“หมอกคลุ้งลงเคล้า ที่สองเราออกเดินทาง
แวะแอ่วถามว่าไข่ป่ามเป็นจะใด?
ค่อยใช้ชีวิตให้ช้า เหมือนเวลาไม่มีอยู่จริง
มองลำธารที่ไหลไป จงมองให้เห็นใจตัวเองตอนนี้”
ข้อความข้างต้นคือเนื้อเพลง ‘แม่กำปอง’ เพลงจากอัลบั้ม Hello Neighbors อัลบั้มลำดับที่ 2 จากศิลปินโฟล์กเลือดใหม่ t_047 หรือ ตูน–ณัฐธีร์ อัครพลธนรักษ์ ประกอบกับเสียงฟีเจอร์ริ่งจากโฟล์กเหนือแห่งยุคอย่างเขียนไขและวานิช หรือ โจ้-สาโรจน์ ยอดยิ่ง เอกลักษณ์ในเนื้อเพลงฟังสบาย ใช้ภาษาเรียบง่ายตรงไปตรงมา พร้อมกับฐานแฟนคลับของทั้งคู่ทำให้เพลงแม่กำปองกลายเป็นอีกหนึ่งในเพลงยอดนิยมสำหรับโฟล์กบอยและโฟล์กเกิร์ลชาวไทยไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว
T_047 แม้จะเป็นโฟล์กเลือดใหม่ แต่ก็มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่น และอาจเรียกได้ว่าเป็นเลือดใหม่ที่มีอิทธิพลกับวงการโฟล์กไทยในยุคนี้เป็นอันดับต้น ๆ ดังนั้นเมื่อมีเพลงแม่กำปองออกมา ประโยคที่ว่า ‘ไว้เราไปแม่กำปองด้วยกันนะ’ จึงมีความหมายนัยอื่นเพิ่มขึ้นมาอย่างที่มองตาแล้วเข้าใจกัน
เนื้อเพลงแม่กำปองนั้นไม่ได้เล่าถึงเรื่องอื่นใดที่ซับซ้อน เพียงแค่เล่าคร่าวๆ ว่าการไปแม่กำปองด้วยกันกับ ‘เธอ’ นั้นทำให้ทั้งฉันและเธอมีโอกาสได้ใช้ชีวิตช้าๆ ล้อมรอบด้วยธรรมชาติ ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัย (และอาจจะรู้ใจตัวเองด้วยก็ได้นะ)
เรื่องการชวนไปแม่กำปองเกิดความหมายใหม่ที่ชวนให้ยุกยิกกุ๊กกิ๊กในหัวใจนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่ประโยคที่ว่า ‘แวะแอ่วถามไข่ป่ามเป็นจะได?’ นั้นต่างหากที่เรามองว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเพียงประโยคนี้ประโยคเดียว ก็มีผลทำให้นักฟังเพลงซึ่งเป็นคนอายุน้อยๆ ต่างหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องไปกิน ‘ไข่ป่าม’ ที่แม่กำปองให้ได้สักครั้ง – อิทธิพลของเพลงมีถึงเพียงนั้น
(ภาพประกอบจากเพลง แม่กำปอง t_047 feat. เขียนไขและวานิช คลิกเพื่อฟังได้ ที่นี่)
จากจรัล มโนเพชร ถึง t_047
อันที่จริงแล้วอาหารในบทเพลงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การสื่อสารเรื่องอาหารผ่านบทเพลง หรือแม้กระทั่งการเมนชันชื่ออาหารไว้ในบรรทัดใดบรรทัดหนึ่ง ยังคงเป็นเรื่องที่ทรงอิทธิพลเสมอ เพราะการทำงานของเพลงคือการเล่นขึ้นมาซ้ำๆ ในหัวอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ฉะนั้นแล้วอาหารอะไรที่เข้ามาอยู่ในเนื้อเพลงก็จะกลายเป็นชื่ออาหารติดหูไปด้วยอีกชื่อหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นชื่ออาหารแปลก ลๆ ที่ยังไม่รู้จัก แต่พอพานพบชื่อนี้ในร้านอาหารไกลโพ้นวันใดวันหนึ่ง เราก็จะจำได้ทันทีว่าชื่ออาหารเมนูนี้ได้ยินมาจากไหน
นับตั้งแต่โฟล์กเหนือในตำนานอย่าง จรัล มโนเพชร ที่เขียนถึงอาหารเหนือไว้อย่างหลากหลายในเพลง ‘ของกิ๋นคนเมือง’ รวมกับเสียงคู่ขวัญอย่างสุนทรีย์ เวชานนท์ ก็เป็นที่ชอบอกชอบใจของคนต่างถิ่นแม้ว่าจะฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็ตาม หรือเล่าถึงการกินอาหารต้นทุนต่ำเมนูเดิมซ้ำ ๆ อย่างเพลง ‘ผักกาดจอ’ ก็พูดถึงความรู้สึกเหนื่อยหนายของคนจนได้อย่างเข้าอกเข้าใจ
หรือหากพูดถึงเพลงที่ร่วมสมัยขึ้นมาอีกหน่อย ‘พบฮักที่ห้วยตึงเฒ่า’ เพลงที่เล่าเรื่องสาวน้อยซึ่งโดนหนุ่มมาบอกรักแบบไม่ทันตั้งตัว ในขณะที่กำลังกินเมนูกุ้งเต้น จนไม่ทันได้หลบตัวกุ้งสดๆ เป็นๆ ที่กระเด้งออกมาจากชาม จากฝ้าย ปวีณา ศิลปินท้องถิ่น แม้จะรีลีสมาหลายปีมากๆ แล้ว แถมยังไม่ใช่เพลงในกระแส แต่ก็ยังคงถูกเปิดในวงเหล้าและร้านคาราโอเกะบ่อยครั้ง (แน่นอนว่าโดยเฉพาะที่ ‘ห้วยตึงเฒ่า’ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในหมู่คนท้องถิ่นเชียงใหม่ซึ่งถูกกล่าวถึงในบทเพลงนั่นเอง)
อีกเพลงที่พูดถึงอาหารการกินของคนท้องถิ่นได้อย่างออนซอน ต้องยกให้ ‘จี่หอย’ จากขวัญใจพี่น้องอีสานอย่างหนุ่มพี สะเดิด สาเหตุที่เรามักนึกถึงเพลงนี้เป็นเพลงแรกๆ เมื่อนึกถึงเพลงอีสานที่พูดถึงเรื่องอาหาร ก็เพราะจี่หอยเป็นเพลงยอดนิยมมากๆ และที่สำคัญคือมันเป็นเพลงที่เล่าวิถีชาวนาอีสานได้อย่างจริงใจ ฟังแล้วเป็นอันว่าอยากกินหอยจี่ขึ้นมาเสียอย่างนั้น (ทั้งๆ ที่เกิดมายังไม่เคยกินสักที)
ส่วนเพลงพื้นบ้านทางภาคกลางก็มี ‘กับข้าวเพชฌฆาต’ ผลงานเพลงจากแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ที่มีลูกล่อลูกชนแพรวพราว เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ซึ่งโดดเด่นและติดหูจนถูกหยิบมาทำใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นหลากหลายเวอร์ชัน ที่คุ้นหูที่สุดเห็นจะเป็นเวอร์ชั่นที่ใช้ประกอบภาพยนต์ ‘เหลือแหล่’ ด้วยเสียงใสๆ จากเอิร์น สุรัตน์ติกานต์ พรรคเจริญ หรือ เอิร์น THE STAR นั่นเอง
ส่วนในแวดวงเพลงไทยจากค่ายหลัก ก็มีตั้งแต่ยุค ‘นายไข่เจียว’ ในยุคเฉลียงครองคลื่นวิทยุ ที่เล่าเรื่องไข่เจียวไว้ด้วยเสียงใหญ่โตอย่างเพลงฝรั่ง แม้จะไม่ใช่เพลงที่ป๊อปที่สุดของเฉลียง แต่ก็เป็นเพลงที่มีเอกลักษณ์อย่างที่ไม่มีเพลงอื่นเทียบได้ เรื่อยมาจนถึง ‘เต้นรำทำครัว’ ในยุคหลังของพี่เบิร์ด ก็เป็นเพลงหน้าบีที่น่ารักน่าชัง
แค่นึกถึงเร็วๆ อาหารในบทเพลงยังมีเกินนิ้วนับ ดังนั้นหากจะบอกว่าไข่ปามในเพลงแม่กำปองเป็นเรื่องใหม่ก็ดูจะแสนลำเอียง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงไทยในช่วงขวบปีหลังๆ อาจไม่ได้มองเห็นรายละเอียดเรื่องอาหารการครัวมากนักเหมือนอย่างยุคก่อนหน้า เมื่อปรากฏคำว่าไข่ป่ามในแม่กำปอง แม้เพียงคำเดียวก็ตาม จึงกลายเป็นเรื่องให้หยิบมาเขียนถึงได้ยืดยาวถึงเพียงนี้
แวะแอ่วถามว่าไข่ป่ามเป็นจะได
สิ่งหนึ่งที่ไข่ป่ามอาจถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนไปบ้างเล็กน้อย ก็คือไข่ป่ามเป็นอาหารเหนือทั่วไปที่ไม่ได้มีอยู่แค่แม่กำปอง และไม่ได้เป็นอาหารประจำถิ่นของแม่กำปองแต่อย่างใด ในครัวล้านนา ไข่ป่ามมีฐานันดรเทียบได้กับไข่เจียวก้นครัวธรรมดาๆ มีกรรมวิธีธรรมดา และกินกันในโอกาสวันธรรมดาก็ย่อมได้
นึกภาพให้ง่ายที่สุด ไข่ป่ามคือไข่เจียวอย่างหนึ่งที่ไม่ได้ถูกทอดในกระทะตั้งน้ำมันร้อนๆ แต่ใช้วิธีรองใบตองแทน เป็นภูมิปัญญาการทำอาหารโดยไม่ต้องใช้น้ำมัน นอกจากจะตอบโจทย์ในยุคสมัยที่น้ำมันไม่ใช่ของราคาถูกแล้ว ยังสะดวกสำหรับคนที่ไปสวนไปโต้ง (ไปสวนไปนา) เพราะไม่ต้องพกห่อน้ำมันไปใช้ยุ่งยากอีกด้วย
อย่างไรก็ดี คำว่า ‘ป่าม’ ที่หมายถึงการทำให้สุกบนใบตอง นอกจากใช้เรียกเมนูไข่ป่ามแล้ว ฉันก็ยังไม่เห็นเมนูไหนมีคำว่าป่ามอีก จึงยากจะอธิบายว่า ‘ป่าม’ นั้นแท้จริงมีความหมายว่าอย่างไร (นอกจากคำว่า ‘ตาป่าม’ ซึ่งหมายถึงตาปูดตาบวมจากการโดนต่อย และฉันเห็นว่ามันไม่น่าจะเกี่ยวกันแต่อย่างใด) ดังนั้นแล้วจึงขอสรุปแบบหยาบๆ ไปก่อน ว่ากรรมวิธีการป่าม หมายถึงการจี่ให้สุกในกระทะรองใบตองนั่นเอง
ไข่ป่ามมีความอร่อยที่แตกต่างจากไข่เจียวตรงที่ว่า ไข่เจียวจะใช้ไฟแรง ไข่นุ่มฟู และได้รับความร้อนจากน้ำมัน ในขณะที่ไข่ปามต้องใช้ไฟกลางค่อนอ่อน และใช้ใจเย็นๆ เข้าช่วย หากใช้ไฟแรงไปใบตองจะไหม้ก่อนไข่จะสุก เอกลักษณ์ของไข่ปามจึงเป็นไข่เนื้อนิ่มที่เกิดจากการค่อยๆ สุก และกลิ่นหอมอ่อนๆ จากใบตองนั่นเอง
นอกจากนั้นแล้ว ไข่กระทงที่มาสวมชื่อไข่ป่าม ขายตามสถานที่ท่องเที่ยว (รวมถึงแม่กำปอง) นั้น ฉันเข้าใจว่าคงต้องเรียกว่า ‘ไข่อ๊อก’ มากกว่า เพราะ ‘อ๊อก’ หมายถึงการย่างในกระทงใบตอง แต่พอนึกไปนึกมาแล้ว หากจะจัดไข่อ๊อกให้เป็นไข่ป่ามประเภทหนึ่งก็คงไม่ผิดแต่อย่างใด
อย่างที่บอกไปว่าไข่ป่ามนั้นเป็นอาหารธรรมดา และกินกันในโอกาสวันธรรมดา วันนี้เลยมีสูตรไข่ป่ามง่ายๆ แถมท้ายมาด้วย ไม่ต้องไปแม่กำปองก็ทำไข่ป่ามกินเองที่บ้านได้นะคะ
สูตรไข่ป่าม
(สำหรับ 2-3 คน)
- ไข่ไก่ 3 ฟอง
- เกลือ (หรือเครื่องปรุงรสเค็มอื่น ๆ) ¼ ช้อนชา
- น้ำ
- ใบตองสำหรับรองก้นกระทะ (หากจะทำไข่อ๊อกให้เตรียมไม้กลัดเพิ่มสำหรับทำกระทง)
- เครื่องอื่นๆ เช่น ต้นหอมซอย เห็ดหอมหั่นชิ้นสี่เหลี่ยม ไข่มดแดงลวกหรือนึ่งให้สุก
วิธีทำ
(1) ต่อยไข่ใส่ชาม ใช้ส้อมตีให้เข้ากัน ปรุงรส
(2) หากต้องการทำไข่ป่าม เตรียมใบตองให้กว้างพอดีกระทะ เช็ดให้สะอาด วางซ้อนกัน 3 ชั้น
(3)ตั้งกระทะบนไฟกลาง เทน้ำลงใต้ใบตองเล็กน้อย พอกระทะเริ่มร้อนให้ลดไฟลงไปไฟค่อนอ่อน เทไข่ลงบนใบตอง แล้วปิดฝา ให้ไอน้ำระอุอยู่ข้างใน
(4) พอไข่เริ่มสุกโรยหน้าด้วยเครื่องต่าง ๆ ปิดฝาต่อจนไข่สุกดี แล้วจึงยกไข่ปามลงใส่จานเสิร์ฟทั้งใบตอง
(5) หากต้องการทำไข่อ๊อก (ไข่กระทง) ให้เตรียมใบตองความกว้างประมาณ 5 นิ้ว เช็ดให้สะอาด น้ำมาวางซ้อนกัน 4 ชั้น สลับหัวท้าย แล้วจับจีบให้เป็นกระทง นำไม้กลัดกลัดไว้ทั้งสองด้าน
(6) เทไข่ลงในกระทง แล้วนำกระทงไปวางบนตะแกรงเตาถ่าน ย่างด้วยไฟอ่อน
(7) พอไข่เริ่มสุกโรยหน้าด้วยเครื่องต่าง ๆ ย่างต่อจนไข่สุกดี แล้วจึงยกไข่อ๊อกลงใส่จานเสิร์ฟทั้งกระทงใบตอง
คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรไข่ป่ามและไข่อ๊อก
ระหว่างทำและกิน อย่าลืมเปิดเพลง แม่กำปอง (t_047 feat. เขียนไขและวานิช) คลอไปด้วยนะคะ 🙂