โอ๋-ธรรมศักดิ์ ลือภูวพิทักษ์กุล คือนักร้องนำของศิลปินกลุ่มแรกจากค่ายสนามหลวงมิวสิก อย่างวง P2Warship เหล่านักดนตรีจอมยุทธ์ที่แม้จะห่างหายไปนาน แต่เรายังคงจดจำเพลงของพวกเขาได้จนถึงวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ‘เมารัก’ ‘จอมยุทธ์’ และ ‘อย่า อยู่ อย่าง อยาก’ เพลงยอดนิยมแห่งยุคที่เรียกได้ว่าติดท็อปชาร์ตแทบทุกคลื่นวิทยุ
เรานับนิ้วไล่ปีย้อนหลังไปจนถึงช่วงที่เริ่มรู้จักกับเพลง อย่า อยู่ อย่าง อยาก จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว และในช่วงเวลาระหว่างนั้น โอ๋-หนึ่งในเสียงร้องของ P2Warship ได้เริ่มผันตัวเข้าสู่อาชีพเกษตรกร มีความสุขกับ ‘Hip Incy Farmville’ สวนอินทรีย์ที่ไม่จำเป็นต้องมีป้ายรับรอง บนพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ในซอยนาคนิวาส 30 (ลาดพร้าว 71) มานานกว่า 8 ปี – เป็น 8 ปีที่เขาได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ได้ทำให้สิ่งที่อยาก โดยไม่ต้องรอให้ถึงหลังเกษียณ
ขุดสนามบอลมาทำสวนผัก: จุดเริ่มต้นของชีวิตที่ไม่ต้องอยู่อย่างอยาก
สิ่งหนึ่งที่หลายคนน่าจะนึกไม่ออก ก็คือเหตุผลที่นักร้องอาชีพคนหนึ่งตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตในฐานะเกษตรกรเต็มเวลา เมื่อเรามีโอกาสได้เข้ามาคุยกับโอ๋ถึงสวนหลังบ้าน ท่ามกลางเสียงเป็ดไก่ในเล้าแทรกมาเป็นระยะ นี่คือคำถามแรกที่เรายิงใส่เขาแบบไม่อ้อมค้อม – ทำไมถึงเลือกชีวิตแบบนี้?
“ก่อนหน้านี้เราก็ทำมาหลายอย่างนะ จบออกแบบมาก็เปิดบริษัทอินทีเรียครับ แล้วก็ไปฝึกงานถ่ายรูปอยู่ปีหนึ่ง ได้เรียนรู้เรื่องสตูดิโอแฟลช ได้เรียนรู้เรื่องงานสตูดิโอ ก็เลยมาต่อยอด ทำจิวเวอรีกับญาติๆ หลังจากนั้นก็ทำเพลงมาเรื่อยๆ พอมันหมดช่วงโปรโมตอัลบัม ก็มาคิดว่าเราจะทำอะไรดี ไม่ต้องไปทำอินทีเรีย ไม่ต้องทำอะไรที่เซอร์วิสคนเยอะๆ แล้ว มันปวดหัว
“ก็เลยว่าจะทำอะไรอยู่บ้าน เหมือนขายของอ่ะ เก็บเงินสดทุกวัน แล้วก็มีเวลาเยอะๆ สุดท้ายทำสนามฟุตบอล ช่วงนั้นยังไม่ค่อยมีสนามเท่าไหร่ เราไม่ใช่คนเตะบอลเลยนะ แค่ว่ามีที่อยู่พอดี ก็เลยทำ แต่ว่า เอ๊ะ มันก็เกิดคำถามว่า ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันจะใช่เราหรือเปล่าวะ มันก็ไม่ใช่เรานี่ ดูบอลยังไม่ดูเลย อ้าว แต่มันตอบโจทย์เรื่องรายได้นะ ยังเป็นช่วงที่คิดวนๆ อยู่อย่างนี้
“จนวันหนึ่งน้ำท่วมกรุงเทพฯ แม่อยู่มีนบุรี น้ำท่วม ก็เลยย้ายมาอยู่กับเราด้วย พอแม่มาอยู่นี่แม่ก็เริ่มเก็บผักริมรั้วมาให้กิน ไม่ได้หมายถึงเด็ดมาจิ้มน้ำพริกกินนะ แต่เป็นอาหารที่ เอ้า! เห็นลูกตำลึงริมรั้ว มาช่วยกันเก็บหน่อย เอามาผ่าครึ่ง บีบไส้ออก แช่น้ำเกลือไว้ กลายเป็นแกงคั่วส้มลูกตำลึงดอง คือต่อให้มีเงินก็หาซื้อกินไม่ได้ ในขณะที่ตามห้าง ตามซูเปอร์มาเก็ต ไม่มีของกิน เพราะน้ำท่วม
“เราก็เลยเห็นภาพที่มันขัดกับชีวิตตอนนั้นเลย ว่าเรามีของริมรั้วแล้วมาทำอาหารกินได้ ในขณะที่เกิดภัยพิบัติ คนไม่มีอะไรกิน แล้วแม่ก็เริ่มปลูกผัก เราก็คิดว่าแล้วมันจะได้กินเหรอ ปรากฏว่าแป๊บเดียว สองอาทิตย์ได้เก็บคะน้าต้นอ่อนกินแล้ว ผ่านไปเดือนเดียว มีของกินเต็มเลย เราเลยเห็นว่าอยู่แบบนี้มันดีนี่ อยากอยู่แบบนี้จังเลย
“ตอนนั้นก็มานึกได้ว่า ถ้าจะบอกว่าอยากอยู่อย่างพอเพียง ทำไมไม่ทำเลยละ ทำไมต้องรอให้เกษียณก่อน เพราะพ่อผมก็เป็นตัวอย่างให้ดูแล้ว เขาเกษียณแล้ว อยากทำสวนแบบเศรษฐกิจพอเพียงแต่ไม่มีแรง เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเราอยากทำเราก็ทำวันนี้เลย แล้วเราก็ไม่ได้ชอบบอลอยู่แล้ว ก็เอาเลยแล้วกัน ก็เอาที่สนามบอลนี่แหละมาทำสวนเลย”
กว่าจะเข้าใจออร์แกนิก
“เราเริ่มจากปลูกเพื่อกิน แค่ต้องการพึ่งพาตัวเอง แค่นี้เลย ไม่ได้สนเรื่องต้องปลอดสารพิษหรืออะไร แต่แน่นอนว่าจะใช้ฉีดยาเราก็คงไม่ฉีด จิตใต้สำนึกมันก็รู้ครับ ปลูกกินเองคงไม่มีใครอยากใช้สารเคมีถูกไหม ทำไปเรื่อยๆ ระหว่างนั้นถ้ามีอบรมที่ไหนก็ไป ไปแล้วกลับมาก็จะรู้มากขึ้นเรื่อยๆ อ๋อ สารพิษมีปัญหาเหรอ ปุ๋ยเคมีมีปัญหาเหรอ ไฮโดรโปนิกส์ไม่ใช่อินทรีย์เหรอ เรื่องพวกนี้ก็ค่อยเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ตอนแรกไม่ได้คิดแบบนี้เลยนะ ยังคิดเลยว่า ข้างล่างจะปลูกผักอย่างหนึ่งนะ แล้วข้างบนจะปลูกโฮโดรโปนิกส์ มารู้ที่หลังว่ามันจะอินทรีย์ได้ยังไงวะ โฮโดรโปนิกส์มันไม่ใช่ออร์แกนิกนี่ ปุ๋ยเอปุ๋ยบีก็สารเคมีทั้งนั้น”
ปัญหาประการแรกที่คนเมืองมักเจอคล้าย ๆ กัน ก่อนจะตั้งตัวได้ในฐานะของเกษตรกร ก็คือการไม่มีพื้นฐานเรื่องงานเกษตรมาก่อน ทุกอย่างที่เคยรับรู้มาเป็นเพียงข้อมูลผ่านหูผ่านตาที่ไม่ได้เจาะลึกลงถึงรายละเอียด กับเจ้าของฟาร์มอินทรีย์แห่งนี้ก็เช่นกัน
“เอาตั้งแต่เรื่องปลูกสวยงามเป็นระเบียบเลย เมื่อก่อนผมดึงตลับเมตรปลูกกล้วยนะ (หัวเราะ) แบบว่าเป็นอินทีเรียเก่าไง จะทำสวนทั้งทีก็ต้องทำให้สวยสิ เราคิดตลอดว่าทำไมสวนเกษตรมันไม่สวยเลยวะ เนี่ย เดี๋ยวถ้าได้ทำเองนะจะจัดพื้นที่ให้สวยๆ เลย ปรากฏว่าชีวภาพมันไม่ได้ทำงานแบบนั้น มันมีอะไรที่เอื้อกันตลอดเวลา ที่ตอนนี้ปลูกรวมกันเป็นกอๆ รกๆ อย่างนี้ เพราะเข้าใจแล้วว่าต้นนี้ก็ไล่แมลงให้ต้นนั้น ต้นนั้นก็ไล่แมลงให้ต้นนี้ ต้นนี้เป็นพี่เลี้ยงให้ต้นเล็กก่อน พอต้นเล็กโตเราก็ตัดต้นเดิมออก มันพอดีกัน
“คือเอาจริงๆ นะ พอปลูกแบบผสมผสานแล้ว ผมขี้เกียจมากเลย ไม่ต้องดูแลมันเยอะเลย มันไม่ตายหรอก ยังไงก็มีกิน แล้วถ้าเกิดทำไปเรื่อยๆ จะขี้เกียจขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ผักพวกนี้นะ ปีแรกๆ ต้องพรวนดิน แยกกล้า ปลูกห่างกันเท่านั้นเท่านี้ สวยงาม เป็นประเภทเน้นความสวยงาม แต่ตอนนี้บางทีขี้เกียจแล้ว ก็หว่านเลย ต้นติดกันมาก ต้นเล็ก แล้วยังไงล่ะ ก็กินเอง นึกออกไหม คือมันไม่มีปัญหากับเราเลย แค่คิดว่าได้กินอาหารที่ตัวเองปลูกก็พอ เพราะฉะนั้นตอนแรกคำว่าออร์แกนิกนี่เป็นแค่ผลพลอยได้นะ แต่ตอนหลังมันคือชีวิตเราเลย”
อินทรีย์ไม่มีป้าย
แม้จะใช้ชื่อว่า Hip Incy Farmville แต่ฟาร์มแห่งนี้ไม่ได้เป็น ‘อินทรีย์’ ด้วยการรับรองของหน่วยงานใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมุมมองต่อคำว่า ‘อินทรีย์’ หรือ ‘ออร์แกนิก’ ของจอมยุทธ์แห่งสวนผักคนนี้ แตกต่างจากการตีความด้วยป้ายบอกมาตรฐานหรือหน่วยงานไหน ๆ
“เรานึกถึงคำพูดของพี่โจน (โจน จันได) พี่โจนเคยบอกเราว่า ทำไมเราต้องทำใบเซอร์ฯ ใบรับรองด้วย ในเมื่อคนที่ใช้สารเคมีไม่เห็นต้องทำใบอะไรเลย เราก็เลยมาคิดว่า เออว่ะ เราทำมาขนาดนี้แล้วต้องพึ่งใบเอกสารอีกเหรอ สุดท้ายแล้วเราเชื่อว่าถ้าเอาหน้าแปะยังมั่นใจได้มากกว่า เคยไปตลาดที่ญี่ปุ่น เป็นคล้ายๆ Farmer’s market เขาก็เอาหน้าคนปลูกนั่นแหละแปะ มันเป็นตลาดชุมชน ดูก็รู้กันแล้ว ยายเมี้ยนปลูกมัน ตาไหวปลูกผัก ก็เป็นอันรู้กัน พวกนี้มันอาจจะสำคัญกว่าตรารับประกันอีก เพราะเรารู้ว่า ถ้าเป็นตาคนนี้ ยายคนนี้ ให้ตายยังไงเขาก็ไม่ใช้สารเคมีหรอก
“ประเด็นสำคัญที่สุดอันหนึ่งเลยสำหรับเรื่องแปะป้าย ไม่แปะป้าย มันมีประเด็นพึ่งพาตัวเองกับประเด็นออร์แกนิก ถ้าแค่พึ่งพาตัวเอง ก็ทำไป ออร์แกนิกไปเอง แต่ก็จะไม่มีป้าย ซึ่งพอเราพยายามมีป้ายไป มันก็ไม่ค่อยพึ่งพาตัวเองแล้ว ต้องให้คนอื่นมาออดิต ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมา”
ประเด็นเรื่องการเข้าถึงมาตรฐานออร์แกนิกสากลยังเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเกษตรกรไทย นอกจากจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากมาย ยังใช้เวลาในการติดต่อกับหน่วยงานหลายแห่ง ซ้ำยังมีมาตรฐานหลายแบบจากหลายผู้รับรอง จนสินค้าเกษตรที่ได้รับตราออร์แกนิกอย่างครบถ้วนกระบวนความมีอยู่ในท้องตลาดน้อยยิ่งกว่าน้อย เมื่อมีปริมาณน้อย แต่ความต้องการซื้อมาก ราคาก็ย่อมสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“จริงๆ การทำทุกอย่างให้ได้ตรา มันก็ได้มาตรฐานนั่นแหละ แต่ในขณะเดียวกันก็ก้ำกึ่งกับการพึ่งพาตัวเอง อย่างที่บอกว่าปีละเท่าไรละ แล้วเกษตรกรจะเอาเงินที่ไหนไปตรวจ จ่ายทีหนึ่งก็อ่วมเลย ผู้บริโภคก็บอกว่าไหนออร์แกนิกปลูกง่าย ลดต้นทุนไง แล้วทำไมแพง ก็เนี่ย กว่าจะได้สติ๊กเกอร์มาตรฐานมาแปะ เราต้องเสียพื้นที่เท่าไรไว้ทำบัฟเฟอร์โซน เราต้องทำบ่อพักน้ำ ต้องใช้แรงเท่าไร มันจะถูกลงได้ยังไง
“ส่วนตัวแล้ว ที่ฟาร์มเรา เรามีนโยบายแค่ว่า เราไม่สนใจป้าย เราแค่ทำกิน มันอยู่ที่วัตถุประสงค์คนทำด้วยนะ เราเอาแค่มีกินมีใช้ก็พอแล้ว อย่างเป็ดไก่เนี่ย ถ้าช่วงที่อาหารอินทรีย์ไม่มา เราก็ใช้อาหารทั่วไปบ้างนะ แต่พืชผักเราจะไม่อะลุ่มอล่วย เพราะมันไม่ได้ต้องการอาหารขนาดนั้น
“แต่ถ้าไปในมุมที่กว้างกว่า สมมุติว่าจะส่งออกหรือขึ้นห้าง คนก็อาจจะไม่รู้จักยายเมี้ยนกับตาไหวแล้วใช่ไหม ตรารับรองก็คงจำเป็นขึ้นมา ผมว่ามาตรฐาน PGS ก็ยังเป็นเรื่องที่โอเค เป็นการตรวจสอบแบบมีส่วนร่วม มีกลุ่มที่ช่วยกันตรวจ แล้วก็ตรวจสลับกันด้วยนะ เพื่อความมีมาตรฐาน คิดว่าอาจจะเป็นอนาคตที่ดีได้”
ปันอยู่ปันกิน ออร์แกนิกแบบรู้หน้ารู้ใจ
นอกจากจะทำฟาร์มเพื่อเลี้ยงตัวเองแล้ว โอ๋ยังใช้พื้นที่ของ Hip Incy Farm เป็นแหล่งพบปะกันระหว่างเกษตรกรออร์แกนิกและผู้บริโภค ด้วยการรวมตัวกันของกลุ่ม Heart Core Organic และเครือข่ายเกษตรกรที่คุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่แล้ว ในชื่อ ‘ตลาดปันอยู่ปันกิน’ ตลาดออร์แกนิกที่ต้องพรีออร์เดอร์จากเฟซบุ๊กก่อน ก่อนจะมาชอปปิงกันได้ทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน
“ตอนแรกมันเป็นกลุ่มที่ไปเรียนกับเจ้าชายผัก มีวันหนึ่งคุณปรินซ์ เจ้าชายผัก (นคร ลิมปคุปตถาวร) ก็ชวนทุกคนที่ผ่านการอบรมไปแล้ว มาคุยกัน ตอนนี้ทำอะไรกันบ้าง ได้เอาความรู้ไปทำอะไรกันบ้าง สุดท้ายก็คืออยากจะทำอะไร ทุกคนก็จะพูดคล้ายๆ กันเลยว่า หลังจากที่อบรมแล้วเราต่างไปบอกคนรอบตัวมากขึ้นว่าอันนั้นไม่ดี อันนี้ไม่ดี อันนี้อันตราย อันนี้มีสารปนเปื้อน
“แล้วเราก็จะเป็นพวกฮาร์ดคอร์หน่อย (หัวเราะ) ไม่ได้นะ! อย่าใช้นะ! อันนี้ห้ามเลยนะ! ก็เลยบอกว่างั้นเราตั้งชื่อกลุ่มว่าเป็น Hardcore Organic ดีไหม แต่คุณปรินซ์ก็จะสไตล์เขาแหละ ก็มาบอกว่า เราเปลี่ยนเป็น Heart Core ไหมพี่ เป็นออร์แกนิกที่กลางใจ
“ซึ่งใน Heart Core Organic เขาก็มีกลุ่มดูแลสุขภาพเยอะแยะเลย แล้วก็จะคุยกันตลอด วันนี้ฉันจะไปเอาหมูที่นี่ ใครจะเอาบ้าง วันนี้ฉันจะไปเอาผักที่นี่ใครจะเอาบ้าง ไปเจอน้ำปลาที่นี่มาน่าสนใจไหม เลยมาคิดว่าเราน่าจะทำตลาดกันได้แล้วนะ เหมือนนัดวันนัดรับของ แรกๆ เราไม่เรียกตลาดนะ เราเรียกวันปันอยู่ปันกิน สุดท้ายก็ตัดสินใจกันว่าควรเปิดให้คนข้างนอกเข้ามาด้วย จะได้กระจายเรื่องกินอยู่ให้รู้จักกัน เป็นออร์แกนิกแบบรู้หน้ารู้ใจ”
นอกจากปัญหาเรื่องขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงมาตรฐานออร์แกนิกแล้ว เงื่อนไขบางประการของมาตรฐานออร์แกนิกยังสร้างข้อจำกัดให้ผู้ผลิต ทำให้เกษตรกรที่ตั้งใจผลิตอาหารดีๆ ต้องเสียโอกาสไปมากมาย
“แม้ว่าเราจะไม่มีป้ายของหน่วยงานไหน แต่เรามีมาตรฐานของเราที่เรายอมรับได้นะ อย่างเช่นปศุสัตว์อินทรีย์ เราจะหาจากไหน ไก่อินทรีย์ หมูอินทรีย์มีแค่ไม่กี่ที่เลยในประเทศเรา เราเลยขีดเส้นกันใหม่ว่าปศุสัตว์เรารับได้แค่นี้นะ แล้วเรียกว่าหมูปลอดภัย ไก่ปลอดภัย
“หรือว่าบางที่ มาตรฐานมันจะมีกฎระเบียบบางอย่างที่เราไม่เห็นด้วย อย่างคุณลุงคนหนึ่งทำมะพร้าว น่าจะดีที่สุดในประเทศสวนหนึ่งเลยนะ ชื่อคุณลุงวิทยา แต่เขาไม่ได้มาตรฐานออร์แกนิกเพราะเรื่องที่เอาขยะมารีไซเคิล มันไม่ใช่เรื่องอะไรแบบนั้นเลย
“ลุงวิทย์มาขายของที่ปันอยู่ปันกินเดือนละครั้งนะ ลุงก็ยังเตรียมไซจับปลามา ให้เราใส่ขยะ สุดยอดมาก แล้วนั่นคือสิ่งที่เขาทำ เขาพึ่งพาตัวเองด้วยการไปขายมะพร้าวก็เอาเศษมะพร้าวกลับมาเป็นปุ๋ย มะพร้าวก็กินปุ๋ยจากมะพร้าวนั่นแหละเราถามว่าลุงทำยังไง ดูแลยังไง ใส่ปุ๋ยไหม ลุงบอกไม่ต้องใส่ปุ๋ยเลย แต่ทำแบบนี้ๆ เอ้าเหรอ แค่นี้เองเหรอ แต่มะพร้าวลุงดีจริงๆ อร่อยจริงๆ ไม่ต้องมีป้ายรับรองอะไรมาแปะก็ได้ เอาหน้าลุงวิทยาแปะเลย เราก็ซื้อแล้ว
“ผู้ผลิตต้องทำนั่นนี่เต็มไปหมดเพื่อแลกกับความมั่นใจใช่ไหม แต่ถ้าเรากลับกันว่าผู้บริโภคช่วยเหลือตัวเองบ้าง เขาก็จะใช้ชีวิตที่ปลอดภัยได้ง่ายขึ้น เช่น มีการเยี่ยมชมฟาร์มก็ไปดูบ้าง สมมุติว่าตัวเองเป็นคนออดิตฟาร์มดู มันมีเยอะแยะเต็มไปหมดนะ หรือว่า ผักเจ้านี้ซื้อกับเขาบ่อยมากเลย เขาก็ไม่มีใบ ป้าขายที่ไหน ปลูกที่ไหน พาลูกไปเที่ยวได้ไหม เครือข่ายป้าอยู่ในนครปฐมเหรอ วันนั้นก็ไปสักสามที่สิ
“รู้หน้ารู้ใจกันเนี่ยมันสำคัญนะ ถ้าผู้ผลิตต้องเสิร์ฟหมดทุกอย่างอาจจะยากหน่อย จะให้ได้ซื้อในราคาสบายใจก็คงไม่ได้ แต่ถ้าเราช่วยเหลือตัวเองด้วย เจอกันครึ่งทาง ไปดูมาแล้วบอกต่อกัน เครือข่ายแบบนี้มันก็จะเกิดได้ง่ายขึ้น และเราก็จะไม่ต้องมองหาป้ายมาตรฐานอะไรเลย
(แต่ถ้าไม่มีเวลาล่ะ?)
ถ้ากลัวเสียเวลาก็อาทิตย์สุดท้ายมาปันอยู่ปันกินที่เดียวครับ แต่อย่าลืมพรีออร์เดอร์มาก่อนนะ ของไม่ได้มีเยอะ (หัวเราะ)