ลองทำ ‘เจลลีคอฟฟี่’ ตามสูตร My Tokyo Café หนังสือรวมความอร่อยของ ‘บิ๊มกินแหลก‘

601 VIEWS
PIN

image alternate text
หนังสือที่ยกเมนูอร่อยจากคาเฟ่โตเกียวมาไว้ที่บ้าน

ฉันเห็นคอมเมนต์แฟนเพจหลายคนที่ทำอาหารและขนมตามสูตรหนังสือ My Tokyo Café ของเชฟบิ๊ม หรือบิ๊มกินแหลกล้างโลก มายืนยันว่าแต่ละสูตรนั้นอร่อย เปิดโลก เพราะเป็นสูตรที่เชฟบิ๊มได้ไปตระเวนกินตามคาเฟ่เมืองต่างๆ ของญี่ปุ่นแล้วเกิดหลงใหลในรสอร่อยขึ้นมา จึงคัดสรรและรวบรวมสูตรเหล่านี้ไว้ในหนังสือกว่า 22 สูตร 

แล้วจะพลาดเล่มนี้ไปได้ยังไง เลยขอลองทำขนมเจลลีคอฟฟี่ ตามสูตรเชฟบิ๊มดูบ้าง ยิ่งพอนึกว่ามันเป็นเมนูเดียวกับที่คาเฟ่ญี่ปุ่นเขาขาย แต่ฉันทำกินเองที่บ้านได้ มันว้าวมาก เลยถือโอกาสมาแชร์ประสบการณ์กับเพื่อนๆ ในฐานะมือใหม่หัดทำ

My Tokyo Café หนังสือสนองนี้ดของเชฟบิ๊ม ที่หลงใหลในความอร่อย

ก่อน Bim กินแหลกล้างโลก จะเดบิวต์เป็นบิ๊มกินแหลกฯ ของทุกคนในวันนี้ คุณบิ๊มเคยเป็น ‘เชฟบิ๊ม’ แห่งสำนักพิมพ์แสงแดดมาก่อน แถมยังมีหนังสือสูตรอาหารขายดีติดอันดับ หนึ่งในนั้นคือหนังสือชื่อว่า My Tokyo Café

My Tokyo Café เรียกว่าเป็นหนังสือสนองนี้ดของเชฟบิ๊ม ปรางแก้ว บัณฑิตรุ่งโรจน์  ซึ่งเคยใช้ชีวิตเป็นนักเรียนที่ญี่ปุ่น และใช้เวลาไปกับคาเฟ่หลายแห่งในญี่ปุ่น ตระเวนกินอาหาร ขนม ตามเมืองต่างๆ ความธรรมดาของเมนูคาเฟ่ที่ล้วนเป็นเมนูทำง่าย แต่รสชาติอร่อยล้ำอย่างไม่น่าเชื่อ กลายเป็นเสน่ห์ตกให้เชฟบิ๊มผู้รักการกินเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลจนเข้าขั้นติดงอมแงม 

เมื่อถึงคราวต้องกลับไทย แต่ดันเสพติดรสอร่อยล้ำจากอาหารจานเดียวในคาเฟ่ญี่ปุ่นอย่าง โครเกตต์ครีมปู  สลัดหมูชาบูแฮมเบิร์ก ข้าวแกงกะหรี่ แซนด์วิชหมูทอด หรือเบเกอรีอย่างโรลครีมชีส ฮันนี่โทสต์ บุรามันเจะ ฯลฯ แต่หากินรสชาติแบบนี้ไม่ได้ที่ไหน เชฟบิ๊มเลยทุ่มสุดตัวรีเสิร์ชข้อมูล ทั้งสูตรจากคำบอกเล่าของเพื่อนชาวญี่ปุ่น บวกกับวิชาความรู้ของตัวเองที่เรียนจบปริญญาบัตรด้านขนมหวานและเบเกอรีจาก Tsuji Gakkuen โอซาก้า จึงถอดสูตรอาหารและขนมคาเฟ่รสชาติอย่างที่กินที่ญี่ปุ่นมากว่า 22 สูตร เรียกว่าอร่อยเป๊ะ เหมือนยกคาเฟ่โตเกียวมาไว้ที่บ้าน ถ่ายทอดจานประทับใจในความทรงจำ ออกมาเป็นรสอร่อย สำหรับเชฟบิ๊ม อาหารและขนมญี่ปุ่นกลายเป็นสิ่งหนึ่งในหลายๆ สิ่งที่ทำให้ตกหลุมรักญี่ปุ่น 

22 สูตรอร่อย จากโตเกียว 

ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้คือแต่ละสูตรผ่านการคัดสรรโดยเชฟบิ๊มที่ได้ลิ้มรสมาแล้วทุกจาน และแต่ละจานล้วนมีเรื่องเล่า เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ทำให้เรากินอย่างรู้เรื่องราวและอร่อยขึ้น โดยเมนูคาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่นมีทั้งอาหารคาวและหวาน สูตรขนมหวานหลายชนิดหารสอย่างญี่ปุ่นกินไม่ได้ในคาเฟ่เมืองไทย บางชนิดค่อนข้างเฉพาะ เช่น บุรามันเจะ เจลลีคอฟฟี่ แต่ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเมนูที่หาซื้อวัตถุดิบมาทำตามได้ง่าย  

อาหารคาวเป็นสไตล์ ‘โยโชกุ’ หรืออาหารฝรั่งสไตล์ญี่ปุ่น คือเป็นอาหารฝรั่งดัดแปลงปรุงให้รสถูกปากชาวญี่ปุ่น เน้นเมนูทำง่าย วัตถุดิบไม่มาก อร่อยไว เช่น แฮมเบิร์ก โครเกตต์ครีมปู ข้าวแกงกะหรี่ ฯลฯ 

เมนูหนึ่งที่ฉันเห็นว่าน่ากินมากคือ ‘สลัดชาบู’ เป็นเมนูบ้านๆ ที่หากินได้ตามคาเฟ่ในต่างจังหวัดของญี่ปุ่น และเป็นเมนูทำง่าย เรียกว่าไม่ต้องงัดสกิลอะไรออกมาใช้ให้เปลืองแรง เพราะสูตรเขียนอัตราส่วนระบุไว้ชัดเจนและวิธีทำไม่ซับซ้อน ลวกหมูสไลซ์กับผักให้สุก ปรุงน้ำสลัดสไตล์ญี่ปุ่นราดลงไป (ทีเด็ดอยู่ที่สูตรน้ำราดนี่ละค่ะ) ดูวิธีทำแล้วจินตนาการได้ว่ารสชาติจะออกมาประมาณไหน ยิ่งชวนกินเข้าไปใหญ่ ฉันเห็นคอมเมนต์แฟนหนังสือมายืนยันว่าเขาทำสลัดชาบูตามสูตรในหนังสือเล่มนี้แล้ว อร่อยมากๆ จนจดไว้ในลิสต์ว่าเป็นเมนูหนึ่งที่จะต้องทำให้ได้ 

แชร์ประสบการณ์ทำเจลลี่คอฟฟี่ตามเชฟบิ๊ม

เกริ่นก่อนว่าฉันเป็นคนที่เข้าครัวทำอาหารกินเองอยู่บ้าง แต่ไม่ถนัดอาหารหวานอย่างเบเกอรีเอาซะเลยค่ะ ลองทำแล้วรู้สึกไม่เข้ามือ ไม่มีความอดทนกับการทำขนมสักเท่าไร เดิมทีอยากจะเริ่มทำสลัดชาบูเป็นเมนูแรก เพราะทำง่ายและน่ากิน แต่! มันไม่ท้าทาย ไหนๆ ก็อยากมาแชร์ให้เพื่อนๆ ชาวครัวรู้ด้วยว่าสูตรในหนังสือเล่มนี้ที่ซับซ้อนขึ้นมาหน่อยมันยากสำหรับเบเกอมือใหม่เหมือนๆ กันอย่างฉันไหม เลยมาลงเอยที่ ‘คอฟฟี่เจลลี’ เพราะชอบดื่มกาแฟ 

ถ้าตัดความชอบส่วนตัวออกไปก่อน ความน่าสนใจของเมนูนี้คือเป็นขนมหวานยอดฮิตของญี่ปุ่น โด่งดังตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963 โดยร้านเลือกใช้คำว่ากินแทนดื่ม ซึ่งถือว่าแปลกใหม่มากในยุคนั้น ตัวเจลลีทำจากกาแฟ แล้วราดนมสด เวลาตักกินได้รสชาติเหมือนกินกาแฟเย็น เดี๋ยวนี้แต่ละร้านก็ครีเอทปรับเปลี่ยนไปหลายรูปแบบ เช่นในสูตรที่เชฟบิ๊มแนะนำนี้ ดัดแปลงนมสดเป็นครีมทีรามิสุเวอร์ชั่นสัมผัสอ่อนนุ่ม ไม่แข็งอย่างครีมทีรามิสุ ได้รสครีมที่มันและเข้มกว่านม กินคู่กับตัวเจลลีกาแฟหอมๆ รสขมนิดๆ แล้วเข้ากันมาก  

ส่วนผสมทั้งหมดหาซื้อได้จากซูเปอร์มาร์เก็ต

ฉันทำตามสเตปที่หนังสือเขียนไว้ เริ่มจากทำตัวฐานครีมก่อน ตั้งหม้อทำน้ำเชื่อมให้เดือดจนถึงอุณหภูมิ 117 องศาเซลเซียส ระหว่างนี้ตีไข่แดงด้วยเครื่องตีไข่ไฟฟ้า ความเร็วต่ำ น้ำเชื่อมเดือดได้ที่เอามาเทใส่ไข่แดงที่ตีไว้ ตีให้เข้ากันจนเนื้อข้นเหนียว หน้าตาเหมือนภาพในหนังสือเป๊ะเลย 

เติมมัสคาโปเน่ที่วางไว้ให้ละลายในอุณหภูมิห้องลงไปในส่วนผสมไข่แดงที่เราตีไว้ คนให้เข้ากัน 

คราวนี้มาตีวิปปิ้งครีมค่ะ ในสูตรบอกว่าให้ตีวิปปิ้งครีมขึ้นฟู 80 เปอร์เซ็นต์ แต่! ฉันไม่รู้ว่าวิปปิ้งครีม 80เปอร์เซ็นต์ที่ว่านี่มันต้องหน้าตาแบบไหน เลยเปิดหาข้อมูลในเว็บ KRUA.CO เตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มทำ  (คลิกดูบทความ เจาะลึกวิปปิ้งครีม) ได้วิปครีมแล้วก็เอาส่วนผสมไข่แดงที่เราตีไว้ มาเทใส่วิปครีม แบ่งเท 2-3 รอบ ค่อยๆ ใช้ไม้พายตะล่อมเบามือ ให้ส่วนผสมเป็นเนื้อเดียวกัน

ตักใส่ถ้วยแก้วแช่ตู้เย็นช่องธรรมดาประมาณ 3 ชั่วโมง รอให้เซตตัวดี 

ตั้งหม้อทำเจลลี่กาแฟ ใช้ผงกาแฟคนกับน้ำร้อน แล้วเทลงในหม้อยกขึ้นตั้งไฟกลาง เติมน้ำตาลทรายลงไป น้ำตาลทรายละลายก็ปิดไฟ แล้วเติมแผ่นเจลาตินที่เราแช่น้ำไว้แล้วลงไปคนจนละลายดี พักไว้ให้อุณหภูมิเย็นลง เตรียมเทใส่ถ้วยครีมได้เลย

ส่วนฐานครีมเซตตัวดีแล้ว เอาออกจากตู้เย็นค่อยๆ รินเจลลี่กาแฟลงไปนะคะ ถ้ารินแรงเกินหน้าจะไม่เรียบ ฐานครีมจะกระฉอกเอาได้ แก้วแรกฉันมือหนักหน้าครีมกระเซ็นไปแล้ว เพราะถึงเนื้อครีมจะเซตตัวดีแต่ด้วยความที่เนื้อไม่หนักถ้าเราเทแรงเนื้อครีมด้านบนก็กระเซ็นได้ค่ะ เทจนหมดแล้วก็แช่ตู้เย็นให้ตัวเจลลีด้านบนเซตตัวอีกรอบ 

อิตาดาคิมัส จะกินแล้วนะคะ!

ครีมนุ่มๆ เย็นๆ รสหวานมันกำลังดี พอตัดกับรสขมๆ ของเจลลีกาแฟแล้วเข้ากันมากค่ะ อร่อย! เป็นอีกเมนูที่แนะนำให้ลองทำกินกันดูเลย ใครที่ดื่มกาแฟอย่าแล้วน่าจะเอนจอยกับเมนูนี้แน่นอน   

ไม่ยากอย่างที่คิด มือใหม่ก็ทำได้: สารภาพว่าตอนอ่านสูตรฉันกังวลเอามากๆ สำหรับคนไม่ถนัดเบเกอรี ทุกอย่างดูซับซ้อนไปหมด แต่พอได้ลงมือทำ ค่อยๆ ทำไปทีละขั้นตอนตามคำอธิบายในหนังสือ มันก็สำเร็จออกมาเป็นเจลลีคอฟฟี่ที่กินอร่อย ตอนทำก็สนุก แล้วพอนึกว่ามันเป็นเมนูเดียวกับที่คาเฟ่ญี่ปุ่นเขาขาย แต่ฉันทำกินเองที่บ้านได้ มันว้าวมาก  ยืนยันได้เลยว่าใครก็ทำเมนูคาเฟ่โตเกียวได้ มาเปิดคาเฟ่ที่บ้านกันค่ะ 🙂 

NOTE:   

การรักษาเวลา เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ! ฟังดูเหมือนไลฟ์โค้ชมั้ยคะ ฮ่าๆ ตั้งใจมาโค้ชให้ฟังเลยแหละ เพราะมันพังจริงๆ – – – ในสูตรระบุให้รอเนื้อขนมเซตตัวประมาณ 3 ชั่วโมง แต่ฉันลักไก่รอไม่นานประมาณชั่วโมงกว่าเพราะเห็นว่ามันก็ดูเซตตัวแล้วนะ พอเทเจลลี่กาแฟลงไป ตัวเจลลีกับเนื้อครีมไหลรวมเป็นหนึ่งเดียวกันทันทีแทนที่จะเป็นเลเยอร์สวยงาม หน้าตาดูพะอืดพะอมเลย ถ้วยอื่นๆ เลยรอครบ 3 ชั่วโมงไปแล้วและเช็กให้แน่ใจว่าเซตตัวดี ก่อนเทเจลลีกาแฟลงไปค่ะ

อุณหภูมิสำคัญทำเจลลีคอฟฟี่ไม่ถึงกับต้องเปิดแอร์ทำ แต่อุณหภูมิสำคัญในขั้นตอนการแช่ รอเซตตัว และเวลาจะกิน ขนมที่ทำเสร็จแล้ว เอาออกจากตู้เย็นให้กินทันทีค่ะ เพราะอากาศร้อนๆ แบบบ้านเราวางขนมไว้ไม่เกิน 10 นาที เนื้อจะเริ่มเหลว 

ทิ้งความเพอร์เฟกต์ไปบ้าง: ถ้ามันออกมาไม่เป๊ะ ไม่สวยบ้างก็ไม่เป็นไรค่ะ อย่าลืมว่าเราคือมือใหม่  นี่คือครั้งแรกของเราเหมือนกัน เอนจอยโมเม้นต์กันเถอะ 🙂 

หนังสือเล่มนี้เหมาะกับใคร

นอกจากสูตรอาหารที่เชฟบิ๊มคัดสรรมาอย่างดี บอกเล่าละเอียดทุกขั้นตอน ทำตามได้ง่าย เชฟบิ๊มยังพาเราไปเปิดโลกคาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่นผ่านเกร็ดเรื่องเล่าวัฒนธรรมคาเฟ่ในญี่ปุ่นสนุกๆ เช่น คาเฟ่บาร์ คาเฟ่แมว เมดคาเฟ่ ฯลฯ ใครรู้ตัวว่าหลงใหลในอาหารและเบเกอรีคาเฟ่ญี่ปุ่น รวมถึงหลงรักความอร่อยแล้วละก็ไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้เด็ดขาด 

คลิกดูตัวอย่างหนังสือและสั่งซื้อได้ที่
Shopee : shorturl.at/bdvxN
Lazada : https://rb.gy/yuq1nv
Line OA : https://bit.ly/3vUj3ji

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS