลูกทั้งชาและกาแฟ กาแฟปีหนึ่งปลูกได้ 2 ครั้ง ชาปลูกได้หลายครั้งแต่ต้องใช้เวลา กับต้นชาเราใช้ไม่ได้หมด บางทีใช้แค่ใบ ยอด ก้าน มันซับซ้อนกว่ากาแฟ รวมถึงการเอาชามาปรุงยังไงให้ยังคงเอกลักษณ์ของชาแต่ละตัวก็ค่อนข้างยาก อย่างชาน่าน ใช้ใบกับยอด ถ้าใส่นม รสชาติจะดรอป รสนมจะไปกลบรสชา เราก็ต้องพยายามคงรสชาติไม่ให้เสียเอกลักษณ์ของใบชา ด้วยการปรุงนมอีกแบบเพื่อให้เข้ากับชาตัวนี้ หรืออย่างชาลำปาง ใส่นมแล้วกลิ่นชาจะหาย เราก็ไปสายชาดำให้ชัดเจน ชาทุกตัวต้องผ่านการเทสต์ เพื่อดูว่าอะไรจะเหมาะกับรสชาติแบบนั้น ซึ่งแพรทำเองหมด”
เธอใช้เวลาศึกษาเรื่องชาอยู่นานนับปีด้วยการเรียนรู้จากพื้นที่จริงที่เชียงราย ก่อนจะมาคิดสูตรชาที่เข้าถึงคนไทยผู้ที่ส่วนมากนิยมดื่มชาเย็น “ด้วยอากาศบ้านเรามันร้อน คนเลยชอบดื่มเย็น ทั้งที่จริงๆ รสชาติชาจะชัดเจนที่สุดคือชาร้อน แค่เอาน้ำร้อนผ่านชาแค่นั้นเลย”
ด้วยความตั้งใจอยากให้เป็น ‘ชาไทยที่ทุกคนเข้าถึงได้’ ขั้นตอนการดีไซน์เมนูเลยเริ่มต้นขึ้น และกลายเป็นเมนูเก๋ๆ ที่มีให้ลองเฉพาะที่นี่เท่านั้น
“เรามองทั้งกลุ่มคนไทยและต่างชาติ เพราะเยาวราชก็เป็นที่ที่นักท่องเที่ยวมาเยอะ ทำยังไงจะชูความเป็นชาไทยให้มากขึ้น เหมือนเวลาไปญี่ปุ่น เราก็จะไปตามหาร้านมัทฉะ เราก็อยากให้นักท่องเที่ยวมาตามหาชาไทยเหมือนกัน เลยคิดว่าลองทำให้ทั้งร้านมีแต่ชาไทย แล้วตกแต่งให้คนรู้สึกเหมือนอยู่บ้านสบายๆ เมนูอย่างชาไทยเกล็ดน้ำแข็งเราก็ท็อปด้วยครีมและทองม้วนเพราะทองม้วนเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของไทยที่ต่างชาติชอบซื้อกลับไป แล้วก็ตอบโจทย์คนไทยที่ชอบกินเมนูเย็น ชอบน้ำปั่น ถ้าแค่ใส่น้ำแข็งธรรมดา ถือกินไปแล้วพอน้ำแข็งละลายมันจะไม่อร่อย เลยคิดเป็นชาไทยเกล็ดน้ำแข็งบิงซู เพื่อที่ละลายแล้วก็ยังคงรสชาอยู่ กินได้หมดทั้งแก้ว ไม่ต้องทิ้งน้ำแข็งให้ละลาย”
ฟังมาถึงตรงนี้ ก็แน่นอนว่าต้องลอง On Cloud (130 บาท) ชาไทยเกล็ดน้ำแข็งบิงซู ท็อปด้วยครีมเนียนนุ่มและทองม้วน เสิร์ฟมาในแก้วใสขนาดเหมาะมือ เป็นเมนูที่เราลงความเห็นกันว่า “อร่อยยยย” สมกับที่เป็นเมนูซิกเนเจอร์ ชาไทยเกล็ดน้ำแข็งเข้มข้นเข้ากันดีมากกับครีมมันๆ เนียนๆ และรสหวานน้อยๆ กับความกรอบกรุบของทองม้วน เผลอแป๊บเดียวก็จ้วงกันหมดถ้วยแบบยังไม่ทันต้องรอให้เกล็ดน้ำแข็งละลายแต่อย่างใด ><
แก้วที่สองคือ PB & Tea (130 บาท) ชาไทยพีนัตบัตเตอร์ ได้อินสไปเรชั่นมาจากถั่วตัดที่คุณแพรได้กินในช่วงเจมาตั้งแต่เด็ก และเมื่อนึกถึงเยาวราชเธอว่าก็ต้องนึกถึงเทศกาลตรุษจีนหรือไม่ก็กินเจ ซึ่งร้าน Khiri Thai Tea เปิดในช่วงกินเจพอดี เลยอยากนำความคุ้นเคยรวมถึงเอกลักษณ์ของเยาวราชมานำเสนอผ่านชาไทย ผลคือ “เหมือนกินถั่วตัดแบบน้ำ” แบบที่เธอว่า ได้ครบทั้งความเข้มข้นของชา กลิ่นถั่ว และความหวาน คนรักถั่วน่าจะชอบใจสิ่งนี้
เมนูที่สาม เปลี่ยนจากเครื่องดื่มเป็นขนมกันบ้าง กับ Thai Tea Bun (189 บาท) แป้งซาลาเปาที่ถือเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของเยาวราชนำมาอบเนยร้อนแบบทำสดชิ้นต่อชิ้น สอดไส่ไอศกรีมชาไทยเบลนด์เข้มข้น เป็นเมนูที่ซับซ้อนด้วยเท็กซ์เจอร์ เพราะมีทั้งความเย็นๆ ฉ่ำๆ ของไอศกรีม ความหนึบๆ อุ่นๆ ของแป้ง และความกรุบกรอบของทองม้วน กินด้วยกันในคำเดียวฟินมาก
และขาดไม่ได้คือชา single origin วันนีได้ลอง 2 ตัวคือ Chiang Rai กับ Pattani (110 บาท) เสิร์ฟมาในกาพร้อมแก้วใส่น้ำแข็งและนม เทชาลงไปอันดับแรกจะได้ตื่นตากับสีส้มอมแดงแสนสวย ก่อนจะได้กลิ่นหอมๆ และปิดท้ายด้วยความเข้มข้น ที่ยกให้ชาปัตตานีเข้มกว่าเชียงรายอยู่เล็กน้อย ใครสายชาเข้มข้น แนะนำเลย
แม้จะเพิ่งเปิดได้ไม่นาน แต่คุณแพรบอกว่ามีแพลนจะขยายสาขา โดยยังคงอยู่ในช่วงมองหาโลเกชั่นที่เหมาะสม ระหว่างนี้ใครอยากลองชาไทยแบบมาที่เดียวกินได้สารพัดเมนู เชิญที่ Khiri Thai Tea เปิดตั้งแต่เช้า ปิดมืด ไหว้พระตอนเช้าเสร็จ แวะมานั่งชิลล์ได้ หรือใครรอเวลาไปตะลุยสตรีทฟู้ดเยาวราชช่วงกลางคืนก็แวะมาจิบชาไทยรอเวลาได้เช่นกัน เพราะไปมาสะดวก ง่ายสุดคือ MRT สถานีหัวลำโพง ทางออก 1 เดินต่อ 5 นาที หรือจะสถานีวัดมังกรก็ได้ เดินมาทางถ. แปลงนามได้เลย ร้านอยู่ข้างวัดไตรมิตรฝั่งวงเวียนโอเดียน ใครขับรถมา สามารถจอดได้ที่ตึกบีบีซีเอเชีย (ชั่วโมงละ 40 บาท)
Khiri Thai Tea
พิกัด: ข้างวัดไตรมิตร ฝั่งวงเวียนโอเดียน
เปิด-ปิด: 9.00 – 20.00 น. (ทุกวัน)
โทร: 064 424 2929 Facebook : Khiri Thai Tea