ปีใหม่ทั้งที กินอาหารที่ดีต่อ (จิต) ใจกันเถอะ

2,584 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
อาหารไม่ได้หล่อเลี้ยงและซ่อมแซมเพียงร่างกาย หากเลือกกินให้ถูกหลัก อาหารยังช่วยบำบัดอารมณ์และจิตใจคุณได้

พูดแล้วก็ต้องพูดซ้ำอีกว่า you are what you eat อาหารไม่ได้สำคัญแค่กับร่างกาย ยังส่งผลถึงจิตใจและอารมณ์ด้วย ปีที่ผ่านมาใครทำงานหนักจนเครียด ปาร์ตี้บ่อยจนโทรม กินอาหารจั๊งค์ฟู้ดจนตัวบวม แถมละเลยการออกกำลังกายไปอีก ลองสังเกตตัวเองดูดีๆ ว่าคุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่ อ่อนเพลียง่าย ง่วงเหงาหาวนอนตอนบ่ายๆ นอนไม่หลับ กระวนกระวาย หงุดหงิด บางคนอาจไปไกลถึงขั้นมีสภาวะโรคเครียดและซึมเศร้าได้ในบางช่วง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากอาหารที่เรากินเข้าไป วันนี้ KRUA.CO ถือโอกาสดีปีใหม่ นำเคล็ดลับดีๆ ในการเลือกกินอาหารที่มีส่วนช่วยในการบำบัดอาการไม่พึงใจต่างๆ มาฝาก เราจะได้เป็นคนใหม่ที่ร่างกายดีแถมจิตใจยังแจ่มใสสองเด้งไปเลย

1. ลดน้ำตาล
น้ำตาลเป็นตัวร้ายที่ส่งผลโดยตรงกับอารมณ์ของเรา การรับประทานน้ำตาลในมื้ออาหารมากเกินไป ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือด (Glucose) เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อระดับน้ำตาลลดลง เราก็จะรู้สึกอ่อนเพลีย ง่วงเหงาหาวนอน เราจึงควรลดพฤติกรรมการกินน้ำหวาน ขนมหวาน และอาหารฟาสต์ฟู้ดที่อุดมไปด้วยแป้งขัดขาว ตัวการที่ทำให้เกิดอาการเครียดและอาการซึมเศร้า

2. กินแป้งที่มีประโยชน์

คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง มันฝรั่ง มันเทศ เผือก ฟักทอง ลูกเดือย เส้นโซบะ เป็นแป้งที่ให้พลังงานน้อย อิ่มท้องนานและย่อยอย่างช้าๆ ทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลได้น้อยลง มีวิตามินสูง อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการสร้างสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ช่วยในการควบคุมอารมณ์ให้คงที่ ลดอาการหงุดหงิด วิตกกังวล และทำให้นอนหลับง่ายในเวลากลางคืน

3. เพิ่มวิตามินจากผลไม้

ผลไม้รสเปรี้ยวต่างๆ นอกจากจะมีน้ำตาลต่ำแล้ว ยังอุดมไปด้วยวิตามินซีที่ทำให้เราสดชื่นกระปรี้กระเปร่า อีกทั้งในผลไม้บางชนิดอย่างผลไม้ตระกูลเบอร์รีก็อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยลดภาวะสมองเสื่อมได้เป็นอย่างดี ผลไม้บางชนิด เช่น กล้วย แอปเปิล บลูเบอร์รี มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ให้พลังงานต่ำ การกินผลไม้เหล่านี้จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป และยังเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตทางเลือกสำหรับคนที่กำลังตัดแป้งในมื้ออาหารเพื่อควบคุมรูปร่างอีกด้วย

4. กินผักใบเขียวเพิ่มแร่ธาตุสำคัญ

ผักใบเขียวอุดมไปด้วยวิตามินบี 1 และบี 6 ที่ช่วยลดอาการซึมเศร้า โดยเฉพาะราชาของผักใบเขียวอย่างผักโขม ปวยเล้ง กวางตุ้งนั้นยังมีโฟเลตหรือวิตามินบี 9 (Folate) และธาตุเหล็ก ช่วยบำรุงระบบประสาท ช่วยลดอาการอ่อนเพลียและอาการหงุดหงิดได้อย่างดี

5. ลดเนื้อแดง หันมากินปลาและอาหารทะเล

เนื้อปลาเป็นโปรตีนที่ปลอดภัยและย่อยง่าย อีกทั้งปลาน้ำจืดและปลาน้ำเค็มยังอุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ที่มีส่วนช่วยพัฒนาเซลล์สมอง ปรับสมดุลอารมณ์ ช่วยเรื่องระบบความจำ เราจึงควรกินปลาเป็นประจำ อาหารทะเลอื่นๆ อย่าง กุ้ง หมึก ก็เป็นแหล่งโปรตีนที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุซีลีเนียม (Selenium) และกรดอะมิโนทริปโตเฟน (Tryptophan) ช่วยป้องกันโรคซึมเศร้าได้ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ

ใครยังนึกไม่ออกว่าที่เล่าๆ มาจะแปรสภาพเป็นเมนูแบบไหนได้บ้าง เรามีตัวอย่างอาหารที่ดีต่อ (จิต) ใจ กินง่ายได้ประโยชน์ มาให้เป็นแนวทางด้วย

ลาบปลาแซลมอนต้นอ่อนทานตะวัน

ดูสูตรลาบปลาแซลมอนต้นอ่อนทานตะวันได้ที่นี่

เนื้อปลาสีส้มที่ใครๆ ก็รัก ทั้งอร่อยและมีประโยชน์ต่อสมองด้วยโอเมก้า 3  ปรุงรสเครื่องลาบแบบแซ่บๆ เพิ่มคุณประโยชน์ด้วยต้นอ่อนทานตะวันที่มี GABA กรดอะมิโนที่ช่วยบำรุงสมองป้องกันอัลไซเมอร์ พร้อมวิตามินบี 1 บี 6 วิตามินซี วิตามินอี โฟเลตและซีลีเนียมอีกด้วย 

โซบะผัดซอสซีฟู้ดโกเรง

ดูสูตรโซบะผัดซอสซีฟู้ดโกเรงได้ที่นี่

โซบะเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวญี่ปุ่นที่ทำจากแป้งบัควีต อุดมด้วยคุณประโยชน์ นำมาผัดสไตล์อินโดนีเซีย รสชาติเค็มๆ เผ็ดๆ เพิ่มคุณค่าด้วยกุ้ง หมึก ผักใบเขียว แครอท และไข่เจียว ที่อุดมไปด้วยสารอาหารต้านโรคซึมเศร้าอย่างซิลีเนียม โฟเลต ธาตุเหล็ก วิตามินบี และเบต้าแคโรทีน

สเต๊กปลากะพงย่างกับมันหวานบดและซัลซาผลไม้

สเต๊กปลากะพงย่างกับมันหวานบดและซัลซาผลไม้ได้ที่นี่

ปลากะพงย่างหอมกรุ่น กินคู่กับมันหวานบดรสชาติหวานละมุน และซัลซาผลไม้รวมรสเปรี้ยวอมหวานที่อุดมไปด้วยวิตามินซี เป็นเมนูอิ่มท้องที่ให้พลังงานไม่สูงมาก น้ำตาลต่ำ แถมยังช่วยให้กระปรี้กระเปร่า ลดภาวะสมองเสื่อมได้อีกด้วย

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS