กระชายขาว ปราบ Covid-19 จริง หรือ หลอก??

1,519 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
อย่าเพิ่งไปซื้อกระชายขาวมากินกันโควิด ถ้ายังไม่ได้อ่านบทความนี้

ตัวละครหลักในยุค Covid-19 ครองเมืองเช่นนี้ นอกจากวัคซีน ยาฆ่าเชื้อ และฟ้าทะลายโจร ก็เห็นจะหนีไม่พ้น “กระชายขาว” สมุนไพรก้นครัวที่ทำท่าว่าจะขึ้นมาเป็นพระเอกขี่ม้าขาว เป็นความหวังของคนที่กลัวว่าจะเจ็บไข้ได้ป่วย และเป็นคำตอบเดียวที่มีอยู่ สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส Covid-19 แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้

“อะไรทำได้ก็ทำไปก่อน ดีกว่านอนรอความตายเฉย ๆ” นี่อาจเป็นเหตุผลที่กระชายขาวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่สื่อมีการเสนอข่าวว่ากระชายขาวมีสารบางอย่างที่สามารถต้านไวรัสโคโรน่าได้ กระชายขาวก็ถูกกว้านซื้อจนขาดตลาด ทั้งแบบแคปซูล แบบสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปแบบต่าง ๆ จนราคากระชายขาวพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ถึงกับเกิดกรณีที่มีการหลอกลวงฉ้อโกงขึ้นเลยทีเดียว

แต่ก่อนที่เราจะออกไปกว้านซื้อกระชายขาวแข่งกับคนอื่นบ้าง เราอยากชวนมาพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับกระชายขาวกันโดยละเอียดอีกครั้ง เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ต้องฝ่าคนออกไปให้เสียเที่ยว และเพื่อที่เราจะได้มีข้อมูลถูกต้องอัปเดตไปฝากครอบครัวและคนที่เรารักกันค่ะ

รู้จักกับกระชายขาว

กระชายขาว (ชื่อวิทยาศาสตร์ Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.)ตามตำราแพทย์แผนไทย จัดเป็นสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน ช่วยกระตุ้นธาตุไฟ ซึ่งเปรียบเสมือนการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยรวมและทำให้ร่างกายแข็งแรงสมดุลย์

ในตำรายาไทยโบราณ กระชายขาวอยู่ในขาหลายขนาน ทั้งแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้วิงเวียนศีรษะ บำรุงความดันโลหิต เมื่อนำมาทำเป็นเครื่องดื่ม จิบแล้วก็จะทำให้รู้สึกมีพลัง สดชื่น และมีพลังงาน เพราะธาตุไฟในร่างกายได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสม

นอกจากในตำรายาแล้ว ในสำรับอาหารไทย กระชายขาวก็อยู่ในอาหารสารพัดชนิด โดยเฉพาะอาหารประเภทที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบมาก เพราะจะช่วยลดอาการแน่นท้องจากการกินเนื้อสัตว์ นับเป็นภูมิปัญญาแบบไทยที่นำรสเผ็ดร้อนมาใช้ได้อย่างเอร็ดอร่อยเลยทีเดียว

กระชายขาวกับ Covid-19 

สาเหตุที่กระชายขาวนั้นเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในยุคโควิด ก็เพราะว่าในช่วงที่เกิดการระบาดหนัก อาจารย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลก็เริ่มนำสมุนไพรไทยต่าง ๆ มาทดสอบความสามารถในการยับยั้งเชื้อไวรัส Covid-19 และพบว่า กระชายขาวเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ให้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี เมื่อเป็นข่าวมาที รายละเอียดปลีกย่อยในข้อเท็จจริงนั้นก็หล่นหายไปหมดจนอาจเกิดการเข้าใจผิดได้

เพราะฉะนั้นบทความนี้จะพามาตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระชายขาวกับ Covid-19 เพื่อให้เราส่งต่อความห่วยใยไปพร้อมกับข้อมูลที่ถูกต้องได้นั่นเองค่ะ

เขาบอกว่า: กินน้ำกระชายขาวปั่นทุกวัน ช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้

ข้อเท็จจริง: น้ำกระชายขาวปั่น ไม่ช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ข้อมูลที่เห็นในข่าวคือ สารสกัดจากกระชายขาวด้วยวิธีเฉพาะ คือสกัดโดยมีเอทิลแอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลาย ให้ได้ความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์ (Panduratin A และ Pinostrobin) ที่สูงมาก สามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19ในหลอดทดลองได้

แน่นอนว่าการค้นพบว่ากระชายสามารถยับยั้งเชื้อ Covid-19 ได้นั้นเป็นข่าวใหม่ที่น่าตื่นเต้น ทั้งกับนักวิจัย สื่อ และชาวบ้านทั่วไป เมื่อสื่อทำข่าวว่ากระชายขาวสามารถต้าน Covid-19 ได้ รายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ก็ตกหล่นไปเสียระหว่างทาง เหลือแค่เพียงว่ากระชายขาวต้าน Covid-19 กระชายขาวรักษา Covid-19 จนอุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และปรากฎเป็นตำรายาต่าง ๆ ส่งไปกันมาตาม “วงใน” โซเชียลมีเดียเต็มไปหมด

ข้อเท็จจริงที่ตกหล่นไปนั้นก็มีอยู่ว่า “สารสกัด” กระชายขาว ที่สกัดโดยใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวกลาง ทำให้ได้สารสำคัญแพนดูราทิน เอ (Panduratin A) และสารสำคัญพิโนสโตรบิน (Pinostrobin) เข้มข้น สามารถยับยั้งเชื้อ Covid-19 “ในหลอดทดลอง” ได้ นั่นเอง ซึ่งคำว่า “สามารถยับยั้บเชื้อในหลอดทดลอง” กับคำว่า “ต้านเชื้อได้” ในชีวิตจริงนั้นยังมีการศึกษาวิจัยที่ต้องทำระหว่างทางอีกมากมายไม่รู้จบ

ที่สำคัญก็คือ การสกัดกระชายขาวด้วยวิธีการเฉพาะในห้องแล็บ โดยใช้เอทานอลนั้นให้สารสำคัญที่แตกต่างจากการสกัดโดยน้ำ (การปั่น) เป็นสิบเป็นร้อยเท่า ดังนั้นหากจะกินน้ำกระชายปั่นให้ได้สารสำคัญเท่ากับที่สกัดในห้องปฏิบัติการ ก็จะต้องกินมากกว่านั้นเป็นสิบเป็นร้อยเท่า ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือเกิดการเจ็บป่วยได้ก่อนที่จะป้องกัน Covid-19 เสียอีก

เขาบอกว่า: กระชายขาวสามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้

ข้อเท็จจริง: สารสกัดจากกระชายขาวบางตัวมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อโควิดได้จริง แต่กระบวนการศึกษายังเป็นการใช้สารสกัดกระชายขาวยับยั้งเชื้อในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ขณะนี้ (สิงหาคม 2564) ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยในคนแต่อย่างใด

ในการศึกษาสารสกัดหรือยาชนิดใหม่ จะต้องมีการศึกษาวิจัยหลายขั้นตอน ได้แก่การศึกษากับเชื้อในหลอดทดลอง การศึกษากับเนื้อเยื่อต้นแบบ (ศึกษาในระดับเซลล์) การศึกษากับสัตว์ทดลอง การศึกษาวิจัยในคน 3 ระยะ เพื่อหาขนาดยา ผลข้างเคียง ยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิผล เมื่อศึกษาวิจัยได้ผลว่าสารสกัดนั้นมีฤทธิ์บรรเทา รักษา หรือป้องกันได้จริง จึงจะมีการขึ้นทะเบียนยาแผนปัจจุบันและนำไปใช้กับผู้ป่วยได้จริง

การศึกษาวิจัยฤทธิ์ของกระชายขาวในการยับยั้งเชื้อ Covid-19 ตอนนี้ (สิงหาคม 2564) ยังคงอยู่ที่การศึกษากับสัตว์ทดลอง ดังนั้นจึงยังไม่มีผลยืนยันว่าสารสกัดกระชายขาวสามารถยับยั้งเชื้อ Covid-19 ในคนได้แต่อย่างใด

เขาบอกว่า: ต่อให้ไม่ป่วย ก็กินกระชายขาวกันไว้ก่อนได้
ข้อเท็จจริง: กระชายขาวเป็นสมุนไพรฤทธิ์ร้อน กินในปริมาณเล็กน้อยตามปกติที่ใช้ปรุงอาหารได้ มีประโยชน์ทำให้ร่างกายสมดุลย์แข็งแรง แต่ไม่ช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ส่วนการกินน้ำกระชายขาวทุกวัน อาจทำให้ร่างกายร้อนเกินจนไม่สมดุลย์และนำไปสู่อาการเจ็บป่วยได้

สิ่งใดมีคุณอนันต์ สิ่งนั้นก็ย่อมมีโทษมหันต์ ขนาดว่าน้ำเปล่าแม้กินมากเกินไปยังส่งผลให้ป่วยได้ นับประสาอะไรกับสมุนไพรซึ่งมีฤทธิ์เผ็ดร้อนค่อนข้างมากอย่างกระชายขาว เมื่อกินติดต่อกันเป็นเวลานาน ทางการแพทย์แผนไทยก็นับว่าธาตุไฟในร่างกายจะถูกกระตุ้นมากเกินไปจนร่างกายไม่สมดุลย์ และนำไปสู่อาการเจ็บป่วยได้ ส่วนในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็พบว่า กระชายขาวมีโพแทสเซียมสูง การกินติดต่อกันในปริมาณมากเป็นเวลานานก็จะส่งผลต่อการทำงานของตับและไตได้

เขาบอกว่า: กระชายขาว กินเท่าไรก็ได้ ใครกินก็ได้ เพราะเป็นสมุนไพร จึงไม่เป็นพิษต่อร่างกาย

ข้อเท็จจริง: ผู้ป่วยโรคไต โรคตับ รวมถึงผู้ป่วยโรคถุงน้ำดีอุดตัน และหญิงมีครรภ์/ให้นมบุตรด้วยเช่นกัน ผู้ป่วยโควิด-19 ที่กินมากและนานเกินคำแนะนำ อาจทำให้ร่างกายผิดปกติ จนแพทย์ไม่สามารถพิจารณาจ่ายยาฆ่าเชื้อให้ทันท่วงที่ได้

หญิงมีครรภ์และคุณแม่ที่ให้นมบุตรไม่ควรใช้ยากระชายขาว รวมถึงผู้ป่วยโรคตับและโรคไตที่ควรจำกัดปริมาณโพแทสเซียม นอกจากนี้แล้ว ผู้ป่วยโรคถุงน้ำดีอุดตันก็ควรหลีกเลี่ยงการกินกระชายปริมาณมาก เพราะกระชายมีฤทธิ์เพิ่มการหลังของน้ำดีซึ่งอาจกระตุ้นอาการของโรคได้ 

ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยโรคโควิด-19 เองก็มีกรณีที่ผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้านและกินสารสกัดกระชายขาวมากและนานเกินกว่าที่แพทย์นะนำ จนทำให้การทำงานของไตผิดปกติ จนแพทย์ไม่สามารถจ่ายย่าฆ่าเชื้อฟาวิพิราเวียร์ได้ทันที ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการรักษาจนอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว

ฉะนั้น เห็นจะต้องย้ำกับครอบครัว คนรอบตัว และคนที่คุณรักกันอีกสักครั้ง แม้ว่าการเข้าถึงการรักษาในสถานการณ์แบบนี้จะไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม แต่การรักษาตัวไปด้วยความรู้ความเชื่อแบบผิด ๆ ก็อาจให้ผลเสียมากกว่าดี ดังนั้นหากตรวจพบว่ามีอาการคล้ายกับโรค Covid-19 ควรหาทางตรวจให้ได้เร็วที่สุด รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวของ ทั้งหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องและไม่เป็นอันตราย

ข้อมูลจาก

ดร. ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา มหาวิทยาลัยมหิดล (รายการชัวร์ก่อนแชร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท เข้าถึงได้จาก https://youtu.be/yYL0_mTT4nE)

นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอดีตนายกสภาการแพทย์แผนไทย (รายการโหนกระแส 21 ก.ค. 64 เข้าถึงได้จาก https://youtu.be/B7FDCUIHrXg)

อ่านบทความเพิ่มเติม

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS