เคยสงสัยกันไหมคะว่า เรารู้จักวิถีชีวิตของพระสงฆ์กันดีขนาดไหน
ไม่ฉันข้าวเย็น ไม่นอนฟูกหนา ไม่ใช้น้ำหอม เหล่านี้คือหลักปฏิบัติของนักบวชนิกายเถรวาท (พระนิกายบ้านเรา) ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ซึ่งเหล่าชาวพุทธคงคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว
แต่ลึกลงไปในรายละเอียด เราเข้าใจหลักปฏิบัตินั้นดีแค่ไหน และเชื่อไหมว่าถ้าลองศึกษาพระวินัยให้ดี จะพบว่ามีหลายอย่างที่ชาวพุทธเองยังต้องประหลาดใจ เพราะการเป็นสมณเพศนั้นยึดโยงอยู่กับข้อปฏิบัติละเอียดอ่อนมากมาย ที่พระวินัยบัญญัติไว้มานานนับพันปี
เฉพาะเรื่องอาหารการฉัน เท่านี้ก็อาจต้องนั่งลงศึกษากันยกใหญ่
เพราะไม่ใช่แค่พระสงฆ์ห้ามรับอาหารหลังเที่ยงเท่านั้น แต่รายละเอียดในสำรับก็มีเรื่องกำชับไว้อย่างเคร่งครัด เป็นการกำชับไว้ด้วย ‘เวลา’ ‘วิธีการปรุง’ และ ‘วัตถุดิบ’ ซึ่งชาวพุทธเรียกสิ่งนี้กันว่า ‘กาลิก’ ค่ะ
คือการฉันที่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา
กาลิก เป็นภาษาบาลี มีความหมายว่า ‘เป็นไปตามกำหนดเวลา’ เป็นหลักการที่พระสงฆ์ใช้วัดว่าอะไรฉันได้ ฉันไม่ได้ และฉันได้เมื่อไรถึงเมื่อไร ซึ่งในพระวินัยนั้นมีระบุไว้ด้วยกัน 4 กาลิก นั่นคือ ยาวกาลิก ยามกาลิก สัตตาหกาลิก และยาวชีวิก ส่วนประเภทของกาลิกที่เราชาวพุทธรู้จักกันดีที่สุดนั้นเห็นจะเป็น ‘ยาวกาลิก’ หรือช่วงเวลาเช้าจนถึงเที่ยง อันเป็นจังหวะเวลาที่พระสงฆ์ฉันอาหารและน้ำได้ และอาหารนั้นจะมีอายุขัยตั้งแต่รับประเคนจนถึงเที่ยงของวันนั้นเท่านั้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ภิกษุ ‘กินเพื่ออยู่’ อย่างแท้จริง และเป็นการไม่รบกวนญาติโยมมากเกินความจำเป็น กว่านั้น ในพระวินัยยังระบุว่าการฉันอาหารเพียงก่อนเที่ยงยังช่วยให้สุขภาพแข็งแรงด้วยค่ะ
โดยการถวายอาหารประเภทยาวกาลิก ยึดหลักดังนี้ค่ะ
1.ต้องเป็นเนื้อสัตว์ที่ภิกษุไม่รู้เห็นว่าญาติโยมตั้งใจฆ่าเพื่อนำมาถวาย
2.ห้ามมีส่วนผสมของเนื้อมนุษย์ ช้าง เสือ หมี สิงโต งู และสุนัข เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีอันตราย อาจเป็นภัยต่อพระ ฉันแล้วเกิดกลิ่นติดตัว เป็นเหตุเรียกให้สัตว์มาทำร้ายได้
3.ภิกษุห้าม ‘ขอ’ อาหารจากญาติโยมเป็นอันขาด ยกเว้นแต่ครอบครัวสายเลือดเดียวกัน หรืออยู่ในยามอาพาธ จึงสามารถบอกความต้องการได้
4.‘ผลไม้’ ที่ถวายได้นั้นต้องมีตำหนิเสียก่อนค่ะ อาจจะลนด้วยไฟ กรีดด้วยเล็บ หรือใช้มีดปาดให้เป็นรอย เพื่อให้ถูกต้องตามพระวินัยที่ระบุไว้ว่าภิกษุไม่ควรฉันผลไม้มีเมล็ดซึ่งนำไปปลูกต่อได้ จะฉันได้ก็ต่อเมื่อผลไม้นั้นถูกทำตำนิและมีคนนำมาถวายเท่านั้น ฉะนั้นไม่ว่าจะส้ม ชมพู่ หรือผลไม้ใดก็ควรทำตำนิก่อนถวายค่ะ
อนึ่ง ข้อปฏิบัติข้างต้นเป็นเพียงรายละเอียดของอาหารพระสงฆ์ในช่วงเวลาแรกที่เราอาจไม่เคยรู้เท่านั้นนะคะ ทว่าในพระวินัยยังมีอีกถึง 3 กาลิกรอให้เราทำความเข้าใจ และอาจทำให้การถวายภัตตาหารครั้งถัดไปไม่เหมือนเดิม
ยามกาลิก อาหารที่มีอายุ 1 อรุณหลังรับประเคน
‘ยามกาลิก’ แปลว่า ‘ช่วงเวลา 1 อรุณหลังรับประเคน’ หมายถึงอาหารที่พระสงฆ์สามารถฉันได้ตลอดทั้งวัน และในอีกทางก็หมายถึงอายุขัยของอาหารนั้นด้วยว่ามีเวลาเพียง 1 คืนหลังจากพระสงฆ์รับประเคนเรียบร้อยแล้ว ตัวอย่างอาหารยามกาลิกที่เรารู้จักกันก็เช่น ‘น้ำปานะ’ แต่รู้ไหมคะว่า จริงๆ แล้วน้ำปานะนั้นมีกรอบในการปรุงมากมายกว่าที่คิด ด้วยหนึ่ง หากเป็นน้ำผลไม้ จะต้องเป็นน้ำจากผลไม้ผลเล็ก และห้ามทำให้สุกด้วยไฟเป็นอันขาด เท่ากับว่าน้ำมะพร้าว น้ำส้มโอ หรือน้ำแตงโมต่างไม่นับเป็นน้ำปานะแต่อย่างใด ส่วนอีกข้อแม้ก็คือ น้ำปานะจะต้องไม่มีส่วนผสมของนมหรือถั่วชนิดต่างๆ แปลว่านมสด น้ำเต้าหู้ หรือน้ำนมข้าว ก็ล้วนห้ามปรากฏอยู่ในสำรับสำหรับถวายพระสงฆ์เป็นอันขาด
แล้วน้ำปานะควรทำมาจากอะไร?
ถ้าว่ากันอย่างเคร่งครัดตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าระบุไว้ตั้งแต่สมัยบรรพกาล น้ำปานะมีด้วยกัน 8 ชนิดค่ะ ทว่าชนิดที่เข้ากับยุคสมัยและหาซื้อได้ง่ายในชีวิตประจำวัน เราขอแนะนำ ‘น้ำองุ่น’ ‘น้ำลิ้นจี่’ และ ‘น้ำมะขาม’ ส่วนน้ำชาหรือเครื่องดื่มที่ทำจากใบพืชนั้นนับเป็นน้ำปานะทั้งสิ้น
อีกหนึ่งข้อสำคัญควรรู้ก็คือ ‘น้ำผัก’ หรือน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของผัก อาทิ น้ำแครอทผสมน้ำส้ม จะไม่นับเป็นน้ำปานะ เนื่องจากผักเป็นอาหาร น้ำที่มีส่วนผสมของผักจึงนับเป็น ‘ยาวกาลิก’ แต่ถ้าผักนั้นมีสรรพคุณเป็นยา อาทิ น้ำสับปะรสผสมใบสะระแหน่ อย่างนี้นับเป็นยามกาลิกค่ะ
‘สัตตาหกาลิก’ และ ‘ยาวชีวิก’ อาหารที่ภิกษุฉันได้ตลอดทั้งวัน
เอาละค่ะ มาถึง 2 กาลิกสุดท้ายที่น้อยคนจะรู้จักอย่าง สัตตาหกาลิก และยาวชีวิก ซึ่งทั้งสองกาลิกนับเป็นช่วงเวลาพิเศษในชีวิตของสมณเพศทีเดียวค่ะ เพราะคืออาหารที่พระฉันได้ในยามป่วยไข้ หรือมีเหตุจำเป็นให้ฉันล่วงเวลา เช่น ต้องเดินทางไกล หรืออยู่ในภัยสงคราม
โดยอาหารแบบสัตตาหกาลิกนั้นพระสงฆ์สามารถเก็บไว้ฉันได้นาน 7 วันหลังรับประเคน ได้แก่ เนยข้น (บางตำราว่าใกล้เคียงกับกีห์ของอินเดีย ปัจจุบันบางวัดก็อนุโลมให้เป็นชีสได้) น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำมัน ซึ่งเป็นส่วนผสมของยามาแต่โบราณ พระวินัยจึงอนุญาติให้ภิกษุฉันอาหารประเภทสัตตาหกาลิกได้ไม่จำกัดเวลา
ส่วนประเภทอาหารที่มีความยืดหยุ่นมากที่สุด ซึ่งภิกษุสามารถฉันเวลาไหนก็ได้ และเก็บไว้นานเท่าไหร่ก็ได้ เราเรียกกันว่า ‘ยาวชีวิก’ ค่ะ ซึ่งเอาเข้าจริง จะเรียกว่าอาหารก็คงไม่ถูกนัก เพราะวัตถุดิบที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่อยู่ในหมวดสมุนไพรและยา อาทิ ขิง ขมิ้น ใบกะเพรา เกลือ และมะนาว ฯลฯ แต่ถ้าเอาหลักการของยาวชีวิกมาตีความใหม่ให้เข้ากับบริบทโลกปัจจุบัน เราก็สามารถนับรวมอาหารที่มีสรรพคุณเป็นยาและไม่มีส่วนผสมขนมนม เนย น้ำตาล (วัตถุดิบที่ประกอบอยู่ในสัตตาหกาลิก) เข้ามาอยู่ในกลุ่มยาวชีวิกได้เหมือนกันนะคะ
อาทิ ‘ผงโกโก้แท้’ ที่ทำจากเมล็ดของผลโกโก้ที่มีสรรพคุณทางยา ช่วยทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานดี ก็นับเป็นยาวชีวิกเช่นกัน ในวงเล็บว่าต้องไม่ผสมน้ำตาล นม เนย หรือเครื่องปรุงอื่นใดเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะไม่อย่างนั้นจะถูกนับเป็น ‘สัตตาหกาลิก’ ทั้งหมดค่ะ
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจพอเห็นภาพรวมของอาหารสำหรับพระสงฆ์กันมากขึ้นแล้ว แต่ถ้าใครอยากรู้ให้ชัดเจนไว้เพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการทำบุญช่วงออกพรรษาที่กำลังจะมาถึง
ต่อไปนี้คือลิสต์อาหารตามกาลิกต่างๆ ที่เราสรุปรวมไว้ให้ค่ะ
ข้อควรรู้ก่อนถวายภัตตาหารพระสงฆ์
1.ต้องเป็นเนื้อสัตว์ที่ภิกษุไม่รู้ว่าญาติโยมตั้งใจฆ่าเพื่อนำมาถวาย 2.ภิกษุห้ามฉันอาหารที่ ‘ขอ’ จากญาติโยม ยกเว้นแต่อาหารที่ขอจากครอบครัวสายเลือดเดียวกันหรืออยู่ในอาการอาพาธเท่านั้นจึงฉันได้ และภิกษุไม่สามารถฉันอาหารที่ไม่ได้รับประเคน
3.ภิกษุห้ามฉันอาหารที่มีส่วนผสมของเนื้อมนุษย์ ช้าง เสือ หมี สิงโต งู และสุนัข
4.ผลไม้มีเมล็ดที่นำถวายพระจะต้องทำให้เกิดตำหนิก่อนทุกครั้ง อาทิ ลนไฟ หรือใช้มีดกรีด
5.น้ำปานะ (ยามกาลิก) จะต้องทำจากใบพืชหรือผลไม้ผลเล็ก ห้ามใช้ไฟในการทำให้สุก ห้ามเติมน้ำตาล น้ำผึ้ง เนย หรือมีส่วนผสมของนม ข้าว และถั่ว ข้อสำคัญคือห้ามมีส่วนผสมของ ‘ผัก’ เพราะจะนับเป็นอาหาร ยกเว้นผักที่มีสรรพคุณทางยาเท่านั้น
6.เนย น้ำผึ้ง น้ำมัน และเนยข้น (บางตำราว่าใกล้เคียงกับกีห์ของอินเดีย ปัจจุบันบางวัดก็อนุโลมให้เป็นชีสได้) เป็นอาหารที่พระสงฆ์สามารถเก็บไว้ฉันได้เพียง 7 วัน
7.อาหารที่มีสรรพคุณทางยาเป็นหลัก (เป็นอาหารที่ไม่ได้กินเพื่อเอาอิ่ม) และไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล นม น้ำมัน หรือเนย นับเป็นยาวชีวิกที่พระสงฆ์สามารถฉันได้ตลอดเวลาและเก็บได้ตลอดไป อาทิ พริกไทย น้ำขิง เกลือ มะนาว ฯลฯ และพระสามารถฉันมะขามป้อมและสมอได้หลังเที่ยง เพราะมีสรรพคุณเป็นยาระบาย
*** ทว่าหากยานั้นมีส่วนผสมของอาหารประเภท ‘สัตตาหกาลิก’ ก็จะสามารถเก็บไว้ได้เพียง 7 วันเท่านั้นค่ะ เช่น น้ำขิงผสมน้ำผึ้ง เป็นต้น
Note : เหล่านี้เป็นหลักปฏิบัติตามพระวินัย ซึ่งสามารถตีความได้แตกต่างกันไปตามแต่ละวัดหรือสำนักสงฆ์ ขึ้นอยู่กับวิถีปฏิบัติและความยืดหยุ่นของสถานปฏิบัติธรรมนั้น
ภาพจาก
น้ำมะขาม : www.pvmishra.com/remove-pesticides-from-fruits-vegetables/
เนยข้น : https://www.culinarynutrition.com/