กินความทรงจำ ย่านโรงหนังเก่า

8,334 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
โรงหนังสแตนอโลนแหล่งรวมตัวของผู้คนค่อยทะยอยเงียบลงจนสูญหาย แต่ร่องรอยของความรุ่งเรืองยังคงเหลือไว้เป็นหลักฐานที่มีชีวิต อย่างเช่นร้านอาหาร 3 ร้านย่านโรงหนังเก่าเหล่านี้

โรงหนังสแตนด์อโลนในอดีต เป็นสถานที่ซึ่งรวบรวมผู้คนเอาไว้มากหน้าหลายตา ทำให้เกิดร้านอาหารขึ้นตามกันเพื่อรองรับผู้คนยามหิวโหยก่อนและหลังดูหนัง เกิดเป็นระบบนิเวศที่เกื้อกูลกันของทั้งโรงหนังและร้านอาหาร แต่สัจธรรมคือโรงหนังเหล่านั้นต่างล้มตายไปตามยุคสมัยที่การดูหนังย้ายเข้าไปในระบบมัลติเพล็กซ์ ทว่าร้านอาหารที่เกิดขึ้นรอบๆ โรงหนังหลายร้าน กลับอยู่ยงคงกระพันท้าทายวิวัฒนาการด้านรสชาติที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีอาหาร อาทิ ราดหน้าเอมไพร์อันโด่งดัง ก็มีจุดกำเนิดอยู่ที่หน้าโรงหนังเอมไพร์ ปากคลองตลาด หรือลอดช่องสิงคโปร์ ก็เป็นตำนานหน้าสำคัญที่อยู่คู่กับโรงหนังสิงคโปร์ ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงหนังเฉลิมบุรี ย่านเยาวราช นั่นเอง

หากคุณมีเวลา อยากแนะนำให้ลองย้อนรอยไปตามทำเลซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโรงหนังสแตนด์อโลนทั้งหลายดู เชื่อเถิดว่าในรัศมีที่เดินได้ไม่ทันเหนื่อยนั้น คุณจะเจอร้านอาหารเก่าแก่ที่พร้อมพาคุณย้อนไปสัมผัสบรรยากาศวันวานโดยไม่รู้ตัว เช่นย่านวังบูรพาที่เราจะพาไปทำความรู้จักนี้

ออนล็อกหยุ่น

เราควรเริ่มด้วยมื้อเช้าที่ร้านกาแฟเล็กๆ ซึ่งแอบอิงเคียงข้างศาลาเฉลิมกรุงมาราว 80 ปีแห่งนี้ ด้วยเรื่องราวยาวนานขนานมากับวงการหนังไทย เพราะฝั่งตรงข้ามของร้านที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของแฟลตบำเพ็ญบุญนั้น เคยเป็นชุมชนสายหนังและผู้ประกอบการหนังไทยแออัดอยู่ด้วยกัน รายใหญ่หน่อยก็เช่นสหมงคลฟิล์มและ เป็ดทองภาพยนตร์ (ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีการฉายหนังมาหลายสิบปี) นั่นทำให้หน้าร้านออนล็อกหยุ่นคลาคล่ำไปด้วยคนทำหนังตำแหน่งต่างๆ ดาราเบอร์เล็กและใหญ่ รวมไปถึงประชาชนที่มาดูหนัง ณ ศาลาเฉลิมกรุงตลอดทั้งวัน

เพราะคนทำหนังมารวมตัวกันบริเวณนี้ เหล่านักแสดงประกอบ (หรือที่ศัพท์คนทำหนังเขาเรียกเอ็กซ์ตร้า) -ซึ่งในขณะนั้นไม่ได้มีโมเดลลิ่งคอยรับงานแต่อย่างใด- เลือกที่จะมายืนรองานหน้าร้านเรียงรายไปตลอดเส้นถนน ว่ากันว่าบางคนก็สวมชุดตำรวจ ครู โจร พร้อมที่จะเข้าฉากได้ทันที และทุกเช้าก็จะมีทีมงานมาช็อปเอ็กซ์ตร้าข้างทางไปถ่ายหนังเป็นประจำ ซึ่งร้านออนล็อกหยุ่นเปิดบริการตั้งแต่ตีห้าครึ่ง มันจึงเป็นที่พึ่งให้เหล่าเอ็กซ์ตร้าได้มาฝากท้องระหว่างรองานกันในช่วงเช้านั่นเอง

ด้วยบรรยากาศร้านที่ราวกับถูกแช่แข็งทางกาลเวลามา 80 ปี ทำให้ออนล็อกหยุ่นกลายเป็นจุดเช็คอินของย่านนี้ไปโดยปริยาย ด้วยจุดเด่นเป็นขนมปังที่เมื่อกินตอนร้อนๆ เนื้อสัมผัสจะเหนียวนุ่มไม่เหมือนใคร

จีจ้งหว่อ ภัตตาคาร

ออกจากออนล็อกหยุ่นเดินย้อนมาทางดิโอลด์สยาม เลียบไปตามถนนบูรพาแล้วข้ามถนนเข้าไปในซอยพีรพงษ์สู่ย่านวังบูรพา เมื่อเข้าไปในซอย เดินทะลุเข้าไปในอาคารจอดรถเพื่อออกไปสู่อีกฝั่งของอาคาร จะเจอร้านข้าวแกงตาเหน่ง โดยไม่ทันรู้ตัวว่าลานจอดรถที่เราเพิ่งเดินผ่านมานั้น คือโถงโรงหนังควีนส์ที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งวังบูรพา มันยังเหลือร่องรอยโครงสร้างโรงหนังเอาไว้ให้เห็น ปัจจุบันกลายเป็นอาคาร Queen’s Plaza ซึ่งฝั่งตรงข้ามของอาคารคือร้านจีจ้งหว่อ ภัตตาคาร ร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดสูตรกวางตุ้งที่ตั้งรกรากตรงนี้มาราว 70 ปีแล้ว

คุณตาชัยยศ ห่อรัตนาเรือง วัย 90 ปี เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่าตั้งใจซื้อห้องแถวนี้เพื่อทำร้านอาหารกวางตุ้งแบบต้นตำรับดักคนมาดูหนัง ขณะนั้นโรงหนังควีนส์ฝั่งตรงข้ามยังเป็นแค่โครงการ ซึ่งจะมาพร้อมโรงหนัง คิงส์และแกรนด์ ที่สามารถเดินทะลุตรอกเล็กๆ ข้างร้านออกไปได้ง่ายดาย นี่จึงเป็นทำเลทองเพื่อรองรับนักดูหนังของทั้งสามโรงให้มารวมตัวกันที่ร้านอย่างแน่นอน

แผนของคุณตาชัยยศไม่ผิดจากความเป็นจริงนัก เพราะโรงหนังทั้งสามในอดีตไม่ได้ฉายหนังทับทางกันอย่างโรงหนังปัจจุบัน ควีนส์ฉายหนังอินเดีย คิงส์ฉายหนังจีน และแกรนด์ฉายหนังฝรั่ง ส่งผลให้ย่านวังบูรพากลายเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ของหนุ่มสาวที่ไม่ว่าจะมีรสนิยมการดูหนังแบบไหนก็มาแชร์พื้นที่ร่วมกันได้ โดยเฉพาะร้านจีจ้งหว่อที่อยู่กึ่งกลางของทั้งสามโรงพอดี

จุดเด่นของจีจ้งหว่อคือบะหมี่เป็ดตุ๋นสูตรกวางตุ้ง ในอดีตร้านทำเส้นบะหมี่เอง แต่ปัจจุบันร้านสั่งโรงงานผลิตสูตรเฉพาะให้ รสสัมผัสของเส้นบะหมี่จึงมีความแตกต่าง และอีกเมนูที่เราอยากแนะนำคือ โกยซีหมี่ รสละมุนที่คนรุ่นใหม่อาจจูนลิ้นไม่ทันเพราะรสชาติต้นตำรับนั้นบางเบา สอดคล้องกับที่ กฤช เหลือลมัย เล่าไว้ในหนังสือ ‘โอชากาเล’ ว่าในอดีตผู้คนนิยมกินอาหารรสอ่อน ก่อนที่คนรุ่นต่อมาจะเริ่มปรุงจัดจ้านขึ้นตามวิวัฒนาการของผงชูรส

ปัจจุบันโรงหนังควีนส์กลายเป็นอาคารเก่าแก่ที่ผู้คนเข้าออกหมุนเวียนตลอดวัน ในขณะที่โรงหนังแกรนด์กับคิงส์ถูกทุบรวมเป็นศูนย์การค้าเมกาพลาซ่า ทำให้ไม่สามารถเดินทะลุข้างร้านจีจ้งหว่อออกสู่ถนนใหญ่ได้เหมือนเคย กระนั้นการดับลงของโรงหนังสแตนด์อโลนทั้งสามก็หาได้ยุติบทบาทร้านอาหารกวางตุ้งของจีจ้งหว่อลง ทั้งยังคงสภาพของบรรยากาศและรสชาติแบบดั้งเดิมไว้ได้ถึง 70 ปี

ข้าวหมูแดงนายฮุย (นาครสนุก)

เดินเลยจากร้านจีจ้งหว่อมาทางขวามือ จะเห็นตรอกเล็กๆ ที่สามารถทะลุไปถนนเจริญกรุงได้ มันคือตรอกย่อยของซอยเจริญกรุง 6 ที่ตั้งของร้านข้าวหมูแดงอันมีวงเล็บน่ารักๆ ไว้ว่า ‘นาครสนุก’ นี่ไม่ใช่กิมมิกทางการตลาดอะไร ทว่ามันคือการย้ำเตือนให้ขาประจำได้รู้ว่า ข้าวหมูแดงนายฮุยคือเจ้าเก่าที่ย้ายมาจากหน้าโรงหนัง ‘นาครสนุก’ ย่านเยาวราชนั่นเอง

ข้าวหมูแดงนายฮุย คืออีกร้านที่ชีวิตผูกโยงกับโรงหนังมาตั้งแต่ก้าวแรก เพราะสาเหตุที่ทำให้ข้าวหมูแดงนายฮุยย้ายมาอยู่วังบูรพาก็เพราะโรงหนังนาครสนุกถูกทุบ จึงต้องหาทำเลทองแห่งใหม่เพื่อรองรับนักกิน ซึ่งก็มาลงเอยที่นี่และอยู่ยาวมาจนปัจจุบัน

แม้ร้านจะหลบหลืบอย่าเจียมตัว แต่ความอร่อยของมันก็เย้ายวนพอที่จะเชื้อเชิญนักดูหนังวังบูรพาจนคึกคักตลอดทั้งวัน กระทั่งวันที่โรงหนังปิดตัวลง เพื่อนสนิทที่เคียงข้างกันมาอย่างร้านข้าวหมูแดงนายฮุยก็ยังคงให้บริการอยู่เสมอ แม้จะไม่ดุเดือดเท่าอดีตแต่ก็ยังมีลูกค้าแวะเวียนไม่ขาดสาย กับเมนูดั้งเดิมคือข้าวหมูแดง หมูกรอบ กุนเชียง และที่พิเศษคือมันเป็นข้าวหมูแดงเพียงไม่กี่ร้านที่มีเครื่องในนุ่มๆ เสิร์ฟมาพร้อมกันด้วย

จุดเด่นของข้าวหมูแดงนายฮุยคือรสชาติที่ยังคงเอกลักษณ์ความบางเบา อันบ่งบอกยุคสมัยได้อย่างดี และทำให้ตักกินได้เรื่อยๆ จนอิ่มแน่นโดยไม่รู้ตัว

สามร้านอาหารเป็นเพียงตัวอย่างความอร่อยแห่งวังบูรพาที่เปรียบดังไทม์แมชีนให้เราย้อนกลับไปซึมซับกลิ่นอายความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมการดูหนังในอดีต ผ่านรสชาติที่ลูกค้าขาประจำรุ่นดั้งเดิมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าแทบไม่เปลี่ยนแปลง หากการล่มสลายของโรงหนังสแตนด์อโลนจะหลงเหลือไว้เพียงภาพถ่ายในอินเตอร์เน็ต ทว่าร้านอาหารเก่าแก่รายรอบเหล่านี้คือบทบันทึกชิ้นสำคัญที่ร่วมสะท้อนความรุ่งเรืองเหล่านั้น

ภาพโดย: วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์
ภาพประกอบโดย: บวรชัย ปุ๊ดธรรม

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS