ครัวญี่ปุ่น พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเพศชายและความท้าทายของเพศหญิง

3,075 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ทำไมเชฟชาวญี่ปุ่นจึงมีแต่เพศชาย ในขณะที่การทำอาหารในบ้านเป็นหน้าที่ของเพศหญิง สิ่งเหล่านี้กำลังบอกอะไรกับเราบ้าง?

เคยมีคนบอกว่า ความปกติของทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว มีบางสิ่งบางอย่างเป็นตัวกำหนดไว้อยู่เสมอ และเราไม่มีทางมองเห็นบางสิ่งบางอย่างที่ว่านี้ หากเราเชื่อในความปกติมากเกินไป

ครั้งหนึ่งฉันได้มองเห็นความปกติอันน่าประหลาด ผ่านการนั่งกินอาหารร่วมโต๊ะกับเพื่อนสาวชาวญี่ปุ่นซึ่งอยู่ระหว่างการแบกกระเป๋าท่องเที่ยวไปทั่วโลก เมื่อเธอเอ่ยปากว่าเธอไม่มีทางได้นั่งโซ้ยราเม็งดุเดือดอย่างนี้เป็นอันขาด หากเธอยังอยู่ในประเทศญี่ปุ่น

“มันเป็นอาหารแบบผู้ช้าย…ผู้ชาย” เธอบอก

ฉันเติบโตมาในสังคมที่ชายและหญิง กิน-ไม่กิน อาหารเมนูนั้นและเมนูนี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน แม้จะมีอาหารประเภทส้มตำและยำที่ดูเป็นอาหารของสาวๆ แต่ก็ใช่ว่าในร้านส้มตำจะไม่เจอผู้ชายอยู่เลย ในขณะที่ราเม็งยืนกินคือพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยเหล่า ‘ซาลารีมัง’ หรือมนุษย์เงินเดือนที่จะรีบโซ้ยราเม็งกันซู้ดซ้าด ส่วนสาวๆ นั้นจะไม่ย่างกรายเข้าร้าน ‘แมน ๆ’ เหล่านี้เป็นอันขาดหากไม่จำเป็น

เราสองสาวโซ้ยราเม็งกันจนสาแก่ใจแล้วจึงแยกย้ายกันไปตามทาง เธอบินกลับประเทศหลังจากนั้นไม่นาน ส่วนฉันยังคงใช้ชีวิตต่อไปอย่างเป็นปกติ แต่ความคิดเรื่องอาหารผู้ชายและอาหารผู้หญิงไม่ยอมหลุดออกจากหัวฉัน ทั้งที่ในสังคมญี่ปุ่นนั้นมันเป็นเรื่องแสนปกติ

เมนูสุภาพสตรี

ร้านอาหารในญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งมักมี ‘เมนูสุภาพสตรี’ ไฮไลต์ไว้เป็นเมนูยอดนิยม แม้กระทั่งเมนูที่มีส่วนประกอบค่อนข้างน้อยอย่างโซบะก็ยังคงสามารถแบ่งออกเป็นโซบะสำหรับผู้ชายและโซบะสำหรับผู้หญิงได้ด้วยเช่นกัน

การกดเมนูโซบะจากตู้ออร์เดอร์อาหารเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น และมันยิ่งบันเทิงขึ้นอีกเมื่อบางคนพบว่าตู้โซบะมี ‘โซบะสำหรับสุภาพสตรี’ ให้เลือกสั่งด้วยเช่นกัน โดยจะแสดงภาพเป็นโซบะถ้วยเล็กที่แอบหลบอยู่เป็นเมนูท้ายๆ อาจมาพร้อมกับธงไฮไลต์หรือปุ่มกดสั่งออร์เดอร์สีชมพูให้ต้องตาต้องใจคุณผู้หญิง พร้อมจำนวนท็อปปิ้งประเภทเนื้อที่ลดลงเล็กน้อย และการใช้น้ำมันมะกอกแทนน้ำมันปรุงอาหารทั่วไป นัยว่าเป็นโซบะที่ดูคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้นอีกสเต็ป

ในสังคมญี่ปุ่น การที่อาหารเมนูต่างๆ ถูกกำหนดโดยพฤตินัยให้เป็นอาหารของเพศหญิงและอาหารของเพศชายยังคงเป็นเรื่องที่ยอมรับและปฏิบัติตามกันในวงกว้าง เคยมีการทดสอบเล็กๆ อย่างไม่เป็นทางการที่ใช้ชื่อว่า “Implicit Gender-Based Food Stereotype: Semantic Priming Experiment on Young Japanese” โดยนักวิจัยชื่อคิมูระได้สำรวจความคิดเห็นของหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นว่าอาหารอะไรที่ดูเป็นหญิงและดูเป็นชายมากที่สุดในความคิดของแต่ละคน ผลปรากฏว่า อาหารที่ดูเป็นเมนูผู้ชายที่สุด 6 อันดับแรกได้แก่ ราเม็ง เนื้อย่าง คัตสึด้ง ทงคัตสึ และสเต๊ก ส่วนอาหารที่ดูเป็นผู้หญิงมากที่สุด 6 อันดับแรก คือ เค้ก ผลไม้ สลัด ไอศกรีมพาร์เฟ่ต์ และพาสต้า

เมื่อนึกภาพคร่าวๆ ในหัวก็เห็นว่าอาหารของผู้ชายคืออาหารที่มีเนื้อสัตว์อยู่มาก จานใหญ่ และมักเป็นอาหารญี่ปุ่น ส่วนอาหารของผู้หญิงมีทั้งเมนูของหวาน เมนูเพื่อสุขภาพและอาหารต่างประเทศ ซึ่งสาเหตุที่อาหารของผู้ชายและอาหารของผู้หญิงถูกแบ่งอย่างชัดเจนนี้อาจมาจากการที่ผู้หญิงชาวญี่ปุ่นต้องรักษารูปร่างให้ดูดีอยู่เสมอ จึงต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก หรืออาหารที่มีแคเลอรีสูง ในขณะที่ผู้ชายในสังคมญี่ปุ่นแทบไม่ได้รับแรงกดดันเรื่องนี้ จึงกินอาหารจานใหญ่ๆ ที่มีเนื้อสัตว์มากและให้พลังงานสูงได้ ส่วนเหตุผลที่มีเค้กและไอศกรีมพาร์เฟ่ต์อยู่ในลิสต์ด้วยก็เป็นเพราะว่าผู้หญิงนั้นมีแนวโน้มจะเลือกกินอาหารด้วยอารมณ์อยากแล้วค่อยมารู้สึกผิดเอาทีหลัง (eating with emotion, calories with guilt)

ไม่เพียงแต่กับการเลือกกินเท่านั้น เมื่อมองรายละเอียดรอบครัวอย่างจริงจังก็พบว่า สำหรับสังคมญี่ปุ่นแล้ว กับพื้นที่ในครัวเองก็ยังมีความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิงอยู่มากมายเช่นกัน 

ผู้หญิงอยู่ในครัวบ้าน

โอโน โยชิคะสะ (Ono Yoshikaza) ลูกชายของจิโร่ เชฟซูชิผู้โด่งดังของญี่ปุ่นจากสารคดี Jiro Dreams of Sushi เคยให้สัมภาษณ์กับ The Wall Street Journal ไว้ในปี 2011 ถึงเหตุผลที่เราไม่ค่อยได้เห็นเชฟผู้หญิงในแวดวงโอมากาเสะซูชิไว้ว่า เป็นเพราะผู้หญิงคือเพศที่มีรอบเดือน การจะก้าวไปสู่ความเป็นเชฟมืออาชีพคือการรักษารสชาติของอาหารให้ได้มาตรฐานอยู่เสมอ แต่การมีรอบเดือนทำให้ผู้หญิงมีการรับรสที่ไม่คงเดิม นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เพศหญิงไม่เหมาะกับการเป็นเชฟซูชิทำให้พื้นที่ของโอมากาเสะซูชิแทบไม่มีผู้หญิงอยู่ในนั้น

ในขณะครัวของบ้านกลับเป็นพื้นที่ของผู้หญิงอย่างเต็มรูปแบบ ฉันจำความได้ว่าเห็นความเป็นแม่บ้านฟูลไทม์ของญี่ปุ่นจาก ‘โนะฮาร่า มิซาเอะ’ เป็นคนแรก เธอคือคุณแม่ของเด็กชายจอมแก่นที่ชื่อว่า ‘โนะฮาร่า ชินโนะสึเกะ’ จากการ์ตูนมังงะและอนิเมชั่นเรื่อง ชินจังจอมแก่น ที่เป็นเรื่องราวของครอบครัวธรรมดาๆ ของญี่ปุ่นในช่วงหนึ่งที่มีคุณพ่อเป็นมนุษย์เงินเดือนและมีคุณแม่เป็นแม่บ้านที่คอยทำทุกๆ อย่าง รวมถึงอาหารทั้งสามมื้อสำหรับทุกคนในครอบครัวด้วย

จนเวลาผ่านไปหลายสิบปี ทุกวันนี้พื้นที่ของครัวในบ้านยังคงเป็นพื้นที่ของคุณแม่อยู่เช่นเคย ทั้งจากภาพยนตร์และสื่อต่างๆ รวมถึงสถิติตัวเลขที่ยังยืนยันว่า ผู้หญิงชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังเลือกลาออกจากงานหลังจากแต่งงานหรือมีลูก เพื่อใช้เวลาในการดูแลความเป็นอยู่และอาหารการกินของคนในบ้านอยู่เช่นเดิม แม้ว่าตัวเลขของผู้หญิงชาวญี่ปุ่นที่ได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยจะสูงขึ้นมากก็ตาม เรียกว่าหากการ์ตูนเรื่องชินจังจอมแก่นจะมีเซตฉากอยู่ในปี 2020 ก็มีความเป็นไปได้สูงมากว่ามิซาเอะก็น่าจะยังเป็นแม่บ้านฟูลไทม์อยู่เหมือนเดิม คำถามก็คือ ทำไมผู้หญิงจึงเหมาะกับการอยู่ในครัวของบ้านมากกว่าการยืนอยู่หน้าซูชิบาร์แบบโอมากาเสะเล่า?

คำตอบของคำถามนี้อาจต้องมองย้อนกลับไปถึงยุคเมจิ (ค.ศ. 1868 – 1912) ที่มีแนวคิด “Good wife, Wise mother” (良妻賢母 – ryosaikenbo) เป็นนิยามความดีงามและสมบูรณ์แบบของผู้หญิงญี่ปุ่นในยุคนั้น ซึ่งบอกเป็นนัยว่า ผู้หญิงสามารถร่วมสร้างชาติญี่ปุ่นให้แข็งแรงได้จากในบ้าน ด้วยการเป็นภรรยาที่ดีและการเป็นคุณแม่ที่ฉลาด ผู้หญิงญี่ปุ่นเริ่มมีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น แต่นั่นเป็นการเข้าสู่ระบบการศึกษาเพื่อออกมาดูแลบ้านให้ดี และมีความรู้มากพอจะสั่งสอนลูกๆ ได้

นัยว่าการออกจากบ้าน (เพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย) ของเพศหญิง เป็นการออกไปเพื่อกลับเข้ามาอยู่ในบ้านอีกครั้ง ในฐานะของการเป็นเมียและแม่ ไม่ใช่การออกจากบ้านเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างบรรดาซาลารีมัง (salary man) ทั้งหลาย และแม้จะผ่านความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายต่อหลายด้าน รวมถึงกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศในการจ้างงาน (1968 Equal Employment Opportunity Law) ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 แล้วก็ตาม แนวคิด‘Goodwife, Wise mother จากยุคเมจิก็ยังคงฝังรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน

จากโอเบนโตะถึงนักวิจัยอาหาร

แม้จะไม่มีการศึกษาอย่างเป็นทางการว่าอะไรเป็นสาเหตุให้มีเชฟหญิงอยู่ในแวดวงโอมากาเสะซูชิน้อยแสนน้อย แต่ความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่ออาหารของญี่ปุ่นก็อาจบอกเล่าอะไรบางอย่างให้กับเราได้

เป็นที่รู้กันดีว่าศิลปะการทำโอเบนโตะของสาวชาวญี่ปุ่นนั้นสวยงามน่ากินและครบถ้วนไปด้วยโภชนาการ จนโอเบนโตะกลายเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความใส่ใจ เมื่อมีคู่หนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงานใหม่หมาด คุณภรรยาจะต้องทำเบนโตะให้สามีพกไปกินที่ทำงาน ยิ่งทำให้สวยงามน่ากินมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นความภูมิใจของคุณสามีมากเท่านั้น บรรดาเพื่อนร่วมงานก็ต้องมาจดๆ จ้องๆ รอแซวเบนโตะข้าวใหม่ปลามันให้เจ้าบ่าวป้ายแดงได้เขินตัวม้วน และเมื่อมีลูกแล้ว ผู้หญิงญี่ปุ่นก็อาจต้องทำเบนโตะให้ลูกๆ ถือไปโรงเรียนด้วย ซึ่งยิ่งต้องประดิษฐ์ประดอยให้ลูกๆ ได้กินข้าวกลางวันที่หน้าตาน่ารัก หากเปิดเบนโตะมาแล้วเป็นข้าวหน้าตาชืดๆ เด็กๆ จะต้องแอบไปกินมื้อกลางวันคนเดียวเงียบๆ เพราะขืนปล่อยให้เพื่อนเห็นอาจโดนล้อจนร้องไห้ขี้มูกโป่งเลยทีเดียว

แต่ด้วยอัตราการแต่งงานที่ลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า Bento Danshi ขึ้นในสังคมญี่ปุ่น โดยคำว่า Danshi หมายถึงผู้ชาย คำว่า Bento Danshi จึงหมายถึงการที่ผู้ชายที่ยังไม่แต่งงานลุกขึ้นมาทำอาหาร เตรียมเบนโตะไปกินที่ทำงานเอง เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและเลือกกินอาหารที่ดีขึ้นด้วยตัวเองให้ได้เพราะยังไม่มีคุณภรรยามาเตรียมให้ Bento Danshi กลายเป็นเรื่องที่พบในสังคมญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มมีตำราอาหารและอุปกรณ์สำหรับ Bento Danshi วางจำหน่ายตามร้านหนังสือและซูเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ดูเผินๆ Bento Danshi จึงเหมือนหมุดหมายแรกที่มีการข้ามฝั่งระหว่างชาย–หญิง ในพื้นที่ของการทำอาหาร แต่ยังคงมีผู้เสนอความคิดเห็นแย้งขึ้นมาว่า Bento Danshi นั้นทำหน้าที่แตกต่างกันลิบลับกับเบนโตะทั่วไป คือมันเป็นการได้ ‘เลือก’ ทำด้วยตัวเองมากกว่าการต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ หมายถึง ผู้ชายที่ยังไม่แต่งงานจะเลือกทำเบนโตะเองหรือไม่ก็ได้ ในขณะที่เบนโตะโดยทั่วไปกลับเป็นหน้าที่ที่ผู้หญิงไม่ได้เลือก แต่ต้องทำและต้องทำให้เป็นมาตรฐานเพื่อซัพพอร์ตคุณสามีและคุณลูกให้ดี ทั้งในแง่ของการเป็นอาหารจริงๆ และในแง่ของการเป็นหน้าเป็นตาในสังคม ที่สำคัญคือ การมีคำว่า Bento ‘Danshi’ ยังย้ำให้เห็นว่าที่ผ่านมา เบนโตะ (ซึ่งทำหน้าที่แทนภาพของครัวในบ้าน) เป็นพื้นที่ของผู้หญิงร้อยเปอร์เซ็นต์แบบที่ไม่ต้องแปะป้ายคำว่าผู้หญิงอยู่ในนั้นเลย

หากหนังสือคู่มือการทำอาหารผู้ชายใช้เป็นเรื่องบอกความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง การมีเชฟหญิงในรายการแข่งขันทำอาหารก็น่าจะทำหน้าที่เดียวกันเพื่ออธิบายบทบาทของผู้หญิงในการทำอาหารได้เช่นกัน การปรากฏตัวของเชฟหญิงมืออาชีพในรายการอาหารของญี่ปุ่น แม้จะมีไม่มากแต่ก็นับเป็นเรื่องที่สะท้อนภาพบางอย่างได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงในรายการอาหารพวกนี้ถูกเรียกว่าเป็น Food Researcher และมีบทบาทเป็นผู้ช่วยของ ‘เชฟ’ ผู้ชายอีกที

การเกิดขึ้นของ Bento Danshi และ ‘นักวิจัยอาหารผู้หญิง’ บนสื่อต่างๆ ในญี่ปุ่นจึงอาจไม่ใช่สิ่งใดอื่นนอกจากการยืนยันว่า การทำอาหารในฐานะ ‘มืออาชีพ’ อาจยังไม่ใช้พื้นที่ของผู้หญิงญี่ปุ่น แม้จะเป็นในยุคสมัยนี้ก็ตาม

ผู้หญิงกับการเป็น Master

การทำอาหารอย่างจริงจังเป็นอาชีพ สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว ไม่ใช่แต่โครงสร้างทางร่างกายที่เหมาะสมเท่านั้นที่จำเป็น เพราะความงดงามและเป็นศิลปะก็ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน ย้อนกลับไปที่ Jiro Dreams of Sushi อันลือเลื่องกันอีกครั้ง หากใครได้สังเกต ในสารคดีเรื่องนี้ เชฟจิโร่และเชฟคนอื่นๆ จะเลือกใช้คำศัพท์แบบเดียวกันกับที่เจอในศิลปะการต่อสู้ เช่น คำว่า master คำว่า honour เพื่อเชื่อมโยงศิลปะการทำซูชิเข้ากับความสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ของศิลปะโบราณอื่นๆ และในหนังสารคดียังมีการพูดถึงการ ‘มาสเตอร์’ งานตัวเองของเชฟจิโร่ด้วยการใช้คำว่า ‘โชคุนิน – shokunin’ ที่หมายถึงการทำสิ่งเดิมซ้ำๆ ในทุกๆ วัน ให้ได้ผลลัพธ์ที่เหมือนเดิมทุกครั้งซ้ำๆ จนสิ่งนั้นกลายเป็นทักษะที่รวมเข้ากับตัวเราเองอย่างเป็นธรรมชาติ เช่นที่เชฟจิโร่สามารถปั้นข้าวซูชิได้น้ำหนักเท่าเดิมทุกคำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุกคนยอมรับสถานะความเป็นมาสเตอร์ในศิลปะการทำซูชิของเขา

หากเทียบกับความคิดเห็นของโอโนะ โยชิคาสะ ที่เล่าไว้ในตอนต้นว่าผู้หญิงไม่เหมาะจะเป็นเชฟซูชิเพราะมีการรับรสที่เปลี่ยนไปเมื่อใกล้รอบเดือน จึงอาจหมายถึงผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงความเป็นโชคุนินหรือความเป็นมาสเตอร์ได้แม้จะฝึกฝนหนักสักเท่าไร เช่นเดียวกับคำศัพท์ของแวดวงศิลปะการต่อสู้ (ที่ถูกนำมาใช้ในวงการสุดยอดซูชิของเชฟจิโร่ด้วย) ที่แทบไม่มีคำศัพท์ซึ่งอ้างอิงหรือเหมาะกับเพศหญิงเลย บรรดามาสเตอร์เพศหญิงที่มีอยู่น้อยนิดในวงการศิลปะการต่อสู้ (และเชฟหญิงในวงการอาหาร) แม้จะเทียบเคียงกับทุกคนได้ด้วยฝีมือและการแข่งขัน แต่ก็ไม่น่าจะรู้สึกสะดวกใจกับการยืนอยู่ในพื้นที่นั้นมากเท่าที่ควร

ปัจจุบัน ในแวดวงกีฬาและศิลปะการต่อสู้ ผู้หญิงมีพื้นที่ยืนยันว่าทุกเพศสามารถเป็นมาสเตอร์ได้อย่างเท่าเทียมกันด้วยห้องเปลี่ยนชุดนักกีฬาหญิง โปรแกรมการแข่งขัน เครื่องแต่งกายและอีกสารพัด แต่กับการเป็นมาสเตอร์ในด้านอาหารอาจต้องพูดว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ต้องจับตามองกันอีกนาน อย่างเช่น Nadeshiko Sushi ร้านซูชิที่มีเชฟเป็นผู้หญิงทั้งหมด เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้หญิงได้เริ่มต้นการทำงานในฐานะเชฟอาชีพได้อย่างสะดวก (ใจ) ขึ้น

ช่างน่าตื่นเต้นที่ได้เห็นการประลองนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ของครัวบ้าง หลังจากที่มันถูกขังอยู่ในความศักดิ์สิทธิ์ และพิธีกรรมของพื้นที่อื่นมาแสนนาน

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS