ชาวญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่จริงจัง เวลาทำงานก็ทำอย่างจริงจัง เวลาพักผ่อนก็พักอย่างจริงจัง จริงจังแค่ไหน ก็แค่การพักผ่อนหย่อนใจหลังเลิกงานตามประสาซาลารีมังหรือมนุษย์เงินเดือน อย่างเช่น กินข้าว กินเหล้า เม้าท์แก้เครียด ที่เป็นเรื่องชิลล์ๆ ของชนชาติอื่นๆ ก็ยังเป็นเรื่องจริงจังของชาวญี่ปุ่น เครื่องยืนยันคือร้าน ‘อิซากายะ’ หรือร้านเหล้าที่ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น และมีอยู่อย่างมากมายไม่แพ้ร้านอาหาร ซึ่งอิซากายะไม่ใช่คลับหรือผับที่ขายเหล้าเคล้าเสียงเพลงแบบที่เราอาจจะชินกันเวลานึกอยากผ่อนคลายด้วยการไปดริ๊งค์ เรียกว่าดื่มไปด้วยแด๊นซ์ไปด้วย แต่ที่อิซากายะ ตัดการแด๊นซ์ออกไปได้เลย เพราะเป็นร้านที่มีแต่เหล้าให้ทุกคนได้มาดื่ม สังสรรค์ ไปจนถึงเชื่อมสัมพันธ์ด้วยการพูดคุยเป็นหลัก
วัฒนธรรมการดื่มของญี่ปุ่นนั้นเข้มแข็งถึงขั้นที่มีการบัญญัติศัพท์ nomunication มาจาก nomu หมายถึง ‘การดื่ม’ และ communication หมายถึง ‘การสื่อสาร’ และถือว่าการดื่มเป็นมารยาททางสังคมอย่างหนึ่ง นักดื่มส่วนมากก็เป็นพนักงานบริษัทที่มาดื่มเพื่อเลี้ยงลูกค้าหรือดื่มกับเพื่อนร่วมงาน ถือเป็นส่วนหนึ่งของงานและเป็นการแสดงความภักดีต่อบริษัท ถึงขั้นที่หากปฎิเสธการดื่มกับหัวหน้าอาจส่งผลกระทบไปถึงเรื่องงานกันเลยทีเดียว
ยัง! ยังไม่พอ! จริงจังกันถึงขั้นต้องมี… จะเรียกว่ากฏก็อาจจะเกินไปหน่อย เรียกว่ามารยาทในวงเหล้าก็แล้วกัน อาทิเช่น ถ้ามากันเป็นกลุ่ม เครื่องดื่มแรกที่ควรสั่งมักเป็นเบียร์ ก่อนจะตามด้วยสาเก ไวน์ และอื่นๆ เมื่อทุกคนได้แก้วประจำตัวแล้ว จะคว้าขวดเหล้าขวดเบียร์มาเทให้ตัวเองไม่ได้ ถือว่าเสียมารยาทอย่างร้ายแรง แต่ทุกคนจะต้องเทเครื่องดื่มให้คนอื่น โดยอาจจะเทให้กับคนที่นั่งข้างๆ และตอนที่คนอื่นเทเหล้าให้ ก็ต้องถือแก้วเอาไว้เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ เครื่องดื่มเต็มแก้วแล้วก็อย่าเพิ่งด่วนรีบยกเข้าเข้าปาก เพราะมารยาทสำคัญอีกข้อคือต้องรอให้ทุกคนได้เครื่องดื่มครบ จากนั้นก็ต้องชนแก้วอย่างพร้อมเพรียงพร้อมตะโกน “คัมไป!” ซึ่งแปลว่า “ชนแก้ว!” จึงจะดื่มได้ อ้อ ระหว่างการ “คัมไป!” ต้องระวังระดับแก้วให้อยู่ต่ำกว่าระดับแก้วของคนที่ถือว่ามีตำแหน่งสูงกว่าอย่างเช่นเจ้านายหรือรุ่นพี่ด้วย
สำหรับพวกเราชาวต่างชาติอาจจะฟังแล้วชวนอึดอัดไปหน่อย แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นที่คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้ การดื่มในอิซากายะเป็นเรื่องสนุก และถือเป็นโอกาสที่เพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนนักศึกษาจะได้ผ่อนคลายและสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น แน่นอน เมื่อมีเหล้า ย่อมต้องมี ‘โอซึมามิ’ หรือกับแกล้ม ซึ่งก็เช่นเดียวกับชาติอื่นๆ ที่มักจะมีกับแกล้มสุดฮิตประจำวงเหล้า เช่น พี่ไทยชอบยำรสจัด เกาหลีนิยมไก่ทอด กับแกล้มที่ใครมาอิซากายะก็มักจะสั่งเสมอ ได้แก่
เอดามาเมะ (ถั่วแระญี่ปุ่น)
แค่ต้มแล้วนำมาคลุกกับเกลือ หรือจะต้มโดยใส่เกลือไปเลยก็ได้ ก็กลายเป็นกับแกล้มรสเค็มปะแล่มๆ แสนอร่อย มาพร้อมความหวานและหอมของเมล็ดถั่ว ยิ่งกินยิ่งมัน เข้ากันเป็นที่สุดกับเหล้าเบียร์
ซึเคะโมโนะ (ผักดอง)
นอกจากจะเป็นเครื่องเคียงในอาหารจานหลักแล้ว ผักดองยังเป็นกับแกล้มที่อร่อยเด็ดและช่วยเสริมรสชาติของเหล้าเบียร์ ผักดองยอดนิยมในอิซากายะ ได้แก่ แตงกวา หัวไชเท้า มะเขือม่วง
เอฮิเระ (ครีบปลากระเบนย่าง)
นิยมกินเป็นกับแกล้มโดยจิ้มกับซอสโชยุและพริกป่นญี่ปุ่น หรือจะจิ้มกับมายองเนสก็ได้
นังคตสึโนะคาราอาเกะ (ข้อไก่ชุบแป้งทอด)
ความกรุบของข้อไก่ ความกรอบของแป้ง และรสเค็มนิดๆ จากเกลือ ทำให้อร่อยเคี้ยวเพลิน บางร้านเสิร์ฟพร้อมเลม่อนเหมือนฟิชแอนด์ชิปส์ของอังกฤษ
ยากิโทริ (อาหารย่างเสียบไม้)
จะเป็นไก่ เครื่องใน อาหารทะเล ก็ได้หมด โดยในหนึ่งไม้จะมีวัตถุดิบ 1 – 5 ชิ้น นำไปย่างด้วยเตาถ่าน มีรสชาติหลักๆ อยู่ 2 อย่างคือรสซอส ออกแนวหวานนิดเค็มหน่อยจากโชยุ และรสเค็มจากเกลือ
ไก่คาราอะเกะ (ไก่ทอด)
สะโพกไก่ทอดกรอบนอกนุ่มใน รสชาติแตกต่างกันไปตามสูตรของแต่ละร้าน เสิร์ฟ์กับผักสลัดหรือกระหล่ำปลีหั่นฝอย จิ้มกับเกลือหรือมายองเนส
เต้าหู้เย็นราดโชยุและขิงขูด
เต้าหู้คินุตัดเป็นชิ้น โรยหน้าด้วยขิงบด ต้นหอมซอย ปลาโอแห้ง และโชยุ อร่อยง่ายๆ แบบไม่ต้องปรุง เป็นกับแกล้มที่นิยมมากในหน้าร้อน
อ้างอิง: https://mgronline.com/japan/detail/9600000073322
https://matcha-jp.com/th/1421
https://jpninfo.com/thai/6615
https://www.marumura.com/japanese-drunk/