‘เจ๊ไฝ’ ตัวแทนอาหารข้างทางไทยใน Street Food … จริงดิ?

3,069 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
Street Food ซีรีส์สารคดีของ Netflix ที่มีผู้คนรอติดตามอยู่ทั่วโลก

ในสายตาชาวโลก ‘ร้านเจ๊ไฝ’ กลายเป็นภาพแทนของอาหารริมทางบางกอกโดยสมบูรณ์ไปแล้ว แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะไม่ต่างอะไรจากร้านอาหารตามสั่งทั่วไป แต่เมนูอาหารและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ราคา’ นั้นออกจะเทียบเคียงกับร้านหรูในโรงแรมห้าดาวเสียมากกว่า ไม่ได้กินง่ายขายคล่องในระนาบเดียวกับร้านข้างทางส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ แถมใครๆ ก็ว่าราคาสมเหตุสมผลดี เมื่อเทียบกับวัตถุดิบและรสมือแม่ไฝผู้มีทักษะการปรุงด้วยเตาถ่านระดับเซียน ซึ่งจะด้วยความอินดี้หรือความเชื่อมั่นอะไรสักอย่างที่ทำให้แม่ไม่ยอมลดทั้งราคาและคุณภาพ จนร้านได้ปรากฏในสื่อไทยสื่อนอกมายาวนาน ตามด้วยดาวมิชลิน 1 ดวง ตอกย้ำอีกครั้งกับการเป็นหนึ่งในตัวละครหลักของซีรีส์สารคดีทุนสูงของ Netflix อย่าง Street Food ฉะนั้นแล้ว ‘ร้านเจ๊ไฝ’ จึงกลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวนานาชาติที่คาดหวังว่าเจ๊ไฝจะมอบประสบการณ์กินข้าวข้างทางโดยแท้จริงแม้ว่าแม่จะไม่สามารถเป็นภาพแทนได้จริงๆ เสียทีเดียวก็ตาม

Street Food เป็นซีรีส์สารคดีที่มีผู้คนรอติดตามอยู่ทั่วโลก เพราะมันมาจากผู้สร้างเดียวกับ Chef’s Table ซึ่งนำทีมโดยโปรดิวเซอร์ เดวิด เกลบ์ ผู้กำกับหนังสารคดี Jiro Dreams of Sushi ปัจจุบันเกลบ์อายุแค่ 35 ปี นั่นหมายความว่าในปี 2011 วันที่เขาประสบความสำเร็จจาก Jiro Dreams of Sushi นั้น เจ้าตัวอายุได้ 28 ปีเท่านั้น ซึ่งจากจุดเริ่มต้นนั้นเองได้ขีดเส้นให้เขาเอาดีทางด้านการทำสารคดีเกี่ยวกับอาหาร ด้วยแนวคิดคือโลกใบนี้มีอาหารนับร้อยนับพันชนิด แต่ละจานล้วนมี ‘เรื่องราว’ อยู่เบื้องหลังทั้งนั้น เริ่มจาก Chef’s Table ปัจจุบันนี้มีมาแล้ว 6 ซีซั่น แต่ละตอนเราจะได้พบเชฟระดับโลกกับเบื้องหลังการต่อสู้กว่าจะประสบความสำเร็จ ผ่านอาหารที่ได้รับการนำเสนออย่างละเมียดละไม

อันที่จริงเกลบ์ไม่ได้ร่ำเรียนด้านอาหารมาโดยตรง จุดยืนของเขาไม่ต่างจากนักทำหนังทั่วโลกที่ต้องการเล่าเรื่องเชื่อมโยงกับผู้คน แต่ที่เขาให้ความสนใจกับอาหารเพราะคิดว่า “วันหนึ่งๆ เรากินตลอดทั้งวัน อาหารเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน ดังนั้นเชฟจึงเหมือนคนที่ให้ความรู้กับเรา ถ้าเขาแนะนำอะไรเราควรจะรับฟัง เพราะเขามีอิทธิพลกับชีวิตเรามาก…

“เรามองว่าเชฟแต่ละคนนั้นเป็นยอดมนุษย์ นี่คือสิ่งที่เรายึดเป็นแนวคิดของการทำสารคดีเสมอมา เราพยายามทำความเข้าใจว่าอะไรทำให้คนเหล่านี้มีมุมมองไม่เหมือนชาวบ้าน เราทำทุกทางที่จะเข้าถึงจุดเริ่มต้นของวิธีคิดเหล่านั้น หาให้เจอว่าอะไรทำให้เขาเป็นคนแบบนี้และเลือกเดินเส้นทางนี้”

หากอ่านจากคำสัมภาษณ์ของเกลบ์ในข้างต้น เราจะพบว่านี่คือแนวทางการทำงานของเขามาตั้งแต่ Jiro Dreams of Sushi ที่ตาม จิโร่ โอโนะ เชฟซูชิระดับมาสเตอร์เจ้าของดาวมิชลิน 3 ดวง และเกลบ์ยังช่วยยกระดับอาหารด้วยงานโปรดักชั่นจนมันเป็นหนังสารคดีที่ประสบความสำเร็จทั้งในฐานะหนังเรื่องหนึ่ง และในฐานะสื่อที่ช่วยประชาสัมพันธ์อันทรงอิทธิพลที่สุดให้จิโร่ มาจนถึง Chef’s Table ทุกซีซัน และล่าสุด Street Food เองก็ตาม ต่างเล่าเรื่องโดยมีศูนย์กลางเป็นเชฟที่ต่อสู้มาอย่างยาวนาน และสารคดีก็หาวิธีควักพื้นฐานความคิดไปจนถึงบางบาดแผลที่เป็นแรงผลักดันของเชฟแต่ละคนออกมาจนได้

Street Food เป็นการต่อยอดจักรวาลด้านอาหารของเกลบ์หลังจากติดตามจานหรูระดับโลกมาเนิ่นนาน เขาหันกลับไปสนใจอาหารที่เข้าถึงมวลชนได้มากกว่าอย่างอาหารข้างทาง ซึ่งในสายตาสากลโลกแล้ว อาหารข้างทาง (โดยเฉพาะในเอเชีย) มันอาจดูไม่ค่อยถูกสุขลักษณะ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าร้านที่ประสบความสำเร็จจนเป็นตำนานของแต่ละประเทศ ได้เดินทางผ่านกาลเวลาเพื่อพิสูจน์ความเป็นตัวจริงด้านอาหารของคนทุกระดับมาแล้ว นี่แหละแก่นของสารคดีชุดนี้

สิ่งที่ทำให้ Street Food แตกต่างจาก Jiro Dreams of Sushi และ Chef’s Table คือสารคดีเลือกตัวละครหลักเป็นร้านข้างทางที่ได้รับการยอมรับอย่างเอกฉันท์ของแต่ละประเทศ ประกอบกับร้านอื่นอีกเล็กน้อย เพื่อใช้บอกเล่าวัฒนธรรมอาหารข้างทางที่ไม่เหมือนกัน มันจึงเป็นสารคดีที่ไม่ได้จำเพาะเจาะจงไปที่ตัวอาหารหรือตัวบุคคลอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่กำลังเล่าถึงสภาพสังคมและการดิ้นรนของทั้งเชฟและผู้คนในประเทศนั้นๆ ยกตัวอย่างตอน ‘กรุงเทพฯ’ ซึ่งนอกจากจะมีศูนย์กลางเป็นนางเอกอย่างเจ๊ไฝแล้ว ยังมีร้านบะหมี่เกี๊ยวย่านสุขุมวิท และร้านข้าวแกงเก้าอี้พลาสติกเจ้าดังเยาวราชเล่าคู่ขนานไปด้วย ซึ่งไม่ได้เพียงโชว์ทัศนียภาพประหลาดตา แต่กำลังนำเสนอ ‘ชีวิต’ ของผู้คนแต่ละมุมโลกที่กำลังดำเนินควบคู่ไปกับวัฒนธรรมอาหารข้างทางที่ต่างก็ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยกันทั้งสิ้น

สิ่งเหล่านี้ถูกเล่าผ่านคำพูดของผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารแต่ละประเทศ โดยของไทยนั้นเล่าโดย เชาวดี นวลแข นักเขียน บลอกเกอร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารริมทางเชื้อสายไทย-อเมริกัน ซึ่งเธอได้ให้ความเห็นเอาไว้เพื่อตอบโต้กับนโยบายของภาครัฐในการที่จะเข้ามาจัดระเบียบอาหารข้างทางเมื่อต้นปี 2018 ว่า

“อาหารข้างทางคือหนึ่งในส่วนที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดในชีวิตของคนไทย และในช่วงเวลาที่เส้นแบ่งชนชั้นขยายกว้างขึ้น ทุกคนง่วนอยู่กับโทรศัพท์มือถือ และอยู่แต่ในโลกของตัวเอง อาหารริมทางเป็นไม่กี่อย่างที่เหลืออยู่ ที่ตรึงผู้คนไว้ด้วยกัน”

เชาวดี นวลแข

สิ่งหนึ่งที่สารคดีทำสำเร็จคือการนำเสนออาหารให้ดูน่ากินด้วยงานโปรดักชั่นระดับโลก แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือการที่มันเป็นกระจกสะท้อนกลับมายังต้นทางด้วยว่า ความเป็นไปแบบไหนที่ชาวโลกกำลังให้ความสนใจเมื่อพูดถึงเมืองไทย ประโยคที่สารคดีเรื่องนี้เลือกมาเล่าจากมุมมองของเชาวดีน่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุด

ภาพจาก 

www.trustcollective.com 
www.netflix.com
https://www.pbs.org

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS