ริ้วธงสีเหลืองมีอักษรจีนสีแดงเขียนคำอ่านว่า ‘เจ’ หรือ ‘ไจ’ อันหมายถึง “ไม่มีของคาว” ประดับประดาตามตลาดและศาลเจ้า ช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นบรรยากาศเทศกาลงานเจที่เราคุ้นเคยกันดี แต่มากกว่าห้ามกินของคาวจำพวกเนื้อสัตว์ การกินเจยังมีหลักปฏิบัติที่คนจีน หรือคนไทยเชื้อสายจีนสืบทอดต่อกันมา
ทำไมไม่กินคาว
กินเจ เริ่มต้นจากความเชื่อในสมัยโบราณ ชาวจีนเชื่อว่าการชำระร่างกายและจิตใจตนเองให้สะอาด ทำให้สื่อสารถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ จึงถือศีล งดกินเนื้อสัตว์และผักกลิ่นฉุน สุรา รวมถึงละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ คือทำตัวเองให้สะอาดผุดผ่องทั้งกายใจ ไม่เบียดเบียนสัตว์ พูดดี คิดดี ทำดี โดยแต่เดิมการถือศีลกินเจเป็นช่วงเวลาที่ไม่กำหนดตายตัว แต่ถือปฏิบัติก่อนการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
จนมาถึงความเชื่อในพุทธศาสนานิกายมหายานที่เชื่อว่า การกินเจช่วง 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ ในเดือน 9 ตามปฏิทินจีน ซึ่งตรงกับเดือนตุลาคม (ปี 2561 ตรงกับวันที่ 9-17 ตุลาคม) เป็นการสักการะพระพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์ และพระโพธิสัตว์ 2 พระองค์ รวม 9 พระองค์ ที่ลงมาแผ่บารมีให้มนุษย์ และอีกตำนานของลัทธิเต๋าที่ว่า เล่าจื๊อ ศาสดาแห่งลัทธิถือการกินเจเป็นวัตรปฏิบัติ ตั้งแต่นั้นมาการถือศีลกินผักก็เป็นหลักปฏิบัติของนักพรตเต๋า รวมถึงชาวจีนที่มีศรัทธาความเชื่อไม่ว่าจะสายพุทธมหายานหรือสายเต๋า และเมื่อการกินเจเกี่ยวโยงกับศรัทธา ธงสีเหลืองจึงเป็นสัญลักษณ์หมายถึงนักบวช ผู้ถือศีลบำเพ็ญตน เหตุนี้จึงเรียกเทศกาลกินเจว่าเทศกาล ‘ถือศีล กินผัก’
หลักยึดในการถือศีล กินเจ
จะกินเจแบบพุทธมหายานหรือแบบลัทธิเต๋า หรือจะตามตำนานความเชื่อไหนๆ ก็มีหลักร่วมปฏิบัติที่ชาวจีนรวมทั้งชาวไทยเชื้อสายจีนถือเป็นธรรมเนียมสืบทอดกันมา ดังนี้
• ล้างท้องก่อนกินเจ ผู้ที่เคร่งครัดมากจะเตรียมล้างท้องก่อนกินเจ 1-2 วัน คืองดเว้นเนื้อสัตว์ ผักกลิ่นฉุน เพื่อชำระล้างภายในร่างกาย ให้ปราศจากของคาว
• ล้างทำความสะอาดภาชนะ เครื่องครัว บางบ้านมีเครื่องครัว จานชามสำหรับกินเจแยกต่างหากโดยเฉพาะ หรืออาจนำเครื่องครัวที่มีอยู่แล้วออกมาล้างให้สะอาดหมดคราบมัน
• ไม่กินเนื้อสัตว์ เพื่อละเว้นชีวิต ไม่เบียดเบียนสัตว์ และน้ำนมสัตว์ทุกชนิด
• ไม่กิน 5 ผักกลิ่นฉุนต้องห้าม
พุทธมหายาน: กุยช่าย หลักเกียว กระเทียม ต้นหอมและหัวหอม ลัทธิเต๋า: กุยช่าย หลักเกียว กระเทียม ผักชี และอั้งไช้เท้าหรือหัวไช้เท้าแดง เพราะล้วนเป็นผักกลิ่นแรง ที่เชื่อว่ามีฤทธิ์กระตุ้นจิตใจและอารมณ์ให้ร้อนรุ่ม จึงไม่เหมาะกับผู้อยู่ในช่วงถือศีล และตามตำราแพทย์แผนจีนที่ยึดหลักหยินหยาง เช่น หัวหอม มีผลต่อธาตุน้ำในร่างกาย กินมากหลงลืม นัยน์ตาพร่ามัว กระเทียมมีผลต่อธาตุไฟ ระคายเคืองกระเพาะ
• รักษาศีล 5 หรือศีล 8
• รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ คิดดี พูดดี ทำดี
• ละเว้นการมีเพศสัมพันธ์
• ละเว้นจากใบยาสูบ บุหรี่
• นุ่งขาวห่มขาว แสดงถึงความบริสุทธิ์ ละซึ่งกิเลส หมายเหตุตัวโตๆ ว่าแล้วแต่ความเคร่งครัด บางคนใส่เฉพาะช่วงประกอบพิธีกรรมสำคัญที่วัดพุทธจีน หรือศาลเจ้าต่างๆ สวดมนต์ ขอพรไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะวันที่ 3, 6 และ 9 ของการกินเจ เสมือนวันพระของผู้ถือศีลกินเจ เรียกว่าวันชิวลัค ชิวอิค และชิวยี่
อาหารที่ถามกันบ่อยว่า ‘เจ หรือไม่เจ’
นอกจากเนื้อสัตว์และผักฉุนต้องห้ามที่ระบุไว้ชัดเจน ยังมีอาหารอีก 2 ชนิด ที่คนถามบ่อยว่าเจไหม คือ น้ำผึ้ง กับหอยนางรม น้ำผึ้ง จริงอยู่ที่ว่าเป็นผลผลิตจากน้ำหวานดอกไม้นานาชนิดที่ผึ้งสะสมมา แต่กระบวนการได้น้ำผึ้งมาต้องไล่ผึ้งจากรังแล้วเก็บรวงผึ้งมาบีบน้ำหวาน ซึ่งในรวงก็มักมีตัวอ่อนผึ้งปะปนมา
หอยนางรม เป็นสิ่งมีชีวิตที่กลับถูกยกเว้นว่ากินได้ในช่วงเจ เหตุเพราะตำนานที่เล่าต่อๆ กันมา (โดยหาหลักฐานอ้างอิงไม่ได้) ว่า คณะแสวงบุญผู้นับถือพระโพธิสัตว์กวนอิม เดินทางอยู่กลางทะเลจนอาหารหมดเรือแล้วยังไม่ถึงฝั่ง จึงอธิษฐานขอเจ้าแม่กวนอิมว่า ถ้าเอาไม้เท้าจุ่มลงน้ำ สิ่งใดติดขึ้นมาขอให้สิ่งนั้นกินได้โดยไม่ผิดบาป แล้วหอยนางรมก็ติดขึ้นมา… ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่ากินได้หรือไม่ แต่ถ้าพุทธมหายานจะไม่กินอยู่แล้ว สุดท้ายจึงเป็นเรื่องของความเชื่อ ใครเชื่ออย่างไรก็ปฏิบัติอย่างนั้น
ทว่า จะเจ หรือไม่เจ ก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเรากินเจเพื่ออะไร ถ้าเพื่อสุขภาพเพราะเป็นช่วงที่ได้กินผักเยอะ ย่อยง่าย พักระบบการย่อยในร่างกาย หรือเพื่อสีสัน ชาเล้นจ์สนุกๆ ตั้งเป้าจะกินให้ครบวัน คุณจะหลุดเผลอไผลกินน้ำผึ้งสักหน่อย หอยนางรมสักนิดก็ไม่มีใครว่าอะไร แต่ถ้ากินเจเพื่อชำระทั้งตัวและใจ ตั้งมั่นถือโอกาสใน 9 วัน 9 คืนนี้เพื่อละเว้น ไม่เบียดเบียนสัตว์ การงดน้ำผึ้ง หอยนางรม ก็เป็นสิ่งที่คุณควรทำในการ “ถือศีล กินเจ”