โต๊ะกลมหมุน (Lazy Susan) เอกลักษณ์จีนที่ส่งมอบโดยอเมริกา

4,801 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
โตะจีนหรือโต๊ะกลมหมุนได้มาจากไหน แล้วทำไมถึงเรียก Lazy Susan

นอกจากน้ำมัน เนื้อหมู ตะเกียบ และเส้นบะหมี่ อีกหนึ่งสิ่งที่มักผุดขึ้นในหัวเสมอเมื่อเอ่ยถึงอาหารจีน ร้านอาหารจีน หรือครอบครัวคนจีน คงหนีไม่พ้นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นสำคัญที่อบอวลกลิ่นอายความจีนอย่าง ‘โต๊ะกลม’ (Round table) อาจเพราะวัฒนธรรมล้อมวงกินข้าวนั้นเติบโตขึ้นในทวีปเอเชียมานับพันปีโดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออกไล่เรื่อยมาตั้งแต่ประเทศจีน ญี่ปุ่น พม่า รวมถึงไทยที่การกินอาหารพร้อมหน้าพร้อมตาถือเป็นเรื่องสำคัญในครอบครัว

แน่นอนว่า ‘โต๊ะจีน’ ที่เราคุ้นตาตามงานบวชหรืองานแต่งก็เป็นโต๊ะกลมตอกย้ำภาพความจีนของเครื่องเรือนชิ้นนี้ขึ้นอีก ยิ่งหากเป็นโต๊ะกลมหมุนได้ (Revolving table) ยิ่งชวนให้รู้สึกถึงความจีนกันเข้าไปใหญ่ ด้วยมักปรากฏอยู่ในครอบครัวเชื้อสายจีนซึ่งส่วนมากเป็นครอบครัวขยาย มีสมาชิกหลายวัยอยู่ร่วมกัน อาหารการกินจึงต้องกระจายให้เหมาะกับช่วงวัยและปริมาณคน

ซึ่งโต๊ะกลมหมุนก็รับหน้าที่แจกจ่ายอาหารได้อย่างไร้ที่ติ จนกลายเป็นของมันต้องมีในบ้านคนจีนแทบทุกหลังคาเรือน ทว่าเมื่อลองพลิกตำราประวัติศาสตร์จีนดู กลับไม่พบการมีอยู่ของโต๊ะอาหารแบบนี้แต่อย่างใด…

นั่นก็เพราะมันโด่งดังมาจากแดนไกลอย่างอเมริกา

วงการนักออกแบบมีคำนามเรียกโต๊ะกลมหมุนว่า ‘Lazy Susan’ โต๊ะซูซานจอมขี้เกียจถือเป็นงานออกแบบโต๊ะกินข้าวชิ้นโบแดงที่ย้อนประวัติกลับไปได้ไกลถึงต้นศตวรรษที่ 18 ด้วยในเวลานั้นสังคมชั้นสูงของเมืองผู้ดีมีสิ่งประดิษฐ์คล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้น และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ลักษณะเป็นถาดไม้มะฮอกกานีที่ติดกลไกให้สามารถหมุนได้ ใส่ขนมวางไว้กลางโต๊ะน้ำชายามเช้าหรือบ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกในการหยิบสโคนหรือขนมชิ้นจิ๋วที่เป็นเอกลักษณ์ของเครื่องเคียงน้ำชาของชาวอังกฤษ ซึ่งในคราวนั้นนวัตกรรมนี้ถูกเรียกขานกันว่า ‘เจ้าบริกรเขลา’ (Dumbwaiter) เป็นการหยอกล้อการทำงานของถาดหมุนที่ช่วยลดภาระการงานของเหล่าบริกรในบ้านคนรวยนั่นเอง

ในเวลาใกล้เคียงกัน ฝั่งอเมริกาก็เกิดนวัตกรรมโต๊ะกลมหมุนขึ้นคล้ายกัน ทว่ายังไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่าได้รับอิทธิพลมาจากฝั่งเมืองผู้ดีหรือไม่ แต่สิ่งที่ชัดเจนก็คือ การเกิดขึ้นของโต๊ะกลมทางฝั่งอเมริกานั้นมีขึ้นเพื่อตอบโจทย์สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จนต้องลดต้นทุนการจ้างแรงงานและบริกรในระยะนั้น สุดท้ายมันจึงกลายเป็นเครื่องเรือนยอดนิยมในระดับได้ปรากฏตัวอยู่ในลำดับของขวัญปีใหม่สุดฮิตที่นิตยสาร Vanity Fair แนะนำผู้อ่านในปี 1917

แล้วทำไมต้องเป็นซูซาน?

เป็นข้อสงสัยที่ทั้งนักออกแบบ พ่อครัวแม่ครัว และคนทั่วโลกถามกันมาเป็นร้อยปี ซึ่งคำตอบนั้นก็มีหลากหลายตามความน่าจะเป็นที่ต่างกัน ส่วนความน่าจะเป็นที่นักสังคมศาสตร์มองว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดนั้นคือ เพราะยุคสมัยนั้นการตั้งชื่อ ‘เหมารวม’ ได้รับความนิยมทั้งในอังกฤษและอเมริกา เช่นการเหมารวมช่างไม้ส่วนใหญ่ว่าชื่อทอม ส่วนสาวใช้นั้นก็มักจะชื่อซูซานเหมือนกับที่บ้านเราพากันเรียกสาวใช้ว่า ‘แจ๋ว’ อย่างไรอย่างนั้นนั่นแหละ

ส่วนคำถามว่า แล้วมันกระโดดจากสังคมอเมริกันหรือเมืองผู้ดีเข้าไปอยู่ในบ้านคนจีนได้อย่างไร? ก็ต้องบอกว่าการถ่ายเทวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหลและเกิดขึ้นอยู่เสมอโดยเฉพาะร้านอาหารจีนในย่านไชน่าทาวน์ของอเมริกา ส่วนมากหนีไม่พ้นร้านติ่มซำ (Dimsum)​ โต๊ะแบบหมุนจึงมีประโยชน์มากในการอำนวยความสะดวกให้คนรอบโต๊ะได้คีบติ่มซำเข่งนั้นนิดเข่งนี้หน่อย

แต่เมื่อโต๊ะกลมหมุนอย่าง Lazy Susan ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางก็มีนักประวัติศาสตร์ชาวจีนออกมาเคลมกันว่า แท้จริงแล้วโต๊ะหมุนๆ แบบนี้เกิดขึ้นในแผ่นดินมังกรมาเป็นพันปีแล้วเช่นกัน ทว่าไม่ได้ข้องเกี่ยวกับวัฒนธรรมการกินแต่อย่างไร เพราะมีบันทึกระบุว่าราวปี ค​.ศ. 1313 ชาวจีนได้ประดิษฐ์โต๊ะกลมหมุนเพื่อใช้วางตัวอักษรสำหรับการเรียงพิมพ์ (การพิมพ์ยุคโบราณที่ต้องวางตัวอักษรทำจากเหล็กทีละตัวให้กลายเป็นคำ เป็นประโยค ก่อนเข้ากระบวนการถมหมึกเพื่อพิมพ์ลงบนวัสดุ) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้พิมพ์หยิบตัวอักษรจีนที่มีมากมายได้ง่ายขึ้น….

จึงเท่ากับว่าโต๊ะกลมหมุนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมจีนแต่เป็นของขวัญชิ้นเดิมในกล่องใหม่ที่ชาวอเมริกันส่งมอบให้นั่นเอง

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS