Lemon Farm ธุรกิจที่เชื่อในมนตราของอาหาร คนทำชีวิตดี คนกินมีความสุข

407 VIEWS
PIN

image alternate text
หัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจคือโอบอุ้มความอยู่รอดของผู้ผลิตอาหาร และสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค

คนเมืองทั้งหลาย ถ้าอยากซื้ออาหารสุขภาพ นึกถึงที่ไหนบ้างคะ?

เชื่อว่าถ้าให้นึกถึงร้านที่มีวัตถุดิบอาหารสุขภาพ ผักผลไม้อินทรีย์ให้เลือกซื้อ คนเมืองส่วนใหญ่น่าจะมีชื่อ Lemon Farm ขึ้นมาในใจเป็นอันดับต้นๆ เพราะ Lemon Farm เป็นร้านขายอาหารสุขภาพที่กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล แถมยังเริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ก่อนที่กระแสอาหารอินทรีย์หรือาหารออร์แกนิกจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างเสียอีก

การเริ่มต้นและเติบโตของแบรนด์เกือบทั้งหมดล้วนมาจากความตั้งใจและทุ่มเทของ คุณเล็ก – สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ หญิงแกร่งผู้เชื่อว่าอาหารเป็นมนตราของชีวิตและสุขภาพที่ดี ทั้งของผู้ผลิตและผู้บริโภค เธอจึงสร้างธุรกิจที่เป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรที่อยากผลิตอาหารดีๆ กับผู้บริโภคที่อยากกินอาหารปลอดภัย จนกลายมาเป็นร้าน Lemon Farm ที่มีจำนวนเกือบ 20 สาขาในวันนี้

ร้าน Lemon Farm

ที่ SINGHA COMPLEX ร้าน Lemon Farm ตั้งโดดเด่นอยู่หน้าประตูที่เชื่อมกับรถไฟฟ้า MRT เป็นภาพที่น่าสนใจดีเหมือนกัน ที่เราได้เห็นร้านอาหารสุขภาพในโลเคชั่นซึ่งเต็มไปด้วยร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ร้านกาแฟ ร้านเบเกอรีและน้ำหวานน้ำชงขวัญใจชาวออฟฟิศ KRUA.CO มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับคุณสุวรรณาว่าด้วยประสบการณ์ในการบริหาร Lemon Farm นับตั้งแต่วันแรกมาจนถึงวันนี้ที่แบรนด์ได้กลายเป็นขวัญใจของสายกรีนและสายสุขภาพทั่วกรุงเทพ และนี้คือบันทึกบทสนทนาจากบ่ายวันนั้นที่เราอยากชวนทุกคนมานั่งฟังด้วยกันค่ะ

ร้าน Lemon Farm

เริ่มต้นที่คุณภาพชีวิตผู้ผลิต เติบโตด้วยสุขภาพของผู้ซื้อ

แม้จะมีภาพจำว่าเป็นธุรกิจอาหารและวัตถุดิบเพื่อสุขภาพ แต่เชื่อไหมคะว่าจุดเริ่มต้นของ Lemon Farm เกิดขึ้นจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรค่ะ

“ตอนนั้นทำงานด้านชุมชนค่ะ เราก็เห็นปัญหาของชุมชน เพราะชุมชนก็จะขาดโอกาส แล้วก็ลำบากยากจนประมาณหนึ่ง เราก็เลยพยายามมองทางออกว่าวิธีการแบบไหนจะช่วยชาวบ้านได้ แล้วเราก็คิดว่ารูปแบบของธุรกิจหรือการค้าที่มันเอื้อให้ชุมชนได้มีโอกาส มีพื้นที่ที่เอาของมาขายได้ มันจะช่วยให้ชาวบ้านหมุนรอบการทำเศรษฐกิจของเขาได้โดยต่อเนื่อง เราก็เลยออกแบบธุรกิจที่จะช่วยเอื้อชุมชนขึ้นมา

“หลังจากนั้นเราก็พบว่า ชุมชนไม่ได้แค่ลำบากยากจน แต่ยังสุขภาพไม่ดีด้วย เพราะทำงานกับสารเคมีเยอะ ย้อนมามองคนเมือง สุขภาพก็ไม่ได้ดีเหมือนกัน เพราะว่าได้กินของไม่ดี มีสารเคมีเยอะ ตอนนั้นเราก็เลยพยายามเอาคนสองกลุ่มนี้มาเจอกัน โดยใช้กำลังการบริโภคมาขับเคลื่อนเรื่องทั้งหมด ถ้าผู้บริโภคต้องการของที่สุขภาพดี ปราศจากสารเคมี ชุมชนที่ไหนทำได้บ้าง มันเลยเชื่อมกันไปแบบนี้ เราเชื่อว่าวงจรมันก็จะต่อเนื่องไปได้ เพราะว่าผู้บริโภคอยากมีสุขภาพที่ดี”

ร้าน Lemon Farm

ด้วยเหตุนี้ Lemon Farm เลยกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจอาหารอินทรีย์ที่มาก่อนกาลตั้งแต่ 26 ปีก่อน แถมยังมีหัวใจของการเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืนพ่วงมาด้วยตั้งแต่วันแรกของแบรนด์อีกต่างหาก

“พอคนเราอยากได้สุขภาพที่ดี เขาก็ต้องมองหาอาหารที่ใช่ อาหารที่สะอาด เราเลยไปสร้างเครือข่ายกับชาวบ้านที่เขาไม่อยากทำเกษตรเคมีขึ้นมา เพื่อจะให้เขาทำของที่เป็นเกษตรอินทรีย์จริงๆ ในการผลิตนี้ชาวบ้านก็จะได้รับความปลอดภัยคนแรก เพราะโดยการผลิตแล้วเป็นคนที่ได้รับอันตรายการสารเคมีมากที่สุด ขึ้นต่อไปเมื่อทำผลผลิตที่เป็นอินทรีย์ได้ เขาก็ได้บริโภค แล้วก็มีรายได้จากการขายผลผลิตอินทรีย์ซึ่งสูงกว่าเดิม วงจรมันก็จะช่วยกันอย่างนี้ ชาวบ้านช่วยทำอาหารดีๆ ให้คนเมืองกิน ส่วนผู้บริโภคในเมืองก็ช่วยให้ชาวบ้านมีโอกาสสร้างรายได้ มีโอกาสในการทำงานที่เป็นอินทรีย์

“ดังนั้นตามจริงคือเรื่องสุขภาพมันมาทีหลัง เรามองแค่ว่าเราจะช่วยชาวบ้านได้อย่างไร แต่พอช่วยไปเราก็พบว่าเราเข้าใจเรื่องอาหารมากขึ้น และเราก็รู้ว่าอาหารเป็นเรื่องสำคัญมาก มันมีผลต่อชีวิตของคนกิน ชีวิตของคนปลูก ในขณะเดียวกันมันส่งผลต่อชีวิตของสิ่งแวดล้อมด้วย ประเทศไทยทำเกษตรเคมีมา 40-50 ปีแล้วนะ สิ่งเหล่านี้มันอาจจะทำลายผืนดิน ทำลายสมดุลย์ธรรมชาติไปเยอะ เพราะฉะนั้นอาหารสุขภาพมันไม่ได้เอื้อเฟื้อแต่คนอย่างเดียว แต่มันจะเอื้อเฟื้อต่อผืนดิน ต่อธรรมชาติมากขึ้นด้วย ถ้าเราทำให้เกิดการกินที่ถูกต้องมากขึ้น มันจะแก้ได้หลายเรื่อง

“ความเชื่อเรื่องวงจรของอาหารที่ดีที่มันกำหนดการทำงานของเราไปด้วย มันกำหนดว่าเราจะเอาอะไรมาขาย ใครจะเป็นคนทำให้เรา เพราะฉะนั้นเกณฑ์ในการเลือกสินค้าเข้าร้านเราก็จะเลือกว่าต้องเป็นเกษตรอินทรีย์มาเป็นอันดับแรก ยกเว้นว่าผลิตไม่ได้จริงๆ เนื่องจากเมืองไทยยังทำไม่ได้ เราก็ยอมรับได้ที่ระดับปลอดภัยจากสารพิษ แต่ไม่เอาเกษตรเคมีเลย ถัดมาก็จะเป็นเรื่องอาหารว่าต้องไม่ใส่สารอะไรบ้าง ไม่ใส่สารกันบูด หวานมากไม่ได้ เค็มมากไม่ได้ เพราะว่าเรามีเรื่องสุขภาพเป็นเกณฑ์สำคัญด้วย เราก็ไปหาคนกลุ่มนี้มา ซึ่งมันก็มีคนที่พร้อมจะทำตามเงื่อนไขของเราไม่น้อยเลยนะ”

ร้าน Lemon Farm

เกษตรกรพร้อมเปลี่ยน ถ้าตลาดพร้อมเปิด

“จริงๆ ชาวบ้านเขาเก่งอยู่แล้ว มีการทดลอง เรียนรู้ไว ใครบอกให้ปลูกอะไรก็ปลูกเพราะคิดว่าจะได้เงิน ยินดีปลูกหมด แป๊บๆ ถ้าไม่เวิร์กเดี๋ยวเขาก็ตัดแล้ว ชาวบ้านเป็นคนที่พร้อมเปลี่ยน พร้อมลงทุน กล้ากู้มาลงตลอดอยู่แล้วเพราะชีวิตเขาไม่ได้มีทางเลือกเยอะ เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้เขาไม่ค่อยมีโอกาสมากกว่า สมมติเขาทำเกษตรอินทรีย์ดีๆ ขึ้นมา เขามักจะพบว่าตลาดไม่ได้ให้ราคาเขา ไม่มีคนซื้อคนขายที่เชื่อตรงกัน ดังนั้นตลาดต้องการมาตรฐานแบบไหน เราก็ต้องกำกับเขาด้วย มาตรฐานเป็นเรื่องเช่นว่า ถ้าคุณทำแบบนี้เคมีจะไม่ปนเปื้อน ห้ามใช้ ห้ามปลิวมาเลย

“ช่วงแรกเขาก็ทำตามมาตรฐานเพราะเขาต้องอยู่ให้รอด ต้องเลี้ยงชีวิตให้รอด โดยไม่ได้เข้าใจมันหรอก แต่ภายหลังเขาก็บอกเราว่าทำแบบนี้นอกจากจะมีโอกาสที่ดีกว่าแล้ว เขายังไม่ต้องเสี่ยงกับการเคมีด้วย มีรายได้ที่มั่นคงขึ้นด้วย มันเปลี่ยนไปพร้อมกัน

“คนทำอินทรีย์ที่ทำได้ดีและเข้าใจหลักการของมัน คือคนที่พบว่าเกษตรเคมีไปต่อไม่ได้แล้ว มันแย่กับสุขภาพของตัวเอง สุขภาพของพ่อแม่ มีอยู่หมู่บ้านหนึ่งในเพชรบูรณ์ที่เราทำงานด้วย ทั้งหมู่บ้านมีแค่ 2 คนที่ตรวจเลือดแล้วไม่เจอสารตกค้าง เพราะบังเอิญป่วย จึงไม่ได้ลงแปลง แต่ที่เหลือเจอสารเคมีตกค้างหมด บางที่เกษตรกรรุ่นพ่อรุ่นแม่ป่วยไปแล้วเพราะใช้สารเคมีหนัก และสิ่งสำคัญคือหนี้เยอะมาก เขาก็ต้องหาวิธีว่าจะหลุดจากวงจรหนี้ได้อย่างไร

“เขาก็จะต้องเจองานที่หนักขึ้นนะ ต้องอดทน เพราะเกษตรอินทรีย์เป็นงานที่ต้องใส่ใจรายละเอียด ถ้าแมลงลงก็ต้องคอยเก็บกันทั้งน้ำตาเลย แล้วก็ต้องสร้างปัจจัยอื่นเสริม เช่นสร้างร่างกายของพืชให้แข็งแรง การบำรุงดินเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี แล้วบางอย่างก็จะทำยากจริง ๆ อย่างผลไม้นี่ทำอินทรีย์ยากมาก”

จากคำบอกเล่านี้ เราจะเห็นได้ว่า ระบบเศรษฐกิจของ Lemon Farm ไม่ใช่การซื้อขายด้วยความสงสาร แต่เป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างผลผลิตที่ดีกับค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลมากขึ้น ผู้บริโภคสินค้าของ Lemon Farm จึงไม่เคยต้องควักเงินซื้อของด้วยความรู้สึกว่าต้องการเป็นนักบุญหรืออยากพัฒนาคุณภาพชีวิตของใครสักคนที่ไม่เคยรู้จัก สินค้าที่ปลอดภัยจากเกษตรเคมีต่างหากที่ย้อนไปขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้อย่างเป็นระบบ

“จริงๆ เกษตรอินทรีย์ ด้วยหลักการของมันจริงๆ มันคือการเคารพสิ่งแวดล้อม เคารพต่อธรรมชาติ ที่สำคัญเลยคือเป็นเรื่องของความซื่อตรงต่อกัน เป็นพันธสัญญาต่อผู้บริโภค ดังนั้นเกษตรกรก็ต้องเข้าใจด้วย ว่าเขาต้องทำอย่างจริงจังเท่านั้น เขาถึงจะได้รับการตอบแทนที่เหมาะสม ส่วนเราในฐานะธุรกิจเราก็ต้องให้มาตรฐานและการอบรมไปช่วยเขาด้วย”

ร้าน Lemon Farm

Lemon Farm PGS : แบรนด์กำหนดมาตรฐาน เกษตรกรเรียนรู้

“เราก็ต้องทำงานกับเกษตรกรแล้วก็ให้ข้อมูลเขาว่าการทำเกษตรอินทรีย์จะต้องมีระบบ มีมาตรการที่ตรวจสอบ ทุกปีเราจะมีมาตรการการลงแปลงตรวจสอบตลอดเวลา เพราะเราต้องทำหน้าที่แทนผู้บริโภคด้วย Lemon Farm มีระบบมาตรฐานของเราเอง เรียกว่า Lemon Farm PGS พืชผักที่จะเข้า Lemon Farm ได้ก็ต้องมาตรฐานนี้ทั้งหมด”

PGS หรือ  Participatory Guarantee System เป็นระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่พัฒนาขึ้นโดย IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) หรือสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ จุดแข็งของระบบ PGS คือการใช้เครือข่ายเกษตรกรเข้ามาร่วมกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานการเพาะปลูก จึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเท่าการขอรับรองระบบเกษตรอินทรีย์ในระบบอื่นๆ

“การพัฒนาแบบนี้มันสร้างระบบให้เกษตรกรควบคุมและตรวจสอบกันเอง โดยมีเราซึ่งเป็นแบรนด์ไปกำกับอีกทอดหนึ่ง หลักการของมันจึงต้องเริ่มต้นจากการแชร์วิสัยทัศน์กันในกลุ่มด้วยว่าเขาต้องการสิ่งนี้จริง ๆ ใช่ไหม ถ้ากลุ่มไหนที่คุยกันชัดเจนว่าฉันจะทำอินทรีย์แล้ว เพื่อชาวบ้าน เพื่อกลุ่มฉันเอง หรือสุขภาพอะไรก็ตามเนี่ย อันนี้จะมั่นคง แต่ถ้าอยากได้แค่ตังค์อันนี้มักไม่ค่อยรอด (หัวเราะ)

“พอเกษตรกรเขาพัฒนาทั้งผลิตภัณฑ์ พัฒนาทั้งกลุ่ม พัฒนาทั้งการเรียนรู้ของแต่ละคนจากระบบ PGS เขาก็จะเข้าใจมาตรฐานและการจัดการอื่นๆ ต่อ ว่าต้องไม่ทำนู่นไม่ใส่นั่น ต้องตัดหญ้าไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า มันก็จะมีหลักการของมันต่อไปได้เอง  เพราะฉะนั้นถ้าชาวบ้านเขายึดมั่นตรงนี้ เราก็จะไปตรวจระบบ คล้าย ๆ ISO เลย ในกระบวนการพัฒนาแบบนี้ชาวบ้านเขาจะเติบโตมาก เขาจะตรวจสอบตัวเอง ตรวจสอบข้ามกลุ่ม เมื่อไรที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ก็แปลว่าตกทั้งกลุ่ม คือส่งเราไม่ได้เลย เราเคยเจอเคสที่ประธานกลุ่มแอบผลผลิตที่อื่นมาส่งมี พอชาวบ้านเค้าจับกันได้คือเขาไล่ประธานออกเลยนะ เขาจะหนักแน่นมากเพราะมันเป็นกระบวนการที่มีการได้เสีย เขาไม่ต้องการจะเสียตลาดไป

“หน้าที่อีกอย่างหนึ่งของเรานอกจากการตรวจสอบ ก็คือเราต้องไปสร้างระบบให้เขา มีวิธีบันทึกข้อมูลอะไรทั้งหลายนะ ชาวบ้านก็ต้องบันทึกตามนั้น ซึ่งมันจะโกหกไม่ค่อยได้เพราะผ่านการตรวจสอบหลายขั้นตอน เสร็จแล้วเราก็เข้าไปให้บางเรื่องที่จำเป็นสำหรับการทำเกษตรของเขา แล้วเราก็ไปตรวจประจำปี การตรวจของเราคือการทำงานให้ผู้บริโภค เพราะเราคือคนการันตีว่าสิ่งที่นั่นเป็น real organic เป็น organic แท้ๆ ที่เป็นฐานของปัจจัยเรื่องอาหารสุขภาพ 

“อย่างเราในฐานะธุรกิจ ความท้าทายอย่างหนึ่งคือต้องสร้างเครือข่ายให้พอ ทั้งเครือข่ายเกษตรกร เพราะเราต้องรวมกลุ่มให้ได้ปริมาณมากพอ ไม่งั้นค่าขนส่งจะไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ธุรกิจรับได้ ถ้าเกษตรกรทำอินทรีย์ไม่กี่ราย เราทำการตลาดยากมาก ขณะเดียวกันก็จะมีเรื่องคุณภาพซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากของการทำอินทรีย์ เกษตรกรเองก็ต้องเรียนรู้เรื่องคุณภาพว่าอันไหนใช่ไม่ใช่ เพราะสินค้าพวกนี้มันมีความสูญเสียได้ เราไม่ได้ขีดเส้นไว้ขนาดว่าต้องได้น้ำหนักหรือขนาดที่เท่ากันเป๊ะๆ กะหล่ำปลีเรามีตั้งแต่หัวยักษ์ใหญ่มากจนถึงหัวนิดเดียว เพียงแต่ว่าถ้าส่งผลิตภัณฑ์มาแบบรูปร่างอัปลักษณ์มากเลย มันก็ไม่แฟร์ต่อผู้บริโภคเหมือนกัน”

คนทำงานเรียนรู้ เกษตรกรเรียนรู้  แบรนด์เรียนรู้

แม้เบื้องหน้าของร้าน Lemon Farm จะดูสโลว์ไลฟ์ สบายๆ แต่โดยเนื้อแท้ของรูปแบบธุรกิจแล้ว คุณสุวรรณาบอกว่า Lemon Farm ก็คือร้านค้าปลีกของสดดีๆ นี่เองค่ะ

ความท้าทายอันดับหนึ่งของร้านค้าปลีกก็คือการจัดการสินค้าให้หมุนเวียนอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้ซื้อได้สินค้าที่มีคุณภาพ ไม่หมดอายุ ไม่เสียหาย แต่เมื่อสินค้าหลักในร้านเกินกว่าครึ่งเป็นวัตถุดิบพร้อมปรุงและอาหารพร้อมทานที่มีอายุการเก็บรักษาหรือไม่ยาวนาน ภารกิจการจัดการสินค้าจึงเป็นเรื่องที่ไม่สโลว์ไลฟ์เลยแม้แต่นิด

ร้าน Lemon Farm

“ปัญหาก็เจอเยอะนะคะ และจริงๆ ก็ยังเจอตลอดเวลาเพราะว่าของอายุสั้นนี่แหละค่ะ ผักบางฤดูกาลเราจะคาดหวังให้เกษตรกรส่งมาสม่ำเสมอไม่ได้ ไม่มีก็คือไม่มี เราต้องเข้าใจว่าเกษตรกรก็เจอเงื่อนไขเยอะ ฝนหนัก ผักไม่ขึ้น แมลงเยอะ ก็จะเจอว่าบางช่วงมันก็ไม่ได้ของเลย ชั้นผักเราก็จะว่างมาก (หัวเราะ) แต่ก็ต้องยอมให้ว่างไป จะให้เราเอาอะไรมาขายก็ได้ เราก็ไม่ทำ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เราเชื่อ แล้วก็จะมีเรื่องของที่มันสุกเร็ว เสียง่าย ขายไม่หมด ที่เราต้องจัดการกันตลอดเวลา

“เราก็ต้องพาทีมไปเจอชาวบ้านนะ ให้เขาไปเรียนรู้สิ่งที่ทำกับชาวบ้าน เขาจะได้เข้าใจว่าของพวกนี้มันจัดการยากเพราะอะไร อย่างลูกไหนเนี่ยเราได้มาจากเกษตรกรที่แม่ฮ่องสอน บางทีมันก็ไม่มา บางทีมันก็มาแบบดิบมากเลย มาแบบคุณภาพไม่ได้เลย แล้วเราไม่อยากขาย ตอนขายใหม่ ๆ ขายยากมาก ที่นี้เราก็พาผู้จัดการร้านไปที่นู่นเลย ไปแม่ฮ่องสอน เพื่อไปเจอชาวบ้านแล้วก็ไปดูเอง ไปเก็บลูกไหนเอง เราถึงได้รู้ว่าส่วนใหญ่ปลูกเกษตรกรปลูกบนเขา เขาก็ต้องปีนขึ้นไป คนไหนน้ำหนักตัวเยอะหน่อย ปีนไม่ไหวก็กลิ้งลงมาเลยนะ หลังจากนั้นพอกลับมาเขาก็ขายใหญ่เลย

“กับชาวบ้านก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องคุณภาพกันเยอะ กับลูกไหนเราก็ต้องแจ้งไปว่าอยากให้ส่งที่ความสุกเท่าไร่ ถ้าเขาเก็บแบบสุก 100% มาถึงเราก็ขายไม่ได้แล้ว เราต้องบอกว่าขอระดับ 80% นะ แล้ว 70% 80% หรือ 100% มันมีลักษณะแบบไหน ตอนแพ็คก็ต้องไปดูวิธีแพ็คด้วยกัน แบบไหนคือได้ แบบไหนคือไม่ได้ ต้องช่วยกันเพื่อไม่ให้ของเสียนะ ชาวบ้านก็จะเริ่มมีมาตรฐานของตัวเองแบบนี้ค่ะ ซึ่งช่วยลดความสูญเสียได้มาก สุดท้ายเราได้เรียนรู้ว่ามันเป็นพัฒนาทั้ง 2 ข้างแหละ ชาวบ้านต้องเรียนรู้ ทางทีมเราเราก็ต้องเรียนรู้ชาวบ้านด้วย

“คนทำงานของเราที่นี้จึงต้องเข้าใจเรื่องที่ทำให้มาก เราสื่อสารกันตลอดว่าวิสัยทัศน์ของเราคืออะไร บรรทัดฐานของที่นี้เป็นยังไง แนวคิดของเราคืออะไร เราพาคนทำงานไปเจอเกษตรกรเพราะเราต้องการสร้างประสบการณ์เพื่อให้เขาเห็น ให้เขาเชื่อเอง ไม่งั้นจะพูดยากมาก 

“งานของ Lemon Farm เป็นงานหนัก เพราะว่าเราจัดการหลายเรื่อง และสินค้าเราเป็นของสดเยอะ เราต้องเร็ว ต้องละเอียด เพราะจริงๆ เราคือร้านค้าปลีกที่มีของอยู่ 3-4 พันรายการ ชาวบ้านก็จะส่งมาจากต่างจังหวัด มาลงจุดเดียวแล้วเราก็ค่อยมากระจาย เราโชคดีที่ทีมเราเขาก็ตั้งใจทำ ขยันแข็ง และอาจจะรักสิ่งเหมือนกันกับเรา แต่แน่นอนในทางปฏิบัติเราก็ต้องดูแลความเป็นอยู่เขาให้เขาอยู่ได้ เพราะฉะนั้นต้องตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจเขาเหมือนกัน ไม่ใช่แค่ใจใจมาทำด้วยกันไม่ได้ 

“ส่วนแบรนด์เอง เราก็ต้องเข้าใจว่า เราคือจุดเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำงานกับผู้บริโภค ให้เขาเข้าใจและเห็นความสำคัญของอาหารที่เป็นอินทรีย์ว่ามันมันจำเป็นสำหรับสุขภาพจริงๆ ด้วย”

มั่นคงในความเชื่อ แต่เปลี่ยนแปลงให้เร็ว

กว่า 26 ปีที่ได้ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงในตลาดสินค้าอาหารอินทรีย์มา คุณสุวรรณายอมรับว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่าย และธุรกิจอาหารก็เจอกับความเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่คิด ดังนั้น Lemon Farm จึงยึดถือหลักการ 2 ข้อมาเสมอ นั่นคือ มันคงกับความเชื่อ และเปลี่ยนแปลงให้เร็ว

“ความเชื่อของ Lemon Farm คือเราเชื่อว่าอาหารเป็นมนตราของชีวิตและสุขภาพที่ดี ถ้าเราไม่มีอาหารที่ดี เราจะเสียมนตราที่สำคัญไป เพราะฉะนั้นเราก็เชื่อว่าคนควรจะได้อาหารที่ถูกต้อง อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องมีวิธีกินที่ถูกต้อง น้ำตาลน้อย สารปรุงแต่งไม่เยอะ เราก็จะมองหาอาหารแบบนี้ 

“สินค้าหลักอย่างวัตถุดิบอาหาร ทุกสาขาเราก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าทางสาขาที่อยู่ในพื้นที่ครอบครัว พื้นที่ที่พ่อแม่ไปซื้อของ เราก็จะวางวัตถุดิบได้เยอะและหลากหลายกว่า เพราะว่าพอเป็นครอบครัวเราต้องทำอาหารให้คนในบ้าน มาซื้อกินอย่างเดียวไม่ไหว หรือว่าซื้อตลอดก็จะได้ไม่ดี 

ร้าน Lemon Farm

“แต่ในสาขาที่เป็นกลุ่มคนเมือง เราก็ปรับตัวมากขึ้น มี Organic Cafe & Meal เพราะชีวิตเดี๋ยวนี้มันก็ต้องกินเลยเนอะ RTE หรือ Ready to eat จำเป็นมากขึ้น เราก็จะต้องหาสินค้า RTE ที่ใช้วัตถุดิบที่ดีมาเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคด้วย  พวกไส้กรอกหรืออาหารแปรรูป เราให้ให้อาจารย์วิทยาศาสตร์อาหารหรือคนที่เค้าเป็นปศุสัตว์ผลิตให้ แต่เงื่อนไขคือต้องไม่มีสารอะไรต่างๆ ตามจุดยืนของเรา 

ร้าน Lemon Farm

“เราเชื่อและสนับสนุนเรื่อง whole food เป็นหลัก แต่เราก็มองเห็นและยอมรับไลฟ์สไตล์คนมันเปลี่ยนไปจริงๆ กระแสมันมาแบบนี้ ดังนั้นเราก็มีซุปเปอร์ฟู้ด โปรตีนชง หรืออาหารกินเสริมอื่นๆ วางขายด้วย แต่เราก็ไม่ลืมที่จะบอกว่า กินของสดบ้างนะ ทำกับข้าวบ้างนะ เรามีวัตถุดิบสดๆ วางอยู่ด้วยเหมือนกัน 

ร้าน Lemon Farm

“เราต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการ ปรับตัวกับงานข้างหน้าให้เร็ว แต่ความเชื่อยังต้องมั่นคง ไม่งั้นเจอเรื่องเยอะแยะไปหมดเราทำธุรกิจต่อไม่ได้หรอก ยิ่งค้าปลีกมันยิ่งยาก ธุรกิจค้าปลีกจริง ๆ รายเล็กทำยากมาก นี่รอดชีวิตมาได้เราความเชื่อและจุดยืนทั้งนั้น เราคิดว่ายิ่งเราตัวเล็ก เริ่มต้นเล็ก เรายิ่งต้องทำเรื่องชัด ๆ ทำให้มันชัดออกมาออกจากตรงนั้น เราไม่ทำหลายอย่าเพราะเดี๋ยวเราจะไม่เก่งสักอย่าง แต่ละเรื่องมันมีชั่วโมงเรียนรู้ของมัน แต่เอาเรื่องที่เชื่อนั่นแหละออกมาทำในทางที่หลากหลาย ปรับให้เหมาะกับผู้บริโภค 

“ธุรกิจแบบนี้ใช้เงินทุนเยอะนะคะ โดยเฉพาะของสด แล้วมีทั้งเรื่องของซัพพลายด้วย เพราะเราไม่ได้พูดเรื่องขายของไม่ขายของ เราพูดเรื่องขายของที่ใช่ ต่อมาก็มีเรื่องความนิยมของผู้บริโภคอีกอันนึง ผู้บริโภคพร้อมไหม เช่นเราทำมา 26 ปี กระแสอาหารออแกนิคถึงจะมาในระดับนึง แต่ก็ยังแพ้ชานมไข่มุกอยู่เลย ดังนั้นอุปสรรคของธุรกิจเรามีมาตลอดนะ แต่มันก็เป็นเรื่องที่ดีที่ได้ทำ”

ร้าน Lemon Farm

อะไรที่ทำให้อยากตื่นขึ้นมาทำงานในทุกวันคะ – เราถาม

“บางวันก็ไม่อยากทำนะ” คุณสุวรรณาตอบปนเสียงหัวเราะ

“บางวันก็เหนื่อยเหมือนกัน แต่ก็วนกลับมาความเชื่อนั่นแหละ ในชีวิตเรา เราให้ค่าอะไร มันไม่ได้มีความสุขทุกวันหรอก และเราไม่ได้เก่งอะไร แต่เราเชื่อเรื่องนี้ เราให้ค่ากับสิ่งนี้ แล้วเราก็ไม่รู้จะเปลี่ยนความเชื่อไปทำไม ต่อให้มันยากเราก็ยังอยากทำ ให้ค่าในชีวิตกับเรื่องไหนก็ทำเรื่องนั้น ถ้าเราดีพอ เราสามารถมากพอ เราก็จะทำให้งานดูแลตัวเองได้ ดูแลคนอื่นต่อได้เอง”

ร้าน Lemon Farm

ดูสินค้าและข้อมูลของ Lemon Farm เพิ่มเติมได้ที่

Website : https://www.lemonfarm.com
Facebook : lemonfarm

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS