ประวัติศาสตร์สามารถส่งต่อผ่านอาหารได้ไหม? นี่เป็นคำถามสำคัญที่ทำให้เราเดินทางไปย่านสถานีรถไฟจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพูดคุยกับ 4 ลูกสาวตัวดีจากร้าน a perfect daughter Coffee & Eatery ร้านอาหารกึ่งคาเฟ่ที่เรียกตัวเองว่าเป็นสายเลือด จีน-ล้านนา ด้วยความภาคภูมิ
ความเป็นจีนไม่ได้จำกัดอยู่กับอาหารเหลา หรือข้าวมันไก่ไหหลำเท่านั้น แท้จริงแล้ววัฒนธรรมจีน สายเลือดจีน และอาหารจีน เดินทางไปทั่วประเทศ แปรเปลี่ยนและปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่เสมอไม่ว่าเหนือใต้ออกตก จนมีคำกล่าวเรียกชาวจีนที่สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดีว่าเป็น ‘เจ๊กกินน้ำพริก’ ซึ่งเป็นความไม่ PC (Political correctness) อย่างสนิทชิดเชื้อ
กับ a perfect daughter ร้านเล็กๆ ขนาดไม่กี่โต๊ะที่อยู่ในบูทีคโอเทลอย่าง ณ สราญ ก็เช่นกัน ในทุกรายละเอียดของร้านเต็มไปด้วยความเป็นจีน-ล้านนาร่วมสมัย ผ่านไอเดียและความตั้งใจของ 4 พี่น้องหญิงล้วน เจ้าของโรงแรมและร้านอาหารแห่งนี้
“เรามาคิดว่าถ้าเราอยากจะทำตรงนี้ให้เป็นร้านอาหาร เราจะทำแบบไหนดี สุดท้ายคำตอบของเราก็ตรงกันเป็นเอกฉันท์ ว่าเราจะทำให้เป็นจีนล้านนา” ออม – อิชยา อักษรโศภณพันธุ์ ผู้เป็น ‘ตั่วเจ๊’ หรือพี่สาวคนโตแห่ง a perfect daughter เล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของร้าน ที่แต่เดิมเป็นคาเฟ่ ขายเครื่องดื่มและเค้กให้กับลูกค้าของโรงแรมเป็นหลัก
การทำอาหารเช้าเสิร์ฟลูกค้าในโรงแรมคือจุดเริ่มต้นของไอเดียทั้งหมด อาหารตามใจฉันจากฝีมือของ 4 พี่น้อง กลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แขกทั้งขาจรและขาประจำต้องพูดถึงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นข้าวต้มกุ๊ยยามเช้าหรือต้มจับฉ่ายหอมๆ จึงจุดประกายให้ a perfect daughter ขยับขยายมาทำอาหารและมีคำว่า Eatery ต่อท้ายเมื่อไม่นานมานี้
“ทุกวันนี้เราก็ยังคุ้นกับการแนะนำตัวเองว่าเป็นคนจีนมากกว่านะ แต่เราก็พูดเมือง กินอาหารเหนือ จริงๆ อาม่าเป็นคนเชียงใหม่แท้ๆ ด้วย แต่อากงเป็นคนจีน ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเหมือนกับจีนอพยพยุคก่อนนั่นแหละ เราเกิดไม่ทันอากง แต่อาม่าก็ยังเลี้ยงเราให้เป็นครอบครัวจีน เราเลยมีสำนึกเป็นจีนมากกว่า แต่จีนแบบของที่บ้านเราและอีกหลายบ้านในย่านนี้ ก็คือจีนที่เป็นคนเมือง (คนล้านนา) คือทำอาหารจีนด้วย แต่ก็ทำแกงฮังเลอร่อยมากด้วยเหมือนกัน (หัวเราะ)”
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่เมนูอาหารของ a perfect daughter Coffee & Eatery จะเป็นเมนูลูกครึ่งลูกกลางที่เต็มไปด้วยความกลมกล่อมลงตัว ทั้งในแง่ของวัฒนธรรมและในแง่ของรสชาติ ไม่ว่าจะเป็น ผัดมี่สั้วอ่องปู (100 บาท) ที่นำเอามี่สั้วหรือมีอายุยืนเส้นยาววววว ตามความเชื่อของชาวจีน มาผสมผสานกับอ่องปูหรือมันปูนารสหอมมันไม่ต่างอะไรกับคานิมิโสะจากญี่ปุ่น เพิ่มรสชาติความเผ็ดด้วยน้ำมันพริก และเพิ่มความหอมด้วยเบค่อน ตัดความมันด้วยมะเขือส้มหวานฉ่ำ พร้อมใบชะพลูหรือใบแค สมุนไพรคู่สำรับของคนเหนือ นับว่าเป็นการผสมผสานที่เหมาะเจาะ แปลกใหม่แต่คุ้นเคยและบอกเล่าวัฒนธรรมจีนล้านนาได้อย่างชัดเจนเอร็ดอร่อยอีกจานหนึ่ง
จากอาหารจานเส้น ขยับมาสู่อาหารจานข้าวกันบ้าง กับ ข้าวหมูต้มซีอิ๊ว (120 บาท) หมูต้มซีอิ๊วเค็มหวาน เนื้อนุ่มละลายในปาก ใช้หมูสามชั้นอาหารคู่ครัวของชาวจีน หั่นชิ้นหนาแล้วต้มจนเปื่อย เสิร์ฟพร้อมกับข้าวสวยโรยงาขี้ม้อน พืชท้องถิ่นเคี้ยวเพลินที่เต็มไปด้วยสารอาหาร เป็นเมนูที่รสชาติไม่หวือหวาแต่กินได้อิ่มท้องและอิ่มทั้งลูกไทยลูกจีน แถมใครที่ติดกับรสชาติแบบจัดจ้านก็เติมน้ำจิ้มซีฟู้ดเปรี้ยว-เผ็ด-เค็ม ไว้เสริมรสความชุ่มฉ่ำของมันหมูได้เป็นอย่างดีทีเดียวละ
และยังมี ข้าวผัดรถไฟ (50 บาท) เมนูจานเดียวราคาย่อมเยาที่จะพาเราย้อนกลับไปหาอดีตของย่านรถไฟ เพราะข้าวผัดรสไฟสีแดงเช่นนี้คืออาหารมื้อหรูในการเดินทาง ซึ่งจะมีขายเฉพาะในขบวนรถไฟสายใต้เท่านั้น ใครที่เคยได้กินข้าวผัดรสไฟแห้งๆ ร่วนๆ ย่อมจะต้องหวนนึกถึงการเดินทางในอดีตอย่างแน่นอน แต่ข้าวผัดรถไฟของเหล่าลูกสาวเป็นข้าวผัดที่แต่งสีแดงสวยด้วยอังคักหรือข้าวแดงป่น ซึ่งเป็นสมุนไพรจีนที่ถูกนำไปใช้เป็นยาหลายขนาน พร้อมกุนเชียงรสชาติหวานพอดี เนื้อแน่นมันน้อยที่กินเพลินไม่มีเลี่ยนจนหมดจานไม่รู้ตัว
สำหรับเมนูเบาๆ รองท้องก็ต้องเรียกว่าเป็นหนึ่งในตองอูด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น สลัดจีน (65 บาท) สลัดจานแปลกที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบแบบจีนจ๋าแต่ออกมาหน้าตาร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นส้ม ผลไม้มงคลของจีน ไก่ทอด ผักกาดหั่นฝอยคลุกน้ำสลัดหอมน้ำมันงา พร้อมด้วยเส้นหมี่ทอดกรอบที่ให้รสสัมผัสน่าตื่นเต้น เป็นการผสมผสานที่เราชอบใจไม่แพ้กับผัดมี่สั้วอ่องปู แถมสองเมนูนี้ยังกินคู่กันได้ครบรสครบชาติอย่างพอดิบพอดีอีกต่างหาก
หรือถ้าใครมองหาขนมเคี้ยวเล่นกรุบกรอบเพลินๆ เราขอแนะนำ รากบัวทอด (65 บาท) เมนูซุกซนที่หยิบเอารากบัว สมุนไพรยอดนิยมของชาวจีน มาเล่าใหม่ในแบบที่คาดไม่ถึง ด้วยการนำไปฝานให้บางเฉียบ ทอดในน้ำมันท่วมแบบ deep-fried แล้วจึงเสิร์ฟพร้อมกับซอสสไปซี่มาโยรสชาติจัดจ้านและหอมมัน กลายเป็นอีกจานที่กินเพลินแบบหยิบแล้วหยิบอีก เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่ความกรุบกรอบจากเทคนิคการทอดที่เฉียบขาดอย่างที่ว่าวางทิ้งไว้เป็นครึ่งวันก็ยังกรอบอร่อยอยู่เหมือนเดิม เป็นเมนูสุดเซอร์ไพรส์ที่เราประทับใจสุดๆ
ท่ามกลางภาพจำของอาหารจีนที่หรูหราน่าเกรงขาม a perfect daughter เป็นอีกร้านหนึ่งที่เลือกจะสื่อสารตัวตน ความเชื่อ และภูมิลำเนาของตัวเองผ่านอาหารจานสามัญ ด้วยเชื่อว่าประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กๆ ก็ควรค่าแก่การถ่ายทอดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องอื่นใด
หลังจากอาหารและบทสนทนามื้อนี้จบลง a perfect daughter ก็ทำให้เราเชื่อเช่นนั้นเหมือนกัน
a perfect daughter Coffee & Eatery
พิกัด: ถนนทุ่งโฮเต็ล ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (ตรงข้ามสวนสาธารณะรถไฟ)
เวลาเปิด-ปิด: 07:30-17:30 เปิดบริการทุกวัน