‘สลัด’ อร่อยง่ายแบบเฮลธ์ตี้ในจานเดียว

3,344 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
เทคนิคการทำสลัดง่าย ๆ ให้หลากหลาย แบบที่ได้ทั้งสุขภาพและความอร่อย

เมื่อไม่กี่ปีก่อนสลัดอาจเป็นอาหารสุขภาพสุดน่าเบื่อ ผักเขียวๆ กินกับทูน่ากระป๋องหรือแฮมต้ม เดี๋ยวนี้ใครเสิร์ฟสลัดแบบนั้นคงถือว่า out ไปแล้ว เพราะสลัดเป็นมากกว่าผักรองท้อง มันกลายเป็นอาหารจานหลักที่มีครบทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วต่างๆ และเป็นอาหารที่น่าสนใจมากๆ

หัวใจของสลัดมี 3 ข้อ คือ ผักสดสะอาด น้ำสลัดอร่อย และรสสัมผัสที่หลากหลาย

ข้อแรกท่องไว้ว่า หัวใจสำคัญของการกินสลัดคือเพื่อสุขภาพ ถ้าล้างผักไม่สะอาด แทนที่จะได้ประโยชน์จากผัก ร่างกายอาจได้สารพิษไปแทน วิธีล้างผักที่ซื้อมาเป็นหัวๆ ให้แกะออกเป็นใบ ๆ ทิ้งส่วนเหี่ยวช้ำ เลือกเฉพาะส่วนที่สด แช่น้ำเย็น (ใส่น้ำแข็ง) ใส่เกลือหรือเบกกิ้งโซดา (น้ำ 4 ลิตรต่อเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ หรือน้ำ 4 ลิตรต่อเบกกิ้งโซดา ¾ ช้อนชา) ข้อมูลวิจัยกล่าวไว้ว่า เกลือสามารถลดสารพิษในผักได้ร้อยละ 20-40 ส่วนเบกกิ้งโซดาลดได้ร้อยละ 90-95 แต่ข้อเสียคือ หากแช่ผักทิ้งไว้นาน หรือล้างเบกกิ้งโซดาออกไม่หมด เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้ท้องเสีย หรือบางคนจะแช่น้ำยาแช่ผักสัก 15 นาทีก็ได้ หลังจากนั้นเปิดน้ำผ่านเบา ๆ ให้สะอาด สะเด็ดน้ำให้แห้ง มิฉะนั้นเวลาคลุกกับน้ำสลัด รสชาติสลัดจะจืดชืด เคล็ดลับอีกอย่างถ้ามีเวลาหลังล้างผักแล้วให้แช่ผักในตู้เย็นสักชั่วโมงเพื่อให้เวลากิน ผักจะกรอบอรอ่ย

น้ำสลัดอร่อยเป็นหัวใจถัดมา เกิดจากการผสมระหว่างน้ำมัน มายองเนส ซาวร์ครีม โยเกิร์ต น้ำส้มสายชู เครื่องปรุง และสมุนไพรต่างๆ น้ำสลัดที่สายเฮลธ์ตี้ชอบน่าจะเป็นน้ำสลัดแบบใส (Vinegrette) ส่วนน้ำสลัดแบบข้นสำหรับคนทั่วไปถือว่ากินง่าย เพราะรสชาติออกมัน ๆ เข้มข้นจากมายองเนส ซาวร์ครีม หรือโยเกิร์ต ในขณะที่น้ำสลัดน้ำใสเกิดจากผสมน้ำส้มสายชูและน้ำมันเข้าด้วยกัน ซึ่งแต่ละประเภทให้รส กลิ่น และสีต่างกันออกไป เลือกผสมเอาตามความชอบ ถ้าบ้านไหนกินสลัดบ่อยๆ แนะนำให้ทำน้ำสลัดเอง ปลอดภัยไม่มีสารกันบูด เก็บเข้าตู้เย็นได้นาน 1-2 สัปดาห์

หัวใจข้อสุดท้ายคือ สัมผัสและรสชาติอันหลากหลาย อย่าปล่อยให้สลัดของคุณมีแต่ผักสลัดน่าเบื่อๆ อย่างผักกาดแก้ว  กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค คุณควรหาผักใบเขียวที่หลากหลาย เช่น เลสตัส ปวยเล้ง วอร์เตอร์เครส หรือผักใบอ่อน ใบแก่ผสมกัน เช่น เบบี้คอส เบบี้เลตัส หรือแม้กระทั่งผักเนื้อแข็งจำพวกราก เช่น แครอท บีทรูท โดยนำมาต้มก่อน หรือสไลซ์บางๆ กินสด เพื่อรับประทานง่ายขึ้น นอกจากนี้ที่พบบ่อยตามร้านอาหาร เรียกกันว่า Composed salad เป็นการปรุงผัก เนื้อสัตว์ แยกกัน แล้วนำมาจัดจานรวมกัน สลัดประเภทนี้มักเน้นเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ปลาทูน่า สเต๊กเนื้อ นำไปปรุงรสแล้วปิ้งหรือย่าง นอกจากนี้เราสามารถเพิ่มความกรุบกรอบให้สลัดโดยการโรยกรูตอง ถั่วอบ ธัญพืชอบ เข้ามาเพิ่มและตัดรสชาติให้อร่อยยิ่งขึ้น หรือใส่คาร์โบไฮเดรตและโปรตีนจำพวกข้าวบาร์เลย์ พาสต้า ชีส ไข่ต้ม เพื่อให้กินแล้วอยู่ท้องมากขึ้น เมื่อเราใช้หลัก 3 ข้อนี้มามิกซ์แอนด์แมตช์กับสิ่งที่เรามีในครัว เท่านี้ก็ปรุงสลัดให้เป็นอาหารสุขภาพอันน่าตื่นเต้นได้ไม่ยาก

ดูสูตรสลัดหอยเชลล์ได้ที่นี่

ดูสูตรสลัดคอบบ์ได้ที่นี่

ดูสูตรสลัดกรีนกอดเดสได้ที่นี่

 

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS