อาหารฤทธิ์เย็น แก้ร้อนได้จากภายใน

768 VIEWS
PIN

image alternate text
ร้อนๆ อย่างนี้ มาทำเมนูสุขภาพดีที่แก้ร้อนได้จากภายในกันเถอะ

อากาศ อารมณ์ อาหาร : จุดกำเนิดความร้อนในร่างกาย 

ในศาสตร์ของแพทย์ทางเลือกโบราณหลายแขนง มีการกล่าวถึงความร้อนและความเย็นของร่างกายอยู่เสมอ ศาสตร์แพทย์แผนจีนเชื่อว่าสรรพสิ่งในธรรมชาติล้วนเกิดขึ้นจากพลังของหยิน (ความเย็น) และ หยาง (ความร้อน) ร่างกายของมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จึงมีหยินและหยางในตัวด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกันกับศาสตร์อายุรเวทอย่างอินเดีย ที่เชื่อว่าร่างกายประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 5 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ เมื่อธาตุทั้ง 5 มีพลังที่สมดุลกัน ร่างกายก็จะแข็งแรง ไม่ป่วยไข้เอาง่ายๆ

ในศาสตร์การแพทย์แผนไทยเองก็มีความเชื่อเรื่องธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ เพราะได้รับอิทธิพลมาจากศาสตร์อายุรเวทเป็นหลัก เมื่อมีความเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะร่างกายไม่สมดุล ก็มักเรียกกันว่าเป็นอาการ “ไฟกำเริบ” ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายมีความร้อนเยอะเกินไปนั่นเอง

เรามักเข้าใจกันว่าอากาศร้อนเป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้เรารู้สึกร้อน ไม่สบายตัว จนพาลให้หงุดหงิดและโมโหเอาได้ง่ายๆ แต่ความจริงแล้ว สภาพแวดล้อมรอบตัวเป็นปัจจัยเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น เพราะความร้อนในร่างกายยังถูกกำหนดด้วยปัจจัยภายในอย่างเช่นอารมณ์และอาหารที่เรากินเข้าไปในแต่ละวันด้วย จะเห็นว่าทั้งศาสตร์การแพทย์แผนจีน และศาสตร์อายุรเวทอินเดียล้วนให้ความสำคัญกับการจัดการอารมณ์และอาหารการกินมาเป็นอันดับต้นเสมอ

การอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษและความเร่งรีบ ทำให้คนเราสะสมความร้อนในร่างกายโดยไม่รู้ตัว อากาศที่หายใจเข้าออกทุกวันเต็มไปด้วยฝุ่นควัน อาหารที่กินเข้าไปทุกวันเต็มไปด้วยสารเคมีปนเปื้อน ปรุงรสจัดจ้าน และค่อนไปทางฤทธิ์ร้อน เช่น อาหารที่ผ่านการปรุงนานๆ ซ้ำๆ ไขมันสูง ย่อยยาก เมื่อบวกกับความขุ่นข้องหมองใจจากความเครียด ควากังวล ความโกรธ และอารมณ์ในด้านลบที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ก็ยิ่งทำให้ความร้อนในร่างกายทวีคูณขึ้นจนเกิดภาวะร่างกายร้อนเกิน ซึ่งอาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยอื่นๆ ได้ในอนาคต

อาหารฤทธิ์เย็น

อาการของภาวะร่างกายที่ร้อนเกินไป

เมื่อร่างกายสะสมความร้อนมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ กับร่างกายขึ้นได้
– ตา : ตาแดง ตาแห้ง แสบตา ขอบตาคล้ำ ขี้ตาข้นเหนียว
– หู : หูอื้อและมีลมออกหูบ่อยๆ 
– จมูกและช่องปาก : ลมหายใจร้อน เป็นร้อนใน มีแผลในช่องปาก ริมฝีปากแห้ง คอแห้ง เสียงแหบ
– ผิว : มีสิวฝ้าโดยไม่รู้สาเหตุ เป็นผื่นง่าย ส้นเท้าแตก
– ผม : ผมร่วงผิดปกติ ผมหงอกก่อนวัย
– ระบบย่อยอาหาร : ร้อนท้อง แสบท้อง ท้องอืด มักง่วงนอนหลังกินข้าว
– ระบบขับถ่าย : ท้องผูกบ่อย (บางครั้งมีอาการท้องเสียแทรก) ปัสสาวะน้อย สีเข้ม กระปริดกะปรอย แสบขัด
– ข้อต่อและกล้ามเนื้อ : เป็นตะคริวบ่อย ยกแขนไม่สุด ไหล่ติด

อาการเหล่านี้หากเกิดในระยะสั้นๆ ก็เป็นเพียงเรื่องน่ารำคาญ ทำให้ไม่สบายกายไม่สบายใจแค่เล็กน้อยเท่านั้น แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ได้สืบหาต้นสายปลายเหตุ ปล่อยปละละเลยจนความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ สั่งสมกลายเป็นความเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาได้ยาก หรืออาจะเป็นโรคร้ายแรงได้

ดับร้อนด้วยอาหารฤทธิ์เย็น

การดับร้อนในร่างกายสามารถทำได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการระบายความร้อนโดยใช้น้ำอุณหภูมิห้องหรือน้ำที่ไม่เย็นจัดมาล้างศีรษะ ลูบหน้า ลูบตัว ดื่มน้ำให้เพียงพอ ระบายความร้อนผ่านการหายใจเข้าทางจมูกให้ลึก และหายใจออกทางปากให้ยาว การเดินสัมผัสหญ้าด้วยเท้าเปล่า การเคลื่อนไหวให้ช้าลงด้วยสมาธิ รวมถึงการปรับอารมณ์ให้เย็นลง เบิกบาน และมีสติ ก็จะทำให้ร่างกายเราผ่อนความร้อนลงได้ในเวลาไม่นาน

นอกจากนี้ การจัดการกับแหล่งความร้อนหรือแหล่งพลังงานอย่างอาหารก็ช่วยลดความร้อนสะสมในร่างกายได้ด้วยเช่นกัน คนที่มีภาวะร่างกายร้อนเกิน ควรลดอาหารฤทธิ์ร้อน เช่น อาหารที่ปรุงรสจัด อาหารที่ปรุงนาน อาหารไขมันสูง สารพัดเมนูทอด  อาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ พืชผักที่มีรสขม เค็ม เผ็ด กลิ่นแรง ผลไม้รสหวานจัด ผักประเภทหัวใต้ดิน และอาหารหมักดองอย่างกะปิ น้ำปลา เต้าเจี้ยว รวมถึงเหล้า เบียร์ ไวน์ และกาแฟอีกด้วย

สาเหตุที่ใช้คำว่า ‘ลด’ แทนคำว่า ‘งด’ ก็เพราะว่าแท้จริงแล้วอาหารฤทธิ์ร้อนนั้นไม่ได้เป็นพิษกับร่างกายโดยตรง แต่การบริโภคอาหารฤทธิ์ร้อนมากเกินไปต่างหากที่อาจทำให้ร่างกายเราเสียสมดุล ช่วงไหนที่รู้สึกว่าลมหายในเริ่มร้อนผ่าว มีอาการร้อนท้อง ท้องอืด ท้องผูก ตาแห้ง ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนขั้นต้น เราก็สามารถปรับลดอาหารฤทธิ์ร้อนแล้วเพิ่มอาหารฤทธิ์เย็นได้เลยโดยไม่ต้องรอให้ป่วยก่อน

อาหารฤทธิ์เย็นมักมีรสอ่อนอยู่แล้วตามธรรมชาติ หากเป็นพืชผักก็มักเป็นผักที่เกิดในที่สูง อยู่ใกล้แสงแดด เช่นยอดผักจากไม้ยืนต้น หรือมักมีความชุ่มน้ำ อ่อนนุ่ม และมักมีสีอ่อน ซึ่งครอบคลุมทั้งผัก ผลไม้ ถั่ว เห็ด รวมถึงแหล่งคาร์โบไฮเดรต ครบถ้วนตามความต้องการของร่างกาย 

ตัวอย่างของอาหารฤทธิ์เย็น

ผักใบ : ผักบุ้ง ตำลึง ผักหวาน ฟักแม้ว  ว่านหางจระเข้ ผักกาดขาว ใบหมาน้อย ยอดมะม่วงหิมพานต์ ใบมะขาม ปวยเล้ง ตั้งโอ๋
ผักกินก้าน : ก้านกล้วย สายบัว ทูน (ตูน)
ผักกินดอก : ดอกขจร (ดอกสลิด) ดอกแค ดอกฟักทอง
ผักกินฝัก หัว ผล : บวบ ฟัก แตงต่างๆ  มะรุม น้ำเต้า หัวไช้เท้า กระเจี๊ยบเขียว ข้าวโพด มะเขือพวง มะระจีน 
ผลไม้ : มะละกอดิบ กล้วยดิบ มะขามดิบ ตะลิงปลิง มะม่วงเบา มะขามป้อม มังคุด แตงโม แตงไทย ชมพู่ น้ำมะพร้าว

ตัวอย่างสูตรอาหารฤทธิ์เย็น ปรุงเองได้ง่ายๆ
น้ำย่านาง
น้ำว่านหางจระเข้
วุ้นหมาน้อย
เฉาก๊วยเนื้อหวาน
เมี่ยงผักสดฤทธิ์เย็น

หากต้องการศึกษาเรื่องอาหารฤทธิ์เย็นเพิ่มเติม KRUA.CO ขอแนะนำหนังสือ อาหารฤทธิ์เย็น แนวธรรมชาติบำบัด ปรับสมดุล รักษาโรค หนังสือในชุดอาหารเพื่อสุขภาพ Healthy Kitchen Series โดยป้านิดดา หงษ์วิวัฒน์ ซึ่งมีรายละเอียดว่าด้วยอาหารฤทธิ์เย็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบสำหรับอาหารฤทธิ์เย็น การเตรียมตัวก่อนปรุงอาการฤทธิ์เย็น ลำดับการกินอาหารฤทธิ์เย็น รวมถึงวิธีการระบายความร้อนออกจากร่างกายอย่างง่าย สูตรอาหารฤทธิ์เย็นกว่า 53 สูตรพร้อมวิธีทำอย่างละเอียดและเกร็ดความรู้ว่าด้วยวัตถุดิบแต่ละชนิดในสูตร ทุกสูตรผ่านการทดสอบโดยทีมงานผู้มีประสบการณ์ จึงมั่นใจได้ว่าทำตามได้จริง รสชาติดี ที่สำคัญคือกินแล้วสบายตัว สบายท้อง สบายใจ บรรเทาความร้อนจากสภาพอากาศได้แน่นอนค่ะ

ดูตัวอย่างและสังซื้อหนังสือ อาหารฤทธิ์เย็น แนวธรรมชาติบำบัด ปรับสมดุล รักษาโรค ได้ที่
LINE : Sangdad Book
Shopee : https://shope.ee/AUXEGlzIRc
Lazada : https://s.lazada.co.th/s.nlDUh

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS