อาหารกินได้ที่ถูกทิ้ง แก้ได้จริงหรือ

5,619 VIEWS
PIN

image alternate text
เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว เมืองไทยยังมีปัญหาทุพโภชนาการ (malnutrition) มาก โดยเฉพาะในเด็กชนบท ภาพเด็กผอมโซตาโหลกระดูกบางยังติดตาผู้ใหญ่หลายคน แต่ปัจจุบันนี้ ปัญหากลับกลายเป็น “โภชนาการล้นเกิน”

ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีปัญหาอ้วนเกินมากขึ้น เป็นเบาหวานมากขึ้น ในตะวันตกปรากฏการณ์อย่างเดียวกันได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้า ตั้งแต่ทศวรรษ 1960s แล้ว เรียกว่าเกิดก่อนเราราว 20 ปี

พูดในอีกแง่หนึ่ง ปัญหาได้เคลื่อนจาก “ความอดอยาก” มาเป็น “อาหารล้นเกิน” อาหารที่ล้นเกินนำไปสู่การกินทิ้งกินขว้าง กลายเป็นขยะอาหารมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะในตะวันตกและประเทศพัฒนาแล้ว ในสหรัฐอเมริกาขยะอาหารมีมาก กระทั่งเกิดกระบวนการ freegans ในทศวรรษ 1990s ที่สมาชิกซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษา ชักชวนกันออกมาคุ้ยขยะอาหารที่ยังอยู่ในสภาพกินได้ แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารทิ้งเป็นขยะด้วยเหตุผลหมดอายุ ไม่สวย มีตำหนิ ฯลฯ สร้างกระแสความตื่นตัวในปัญหาความสิ้นเปลืองจากอาหารที่ถูกทิ้งอย่างไม่สมควร อย่างต่อเนื่องมาหลายปี ดังรายการทีวีของ Oprah Winfrey นำออกเผยแพร่ในปี 2008 (www.youtube.com/watch?v=G7a6921EH7Q)

National Geographic รายงานว่า กว่าร้อยละ 30 ของอาหารที่ผลิตได้แต่ละปีในสหรัฐ ถูกทิ้งเป็นขยะ คิดเป็นมูลค่า 162,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยะอาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปถมที่ (landfill) เกิดก๊าซมีเทนตามมา และส่งผลต่อสภาวะโลกร้อน นี่ยังไม่นับทรัพยากรมหาศาลที่ถูกใช้ในการผลิตอาหารเหล่านี้ ขณะที่ยังมีชาวอเมริกัน 17.6 ล้านคน ยังอยู่ในภาวะขาดความมั่นคงทางอาหาร

ในสหราชอาณาจักร ปีหนึ่งๆมีอาหารถูกทิ้งเปล่าประมาณ 10 ล้านตัน โดยเป็นฝีมือของครัวเรือนเกือบ 7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 10,200 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 250-400 ปอนด์ต่อปี

ในเดนมาร์ก มีอาหารถูกทิ้งทั้งหมดปีละ 7 แสนตัน ทิ้งในระดับครัวเรือน 260,000 ตัน และระดับค้าปลีก 133,000 ตัน รวมกันเป็น 56% ของปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งทั้งหมด

ฝรั่งเศส มีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับอาหารถูกทิ้งมากกว่าประเทศอื่นใด รายงานล่าสุดสรุปว่า ปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งตลอดห่วงโซ่อาหารตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การค้าส่งและปลีก จนถึงครัวเรือนผู้ซื้อและร้านอาหาร มี 10 ล้านตันต่อปี ใกล้เคียงกับสหราชอาณาจักร คิดเป็นมูลค่า 16 ล้านยูโร แยกเป็นมูลค่าที่ระดับการผลิตและแปรรูป 27% ระดับค้าปลีก/ค้าส่ง 28% และระดับผู้บริโภค 45%

ในภาพรวมทั่วโลก รายงานของ FAO ระบุว่า ปีหนึ่งๆ ทั่วโลกมีอาหารที่ผลิตแล้วถูกทิ้งเปล่าตลอดห่วงโซ่อาหาร 1,300 ล้านตัน คิดเป็น 35% ของอาหารที่ผลิตทั้งหมด World Resource Institute แห่งเดนมาร์ก บอกว่า อาหารปริมาณขนาดนี้ ต้องใช้ที่ดินขนาดใหญ่ 3 เท่าของประเทศไทยในการเพาะปลูก ใช้น้ำ 173,000 คิวบิกเมตร นับเป็นการใช้ทรัพยากรโลกอย่างสูญเปล่ามากมหาศาล อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการทิ้งเปล่าอาหารในห่วงโซ่ผู้ผลิตถึงผู้บริโภคจะต่างกันไปตามความร่ำรวยของประเทศ

ในยุโรป 52% ของอาหารที่ทิ้งเปล่าเกิดที่ระดับผู้บริโภค และอีก 8% ที่ระดับค้าปลีก/ค้าส่ง ประเทศร่ำรวยในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี มีแบบแผนการทิ้งขว้างอาหารคล้ายกัน แต่ประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมีสัดส่วนอาหารทิ้งเปล่าที่ระดับครอบครัวน้อยเพียง 13% ระบบค้าปลีก/ค้าส่ง กลับมีอัตราทิ้งอาหารสูงถึง 15% ซึ่งสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วเสียอีก นอกจากนั้นยังมีอัตราการทิ้งอาหารที่ระดับการดูแลรักษา และเก็บผลผลิตอาหาร (handling and storage) สูงถึง 37% (เทียบกับ 6-12% ในประเทศตะวันตก) ปัญหาการทิ้งเปล่าอาหารของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงอยู่ที่ระดับการดูแลสต๊อกอาหาร และการค้าปลีก/ค้าส่ง เป็นสำคัญ

ในกรณีประเทศในยุโรป ดังได้กล่าวถึงไปแล้วว่าสัดส่วนอาหารถูกทิ้งเกิดขึ้นที่ระดับผู้บริโภค และระดับค้าปลีก/ค้าส่งเป็นสำคัญ บางประเทศมีนโยบายและมาตรการจริงจังที่จะลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งให้ได้ ฝรั่งเศสเป็นผู้นำในเรื่องนี้ โดยเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายห้ามซูเปอร์มาร์เก็ตทิ้งอาหาร (ที่ขายไม่ได้ด้วยเหตุผลใดๆ) เป็นขยะ หากต้องจัดส่งให้หน่วยงานการกุศลนำไปใช้ประโยชน์ ไม่อย่างนั้นก็ต้องนำไปรีไซเคิลเป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ย หรือไบโอแก๊ส

ในปีเดียวกัน (2016) อิตาลีออกกฎหมายห้ามซูเปอร์มาร์เก็ตทิ้งอาหารที่ยังกินได้ (แต่หมดอายุ ไม่สวย เก่า) แต่ขยายไปครอบคลุมเกษตรกรด้วย แตกต่างจากฝรั่งเศสที่มีมาตรการลงโทษปรับสินไหม อิตาลีใช้วิธีให้แรงจูงใจโดยลดภาษีขยะ มากน้อยตามปริมาณอาหารที่บริจาคให้องค์กรสาธารณกุศล นอกจากนั้นกฎหมายยังส่งเสริมให้เอาอาหารกินเหลือในร้านอาหารใส่ถุงกลับบ้าน ซึ่งชาวตะวันตกไม่คุ้นเคยกับวิถีวัฒนธรรมนี้ (แถมยังเรียกอย่างดูแคลนว่า “doggy bag”) โดยกฎหมายเรียกชื่อเสียใหม่ให้ดูดีว่า “family bag” ฮ่าๆ

นอกเหนือจากฝรั่งเศสและอิตาลีแล้ว ก็ยังไม่มีประเทศใดในยุโรปที่ออกกฎหมายควบคุมการทิ้งอาหารอย่างนี้อีก ในอังกฤษ มีความพยายามผลักดันให้มีกฎหมายอย่างฝรั่งเศสบ้าง แต่ยังไม่สำเร็จ แม้จะไม่มีกฎหมาย แต่หลายประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือ ก็มีการเคลื่อนไหวของประชาชน กลุ่มประชาสังคม และเอ็นจีโอ ในการป้องกันความสูญเปล่าจาก food waste ในเดนมาร์ก องค์กรสาธารณกุศล Dan Church Aids จัดตั้งซูเปอร์มาร์เก็ต ‘WeFood’ ในกรุงโคเปนเฮเกน ขายอาหารตกคัดหรือหมดอายุที่รับมาจากเชนซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ มาจัดขายใหม่ในราคา 30-50% ต่ำกว่าในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ปรากฏว่าได้รับความนิยมมาก จนต้องเปิดสาขาสองในอีกไม่กี่เดือนต่อมา ก่อนหน้านี้หลายปีได้เกิดขบวนการ Stop Wasting Food Movement นำโดยนางสาว Selina Junn รณรงค์ให้เกิดการรับรู้ในปัญหา food waste ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากนักการเมือง และประสบผลสำเร็จอย่างมาก จนหลายฝ่ายยกย่องว่าทำให้เดนมาร์กลดปัญหา food waste ลงได้ 25% ในห้วงเวลา 2010-2015

ในอังกฤษ เชนซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่อย่าง Asda เริ่มขายผักตกคัด (เพราะพิการ ไม่สวย ปริ ฯลฯ) ราคาถูก ใน 126 สาขาทั่วประเทศ โดยซื้อผักเหล่านี้โดยตรงจากเกษตรกร นับเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกที่ขายผักพิการ (wonky vegetables) องค์กรการกุศล Food Cycle รับบริจาคอาหารหมดอายุจากโกรเซอรีขนาดเล็กต่างๆในชุมชน แล้วนำมาปรุงอาหารมังสวิรัติแจกจ่ายกินฟรีสำหรับผู้ยากไร้และคนทั่วไป

แทนที่จะใช้มาตรการด้านกฎหมายเพื่อป้องกัน food waste รัฐบาลนอร์เวย์ใช้การเจรจากับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ลด food waste โดยสมัครใจ ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลทุ่มเทให้กับนโยบายทำ biogas จากขยะอาหารเป็นอย่างมาก แนวทางเช่นนี้ถูกวิจารณ์ว่าอ่อนทางมาตรการป้องกันเกินไป

ตามที่ได้กล่าวแล้วว่า อาหารถูกทิ้งเปล่าในระดับครัวเรือนค่อนข้างมาก มาตรการแก้ไขส่วนใหญ่มักจำกัดเพียงการรณรงค์ให้เกิดความตระหนัก จับจ่ายอาหารอย่างพอสมควร ฯลฯ ซึ่งยากที่จะประเมินผลสำเร็จ อีกประเด็นที่พูดถึงกันน้อย คือ อาหารทิ้งเปล่าโดยร้านอาหาร ภัตตาคาร งานจัดเลี้ยง และ food service ต่างๆในโรงแรม ซึ่งน่าจะมีมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเรื่องนี้มีน้อย การวิจัยในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย พบว่า อาหารถูกทิ้งโดยร้านอาหารและการจัดเลี้ยง (catering) มีสูงถึง 18 กิโลกรัมต่อหัวต่อปี (ปริมาณ food waste ทั้งหมดในนอร์เวย์ เป็น 51 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) ผลการประเมิน food waste ของโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยบริษัทที่ปรึกษา พบว่า ในหนึ่งสัปดาห์มีอาหารที่กินได้แต่ถูกทิ้งมากถึง 1,300 กิโลกรัม หากเป็นอย่างนี้ไปตลอดปี ปริมาณอาหารทิ้งจะสูงมหาศาลถึง 70 ตัน

ย้อนมาดูเมืองไทยเราบ้างว่ามีปัญหาทิ้งขว้างอาหารมากแค่ไหน ปัญหาที่ใหญ่กว่า คือ เราไม่มีข้อมูลเพียงพอ ที่มีอยู่บ้าง คือ ข้อมูลขยะที่จัดเก็บ แต่ก็ไม่สอดคล้องกัน ไม่รู้จะเชื่อใครดี กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมบอกว่า คนไทยในปี 2013 ทิ้งขยะเฉลี่ยคนละ 1 กิโลกรัมต่อวัน และร้อยละ 64 เป็น food waste แต่ไม่รู้ว่าเกิดที่ไหนในห่วงโซ่อาหาร ตัวเลขเฉพาะของกรุงเทพฯ ปี 2007 แสดงปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ 8,720 ตันต่อวัน และร้อยละ 42 เป็น food waste แต่ก็ไม่รู้ว่าเกิดที่ไหน

เมืองไทยนี้ยากจนข้อมูล ผลสุดท้ายจึงไม่ได้ทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราว นอกจากจัดประชุม จัดวิ่ง เพื่อประชาสัมพันธ์ และทำกิจกรรม awareness

Food waste เป็นปัญหาแน่ๆ แต่จะแก้ให้ได้ผลอย่างจริงจังเป็นเรื่องไม่ง่าย ทั้งหมดนี้แทบไม่มีอิมแพค มาตรการทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร หรือครัวเรือน ไม่ทิ้งอาหารที่กินได้ เป็นเรื่องปฏิบัติยาก ตราบเท่าที่ระบบอาหารทุนนิยมยังผลิตอาหารออกมาอย่างล้นเหลือ พยายามขายให้ได้มาก ให้คนบริโภคมากๆ และผู้คนยังตกในกับดักลัทธิบริโภคนิยม ส่วนการรีไซเคิลอาหารถูกทิ้ง เป็นปุ๋ย เป็นไบโอแก๊ส ก็มีค่าไม่ต่างอะไรจากการสนับสนุนให้ระบบอาหารผลิตอาหารล้นเกิน ปล่อยให้อาหารที่ผลิตขึ้นถูกใช้อย่างอีลุ่ยฉุยแฉก เกิด food waste ต่อไป

ภาพจาก:     
กรกิจ ชัยศิริโสภณ
www.stoplusjednicka.cz
https://plebs.dk/wefood-for-godt-til-at-vaere-sandt

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS