6 ข้อลดเสี่ยง Covid ยามร่วมวงกินข้าว

5,143 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
รวมวิธีเอาตัวรอดจากเชื้อร้าย ทั้งกินคนเดียว หรือยามต้องร่วมวงกินข้าว

ห่างกันสักพัก ห่างกันสักพัก มันคงจะดีซะกว่า…

ไม่ใช่การลดระดับความสัมพันธ์ แต่คือการเว้นระยะห่างระหว่างกัน อันเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของ covid-19 หรือมาตรการ Social Distancing แปลตรงตัวคือ ระยะห่างทางสังคม ซึ่งในทางการแพทย์หมายถึงการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อยๆ 2 เมตร และไม่พาตัวเองไปอยู่ในที่ที่มีคนหมู่มาก

แม้แต่การรับประทานอาหารจานใครจานมันและนั่งเว้นระยะให้ห่างกันก็เป็นเรื่องควรทำในช่วงการแพร่ระบาดเช่นนี้ เว้นแต่ว่า… เลี่ยงไม่ได้จริงๆ ยังต้องกินข้าวร่วมโต๊ะ ตักกับข้าวร่วมกันในครอบครัวและเพื่อนฝูงตามวาระโอกาสต่างๆ ก็มีข้อควรปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยง ดังนี้

1. ล้างมือก่อน-หลัง รับประทานอาหาร ล้างมือด้วยสบู่หรือน้ำยาล้างมือให้สะอาดอย่างถูกวิธี นาน 20 วินาทีเป็นอย่างต่ำ ข้อนี้สำคัญ ทำง่ายและควรฝึกให้เป็นนิสัย เพราะกว่าจะพาตัวเองมาถึงโต๊ะอาหาร ไม่รู้ว่ามือเราสัมผัสเชื้อโรคจากการหยิบจับอะไรมาบ้าง ทั้งลูกบิดประตู สวิตช์ไฟ ราวบันได หรือสิ่งของใกล้ตัวอย่างโทรศัพท์มือถือ มือขาวๆ ที่ดูเหมือนสะอาดจึงเป็นแหล่งพักพิงของเชื้อโรคสารพัด และล้างหลังรับประทานอาหารอีกครั้ง

2. กินร้อน ของสดที่ใช้ปรุงอาหารอาจมีเชื้อโรคตกค้างจากการทำความสะอาดไม่ทั่วถึง หรือติดมาจากเขียงที่ทำความสะอาด จัดเก็บไม่ดี กระทั่งมือคนทำครัว เราจึงควรกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ เพราะความร้อนช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ ด้วยอุณหภูมิขณะปรุงต้องไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส สำหรับข้าวกล่องหรืออาหารถุงก็ควรนำมาอุ่นร้อนก่อนกินทุกครั้ง

3. ช้อนใครช้อนมัน หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะจานชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น แม้แต่ช้อนกลางตักกับข้าวก็ควรพกไว้เป็นของส่วนตัว หากไปร้านอาหารก็ขอ ‘ช้อนกลางของใครของมัน’ ใช้กันคนละคัน ปลอดภัยกว่าช้อนกลางหนึ่งคันที่เวียนกันจับตักกับข้าว เพราะเราไม่รู้เลยว่าไวรัสตัวร้ายจะติดมือใครมาบ้าง สำหรับร้านบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง-ชาบู ที่ต้องบริการตักอาหารด้วยตัวเอง ก็ขอช้อนเพิ่มอีกสักคัน หรือตะเกียบอีกสักคู่สองคู่ไว้ตักของสดโดยเฉพาะ

4. ทำความสะอาดภาชนะก่อนรับประทาน สำหรับคนที่ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน แล้วไม่สะดวกพกภาชนะส่วนตัวหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยข้อจำกัดของร้านอาหารนั้นๆ การเช็ดทำความสะอาดภาชนะอย่างช้อนส้อม จานชาม แก้วน้ำด้วย Alcohol Pad หรือแผ่นแอลกอฮอล์ แล้วใช้กระดาษทิชชูเช็ดให้แห้งสะอาดอีกครั้งก่อนใช้ ก็เป็นอีกหนทางป้องกันที่เราพอทำได้

5. เลือกร้านที่อากาศถ่ายเท ช่วงนี้กินข้าวอยู่บ้านดูจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย แต่ถ้าสุดวิสัยหรือไม่สะดวกให้เลือกร้านอาหารที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีหน้าต่างลมพัดผ่านเข้าออก หรือเลือกร้านที่มีโซน outdoor ไว้บริการ เพราะในที่อากาศปิดเป็นแหล่งหมักหมมเชื้อโรค และเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรค

6. ไอจามปิดปาก บอกว่าไม่ควรไอหรือจามขณะกินข้าวร่วมกับผู้อื่นก็ดูเป็นเรื่องฝืนสังขารเกินไป หากร่างกายเริ่มส่งสัญญาณว่าจะไอ จาม ให้รีบหากระดาษทิชชูปิดปากแล้วทิ้งกระดาษทิชชูนั้นทันทีที่ใช้เสร็จ ไม่ใช้ซ้ำเด็ดขาด ล้างมืออีกครั้งก่อนรับประทานอาหารต่อ หรือใช้ข้อพับข้อศอกปิดปากในกรณีที่หยิบจับหากระดาษทิชชูไม่ทัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายสารคัดหลั่งอย่างน้ำลาย

6 วิธีนี้ช่วยลดความเสี่ยงเป็นผู้ติดเชื้อและผู้แพร่เชื้อเสียเองขณะกินข้าวร่วมกับผู้อื่น หรืออกไปกินนอกบ้าน แต่ท้ายที่สุดสำหรับคนที่กังวลและไม่มั่นใจก็ตัดจบทุกปัญหาด้วยการทำอาหารปรุงสุกกินร้อนๆ อยู่ที่บ้านแล้วปฏิบัติตามข้อ 1 2 3 6 เราจะปลอดโรคไปด้วยกันค่ะ 

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS