คณะราษฎรกับไข่ไก่ยิ่งใหญ่ยืนยง

3,065 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
เมื่อการสร้างชาติเริ่มต้นที่อาหาร ไข่จึงกลายเป็นโปรตีนสุดป๊อปมาจนถึงปัจจุบัน

คำว่า ‘สวัสดี’  เป็นคำใหม่ที่มีการประกาศให้ใช้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2486 ในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม การทักทายของคนไทยจึงถูกกำหนดรูปแบบขึ้น เช่นเดียวกับคำว่าอรุณสวัสดิ์ ราตรีสวัสดิ์ ฯลฯ ซึ่งเป็นผลพวงอย่างหนึ่งจากยุค สร้างชาติ ที่ยังคงรุ่งเรืองเฟื่องฟูเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมไทยจนถึงทุกวันนี้

ก่อนหน้าจะมีการใช้คำว่าสวัสดี คำทักทายยอดนิยมเห็นจะหนีไม่พ้นคำว่า “กินข้าวกินปลามาหรือยัง?” ซึ่งเป็นอีกวลีหนึ่ง ที่ชี้ให้เห็นว่าคนไทยมีข้าวเป็นคาร์โบไฮเดรตหลัก และมีปลาเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญแทนที่จะเป็นไข่ไก่อย่างที่เราคุ้นเคย ในยุคนี้ ไม่อย่างนั้นเราคงจะทักทายกันด้วยคำว่า “กินข้าวกินไข่มาหรือยัง?” 

ในยามที่ทรัพยากรบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ เราก็พูดกันติดปากว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แทนที่จะเป็น “ในน้ำมีปลา ในฟาร์มมีไข่” (ซึ่งก็ดูน่ารักดีพิลึก) และหากสืบย้อนไป หลักฐานทั้งหลายก็บอกเราว่า ไม่ใช่แค่คำว่าสวัสดีเท่านั้น แต่ไข่ไก่ในฐานะโปรตีนหลัก ของมื้ออาหารก็เป็นผลพวงจากยุคสร้างชาติ เป็นหนึ่งในมรดกของคณะราษฎรที่ยิ่งใหญ่ ยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อสืบสาวราวเรื่องไปถึงยุคก่อนไข่ไก่เฟื่องฟู ก็จะเห็นได้ว่าความเป็นมาของไข่ไก่นั้นสนุก อร่อย และชวนตั้งคำถามได้เพลินใจดีเหมือนกัน

-1-
ชาติไทยจักต้องปฏิวัติลัทธิประเพณี ตลอดจนวิธีของการกินและการครัว

คนไทยเริ่มกินไข่ตอนไหน? ดูท่าว่าเรื่องราวทั้งหมดทั้งมวลควรจะต้องเริ่มต้นที่คำถามนี้

ในเอกสารโบราณ ไข่ไก่ปรากฎตัวในฐานะขององค์ประกอบทางพิธีกรรมและความเชื่อมากกว่าจะเป็นอาหารหลัก หลายพิธีกรรมท้องถิ่นทั้งเหนือใต้และอีสานยังคงใช้ไข่ไก่สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนไข่ที่ทำกินกันในครัวเรือนมักเป็นไข่เป็ด เสียมากกว่า เพราะในอดีต การทำฟาร์มไก่เนื้อ ไก่ไข่ ในรูปแบบอุตสาหกรรมยังไม่เกิดขึ้น ไข่ไก่เป็นเพียงผลพลอยได้จากการ เลี้ยงไก่ไว้ใต้ถุนบ้าน ดังนั้นมันจึงเล็กบ้างใหญ่บ้างไม่เป็นมาตรฐาน และไม่ได้มีผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนที่เป็นอยู่ ในทุกวันนี้ คนเฒ่าคนแก่ในชนบทหลายคนก็ยังคงนิยมกินไข่เป็ดอยู่ตามความเคยชิน โดยเฉพาะคนรุ่นที่เติบโตขึ้นมาก่อนการ ปฏิวัติสยามในปี พ.ศ. 2475

จนกระทั่งในยุคสมัยของการปฏิวัติสยาม รัฐบาลจอมพล ป. หรือหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) นี้เอง นโยบาย ‘สร้างชาติ’  อันเลื่องลือจึงได้เริ่มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไทย โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยเคลื่อนสู่ยุคสมัยใหม่ อุดมการณ์ ทางการเมืองซึ่งเคยเป็นเรื่องนามธรรมจับต้องยากจึงค่อยๆ แปรเปลี่ยนมาเป็นข้อกำหนดที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยน ชื่อประเทศ การยกมือไหว้สวัสดี หรือการใส่เสื้อใส่หมวกอย่างสากล

ไม่เพียงแต่เรื่องภาพลักษณ์ภายนอกเท่านั้น นโยบายการสร้างชาติยังเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องอาหารการกินอีกด้วย เป็นต้นว่าในปี พ.ศ.2481 ที่รัฐบาลจอมพล ป. ได้เสนอ “โครงการส่งเสริมอาหารของชาติ” ขึ้น โดยมีนายแพทย์ยงค์ ชุติมา (นายแพทย์ย่งฮั้ว ซัวเจริญวงศ์) ผู้ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ขับเคลื่อนคนสำคัญ

นายแพทย์ยงค์เชื่อว่า โดยเนื้อแท้แล้ว อาหารคือปัจจัยสำคัญในการป้องกันโรค ปราบโรค และส่งเสริมอนามัยอันแท้จริง ให้แก่พลเมืองของชาติ จึงเสนอให้มีการตั้งกองส่งเสริมอาหาร ก่อนจะได้รับความเห็นชอบ และมีการขยับขยายขอบเขตขึ้น จนเป็นกองส่งเสริมอาหารและกองบริโภคสงเคราะห์ในเวลาต่อมา

โครงการส่งเสริมอาหารของชาติมีหลักใหญ่ใจความที่เสนอไว้ว่าลักษณะการบริโภคอาหารของคนไทยในเวลานั้นยังไม่เหมาะ ไม่ควร เช่น นิยมกินข้าวมาก กินกับน้อย ทำให้ได้รับโปรตีนน้อย ไล่เลี่ยกันกับแนวคิดเรื่องอาหารหลัก 5 หมู่ ซึ่งแพร่หลายในโลก ตะวันตกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ดั้งนั้นนายแพทย์ยงค์จึงเชื่อว่า “ชาติไทยจักต้องปฏิวัติลัทธิประเพณี ตลอดจนวิธีของการ กินและการครัว” ปฐมบทการปฏิวัติการกินและการครัวเพื่อสร้างชาติให้เข้มแข็งในรัฐบาลจอมพล ป. จึงเริ่มจากการสร้าง ประชากรของชาติให้กำยำล่ำสันด้วยการ “กินกับมากๆ กินข้าวแต่พอควร” นั่นเอง

-2-
ไทยทุกคนกินไข่ทุกวันเพื่ออนามัย

“กับ” ในความหมายของการสร้างชาติ มีการอธิบายเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า “กับในที่นี้หมายความถึงเนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ ปลา ถั่วและ กุ้ง ไม่ใช่น้ำพริกหรือแกงเผ็ด” ดังนั้นจึงหมายถึงการส่งเสริมให้บริโภคโปรตีนซึ่งจะสร้างเสริมความแข็งแรงของร่างกาย เพราะรัฐในยุคนั้นมองว่าการกินโปรตีนในปริมาณน้อยเกินไปทำให้ประชากรไทยตัวเล็ก ไม่สมบูรณ์ และป่วยง่าย ซึ่งขัดกับ ความเชื่อดั้งเดิมของไทยที่เล่ากันปากต่อปากว่า การกินข้าวน้อย กินกับมาก จะทำให้เป็นโรคตานขโมย และยังมองว่าอาหาร ประเภทเนื้อสัตว์เป็นพิษ เป็นของแสลงแก่ร่างกาย โดยเฉพาะกับเด็กและสตรี

ภารกิจแรกของกองบริโภคสงเคราะห์จึงเป็นการเปลี่ยนความเชื่อข้างต้น โดยนายแพทย์ยงค์ ชุติมา นี้เอง เป็นผู้ทำหน้าที่ เผยแพร่หลักโภคศาสตร์แห่งยุคสร้างชาติ ผ่านการเขียนบทความและผ่านวิทยุกระจายเสียงซึ่งเป็นสื่อหลักแห่งยุคสมัย เช่นบทความเรื่องการบริโภคเนื้อสัตว์  เรื่องของการกินกับ เครื่องในสัตว์เป็นอาหารดี กินนมกินไข่ และจงกินไข่ทุกวัน เพื่ออนามัย เป็นต้น

การส่งเสริมให้เลี้ยงไก่และบริโภคไข่ไก่มีทั้งเชิงรุกและเชิงรับ นายแพทย์ยงค์ และกองบริโภคสงเคราะห์ให้ความรู้กับประชาชน โดยทั่วไปว่า ไข่ไก่นั้นเป็นสุดยอดแห่งอาหาร คือมีทั้งสารอาหารและวิตามินที่จำเป็นต่อการเติบโตของร่างกาย แร่ธาตุต่างๆ ในไข่ไก่ก็ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง และส่งเสริมให้คนไทยกินไข่ทุกวัน เป็นต้นว่า

“คนไทยทุกคนกินไข่ทุกวันเพื่ออนามัย วันละ 2 ฟอง” (จากบทความ จงกินไข่ทุกวัน นิตยสาร ข่าวแพทย์ ปีที่ 13 เล่ม 5 พฤศจิกายน 2483)

ในขวบปีไล่เลี่ยกันนั้น โลกกำลังระอุไปด้วยการต่อสู้ ความลำบากแร้นแค้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ค่านิยมเรื่องอาหาร การกินแห่งยุคสร้างชาติไม่ได้เป็นไปโดยง่ายดาย ด้วยว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ยังไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าถึงได้ง่ายนัก การผลักดันให้ชาวไทยร่วมสร้างชาติด้วยการบริโภคโปรตีน จึงเป็นไปทั้งแนวรุกและแนวรับ คือมีทั้งการให้ความรู้ไปจนถึงการ บังคับใช้กฎหมายควบคู่กันไปรัฐบาลจอมพล ป. ในขณะนั้นเห็นว่า ในขณะที่โลกกำลังอยู่ในภาวะสงคราม ประชาชนควรพึ่งพาตนเองเรื่องการบริโภคให้ได้ เพื่อที่จะได้ไม่ “ถ่วงความเจริญก้าวหน้าของชาติ ดั่งที่เป็นอยู่ส่วนมากในทุกวันนี้” โดยนายกรัฐมนตรีได้ออกหนังสือราชการ “ขอร้องโดยจริงจังให้ข้าหลวงประจำจังหวัด นายอำเภอ ปลัดกิ่งกำเภอ ให้เลี้ยงไก่ไว้ทุกคน” เพื่อให้ข้าราชการกระทำตนเป็นแบบอย่างของประชาชนเรื่อยไปจนถึงขนาดที่ว่าหากบ้านไหนไม่ปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์เองจะมีโทษ ถูกปรับ เป็นเงินถึง 12 บาทเลยทีเดียว

-3-
องค์การผลิตและจำหน่ายไข่

เมื่อไข่ไก่กลายเป็นแหล่งโปรตีนสร้างชาติ และเป็นความมั่นคงทางอาหารในจังหวะที่ประเทศไทยเริ่มคาบเกี่ยวเข้าสู่ยุค สงครามโลก ครั้งที่ 2 การสนับสนุนให้เลี้ยงไก่ไข่ในครัวเรือนจึงไม่เพียงพอและไม่ทันการณ์อีกต่อไป ในปี 2485 รัฐบาลจอมพล ป. จึงจัดตั้ง “องค์การผลิตและจำหน่ายไข่” ขึ้น ด้วยเหตุผลว่าไข่ไก่ยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ทั้งยังมีราคาสูงเกินกว่าที่ทุกคนจะเข้าถึงได้ทั่วกัน ทำให้ชาวไทยยังไม่ได้บริโภคไข่กันอย่างแพร่หลาย 

องค์การผลิตและจำหน่ายไข่ไก่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ผลักดันให้ไก่ไข่กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ อย่างไร ก็ตาม ไก่ไข่ไม่ได้รุ่งเรืองในฐานะของสัตว์เศรษฐกิจอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนักใน พ.ศ. นั้น เพราะทั่วโลกต่างกำลังเกี่ยวพัน อยู่กับสงครามเป็นการใหญ่ รวมถึงประเทศไทยเองในบริบทของประเทศยุทธศาสตร์และประเทศมหามิตรของญี่ปุ่น กว่าที่ สงครามโลกจะถึงจุดยุติในปี พ.ศ.2488 และกว่าที่ประเทศจะเริ่มฟื้นตัวจากแผลสงคราม ทำให้อุตสาหกรรมไก่ไข่เว้นวรรค ไปเนิ่นนาน 

อุตสาหกรรมไก่ไข่เริ่มกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้งในช่วงปี พ.ศ. 2489 และหลังปี พ.ศ.2492 ที่มีการสั่งไก่พันธุ์จากต่างประเทศ ที่มีไข่ดกเข้ามาทดลองเลี้ยง และส่งเสริมให้ประชาชนได้เลี้ยงกันเป็นอาชีพอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้แล้ว องค์กรสหประชาชาติ (UNESCO) ยังได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงไก่และโรคไก่เข้ามาช่วยเหลือ รวมถึงมีการปรับปรุงพันธุ์ ให้ไก่ไข่มีความทนทานต่อโรคและสภาพแวดล้อมของประเทศไทยมากขึ้น ไก่ไข่จึงได้กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ 

ความนิยมในการบริโภคไข่ไก่ขยับขยายขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และมีพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การกำหนดราคาไข่ไก่ตามขนาด การตีพิมพ์สาส์นไก่ นิตยสารว่าด้วยการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ ในรูปแบบปศุสัตว์ โดยหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ อดีตอธิบดีกรมเกษตรและกรมประมง ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาของการเลี้ยงไก่ไทย ได้กล่าวไว้ ในสานส์ไก่ว่า “การกินไข่เป็นเครื่องวัดอารยธรรชาติ ชาติยิ่งเจริญคนจะกินไข่กันมาก” – แบบนั้นเลยทีเดียว

-4-
“อาหารอุตริ” โปรตีนนอกฟาร์มที่แปลกเกินไปในยุคของแปลก

ไม่เพียงแต่การกำหนดว่าคนไทยควรกินอะไรบ้าง นโยบายสร้างชาติจากในครัวของยุคจอมพล ป. ยังกำหนดล่วงเลย ไปจนถึงเรื่องว่า “คนไทยไม่ควรกินอะไรบ้าง” อาหารที่คนไทยไม่ควรกิน เพื่อที่จะพาประเทศให้เข้าสู่ความ เป็นอารยะ ก็คืออาหาร ‘แปลก’ เป็นต้นว่าแมลง และสัตว์ เลื้อยคลาน บางชนิด รวมถึงเนื้อสัตว์สดๆ และอาหารจานดิบอย่างเช่น ลาบเลือดด้วยเช่นกัน โดยมีการประชาสัมพันธ์ว่า

“เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ทางการจึงได้ออกแถลงการณ์กระทรวงการสาธารณสุข เรื่องผลร้ายของการบริโภคสัตว์ แมลง และอาหารบางชนิด เนื่องจากประชาชนชาวไทยบางท้องถิ่นยังกินอาหารไม่ถูกอนามัย และกินอาหารที่ไม่ควรจะกินเช่น สัตว์ แมลง และอาหารบางชนิด เช่น งู คางคก ตะขาบ ลาบเลือด เป็นต้น” และให้เหตุผลว่า

“กล่าวในทางวัฒนธรรม สัตว์เลื้อยคลาน แมลง และอาหารบางชนิด เป็นสิ่งพึงรังเกียจ ไม่สมควรที่อารยชนจะบริโภค เป็นอาหาร”

คือนอกจากความไม่ปลอดภัย ไม่ถูกสุขลักษณะแล้ว รัฐยังมองว่าการกินโปรตีนที่นอกเหนือจากแหล่งอาหารที่รัฐส่งเสริม เช่น ปลา หมู วัว ไข่ ยังเป็นสิ่งที่ไม่มีอารยะ เป็นสิ่งน่ารังเกียจที่คนไทยควรเลิกกินอีกด้วย 

ข้อความจากกรมโฆษณาการ หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อประชาสัมพันธ์หลักของรัฐไทยในยุคนั้นบอกว่า

“มีแต่คนป่าคนดอยและคนที่ห่างไกลความเจริญเท่านั้นที่ยังมีทำเป็นอาหารอยู่ แต่ในขณะนี้อารยธรรมได้แพร่เข้าไปสู่ ทุกส่วนทุกภาคในประเทศไทยแล้ว จึงสมควรที่ประชาชนจะเลิกบริโภคอาหารเหล่านี้” 

โดยมีนายแพทย์ยงค์ ชุติมา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาหารการกินแห่งยุคสมัยให้ความเห็นไว้ว่า แหล่งโปรตีนเดิมอย่างเช่นแมลง และสัตว์เลื้อยคลานนี้เป็น “อาหารอุตริ” ชาวไทยควรเปลี่ยนมาบริโภคอาหาร “ที่มีอยู่โดยปกติ” ซึ่งหมายถึงอาหารจากการ เพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมให้ทำให้ครัวเรือนมาตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แทน

นั่นเท่ากับว่าคนไทยเพิ่งจะมาบริโภคไข่ไก่เป็นโปรตีนหลักกันชนิดที่ว่ามีติดตู้อยู่ทุกบ้านก็เมื่อไม่ถึง 100 ปีที่ผ่านมานี้เอง และในปัจจุบันวิทยาศาสตร์กลับบอกว่าแมลงและบรรดาโปรตีนนอกฟาร์มซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “อาหารอุตริ” ในยุคสร้างชาติ กลับกลายเป็นแหล่งโปรตีนแห่งโลกอนาคตที่ตอบโจทย์เรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืนไปเสียอย่างนั้น 

เหตุผลที่โลกกำลังมองว่าแมลงเป็นแหล่งโปรตีนเกรดดีในอนาคต ก็เพราะโปรตีนที่เพาะเลี้ยงและเติบโตในฟาร์มไม่ใช่คำตอบ สำหรับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเสมอไป การเพาะเลี้ยงสัตว์จำนวนมากๆ หากจะพูดว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ “อาหารที่ควรกิน” และ “อาหารที่ไม่ควรกิน” ปรับเปลี่ยนตามไปด้วยก็คงจะไม่ผิดนัก

ในขณะที่เร่งสร้างชาติให้เป็นอารยะ แนวคิดแบบสุดโต่งเคร่งครัดบางประการในยุครัฐบาลจอมพล ป. ก็มีนัยยะของการตัดสิน แบบดี-เลว ควร-ไม่ควร ที่รวมศูนย์อยู่ในที การสวมครอบวัฒนธรรมการกินของคนทั้งประเทศไว้ด้วยคำว่า “อารยะ” จึงเป็นทั้งการสร้างมาตรฐานและเป็นทั้งการกีดกันความหลากหลายรุ่มรวยที่มีอยู่แต่เดิม

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมการกินแมลงซึ่งอาจพูดได้ว่าเป็นอาหารอารยะแบบใหม่ก็กำลังแพร่หลายมากขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยเองที่มีการกินแมลงทั้งแบบดั้งเดิม และแบบที่ผ่านการจัดการของวิทยาการมาให้กินง่าย ปลอดภัย และมีสร้างรายได้มากขึ้นกว่าการกินแมลงแบบเดิมๆ

-5-
ไข่ถูก ไข่แพง หรือไข่หาย? ดัชนีชี้วัดแบบไข่ๆ ในแวดวงเศรษฐกิจและการเมือง

ความนิยมในการบริโภคไข่ไก่อยู่ยั้งยืนยงผ่านนายกมาหลายสิบคน ประเมินตัวเลขคร่าวๆ ได้ว่าไทยเราผลิตไข่ได้มากถึง 40 ล้านฟองต่อปี แถมยังเป็นแหล่งโปรตีนที่เข้าถึงง่ายจนกลายเป็นโปรตีนประจำชาติ จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อราคาไข่ไก่กลายเป็น อีกหนึ่งดัชนีชี้วัดความอยู่ดีกินดีของประเทศ

ไข่ไก่ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์ทางการเมืองแค่ใช่เขวี้ยงใส่รั้วรัฐสภาเท่านั้น แต่ตัวเลขราคาไข่ไก่ยังเป็นเหมือนผลงานของรัฐบาลแต่ละชุด รวมถึงเป็นการบันทึกหมุดหมายสำคัญทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นราคาหน้า ฟาร์ม  ราคาขาย การขายแบบชั่งน้ำหนักเพื่อลดปัญหาไข่ไก่ราคาแพง การรณรงค์งดกินไข่ดิบเพื่อป้องกันโรคระบาดจากไก่ สู่คน การขาดแคลนไข่ไก่ในช่วงวิกฤติโรคระบาดใหม่จนพ่อค้าคนกลางและนายทุนกว้านซื้อไข่ไก่ไปเพื่อเก็งกำไรและส่งออก ฯลฯ

ราคาต่ำไป ผู้ประกอบการก็จะขาดทุนสะสม ราคาสูงไป ผู้บริโภคก็จะลำบาก กลไกตลาดของไข่ไก่นั้นจึงเป็นเรื่องเปราะบาง ไม่แพ้เปลือกไข่ เมื่อราคายังคงขึ้นๆ ลงๆ อยู่อย่างนั้น รัฐบาลจึงต้องออกมาเชิญชวนให้คนกินไข่เพื่อลดปัญหาไข่ล้นตลาด และต้องออกมาตอบคำถามเรื่องราคาไข่แพง (พร้อมแนะนำให้ไปกินอย่างอื่นแทน) อยู่เสมอแทบทุกยุคทุกสมัย

ข่าวค(ร)าวกลิ่นไข่สดไข่เน่าในแต่ละรัฐบาลเล่าเรื่องได้มากมาย แม้กระทั่งรัฐบาลเองก็ยังมีการแทรกแซงราคาไข่ไก่อยู่เสมอๆ ไข่ไก่ นอกจากเป็นสินค้าเศรษฐกิจแล้ว จึงพ่วงตำแหน่ง “สินค้าการเมือง” ไปด้วยตามระเบียบ ตั้งแต่เหตุการณ์กินไข่สร้างชาติ ยืดยาวยืนยงมาจนถึงวาระปัจจุบัน

อ้างอิง 

  •  2475 กับการปฏิวัติรสชาติอาหาร: จากกินเพื่ออยู่สู่กินเพื่อชาติ และการต่อสู้ทางวัฒนธรรมของรสชาติในสังคมไทยร่วมสมัย (2557) โดย ชาติชาย มุกสง
  • เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม: ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย (2561) โดย ทวีศักดิ์ เผือกสม
RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS