ขายยังไงก็ไม่พัง ต้องมี ‘ใจรักและทักษะ’

460 VIEWS
PIN

image alternate text
ใครกำลังคิดจะผันตัวมาเป็นแม่ค้าพ่อค้า หรือใครที่เพิ่งหัดขายแล้วรู้สึกว่าปัญหามันเยอะ ลองมาฟังประสบการณ์จากคนขายรุ่นพี่กันดูค่ะ

มองเผินๆ การขายอาหารรวมถึงวัตถุดิบต่างๆ อาจจะดูเหมือนง่าย ซึ่งจริงๆ จะว่างง่ายก็ใช่ค่ะ แต่จะว่าไม่ง่ายก็ได้เหมือนกัน ของแบบนี้พูดลอยๆ คงไม่ได้ เราเลยไปพูดคุยกับเหล่าบุคคลที่ผันตัวจากอาชีพอื่นๆ มาเป็นคนขายอาหาร เบเกอร์รี ผัก/ ผลไม้ ลองไปอ่านปากคำของพวกเขาดูแล้วจะรู้ว่าหากคิดจะขายของกิน ต้องเตรียมตัวยังไง ต้องเผื่อใจอะไรบ้าง และต้องมีอะไรเพื่อจะได้ไม่ถอดใจไปซะก่อน

ขายอาหารไม่พัง

ธนกฤต มาคำจันทร์

ร้าน Awesome Cheese

อยากทำของอร่อยๆ ดีๆ ที่ตัวเองกิน ให้คนอื่นได้กิน แล้วยิ้มกว้างๆ เหมือนเวลาพูดคำว่าชีส

พิกัด:  69/7  ซ.สมานฉันท์-บาร์โบส ถ.สุขุมวิท 42 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กทม 10110

FB: Awesome Cheese

IG: @awscheese

Line: @awesomecheese

Tel: 091-092-3433

Email: [email protected]

จากอาชีพซอฟต์แวร์เอนจิเนียร์ (แต่สนใจเรื่องการทำขนมมาตั้งแต่เด็กๆ) สู่การร่วมหุ้นเปิดบ้านเป็นร้านขายครัวซองต์และทำเชฟเทเบิ้ลเป็นหลัก รับทำเบเกอร์รีและอาหารอย่างอื่นตามรีเควส บวกกับอารมณ์ของเชฟ 😆 หลังได้เจอกับหุ้นส่วนที่เป็นเชฟซึ่งเพื่อนสนิทของพี่ชายผู้มีประสบการณ์การทำงานในครัวมานานกว่า 15ปี ประจวบกับอยากทำอะไรที่นอกเหนือจากงานประจำ เลยได้มีโอกาสคุยปรึกษากันว่าจะสามารถเปิดร้านขนมกับอาหารได้ไหม เอาไว้เป็นอาชีพสำรองเผื่อวันไหนตกงาน หรือเกษียณอายุมาจะได้มีอะไรมารองรับ หลังจากนั้นไม่นานร้านก็ได้เปิดแบบเป็นทางการ

ในฐานะหุ้นส่วน เลยมีการแบ่งงานกัน โดยเราทำขนมประเภทเบเกอร์รีมาตั้งแต่เด็ก เริ่มฝึกทำตอน ม.1 แล้วก็ทำต่อเนื่องมาตลอดจนปัจจุบันก็เลยรับหน้าที่ทำเบเกอร์รี ส่วนพี่เขารับเรื่องของคาว โดยเฉพาะอาหารฝรั่งเศสซึ่งเขาชำนาญเป็นพิเศษ ส่วนตัวเราก็แน่นอนว่าต้องเตรียมทักษะ ไปลงคอร์สเรียนเพิ่มในสิ่งที่เราอยากจะนำมาใช้ในร้าน แล้วก็ฝึกๆๆๆ จนมั่นใจว่าทำออกขายได้

ขายอาหารไม่พัง
ขายอาหารไม่พัง

ปัญหาที่เจอคือคนมักไม่เข้าใจว่าเราต้องการสื่ออะไร ทำไมขายแพงจัง ทำไมไม่เห็นเหมือนคนนั้นคนนี้ ฯลฯ แต่เราน่ะอยากจะส่งสารให้ไปถึงทุกคนว่าเราทำอาหารด้วยความรักนะ ไม่ใช่เกาะกระแส เพราะฉะนั้นอาหารของเราจะเน้นที่วัตถุดิบที่คุณภาพเยี่ยม (แน่นอนมาพร้อมกับราคาที่สูง ><) และรสชาติที่ดีเยี่ยมจริงๆ ไม่เน้นความหวือหวา ซึ่งเอาจริงๆ คนที่บ่นว่าแพงตอนแรกก็กลับมาซื้อต่อนะ 😂 แต่ก็แล้วแต่สถานการณ์ หลายๆ ครั้งต้องควักเนื้อตัวเองไปก่อน เพื่อให้คนที่เรารู้จักได้ลองชิมก่อน ให้เขาได้ชิมเขาก็จะบอกต่อไปเอง แล้วเรามักจะแถมของอย่างอื่นเพิ่มไปจากออร์เดอร์ที่ลูกค้าสั่งมาด้วย เพื่อให้เขาได้ลองของใหม่ๆ ถามว่ายังซัฟเฟอร์ไหม ตอนนี้ก็ยังซัฟเฟอร์บ้าง แต่อย่างที่บอก เราต้องการสื่อไปให้ถึงคนให้เข้าใจเราจริงๆ อย่างน้อยๆ ก็เริ่มทยอยมีลูกค้าหน้าใหม่ๆ เข้ามา แล้วกลับมาซื้อซ้ำประจำแล้ว

มีอยู่ครั้งหนึ่งเคยทำขนมถึงเช้าเลย แบบว่ามาออร์เดอร์เร่งด่วน มาเร่งจะเอาให้ได้ แต่วินาทีสุดท้ายของเช้าที่ส่งมอบของ ลูกค้าไม่เอา ค่าเสียหายเป็นหมื่นเลยรอบนั้น รายได้หายไปกับตา ช็อคเลยครับ ตอนนั้นยังไม่มีหน้าร้าน เพิ่งเริ่มต้นใหม่ๆ มัดจำก็ไม่ได้เก็บ แต่ก็คิดว่าเป็นประสบการณ์ เลยเอาไปบริจาคให้น้องๆ ที่โรงเรียนคนพิการ ได้บุญและสบายใจขึ้นด้วยว่าอย่างน้อยขนมของเรายังมีประโยชน์กับคนอื่น

ถ้าอยากขายอาหาร อย่าแค่คิด ลงมือทำเลย เลือกอาหารที่คิดว่าเหมาะกับเรา ถ้าไม่เก่งก็ฝึกจนกว่าจะพอใจ แต่ต้องเริ่มลงมือเลย อย่างเราเองก็ยังทำงานประจำอยู่ สะดวกมาช่วยงานพี่หุ้นส่วนแค่ช่วงหลังเลิกงาน และวันหยุดเสาร์อาทิตย์ แต่อย่างน้อยๆ เราก็ได้เริ่มทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ

ขายอาหารไม่พัง

นภัส ตุลยาพิศิษฐ์

ร้าน Moh Bakery

เพราะสุขภาพดี ทำให้มีแรงทำสิ่งที่รัก และเป็นประโยชน์กับผู้อื่น

FB: www.facebook.com/MohBakeryTH 

โทร: 085 058 5456

ด้วยความที่ชอบกินเบเกอรี่มากๆ เมื่อวันหนึ่งต้องผันตัวจากชีวิตพนักงานประจำสายคอนเทนต์เว็บไซต์เกี่ยวกับดนตรี มีหน้าที่เก็บภาพคอนเสิร์ต สัมภาษณ์ศิลปิน ดูแลเพจ เขียนข่าว มาเดินตามเป้าหมายคือการสร้างอาหาร ใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย อยู่กับธรรมชาติที่ต่างจังหวัด เลยต้องเข้าสู่วงการปลูกผักผลไม้ ซึ่งบางทีก็กินไม่ทัน ต้องแปรรูป แถมยังหาเบเกอรี่อร่อยๆ กินยาก เลยต้องหัดทำเบเกอรี่เองซะเลย ขนมตัวแรกที่ทำคือเค้กกล้วยหอม ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากมีกล้วยหอมเยอะ กินไม่ทัน เลยเอามาทำเป็นเค้ก จากคนที่ไม่เคยเข้าครัว พอลองค่อยๆ ศึกษาทั้งการใช้เตาอบ หาสูตร และทดลองไปเรื่อยๆ พบว่าก็ทำได้นี่นา พอทำได้ก็เริ่มทำขนมขาย โดยมีแนวคิดว่าขนมของเราต้องมีประโยชน์  และถ้าเราขายขนมมีรายได้ ก็อยากให้คนในชุมชนมีรายได้ไปกับเราด้วย เลยใช้วัตถุดิบอินทรีย์ในจ .น่าน กระจายรายได้ให้ชุมชนที่ตั้งใจปลูกสิ่งดีๆ

ขายอาหารไม่พัง
ขายอาหารไม่พัง

ถึงตอนนี้ทำเบเกอรี่ขายมา 4 ปีแล้ว แนวทางในการทำขนมก็ค่อยๆ เปลี่ยนตามสิ่งที่เราเป็น ตอนแรกเน้นใช้วัตถุดิบดีๆ ใส่สิ่งที่มีประโยชน์ถั่ว, งา, ธัญพืช แต่ยังใช้น้ำตาลทราย กินๆ ไปแล้วร่างกายอ่อนเพลีย เลยเริ่มหาความรู้เรื่องขนมสุขภาพ หาสูตรที่เป็นคลีน ตัดแป้งสาลีและน้ำตาลทรายออก ปัจจุบันเลยเปลี่ยนเป็นขนมวีแกนที่เป็นคลีนด้วย เพราะอยากทำขนมที่ทำให้ผู้คนสุขภาพดี ไม่เบียดเบียนสัตว์ อะไรที่ทำร้ายร่างกายจะไม่ใส่ลงไป ซื่อสัตย์กับสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เรากล้ากินและให้คนที่เรารักกิน หลังจากตัดสินใจทำเบเกอรี่เพื่อสุขภาพ ก็ได้รับโอกาสจากคณะอาจารย์ม. แม่โจ้-แพร่ นำขนมแครกเกอร์ข้าวกล้องธัญพืช ไปร่วมประกวดในงาน organic start up และได้ติด 1 ใน 5 ของจ.น่าน รู้สึกว่าการทำขนมสุขภาพมาถูกทางแล้ว

คิดว่าถ้าอยากทำอะไร ตัดสินใจแล้วลงมือทำได้เลย พร้อมๆ กับศึกษาหาความรู้ ทดลองทำจนอร่อย โฟกัสแล้วทำอย่างต่อเนื่อง ทำทุกอย่างด้วยใจรัก ด้วยความสนุกและมีประโยชน์ ซื่อสัตย์จริงใจกับผู้บริโภค ขายสิ่งที่ตัวเองกล้ากินและอยากให้คนที่รักได้กิน

ขายอาหารไม่พัง

พิมพิมล พิมพ์งาม

สวน Veg for Victory/ สวนเถื่อน 

สวนผักปลอดภัย No pesticide No Herbicide 

FB: https://www.facebook.com/profile.php?id=100080063685858

เห็นคนปลูกผักอินทรีย์ ออร์แกนิกส่วนใหญ่ จะทำพวกผักสลัดต่างๆ เลยคิดว่าทำไมผักสวนครัวไทยๆ ถึงไม่ค่อยมี ทั้งๆ ที่เราต้องใช้ทุกวัน พวกพริก มะเขือ ถั่วฝักยาว แตงกวา ฯลฯ แต่พอมาลองปลูกเองแล้วถึงรู้ว่า เพราะมันยากกว่ามาก ในการคุมแมลงและโรคต่างๆ  อ่านตามข่าวต่างๆ เวลาตรวจสารพิษ ก็จะเจอสารพิษตกค้างในหมู่พืชผักสวนครัวเยอะสุด เลยตั้งใจว่าจะลองปลูกผักสวนครัวไทยๆ ที่สะอาด ปลอดสารพิษดู เพราะเราต้องกินทุกวัน เลยเริ่มปลูกจากสิ่งที่บัานเราชอบกิน และเอามาประกอบอาหารบ่อยๆ ตอนแรกปลูกแต่ผักเลยชื่อ Veg for Victory แต่ต่อมา เอาหมดเลย เลยเปลี่ยนชื่อเป็นสวนเถื่อน 😂

ก่อนมาทำเกษตร ทำงานบริษัทโฆษณาและฝ่ายผลิตรายการโทรทัศน์ แต่พอถึงจุดหนึ่งที่สมองและร่างกายไปไม่ไหว ความเครียดสะสม ปัญหาสุขภาพ รวมไปถึงอยากกลับบ้านมาอยู่กับพ่อแม่ด้วย เลยตัดสินใจกลับบ้านมาเป็นชาวสวน เพราะมีที่ดินของตัวเอง กับอยากลองทำอะไรใหม่ๆ ก็เลยทำเกษตรทั้งแบบพืชไร่และพืชสวนควบคู่กันไป พืชไร่คือปลูกพวกพืชเศรษฐกิจที่ใช้จำนวนมาก พวกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันหวาน อ้อย ฯ พืชสวนคือผัก ผลไม้ การทำพืชสวนถือเป็นทางเลือกของเรา เพราะอยากเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตการเป็นเกษตรกรของที่บ้าน ว่าทำแบบเดิมๆ มาเป็น 20-30 ปี ก็ยังวนเวียนเหมือนเดิม เลยอยากลองหาตลาดที่แตกต่างออกไป ไม่มีพ่อค้าคนกลาง มาเป็นจากมือผู้ผลิตถึงผู้บริโภคโดยตรง เลยมาลงตัวที่พืชสวน ความตั้งใจคืออยากผลิตวัตถุดิบดีๆ พืชผัก สวนครัวไทย ผัก ผลไม้ตามฤดูกาล รสชาติดี มั่นใจเรื่องความปลอดภัยว่าไม่มีสารพิษใดๆ ตกค้างแน่นอน

ขายอาหารไม่พัง
ขายอาหารไม่พัง

ช่วงแรก เริ่มจากขายผักตามฤดูกาลปลอดสารพิษในหมู่บ้าน ช่วงนั้นยังทำไม่เยอะ ทำตามกำลัง เพราะไม่มีแรงงาน ไม่มีเครื่องจักรช่วยทำงาน ทำกันเองกับสามีสองคน เลยไปค่อนข้างช้า ช่วงแรกก็ขายในหมู่บ้านบ้าง ส่งตลาดบ้าง แต่ด้วยความที่ ผลผลิตเรา เราภูมิใจมากว่าได้รับการดูแลอย่างปราณีต ฟูมฟักอย่างดี แต่กลับได้ราคาปกติเท่าที่ผักอื่นๆ ได้ทั่วไป แม่ค้าที่รับซื้อ ไม่ค่อยใส่ใจว่า จะปลอดสารพิษหรือเปล่า เน้นสวยอย่างเดียว (แต่ผักเราสวยนะ อร่อยด้วย 😂) พอเจอแบบนี้ก็รู้ว่าเราเลือกตลาดผิด เลยลองหาช่องทางใหม่

เริ่มจากการหาลูกค้าประจำที่เป็นร้านอาหาร แล้วลองส่งวัตถุดิบให้เขาชิม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบที่สามารถส่งระยะทางไกลได้ มีผลกระทบเรื่องรสชาติและคุณภาพน้อย  เขาอยากได้อะไร เราก็จะวางแผนการปลูกให้ เพื่อจะได้มีผลผลิตส่ง ประจำ ซึ่งเกรดที่เราส่งให้เป็นเกรดส่งออก แต่ขายในราคาไม่แพงเท่าเกรดส่งออก (แต่ราคาสูงกว่าในตลาดสดทั่วไป) ไปได้ดีมาก มีร้านอาหารประจำหลายร้านทำให้เราเลี้ยงตัวเองได้ จนมาเจอโควิดทำให้ร้านอาหารที่เป็นลูกค้าประจำต้องปิดลง ออร์เดอร์ แบบ grow for your kitchen ก็ชะงัก และนอกเหนือจากสถานการณ์โควิด ก็ยังมีเรื่องฤดูกาลที่เราควบคุมไม่ได้ ปีที่แล้ว ฝนตกชุก น้ำท่วม ทำให้พืชผักเสียหาย เรื่องนี้เราแก้ไขไม่ได้ แต่เราเริ่มใหม่ได้ พร้อมๆ กับหาวิธีป้องกันภัยธรรมชาติไปด้วย ทำได้นะ แค่ต้องใช้เวลาและใจ

ตอนนี้ก็ตั้งใจว่าจะเริ่มทำใหม่ ซึ่งก็น่าจะเริ่มจากการวางแผนเพาะปลูก ว่าจะปลูกอะไร ส่งให้ใคร ผักชนิดไหนที่ตรงโจทย์เรา และมีความต้องการใช้สูง และหาลูกค้าใหม่ เพราะเราเคยทำได้มาแล้ว เริ่มใหม่อีกครั้งก็ได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีลูกค้าประจำอยู่ เป็นนแบบปลูกอะไรก็ได้ ถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งมา รับหมด เพราะเขาเคยสั่งพืชผัก ผลไม้ของเราไปแล้ว ติดใจทั้งรสชาต และ คุณภาพ ตอนนี้เลยเริ่มแบบนี้ ค่อยๆ ทำไป ค่อยๆ ขยาย ทำตามกำลัง

ชีวิตชาวไร่ชาวสวนสอนเราว่า ไม่ว่าคุณจะทำอะไร หาสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี  ตั้งใจ ใส่ใจ ปรารถนาดี สนุกกับสิ่งที่ทำ มี passion กับมัน อุปสรรคปัญหาใดก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ 

โสรวีร์ พาลี

ร้าน kitchens’s one

ร้านอาหารฟิวชั่นข้างทางสไตล์บ้านๆ ไม่แมสไม่โดนใจใครหลายๆ คน

FB: https://www.facebook.com/profile.php?id=100057503197551&mibextid=LQQJ4d

จากชีวิตมนุษย์เงินเดือนในเมืองหลวง สู่การลาออกจากงานที่กทม. แล้วกลับสู่บ้านนอกที่อ. พานทอง จ. ชลบุรี ในวันที่อายุก็ 30 แล้วและไม่รู้จะทำอะไรดี จะไปเป็นพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะแถวบ้าน… อายุขนาดนี้เขาคงไม่รับ >< พอดีกับมีพาร์ทเนอร์เป็นเชฟโรงแรมก็เลยคุยๆ กันว่าทำร้านดีมั้ย ในที่สุดก็ได้ทำ เพราะไม่รู้ว่าจะไปทำมาหากินอะไรช่วงนั้น

ชีวิตใหม่ในฐานะเจ้าของร้านอาหารเหมือนจะสวยหรู แต่เปล่าเลย มาพร้อมปัญหา 108 มาก กระทั่งเปิดมาถึง 10 ปีในวันนี้แล้ว ก็ยังมีปัญหาทั้งเรื่องคน เรื่องเพื่อนบ้าน เรื่องสถานที่ที่ต่อเติมลานจอดรถในช่วงปีที่ 4 แต่ต่อเติมเสร็จแล้วเจ้าของที่ไม่ให้จอด ก็เลยตัดสินใจย้ายร้าน ลงทุนใหม่ทั้งที่ของเก่ายังไม่ได้คืน หนักสุดคือช่วงโควิดที่ต้องปิดหน้าร้านไป 2 ปี เพราะสู้ต่อไม่ไหว โชคดีที่แม้จะปิดหน้าร้านแต่ก็ยังมีลูกค้าใช้บริการตลอด ทั้งอาหารกล่อง จัดเลี้ยงที่บ้าน ตอนนี้เลยกลับมาเปิดหน้าร้านอีกรอบ

2 ปีที่ปิดหน้าร้านไป ลำบากลำบนถึงขั้นไปขายที่ตลาดนัด นั่นโน่นนี่ไปเรื่อย เตรียมของ เตรียมอุปกรณ์ ขนข้าวของ แสนจะเหนื่อย ถ้าเป็นข่วงหน้าฝนนี่ยืนร้องไห้กลางสายฝนได้เลย สู้ชีวิตมาก แต่ชีวิตสู้กลับ บอกได้คำเดียว… ถ้าคุณไม่ได้ใช้เงินบริหาร เหนื่อยแน่นอน เตรียมตัวเตรียมใจไว้ได้เลย

กัมปนาท ศิลาวรรณ

ร้าน blahnanafella

ขายเค้กกล้วยหอม ซอฟต์คุกกี้ฯ แซนวิชโบราณ ชีสเค้กหลายรสชาติ อร่อยมากๆ

FB: www.facebook.com/blahnanafella

IG: www.instagram.com/blahnanafella.bkk

อดีตอาร์ทไดเรคเตอร์สำนักพิมพ์แสงแดดและเว็บไซต์ KRUA.CO แล้วยังเป็นพิธีกรรายการกินให้ยับใน KRUA.CO ด้วยนะ ชาวครัวน่าจะคุ้นหน้ากันดี หลังออกจากครัวดอทโค เป็นช่วงโควิดกำลังพีค ว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไรเลยขุดทักษะที่ตัวเองมีทุกอย่างมาใช้ แล้วทำขนมได้ เลยคิดว่าทำขนมขายแบบออนไลน์ก็ดี เลยใช้ทักษะการออกแบบฯ ของตัวเองมาทำ Visual ทั้งหลายของร้าน ตั้งแต่โลโก้ ถ่ายรูป ฟู้ดสไตลิสท์ ออกแบบอาร์ทเวิร์ค แพ็คเกจ โชคดีที่ทำขนมได้อยู่แล้ว แค่ใช้เวลาปรับสูตรให้ลงตัว ตอนแรกโพสต์ขายเพื่อนแค่เค้กกล้วยหอมธรรมดาๆ โพสต์กี่รอบก็ขายหมด เลยได้ใจเปิดเพจขายจริงจัง ล่าสุดที่ร้านมีทั้งเค้กกล้วยหอม ซอฟต์คุกกี้ฯ แซนวิชโบราณ และชีสเค้ก งอกเมนูขึ้นเรื่อยๆ จะ 20 เมนูแล้ว

แต่ด้วยความที่เป็นหน้าใหม่ ไม่เคยขายมาก่อน โจทย์คือจะทำยังไงให้มีลูกค้าใหม่ๆ กระจายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ก็พยายามทำรูปลักษณ์ของร้านให้ดึงดูดผู้คน ส่วนรสชาติก็อาศัยการบอกต่อปากต่อปาก เพราะไม่ได้มีงบในการโปรโมทเยอะ แล้วได้ผลตรงที่ 95 เปอร์เซนต์ของลูกค้าบอกว่าขนมอร่อย ไม่หวานมาก ราคาเป็นมิตร หลายๆ คนจึงกลับมาอุดหนุน

ช่วงสู้ชีวิตก็มี ตอนนั้นลูกค้าสั่งขนมลงกล่องจำนวนเยอะ ความเป็นหน้าใหม่ก็เลยชะล่าใจ ไม่เผื่อวัตถุดิบไว้ในกรณีทำเสีย ก็ทำคนเดียวข้ามคืนเพื่อจัดส่งตอนสายของอีกวัน แต่แล้วก็มีเหตุเกิดตอนตีสาม อบขนมพัง จะทำเพิ่มวัตถุดิบก็ไม่พอ แถมเครื่องผสมวัตถุดิบก็เสียตอนรุ่งเช้า เวลานั้นหาซื้อที่ไหนก็ไม่มีขาย ก็โทรไปขอโทษลูกค้าที่ทำให้ไม่ครบจำนวน โชคดีที่เขาน่ารักมาก เข้าใจว่าเราพยายามที่สุดแล้ว ก็รีบเอาขนมลงกล่องส่งลูกค้าจากสุขุมวิทไปปิ่นเกล้า ลุ้นมากว่าจะไปทันเวลาจัดงานเขาไหม แต่ก็ทัน กลับมาบ้านคือนอนสลบกับพื้นห้อง

เรื่องสำคัญสำหรับคนคิดจะหันมาขายของกินคือคำนวณรายรับ รายจ่าย ต้นทุน กำไรให้ดี จริงใจกับลูกค้า ไม่เอาเปรียบลูกค้า บริการเขาให้ดี และอยากให้สู้ แล้วต้องรักในการทำอาหารจริง เพราะมันเหนื่อยมาก ทำแต่ละทีเหมือนไปออกรบ

บทความเพิ่มเติม

บทเรียนชีวิตของนักศึกษาวิชาอาหาร – ชยานันท์ เมฆสุด

“มันออร์แกนิกที่จิตใจ” วิถีเกษตรเท่สไตล์ James500

ซาว อุบลฯ อาหารในบ้านสู่แรงบันดาลใจพัฒนาบ้านเกิด

เชฟเต้น-ทะเลจันทร์ แค่รัก (ขนมหวาน) ยังไม่พอ

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS