ในบรรดาธรรมชาติสวยๆ สถานที่ unseen คาเฟ่เก๋ๆ หรือจุดเช็กอินลับๆ มีใครลิสต์ ‘ตลาด’ ไว้ในแพลนท่องเที่ยวบ้างไหมคะ? สำหรับเรามองว่าการเดินทางท่องเที่ยวกับการกินมาคู่กัน นอกจากไปตระเวนหาร้านอร่อย เลยชอบแวะเดินตลาด ไปดูให้เห็นว่าคนที่นั่นเขาอยู่เขากินกันอย่างไร เหมือนได้ทำความรู้จักคนท้องถิ่นแบบฉบับรวบรัดผ่านบรรยากาศและอาหารในตลาด และเงินจากการจับจ่ายของเราก็กระจายรายได้ถึงมือคนในชุมชนจริงๆ
เมื่อมีโอกาสเดินทางมาพังงา และได้มา ‘กะปง’ อำเภอเล็กๆ ที่ธรรมชาติป่าเขายังอุดมสมบูรณ์ทั้งยังปกคลุมไปด้วยหมอก สมฉายา ‘ม่านหมอกเมืองใต้’ เลยหมายมั่นว่าจะมาเดิน ตลาดนัดปากถัก ตลาดเช้าในหมอก และเดินเล่นตลาดเย็นย่านชุมชน ตลาดเหมืองเก่ากะปง เป็น 2 ตลาดในกะปงที่เอาใจทั้งคนตื้นเช้าและคนชอบชิลล์ยามเย็น
ถ้าตื่นไหวไม่ควรพลาด ตลาดนัดปากถัก ด้วยประการทั้งปวง
บรรยากาศของตลาดนัดปากถักในเวลาเช้าตรู่ไม่ต่างจากเดิมเมื่อสองปีก่อนที่เราเคยมา หมอกหนาปกคลุมทั่ว เมื่อมองจากระยะไกลราวกับตลาดหลบผู้คนอยู่ในม่านหมอกบังตา ที่นี่เลยมีอีกชื่อเรียกว่า ‘ตลาดในหมอก’ แต่พอสาวเท้าเข้าไปใกล้เหมือนเราแหวกม่านหมอกเข้ามาอีกโลก ผู้คนเดินขวักไขว่จับจ่ายหาซื้อของสด อาหารปรุงสำเร็จราคาย่อมเยา และสภากาแฟที่ดูคึกคัก มีสีสัน แม้จะไม่เท่าก่อนมีโควิดก็ตาม
เช้าที่อากาศเย็นสบายได้นั่งแวะจิบชาร้อน กาแฟโบราณสักแก้ว และเติมพลังด้วยโจ๊กใส่ไข่ อุ่นท้อง หอมพริกไทย นั่งอ้อยอิ่งได้กินมื้อเช้าแบบไม่เร่งรีบนี่มันดีจริงๆ ค่ะ อิ่มแล้วก็แวะเดินรอบๆ ตลาดสักหน่อย เดินตลาดท่ามกลางหมอกนี่ให้ความรู้สึกสวยแปลกตาดีไม่น้อย โดยตลาดจะเปิดเฉพาะวันอาทิตย์ ตั้งแต่ตี 5 – 9 โมงเช้า คนในชุมชนจะนำของมาขายเป็นผักพื้นบ้าน ผลไม้จากสวน ปลาและอาหารทะเลต่างๆ ที่จับมาได้ นอกจากของสดทั่วไป ก็มีอาหารปรุงพร้อมกิน ขนมและของทะเลแห้งในราคาย่อมเยาแบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
เราเดินออกจากตลาดข้ามถนนสายเล็กๆ ไปยังสะพานประชาอุทิศ สะพานคมนาคมทอดตัวตัดผ่านลำธารธรรมชาติขนาบด้วยทิวเขาและยอดไม้หนาแน่น ชาวบ้านยังได้อาศัยใช้สอยน้ำจากลำธารนี้อยู่ บรรยากาศดี เดินเล่นเก็บภาพเพลินๆ ก่อนกลับ ทั้งอิ่มท้องแล้วก็ได้ของฝากเป็นอาหารทะเลตากแห้งราคาย่อมเยากลับมาด้วย
ตลาดเหมืองเก่ากะปง หรือตลาดถนนคนเดินปากถัก
ตลาดเหมืองเก่ากะปงหรือตลาดถนนคนเดินปากถักเป็นอีกตลาดที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากตลาดนัดปากถักช่วงเช้า อยู่ในชุมชนเก่าปากถัก อดีตเป็นแหล่งที่ตั้งเหมืองแร่และยังคงหลงเหลือร่องรอยของเหมืองเก่า เพราะเมื่อเดินจนถึงท้ายตลาดจะเห็นเหมืองเก่าที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2492 โดยบริษัทจุติ บวกลบก็อายุอานาม 73 ปี และเป็นที่ถ่ายทำภาพยนตร์ชื่อดังอย่างมหาลัย’เหมืองแร่ หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่องนี้คงพอจะนึกภาพโรงเรือนไม้ เครื่องจักรและห้องทำงานของนายเหมืองออก
ก่อนหน้าที่เราจะมา เหมืองแร่แห่งนี้เคยเปิดให้เข้าเยี่ยมชมศึกษาเรียนรู้การทำเหมืองในอดีต น่าเสียดายที่สถานการณ์โควิดทำให้ปิดตัวลงชั่วคราว เราเลยได้แต่ชะเง้อชะแง้มองดูโรงเรือนไม้หลังเก่าที่ปิดเงียบ กับเครื่องจักรสีสนิมท่ามกลางธรรมชาติแล้วลองจินตนาการภาพคนทำเหมืองพลุกพล่านก็ดูขลังอยู่นะคะ
พอๆ หยุดจินตนาการแล้วไปหาของกินกันดีกว่าค่ะ
อาหารและขนมส่วนใหญ่ก็เป็นรสมือชาวบ้านในชุมชนทำมาขาย เป็นของกินที่คนกะปงกินนี่ละค่ะ กางโต๊ะตั้งขายกันหน้าบ้านเลย เราชอบบรรยากาศบ้านเรือนเก่าที่นี่มากๆ สวยคลาสสิกและเงียบสงบด้วยอาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับหลายเมืองทางภาคใต้ฝั่งอันดามัน และอำเภอใกล้เคียงอย่างตะกั่วป่า
ขนมพื้นเมืองละลานตาเลือกกันไม่ถูกเลยเจอ ขนมขี้มอด ชื่อแปลกมาเป็นถุงทรงหลอดยาวราคา 5 บาท เลยซื้อมากินเล่น ป้าคนขายเขาว่าเป็นขนมโบราณทำจากมะพร้าวขูด แป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย เอามะพร้าวกับแป้งมาคั่วในกระทะให้หอมแล้วเติมน้ำตาลทราย ลองเคี้ยวกินเล่นเพลินๆ ดีค่ะ หอมมันมะพร้าว
เห็นคุณน้ากำลังห่อ เมี่ยงลาวใบสีสดเขียว ปกติเคยกินเมี่ยงลาวที่ทำจากใบเมี่ยงหรือใบชาหมัก เพิ่งจะเคยเห็นเมี่ยงลาวที่ห่อด้วยใบมันสำปะหลังเป็นครั้งแรก ลองกินแล้วแปลกรสจากที่เคยกิน อร่อยไปอีกแบบ เพราะใบมันสำปะหลังลวกสุกนุ่มให้รสมันผสมกับไส้เปรี้ยวหวานลงตัว กินเพลินดีค่ะ
กี่จ่าง หรือขนมจ้างทรงสามเหลี่ยมห่อใบกะพ้อของโปรดเห็นแล้วต้องซื้อ ทำจากข้าวเหนียวแช่ด่างกระบวนทำนี่พิถีพิถันกันสุดๆ (อ่านเรื่องขนมกี่จ้างเพิ่มเติม: คุณตาคุณยายนักทำขนมจ้างแห่งเมืองจันท์) เราจะพบเจอขนมจ้าง กี่จ้าง กี่จ่างและขนมซังแล้วแต่ชื่อเรียกได้ในหลายท้องถิ่นที่มีชุมชนชาวจีนอยู่ เนื้อขนมเป็นสีเหลืองใสหนุบหนับหอมใบพ้อจิ้มกินกับน้ำตาลทราย บางท้องที่อย่างจันทบุรีจะกินกับน้ำตาลอ้อย
เดินกินขนมเรียกน้ำย่อย อยากได้มื้อหนักก็แวะกิน ผัดหมี่ฮกเกี้ยนป้าเมียด ถ้ามากะปงแนะนำให้แวะมาลองเลยค่ะ เป็นร้านเล็กๆ ในชุมชนภายในตลาดถนนคนเดินนี่แหละ ฝีไม้ลายมือการผัดหมี่ป้าเมียดนี่ไม่เป็นรองใคร ผัดหมี่หอมฉุยจากกระทะลอยมาเลย รสชาติกลมกล่อม อร่อยกวาดถ้วยกันไปสิ นอกจากผัดหมี่ป้าเมียดก็ขายข้าวขาหมู หมูกรอบ และอาหารตามสั่งด้วย
อิ่มจนต้องเดินย่อย ของอร่อยน่ากินก็เต็มตลาด เลยเดินซื้อกลับไปกินที่พักกันค่ะ ได้มาหลายอย่างทั้งข้าวต้มใบพ้อ ข้าวต้มลูกโยนหรือตูปะในภาษามลายู ถ้าเป็นพี่น้องชาวมุสลิมก็จะทำกินในช่วงวันฮารีรายอวันตรุษอีดิ้ลฟิตรี เป็นวันสำคัญแห่งการเฉลิมฉลองการละศีลอด ส่วนพี่น้องชาวพุทธจะทำข้าวต้มลูกโยนไปใส่บาตรในวันออกพรรษา
ขนมขี้มัน หรือ ขี้โล้ นี่ก็เพิ่งจะเคยเห็น ขนมมีสีน้ำตาลหน้าขนมโรยด้วยอะไรสักอย่างเป็นขุยๆ พี่แม่ค้าป้ายยาว่าอร่อย หากินได้แถบภาคใต้ ทำจากกะทิเคี่ยวจนแตกมันใส งวดจนเหลือก้นกระทะเรียกขี้โล้ ตัวแป้งขนมทำจากข้าวโม่ กวนกับน้ำตาลแดงแล้วก็โรยด้วยขี้โล้ กินแล้วเนื้อเหนียวรสหอมมันมากค่ะ หวานน้อยแนะนำเลย
บรรดา ขนมรวมทอด ทั้งหลายก็น่ากินซื้อรวมๆ มา 20 บาท มีขนมด้วงทอดทำจากแป้งข้าวเหนียวกินร้อนๆ อร่อยหนึบ มันทอด เผือกทอดกินเพลินดีค่ะ
ขนมโกสุ้ย หรือโกซุ้ยเป็นขนมท้องถิ่นขึ้นชื่อของที่นี่หน้าตาเหมือนขนมน้ำดอกไม้ แต่รสชาติรสสัมผัสต่างกันเลย ตัวโกสุ้ยทำจากแป้งและน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลอ้อยนั่นละค่ะ เลยทำให้ขนมมีรสหวานหอมและสัมผัสหนึบหนับไม่กัดแล้วขาดเหมือนขนมน้ำดอกไม้ มีทั้งสีน้ำตาลและสีเขียวจากใบเตย
เรียกว่าเป็นตลาดที่เดินแล้วอิ่มมาก มีร้อยสองร้อยก็ได้ขนมติดไม้ติดมือกลับบ้านเพียบเลย นอกจากขนมและอาหาร ยังมีจักสานภาชนะต่างๆ รวมถึงหมวกสานทรงจีน หมวกสานท้องถิ่นพังงาที่ทำจากใบรวบข้าวหรือใบร่มข้าว แม่ค้าแม่ขายก็น่ารัก อัธยาศัยดีใครมาเที่ยวพังงาก็แวะมาเดินเล่นอุดหนุนชาวกะปงได้นะคะ
ตลาดถนนคนเดินปากถัก เปิดทุกวันเสาร์ เวลา 15:00 – 20:00 น.
ขอบคุณข้อมูล
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพังงา และ Hello Phang-nga 365 days
อ่านบทความเพิ่มเติม