ทำไมคนจึงพากันอบขนมปังในช่วงกักตัว?

3,128 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
Baking boom คืออะไร และมันบอกอะไรกับเราได้บ้าง?

ในช่วงที่โลกทั้งโลกต้องหยุดเคลี่อนไหวอย่างเช่นช่วงของการกักตัวหนีโรคติดต่อ ซึ่งกลายเป็นเหตุการณ์ใหญ่ของปี 2020 มีสถิติอย่างหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย นั่นก็คือในบรรดาลิสต์สินค้าขายดี ไม่ว่าจะเป็นสถิติที่สำรวจโดยเว็บไซต์หรือหน่วยงานไหนก็ตาม หนึ่งในลิสต์เหล่านั้นจะมี ‘Baking items’ หรืออุปกรณ์สำหรับอบขนมอยู่ด้วยเสมอ

เมื่อมองสถิติเหล่านั้นให้ลึกไปกว่าการจัดอันดับ จะเห็นข้อมูลว่า ในช่วงแรกของการกักตัว สินค้าที่ถูกกว้านซื้อจนหมดเกลี้ยงและขาดตลาดไม่ใช่อุปกรณ์สำหรับทำขนมอบแต่แรกหรอกนะคะ แต่เป็นบรรดาสินค้าประเภททิชชู น้ำยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาด แบบที่สื่อฝรั่งมักนิยามว่าเป็นสินค้าที่เกิดจาก Panic Buying หรือพฤติกรรมการกักตุนสินค้าบางประเภทมากผิดปกติเพื่อรับมือกับภัยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั่นเอง และแน่นอนว่าอุปกรณ์อบขนมไม่ได้อยู่ในลิสต์ของ Panic Buying ในช่วงแรกของการกักตัวเลย

จนเมื่อช่วงของ Panic Buying สิ้นสุดลงนั่นแหละค่ะ เราจึงได้เห็นสินค้ากลุ่มที่สองที่มียอดขายกระเตื้องขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ได้แก่บอร์ดเกม Nintendo Switch อุปกรณ์ออกกำลังกาย ชุดอยู่บ้าน ฯลฯ โดยสินค้าหนึ่งที่ยอดขายพุ่งพรวดจนน่าจับตามองก็คืออุปกรณ์อบเบเกอรี ไม่ว่าจะเป็นแป้ง เนย อุปกรณ์แต่งหน้าเค้ก ถาดอบ และอื่นๆ ซึ่งตัวเลขยอดขายของ Baking items เหล่านี้เพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างเป็นประวัติการณ์ ทั้งในอิตาลี (+789%), สหรัฐอเมริกา (+290%), สเปน (+289%), ออสเตรเลีย (+273%), สหราชอาณาจักร (+223%), บราซิล (+179%), และฝรั่งเศส (+111%)

ตัวเลขยอดขายนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่าที่มีข้อมูลนะคะ แต่ก็ทำให้มองเห็นแนวโน้มว่ายอดขายของอุปกรณ์ทำเบเกอรีนั้นเพิ่มขึ้นทั่วโลกจริงๆ และเพิ่มขึ้นในเปอร์เซนต์ที่น่าตกใจจนถึงขนาดที่ว่าแป้งสำเร็จรูป ไส้พายสำเร็จรูป และยีสต์ขาดตลาด หายไปจากชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตพักใหญ่ โรงงานผลิตวัตถุดิบเบเกอรีต้องเร่งสายพานการผลิตให้เยอะรอบและรวดเร็วขึ้น ผลการค้นหา ‘Banana bread’ ใน Google สูงขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติถึง 54% รวมถึงเมื่อยีสต์ขาดตลาดไป เราจึงได้เห็นกระแสของ Sourdough กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง (หลังจากที่มันถูกกระแนะกระแหนว่าเป็นขนมปังฮิปสเตอร์มาพักใหญ่)

สื่อทั่วโลกเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘Baking Boom’ ซึ่งนับเป็นสิ่งเฉพาะที่เราจะได้เห็นในวันคืนที่โรคระบาดเข้ามาในยุคใหม่นี้เท่านั้น

ในอดีตที่ผ่านมา มนุษยชาติต้องพบเจอกับโรคระบาดหลายครั้ง แต่แทบจะไม่มีครั้งไหนเลยที่แป้งและวัตถุดิบสำหรับอบขนมปังขายดีจนเกลี้ยงชั้นวางมก่อน คำอธิบายหนึ่งก็คือ หากไวรัสโคโรน่าระบาดในยุค 70s หรือก่อนหน้านั้น คนจะไม่จำเป็นต้องกักตุนแป้งเพิ่มมากเท่ายุคนี้ นั่นก็เป็นเพราะว่าในยุคนั้นการอบคุกกี้สักถาดหรืออบขนมปังสักแถวคือเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ขณะที่โลกยุคใหม่ที่ทั้งหญิงชายต่างก็ทำงานนอกบ้าน การเดินไปซื้อขนมปังหรือแซนด์วิชในร้านสะดวกซื้อย่อมเป็นสิ่งที่ง่ายกว่า สะดวกกว่า และเผลอๆ อาจจะประหยัดเงินมากกว่าการลงทุนลงแรงมานวดขนมปังเองเสียอีก

ในโลกตะวันออก เราอาจคุ้นเคยกับข้าวในฐานะของคาร์โบไฮเดรตหลักประจำมื้ออาหาร ในขณะที่สังคมตะวันตกที่ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมข้าว แต่อยู่ในวัฒนธรรม grain ดังนั้นจึงเป็นขนมปังต่างหากที่รับบทเป็นคาร์โบไฮเดรตหลัก ตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนเอเชียอย่างเราลุกขึ้นมาอบขนมปังในช่วงกักตัวน้อยกว่า (และยอดขายอุปกรณ์เบเกอรีก็ไม่ได้เพิ่มมากขึ้นจนเกิด Baking Boom) ก็คงจะเป็นเพราะว่าเรายังใกล้ชิดกับการลุกขึ้นมาหุงข้าวสวยสักหม้อ มากกว่าการนวดและอบขนมปังในสังคมตะวันตกนั่นเอง

ผลการสำรวจพบว่าโดยปกติแล้ว ชาวอเมริกันเพียง 27% เท่านั้นที่ทำอาหารกินเองอย่างน้อย 1 มื้อในทุกวัน และกว่า 60% ของชาวอเมริกันไม่รู้วิธีอบขนมเค้ก

ตัวเลขจากการสำรวจบางอย่างน่าตกใจยิ่งกว่านั้น เป็นต้นว่า ชาวอเมริกัน 37% ไม่สามารถแยกมีดปาดเนยออกจากมีดทั่วไปได้ 44% ไม่รู้จักเครื่องบดกระเทียม และกว่า 47% ที่ไม่สามารถบอกได้ว่าใน 1 ช้อนโต๊ะมีกี่ช้อนชา ดังนั้นแทบไม่ต้องถามถึงเปอร์เซนต์ของคนที่รู้วิธีการอบขนมปังสักแถว เพราะอาจจะน้อยยิ่งกว่าน้อยเสียอีก

สถิติจากการสำรวจยังบอกอีกว่า คนที่ไม่รู้จักวิธีทำอาหาร คนที่ไม่รู้จักวิธีอบขนมปัง ส่วนใหญ่คือชาวมิลเลนเนียลส์หรือคนเจเนอเรชันวาย (คนที่เกิดช่วงปี ค.ศ. 1980 ไปจนถึงช่วงกลางของยุค 90 หรือจนถึงต้นปีค.ศ. 2000 – ฉันเองก็อยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน และแน่นอนว่าไม่รู้จักวิธีการอบขนมปังหรือเค้กแม้แต่น้อย) เมื่อย้อนกลับไปสำรวจชีวิตในวัยเด็กของมิลเลนเนียลส์หลายคนก็จะพบว่า เรามักไม่ค่อยได้เติบโตขึ้นในพื้นที่ของการทำอาหารมากนัก

แต่สิ่งที่มากไปกว่านั้นก็คือ เหตุใดจึงต้องเป็นการอบเบเกอรี?

Huffpost ได้อธิบายเหตุผลข้อนี้ไว้ว่า ขนมปังเป็นอาหารพื้นฐานของมนุษยชาติมาก่อนที่เราจะรู้จักการเพาะปลูกเสียอีก มีการค้นพบหลักฐานการค้นพบที่แสดงว่าขนมปังที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์คือ flatbread ที่มีอายุมากถึง 14,400 ปี จึงสามารถบอกได้ว่าขนมปังมีบทบาทสำคัญในประเทศที่ปลูกเมล็ดธัญพืชเป็นหลักมาตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ ในทางศาสนา ขนมปังก็ยังมีความหมายบางประการซ่อนอยู่มากกว่าการเป็นอาหารเพื่อให้อิ่มท้อง ในสังคมตะวันตก ขนมปังจึงอาจหมายถึง comford food ที่คนกว่าครึ่งโลกมีความผูกพันร่วมกันอยู่

นอกจากเหนือไปกว่านั้นแล้ว การได้อบขนมปังซึ่งเป็น comford food แรกเริ่มของคนในสังคม รวมถึงการได้แบ่งปันส่งต่อ ยังมีผลดีกับสภาพจิตใจมหาศาล การได้เปลี่ยนวัตถุดิบพื้นฐานเพียงไม่กี่อย่างให้กลายเป็นขนมปังอบใหม่หอมๆ เพื่อตัวเองและคนรอบข้างส่งผลให้เรารู้สึกประสบความสำเร็จและมีอำนาจใจการควบคุมบางสิ่งบางอย่าง การอบขนมปังจึงเป็นประสบการณ์ทางอารมณ์ที่ทำให้เรารู้สึกมั่นคงได้ในภาวะการณ์ที่ระส่ำระสายจากโรคระบาดนั่นเอง

การอบขนมปังยังช่วยเพิ่มการรับรู้คุณค่าของตัวเอง (self-esteem) และยังเป็นการได้จดจ่ออยู่กับประสาทสัมผัส ตั้งแต่การต่อยไข่ การชั่งตัวงวัด การคน การนวด ซึ่งเป็นการจดจ่อและทำให้มีสมาธิอยู่กับปัจจุบันขณะ (mindfulness) การลงมือทำอาหาร โดยเฉพาะการอบขนมปังจึงเป็นกิจกรรมที่ตอบโจทย์สำหรับคนที่ต้องอยู่กับบ้านเป็นเวลานานๆ อย่างช่วงกักตัวรับมือกับไวรัสโคโรน่าครั้งใหญ่ทีเพิ่งผ่านพ้นไป หลายคนเริ่มต้นจาก Banana bread ขยับไปจนเป็นขนมปังแถวและก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน แม้ยอดขายของแป้งและอุปกรณ์เบเกอรีจะไม่ได้เติบโตก้าวกระโดดอย่างช่วง Baking Boom อีกแล้วในขณะนี้ แต่คอมมูนิตี้ของ Home baker หลายชาติยังคงคึกคักและอบอุ่นต่อเนื่อง

เมื่อหันกลับมามองในประเทศไทยเอง แม้จะไม่มี Baking Boom เกิดขึ้นจนเป็นนัยสำคัญอย่างชาติตะวันตก แต่ก็ต้องยอมรับว่าการกักตุนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในช่วง Panick Buying ก็มีการพัฒนามาถึงช่วงของการทำอาหารกินเองในบ้านเพิ่มมากขึ้น และยังมีช่วง ‘Brownie Boom’ เป็นของเราเอง ที่ใครต่อใครต่างก็ลุกขึ้นมาอบบราวนีกันหมด (แถมส่วนใหญ่ยังเป็นมิลเลนเนียลส์เสียด้วย) ซึ่งคงอาจจะพอพูดได้ว่าเราเองก็ถูกโควิดเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอยู่เหมือนกัน

Baking Boom ที่ผ่านมาอาจกำลังเตือนเราว่าความมั่นคงของอาหารนั้นสำคัญกว่าที่คิด และโครงสร้างบิดเบี้ยวของอาหารอุตสาหกรรมกำลังป้อนให้เราเคยชินกับพฤติกรรมบางอย่าง – พฤติกรรมที่จะช่วยส่งเสริมความบิดเบี้ยวของโครงสร้างนั้นให้มากขึ้นไปอีก จนวันหนึ่งการยื้อแย่งอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตแทบเกลี้ยงแผงอาจจะเกิดขึ้นแม้ในวันที่ไม่มีโควิดก็เป็นได้

อ้างอิง

https://www.criteo.com/blog/coronavirus-shopping-trends/

https://www.huffpost.com/entry/people-explain-why-baked-bread-quarantine_l_5ec73570c5b6698f38f5035c

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS