ว่านหางจระเข้

3,761 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
เนื้อวุ้นขาวใสนุ่มเย็น สรรพคุณทางยาสารพัน

วุ้นว่านหางจระเข้ในน้ำใบเตยรสหวานอ่อนๆ เป็นสิ่งแรกที่ฉันประทับใจในความเย็นชุ่มฉ่ำ ในความนุ่มหอมละมุนที่สดๆมาจากใบว่านหางจระเข้โดยไม่ผ่านไฟ แต่นั้นมาก็กินวุ้นว่านหางจระเข้มาตลอดในอีกหลายรูปแบบ ปัจจุบันนี้วุ้นว่านหางจระเข้นิยมทำบรรจุขวดขายร่วมกับน้ำลูกสำรอง น้ำใบบัวบก น้ำนมข้าวโพด เป็นต้น

มารู้จักว่านหางจระเข้ที่มีสรรพคุณต่อร่างกายของเรา ทั้งแบบรับประทานให้ผลภายใน และแบบทาประคบภายนอกตัวเรา แต่พอสังเขป คือ เป็นต้นไม้ในกลุ่มต้น “ตะบองเพชรเขตร้อน” เราคงยังจำได้นะว่า ลูกแก้วมังกรนั้นก็เป็นผลจากต้นตะบองเพชรเขตร้อนอีกสายพันธุ์หนึ่งเช่นกัน ฉะนั้น เป็นที่แน่ชัดว่า ว่านหางจระเข้นั้นเป็นต้นไม้สายพันธุ์นำเข้าประเทศไทยอย่างแน่นอน เข้ามาเมื่อไรยังค้นไม่พบหลักฐาน

แหล่งกำเนิดต้นว่านหางจระเข้อยู่ที่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และบริเวณทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา แพร่พันธุ์ไปทางยุโรปและเอเชียพร้อมๆกัน จนเกิดสายพันธุ์ว่านหางจระเข้มากมายกว่า 300 สายพันธุ์ ที่ปลูกในเมืองไทยเป็น Star Cactus ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aloe vera (Linn) Burm.f ชื่อเรียกในประเทศไทยตามสรรพคุณและลักษณะว่า ว่านไฟไหม้ (ภาคเหนือ) หางตะเข้ และว่านหางจระเข้ (ภาคกลาง) ชื่อสามัญ Chinese Aloe, Indian Aloe, True Aloe, Barbados Aloe, Burn Aloe และ first aid plant

ความที่คุณสมบัติของว่านหางจระเข้มีมากมาย ทั้งกิน ทา หมัก บ่ม ทำให้เป็นต้นไม้ที่น่าปลูกมาก ปลูกง่าย ทนทานต่อสภาพการเลี้ยงดูของผู้ปลูกอย่างยิ่ง แปลว่าทิ้งๆขว้างๆ ว่านหางจระเข้ก็ไม่ตาย แต่จะมีสภาพแกร็นเล็กเท่านั้น

ต้นว่านหางจระเข้เป็นไม้ประเภทล้มลุก ใบมีความสำคัญมาก เพราะเป็นใบที่อวบอ้วนด้วยเนื้อวุ้น ใบเวียนสลับ ใบเป็นรูปหอกยาว 30-80 ซม. กว้าง 5-12 ซม. ขอบใบเป็นหนามห่างๆ ออกดอกฤดูร้อน เป็นดอกสีเหลืองส้ม ดอกเป็นช่อ ช่อดอกแทงขึ้นจากกลางกอต้น ดอกย้อยเป็นหลอดห้อยลง ทยอยกันบานจากโคนช่อสู่ปลายยอด

เนื้อวุ้นในใบว่านหางจระเข้คือตัวสำคัญ ต้องใช้มีดคมๆปอกเปลือกใบออกให้หมด ล้างยางสีเหลืองออกให้หมดด้วยน้ำต้มสุกอุ่นๆ หรือน้ำด่างทับทิม เพราะยางสีเหลืองนี้ทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นแพ้ได้ เมื่อได้เนื้อวุ้นที่ใสสะอาดแล้ว จึงนำไปหั่นหรือฝานตามที่จะนำไปใช้ อย่าทิ้งเนื้อวุ้นเอาไว้เกินกว่า 24 ชั่วโมง เนื้อวุ้นจะเหี่ยว และสรรพคุณทางยาจะหมดไป หรือด้อยคุณภาพลงมาก

สารที่สำคัญในว่านหางจระเข้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ได้แก่ สารจำพวกแอนทราควิโนน ไกลโคไซด์ เช่น สารอะโลอิน (aloin) มีฤทธิ์เป็นยาระบาย มีสารจำพวกไกลโคโปรตีน (glycoprotein) เช่น สารอะลอกติน เอ (aloctin A) มีฤทธิ์ลดการอักเสบ สารอะโล-อีโมดิน (AloeEmodin) สารอะโลซิน (aloesin) มีฤทธิ์ในการสมานแผล เร่งการเจริญของเนื้อเยื่อในบริเวณที่ถูกทำลายหรือเป็นแผล สารดังกล่าวสลายตัวง่ายในความร้อนที่ร้อนจัด ดังนั้น การกินวุ้นว่านหางจระเข้ควรกินสดๆดีที่สุด

สรรพคุณว่านหางจระเข้ในการกิน วุ้นว่านหางจระเข้มีสรรพคุณรักษาโรคกระเพาะอาหาร สมานแผลในกระเพาะอาหาร และรักษาลำไส้อักเสบ ตลอดจนฟื้นฟูอวัยวะในทางเดินอาหารทั้งหลาย

ส่วนสรรพคุณว่านหางจระเข้ในการใช้ทา ใช้ประคบทางผิวหนังนั้น มีมากมายตั้งแต่รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ผิวถูกแดดเผา ผิวที่แพ้จากการฉายรังสี รักษาแผลสด เช่น แผลจากของมีคมบาด แผลเรื้อรัง ฝีพุพอง ทั้งนี้เพราะในน้ำวุ้นว่านหางจระเข้มีสรรพคุณต้านเชื้อแบคทีเรีย ช่วยสมานแผล และเร่งการสร้างเนื้อเยื่อเข้ามาทดแทนเนื้อเยื่อที่ถูกทำลาย แถมยังช่วยลดอาการปวดศีรษะด้วยการแปะเนื้อว่านหางจระเข้ที่ขมับอีกด้วย ทั้งนี้เพราะว่านหางจระเข้มีฤทธิ์เย็น จึงสามารถดูดพิษและความร้อนออกจากบริเวณที่เจ็บป่วยได้ และให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนังด้วย เหตุนี้ว่านหางจระเข้จึงน่าปลูกไว้ในบ้านเพื่อการใช้ในเหตุฉุกเฉิน การใช้เนื้อว่านหางจระเข้โปะ พอก ทา ให้ใช้เนื้อบริเวณโคนใบซึ่งจะหนามาก และมีตัวยาสารอาหารมากด้วยเช่นกัน

ว่านหางจระเข้ปลูกง่าย ขยายพันธุ์ด้วยหน่อเล็กๆที่แทงออกมาจากด้านข้าง แยกหน่อออกมาปลูกได้เลย ชอบดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี มีความชื้นในอากาศ ปลูกได้ทั้งแดดจัดและแดดปานกลาง ถ้าเป็นแดดปานกลางจะได้ต้นอวบอ้วน ต้นอายุ 1 ปี ตัดใบออกมาใช้ประโยชน์ จะมีคุณภาพสูงสุด ถ้าเลือกซื้อให้เลือกใบอวบใหญ่ อายุขนาด 1 ปี

คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรพุดดิ้งว่านหางจระเข้

คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรเยลลี่สาคูว่านหางจระเข้

คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรว่านหางจระเข้ลอยแก้ว

คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรว่านหางจระเข้เลมอน

คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรว่านหางจระเข้ฟรุตตี้

คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรฟรุตสลัดน้ำลูกเดือย

คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรสมูตตี้แมงโก้

(สูตรอาหารโดย อบเชย อิ่มสบาย)

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS