ตักบาตรไม่ถามพระ! โยมสบายใจ แต่อาตมาได้โรค!

6,996 VIEWS
PIN

image alternate text
ชวนไตร่ตรอง ก่อนตั้งจิตอธิษฐาน สำรวจอาหารใส่บาตรดูสักนิดว่า เสริมสร้างสุขภาพ หรือเสริมโรคให้พระสงฆ์กันแน่...

กินอย่างไรก็ได้อย่างนั้น แล้วพระสงฆ์ผู้ไม่มีสิทธิ์เลือก ‘ฉัน’ จะได้อะไร?

“อาตมาบวชได้หนึ่งปี ไปตรวจสุขภาพ หมอบอกว่าเป็นความดัน อ้วน พออ้วนมันก็ส่งผลกับกรดยูริก เสี่ยงเป็นเก๊าท์ ที่แน่ๆ ตอนนี้ต้องฉันยาความดันเป็นประจำ หมอให้งดฉันอาหารรสจัด เค็มจัด หวานจัด มันจัดอย่างพวกแกงกะทินี่มีมาทุกวันนะ ก็ฉันประจำ เดี๋ยวนี้ก็ต้องงดๆ แต่อย่างว่า… เขาจัดสำรับอะไรมาก็ต้องฉัน แล้วก็ต้องออกกำลังกายเพิ่ม ปกติบิณฑบาต กวาดลานวัด ก็กวาดมากกว่าเดิมหน่อย… หมอก็บ่นๆ นะ เห็นอายุยังน้อย แต่เป็นหลายโรค นี่ขนาดฉันวันละ 2 มื้อเอง”

ประโยคสั้นๆ จากพระอินฺทวีโร อายุ 25 ที่ครองสมณเพศได้ร่วมปีกว่าเล่าให้เราฟังนั้น ทำให้เราฉุกคิดว่า อาหารการกินที่เปลี่ยนไปพร้อมๆ สถานภาพจากปุถุชนสู่พระภิกษุผู้ไม่ยึดติด ทั้งรูป รส กลิ่น แม้จะเป็นความอร่อยก็ตาม และไม่อยู่ในฐานะ ‘ผู้เลือก’ ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย นำมาซึ่งโรคภัยติดจรวดรวดเร็วในวัยที่ยังไม่คู่ควรจะเป็นขนาดนี้เลยหรือ…

สอดคล้องกับผลการวิจัยปัญหาโภชนาการพระสงฆ์ในเมือง ของคณะสหเวชศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สสส. (ตั้งแต่ปี 2554-ปัจจุบัน) ชี้ชัดให้เห็นถึงภาวะโรคภัยคุกคาม 45 % ของสงฆ์ไทยมีภาวะอ้วน และ 5 โรคไม่ติดต่อรุมเร้าอย่างความดัน เบาหวาน ไขมันอุดตันเส้นเลือด โรคหัวใจ และไต รวมทั้งพระสงฆ์สูงวัยขาดแคลเซียม ซึ่งมีเหตุปัจจัยมาจาก ‘อาหารตักบาตร’ เป็นสำคัญ โดยเฉพาะพระสงฆ์ในเมืองใหญ่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ และปริมลฑล ฯลฯ เมื่อวิเคราะห์เหตุที่นำมาสู่ผล ส่อเค้าว่า ‘พฤติกรรมการตักบาตรอย่างคนเมือง’ เป็นตัวเร่งให้มีภิกษุสงฆ์อาพาธจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีๆ

แล้ววงจำกัดทำไมแคบอยู่ที่คนเมือง?

ก้าวย่างที่เร่งรีบกว่ารอบเข็มวินาที ทำให้พุทธศาสนิกชนในเมืองส่วนมากอาศัยกับข้าวแกงถุงตามร้านริมถนน ตักบาตรพระสงฆ์ มากกว่าทำอาหารตักบาตรเอง ยิ่งปัจจุบันไปไกลกว่าแค่แกงมัดถุงขาย เพราะมี ‘ชุดใส่บาตรสำเร็จรูป’ ประกอบด้วยอาหารคาว อาหารหวาน น้ำ จัดใส่ถุงหิ้ว เพียงจ่ายตังค์แล้วหิ้วยกชุด เทินขึ้นเหนือหัวสักแป๊บหนึ่งแล้วตักบาตร เสร็จสรรพในเวลาไม่นาน ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจสุ่มตรวจของคณะวิจัยพบว่า เกือบร้อยละ 50 อาหารไม่สะอาด มีแบคทีเรียปนเปื้อน ทำให้ท้องร่วง ซ้ำร้ายยังพบว่าอาหารที่ตักใส่ถุงไว้แล้วบูดเสียเร็วกว่าอาหารที่ตักจากถาด และส่วนใหญ่มักเป็นแกงกะทิ ขนมหวานไทย อาหารรสจัด โปรตีนต่ำ ไขมันสูง เมื่อภิกษุฉันอาหารเมนูซ้ำเดิมเหล่านี้บ่อยๆ ก็เกิดโภชนาการล้นเกิน ร่างกายนำไปใช้ไม่หมด พอกพูนจนนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บ

สุขภาพสงฆ์ ในกำมือคุณ!

ท้ายที่สุดการซื้อข้าวแกงถุงก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสียทีเดียว ด้วยข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต คนเมืองเองก็อาศัยฝากท้องกับอาหารปรุงสำเร็จเช่นกัน เพียงแต่ต้องยอมสละเวลาสักนิด แทนที่จะซื้ออาหารจัดชุดโดยที่ไม่รู้เลยว่าในชุดนั้นมีอาหารประเภทไหน ก็ใส่ใจพิจารณาเลือกอาหารให้ถูกหลักโภชนาการสงฆ์ เนื่องจากกิจวัตรของพระสงฆ์ ทั้งเดินบิณฑบาต กวาดลานวัด เดินจงกรม ถ้าเทียบกับคนทั่วไปที่สามารถออกกำลังกายอื่นๆ ได้แล้วนั้น การใช้พลังงาน การเผาผลาญไขมันก็น้อยกว่ามาก จึงควรเน้นอาหารที่โปรตีนสูง ไขมันต่ำ แคลเซียมสูง และรสไม่จัดมาก เช่น ชุดผักน้ำพริก แกงส้ม แกงจืด ปลา ผลไม้ เป็นต้น และเลือกที่ปรุงสดใหม่ตักจากถาดแกงอุ่นร้อนได้ยิ่งดี เพราะสุดท้ายพุทธศาสนิกชนก็คือผู้หยิบยื่นโภชนาการทั้งดีและไม่ดีแด่พระสงฆ์

และอีกหนึ่งการเลือกอาหารที่ควรปรับเปลี่ยนโดยไว คือ ‘การเลือกอาหารที่ญาติผู้ล่วงลับโปรดปราน’ ข้อนี้เห็นจะเป็นกันหลายคน ไม่เฉพาะเจาะจงที่คนเมือง ถ้าญาติชอบกินอาหารสุขภาพก็ดีไป หากชอบของอร่อยชนิดจัดเต็มไขมัน อันนี้ต้องลดดีกรีกันสักนิด เพราะก่อนที่ผู้ล่วงลับ (อาจจะ) ได้กิน ก็ ‘ชัดเจน’ ว่าต้องผ่านกระเพาะหลวงพ่อหลวงพี่ก่อน

อาหารที่ภิกษุสงฆ์บิณฑบาตมานั้นจะถูกนำมารวมกัน แล้วจัดเป็นสำรับ เท่ากับว่า หากเราเป็นคนหนึ่งที่เลือกอาหารเหมาะกับพระสงฆ์ ในหนึ่งสำรับนั้นจะมีอาหารดีเพิ่มขึ้น และเมื่อทุกคนรู้จักสละเวลา “เลือก” เพิ่มขึ้น สุขภาพพระสงฆ์ไทยในวันหน้าก็จะดีขึ้นได้เช่นกัน

 

 

 

ข้อมูล 
– การวิจัยปัญหาโภชนาการพระสงฆ์ในเมือง ของคณะสหเวชศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สสส.
– โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS