การเบลนด์ชาฉันว่ามันคือศาสตร์ของศิลปะอย่างหนึ่ง เพราะหากเราจะเริ่มเบลนด์ชา เราต้องรู้ก่อนว่า เราอยากให้ชานั้นออกมามีคาแรกตอร์แบบไหน รสชาติอย่างไร นั่นคือสิ่งที่เราเป็นคนกำหนด บรรยากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนแบบนี้ เราเดินทางมายังร้านชาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายของความอบอุ่นเป็นกันเอง เพื่อพบปะพูดคุยกับ คุณปลา-นันธิดา รัตนกุล เจ้าของร้าน TE Time and space ร้านชาเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ใจกลางเมืองทองหล่อ 25 ที่เมื่อผลักประตูเข้าไปก็จะพบกับความสงบ อบอุ่น กลิ่นอายหอมชวนฝัน เดินขึ้นไปยังชั้น 2 ก็พบกับบาร์เล็กๆ ที่บรรยากาศทำให้เหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในห้องเวทมนต์
พี่ปลาตอนรับพวกเราด้วย Welcome Drink อย่าง ชา Cold Brew หอมเย็นชื่นใจ ก่อนจะเริ่มพูดคุยเรื่องราวของการเบนลด์ชาว่า จุดเริ่มต้นของชาเบลนด์เกิดจากการปกปิดความไม่สมบูรณ์แบบของคุณภาพชา เพราะการขนส่งทำให้ใบชาเกิดความเสียหาย ทำให้ต้องผสมใบชากับดอกไม้หรือผลไม้ เพื่อช่วยปกปิดรูปลักษณ์และรสชาติของใบชา แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป วัตถุประสงค์ของการเบลนด์ชาไม่ใช่การปกปิดความไม่สมบูรณ์แบบของใบชาอีกต่อไป แต่เป็นการสร้างเอกลักษณ์และคาแรกตอร์ให้กับชานั้นๆ ความไม่สมบูรณ์แบบในครั้งก่อนกลับเป็นความสมบูรณ์แบบในปัจจุบัน เหมือนเป็นการสร้างงานศิลปะอย่างหนึ่ง ที่นักเบลนด์ชาต้องการจะทำออกมาเพื่อให้เกิดความรื่นรมย์ ความสวยงาม และได้อรรถรสในการดื่มชามากยิ่งขึ้น
“ความไม่สมบูรณ์แบบในวันนั้น เกิดเป็นความสมบูรณ์แบบในวันนี้”
แต่จุดเริ่มต้นของการเบลนด์ชาของพี่ปลานั้นไม่ได้เกิดจากความไม่สมบูรณ์แบบของใบชา แต่เกิดจากการที่เป็นคนชอบเรื่องกลิ่น และมีคนจุดประการเรื่องชาทำให้จับพลัดจับผลู ทดลองทำชาแจกในงานแต่งงานน้องสาวมาสู่ชาเบลนด์ตัวแรกอย่างข้าวเหนียวดำผสมชาเขียวโดยนำข้าวเหนียวสายพันธุ์ลืมผัวจากจังหวัดเพชรบูรณ์ มาผสมกับชาเขียว ให้อารมณ์เหมือนชาข้าวแบบญี่ปุ่น แต่ใช้ข้าวไทยมาเป็นวัตถุดิบหลัก กลิ่นข้าวที่ผ่านกาคั่วให้หอม แล้วนำมาผสมกับใบชา เมื่อเปิดดม ทำให้รู้สึกเหมือนวิ่งอยู่บนทุ่งหญ้าในวันแดดออกยังไงยังงั้น
ด้วยความที่ชอบเรื่องกลิ่น ชาที่เบลนด์ในร้านจึงมีเอกลักษณ์และกลิ่นเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ก็จะคล้ายคลึงกันบ้างในแต่ละชนิด หากใครได้มาเยื่อนที่ร้านพี่ปลา จะมีตัวเทสต์ให้เราได้ดมกลิ่นวางเรียงรายอยู่ในถาด แต่ละชามีชื่อเรียกเฉพาะตัว แต่ละชื่อหยิบเอาเอกลักษณ์หรือเรื่องราวมาตั้งเป็นชื่อ ทำให้เรารื่นรมย์ไปกับชานั้นๆ ได้มากขึ้น ฉันกับน้องที่ไปด้วยกันนั้นก็ไม่รอช้า หยิบขวดนั้นขวนนี้ขึ้นมาดม แล้วแยกไว้ว่ากลิ่นนี้แหละที่ฉันชอบ แต่ละคนจะมีความชอบไม่เหมือนกันอยู่แล้วทำให้สนุกเวลาแชร์กลิ่นกันว่าเธอดมอันนี้สิ อันนี้ฉันว่าหอมดีนะ ฉันว่านี่แหละคืออย่างแรกที่ทำให้ชาเบลนด์มีความสนุก ซึ่งก็ตรงกับคำพูดที่พี่ปลาพูดขึ้นมาระหว่างคุยกันว่า ความสนุกของการเบลนด์ชาคือการได้ดมกลิ่นทั้งตอนที่ใบชาแห้งและตอนที่ใบชาชงแล้ว กลิ่นที่ได้จะมีความแตกต่างกัน ความรู้สึกในครั้งแรกที่ดมกับเมื่อชงเสร็จแล้วดมก็อาจจะให้ความรู้สึกที่ต่างกันไปด้วย
“การได้กินสิ่งที่ชอบ ได้ดมสิ่งที่หอม เท่านี้ก็ดีแล้ว”
ที่ร้าน TE Time and space มีชาเบลนด์มากกว่า 90% ของชาที่ร้าน ซึ่งชาแต่ละตัวนั้นเกิดจากตัวพี่ปลาเองบ้าง เกิดจากคนใกล้ตัวบ้าง หรือแม้กระทั่งเกิดจากลูกค้าเองก็มี หลังจากที่ได้พูดคุยกับพี่ปลารู้สึกได้ว่าชาแต่ละตัวที่เบลนด์ขึ้นมานั้น เหมือนเป็นการสร้างงานศิลปะอย่างหนึ่ง เพราะหากเราจะเบลนด์ชาสักอย่าง ไม่ว่าจะเพื่อตัวเราหรือเพื่อมอบให้ใคร เราต้องหาเรื่องราวหรือจุดเด่นของสิ่งนั้นให้ได้ มองออกมาเป็นเรื่องราว แสดงออกมาเป็นภาพ แล้วผสมออกมาเป็นสิ่งที่ใช่ และเมื่อใครก็ตามที่ได้ดื่มชานั้นๆ ก็จะสัมผัสได้ถึงภาพที่เราวาด หรืออาจจะมองเห็นภาพที่ต่างกันออกไป แล้วแต่จิตนาการหรืออารมณ์ของแต่ละคนในเวลานั้น
เข้ามาร้านเบลนด์ชาจะไม่เบลนด์ชาได้อย่างไร พี่ปลาพี่สาวใจดีของเราก็มอบขวดแก้วเล็กๆ มา 1 ใบ พร้อมกับกระดาษแนะนำขั้นตอนการเบลนด์ชาเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน กระดาษหน้าแรกเขียนแนะนำว่า หลักการเบลนด์มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อคือ 1. เลือกกลิ่นนำ (Top note) 2. เลือกรสชาติหลัก (Middle note) 3. เลือกรสชาติตอนจบ (Base note) ซึ่งหลักการทั้งสามอย่างนี้ในกระดาษก็จะมีอธิบายอย่างชัดเจนว่า กลิ่นนำคือกลิ่นแรกที่เราจะสัมผัสได้ตอนดม รสชาติหลักคือตัวบ่งชี้ถึงรสชาติ และสุดท้ายคือรสชาติตอนจบคือสิ่งที่ยังคงกรุ่นอยู่ในปากเมื่อเราดื่มชาเข้าไป อาจจะเป็นแค่กลิ่นหรือรสชาติก็ได้ และเมื่อพลิกกระดาษกลับมาอีกด้านก็จะพบกับช่องให้เราใส่สัดส่วนทั้ง 3 ข้อของชาเบลนด์ของเรา
พี่ปลาหยิบส่วนผสมต่างๆ ออกมาวางเรียงรายให้พวกเราได้ดม ทั้งใบชาที่หลากหลาย ดอกไม้ ผลไม้ หรือแม้แต่สมุนไพร พี่ปลายังบอกอีกว่าสมุนไพรสดก็สามารถนำมาเบลนด์เป็นชาได้เหมือนกัน สิ่งของรอบตัวเรานั้นสามารถนำมาเบลนด์เป็นชาได้หมด (ที่สำคัญต้องสดและสะอาดนะ) จากนั้นเราก็เลือกในสิ่งที่ต้องการออกมาเบลนด์ ซึ่งความสนุกของการเบลนด์ชาในครั้งนี้คือโจทย์ที่พี่ปลาให้มาว่า เบลนด์ชาที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายออกมาคนละตัว เพราะแต่ละคนมีสิ่งที่ทำให้ผ่อนคลายไม่เหมือนกัน ฉันหลับตาแล้วนึกว่าสิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกผ่อนคลายคืออะไร หลังจากนั้นก็มุ่งไปยังสิ่งที่ชอบ แล้วก็เบลนด์ออกมาได้เป็นชาของตัวเอง ซึ่งชาของแต่ละคนนั้นก็จะดึงเอาความเป็นตัวเอง ความชอบ อารมณ์ และความรู้สึกของเจ้าของออกมาได้อย่างชัดเจน (บอกเลยว่าฉันสนุกกับการทำสิ่งนี้มาก) ลุ้นว่าจะออกมาเป็นยังไง
พอเบลนด์เสร็จเรียบร้อยพี่ปลาก็ใจดีให้เราได้ลองชงชาที่ตัวเองทำแล้วลองดื่มดู ว่าสิ่งที่คิดนั้นจะออกมาเหมือนอย่างที่คิดไว้หรือเปล่า ซึ่งความสนุกของการเบลนด์ก็คือการได้ดมกลิ่น เป็นการทดสอบว่าประสาทสัมผัสเรื่องการดมของแต่ละคนนั้น เป็นอย่างไร หลังจากได้แต่จินตนาการเรื่องราวก่อนเริ่มเบลนด์
ใครอยากลองเบลนด์ชาเองที่บ้านสามารถนำหลักการนี้ไปทดลอง สร้างจิตนาการและเรื่องราวผ่านตัวเองสื่อออกมายังชาเบลนด์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร หรือถ้าสนใจเรียนกับพี่ปลา ทางร้าน TE Time and space ก็จัดเวิร์คช็อปสอนการเบลนด์ชาเองอีกด้วย รับรองได้ว่ามาเรียนกับพี่ปลาสนุกแน่นอน หรือจะมานั่งที่ร้านชิมชาเบลนด์ที่พี่ปลาเบลนด์ขึ้นมาแล้วก็ได้ อย่าชาเบลนด์ตัวล่าสุดของพี่ปลาก็น่าจะถูกใจสายละครเป็นแน่ อย่างชา Bad Romeo “ที่มีกลิ่นข้าวที่พ่อคุณปลูก กลิ่นใบเตยที่แม่คุณชอบ เปลือกส้มที่เอาไว้ไล่ยุง และดอกไม้หลายๆ ดอกที่อยู่แถวนั้น” พอได้ชิมก็ได้กลิ่นตามนั้นเลย กลิ่นเปลือกส้มที่หอมพุ่งมาเป็นอย่างแรกตอนดมแบบแห้ง แต่เมื่อนำไปชงแล้วนั้นกลิ่นเปลือกส้มก็จางลงแล้วความหอมนวลก็กลมกล่อมขึ้นมาทันที
ซึ่งที่ร้านพี่ปลาไม่ได้มีแค่ชาเบลนด์ที่เป็นชาร้อนอย่างเดียวนะ ยังมีชาเบลนด์ที่เป็นชานมอีกด้วย บอกเลยว่าถูกใจวัยรุ่นและเหล่าบรรดาชานมเลิฟเวอร์เป็นแน่ แอบกระซิบว่าได้ลองชิมมาแล้ว นี้ขนาดว่าไม่ใช่สายชานมยังเทใจให้เลย อย่างเมนูนี้ที่พี่ปลาทำมาให้ลองชิมเป็นชานมที่ใช้นมข้าวโพดในการทำ ด้านบนเป็นวิปครีมชีสที่มีความหอมมันและเปรี้ยวนิดๆ ในตัวข้าวโพดที่ท็อปอยู่ด้านบน เข้ากันได้ดีอย่างลงตัว ใครอยากลองชิมชาเบลนด์แบบชานมก็ไปลองสั่งกันได้ที่ร้านนะคะ มีเมนูให้เลือกอีกเยอะแยะมากมาย พี่ปลาแอบกระซิบมาว่าวัตถุดิบที่ร้านคัดสรรและทำเองหมดเลยนะจ๊ะ
อ่านบทความเพิ่มเติม