ดับร้อนด้วย ‘มังคุดอินทรีย์’ ฤทธิ์เย็น หวานสดชื่น

12,131 VIEWS
PIN

image alternate text
เรื่องเล็กๆ ที่ไม่เคยรู้ของ 'มังคุดอินทรีย์' รสหวานสดชื่น ผลไม้ฤทธิ์เย็น และฤทธิ์ยา ที่ช่วยดับร้อนในวันอากาศอบอ้าว และเรื่องราวที่จะพาคุณไปจนสุดทางอร่อยอย่างยั่งยืน

ฤดูร้อน แม้มาพร้อมไอร้อนที่ทำเราเหงื่อไหล แต่ก็ยังมอบความสดใสของผลไม้หลากชนิดให้ด้วย ทว่าในบรรดาผลไม้ฤดูร้อนไล่ตั้งแต่ทุเรียน เงาะ ลิ้นจี่ ลองกอง ฯลฯ บางชนิดอาจให้รสสดชื่น กินแล้วดับกระหาย แต่ไม่คลายร้อนอย่างที่คิด เพราะมีฤทธิ์ร้อนเกือบทั้งหมด ควรกินแต่พอดี กินมากร่างกายสะสมความร้อน เกิดอาการร้อนในได้

เว้นแต่ ‘มังคุด’ ที่เป็นผลไม้ฤทธิ์เย็น แต่สรรพคุณของมังคุดจะออกเต็มที่ก็ต่อเมื่อ ‘น้ำดี ดินดี อากาศดี’ จึงชวนไปรู้จัก ‘มังคุดอินทรีย์’ ส่งตรงจากสวนที่แวดล้อมด้วยระบบนิเวศดี พร้อมประมวลคำบอกเล่าจากปราชญ์เกษตรอินทรีย์อย่างคุณรัฐไท พงษ์ศักดิ์ หัวหน้าศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจชุมชนปัถวี จ.จันทบุรี ให้เราได้รู้จักผลไม้ดับร้อนรูปทรงสุด cute อย่างมังคุดมากยิ่งขึ้น

ความหวานมาก-น้อย ไม่เกี่ยวกับสายพันธุ์ แต่ขึ้นอยู่กับดินดี

ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับสายพันธุ์แน่ๆ เพราะมังคุดมีอยู่พันธุ์เดียว คือ ‘พันธุ์พื้นเมือง’ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเท่านั้น ไม่มีการกลายพันธุ์ จึงไม่ได้แบ่งแยกคุณลักษณะด้วย DNA แต่แยกความต่างกันด้วยพื้นที่ เราเลยได้ยินว่า มังคุดภาคใต้ มังคุดเมืองจันท์ มังคุดระยอง ฯลฯ สภาพภูมิประเทศที่แตกต่างทำให้รูปผลเล็ก-ใหญ่ ขั้วสั้น-ยาว และรสชาติแตกต่างกันบ้าง แต่ยังไงๆ รสก็ไม่หลุดไปจาก ‘หวานอมเปรี้ยว’ เว้นแต่มังคุดที่ผลิตด้วยกระบวนการอินทรีย์ ที่พี่รัฐไทบอกว่ามีรสชาติหวานกว่า หอมกว่ามังคุดทั่วไป และในหนึ่งต้นให้รสหวานเหมือนเสมอกันทั้งต้น เพราะมีระยะเวลาซึมซับสารอาหารในดินดีอย่างเต็มที่เท่าๆ กัน ไม่มีสารเคมีเร่งการเจริญเติบโต

มังคุดอินทรีย์ เก็บผลอย่างทะนุถนอม

เห็นเปลือกหนาอย่างนี้ แต่มังคุดเป็นผลไม้ที่บอบบางมาก ชนิดที่ว่าหากได้รับแรงกระทบ หรือมีมือดีบีบผลเล่นละก็ จะเกิดปฏิกิริยาไล่ตั้งแต่เปลือกแข็งยันเนื้อกลายเป็นไต กินไม่ได้ มังคุดทั่วไปเมื่อเก็บมาแล้วจึงต้องผ่านกระบวนการ ‘ชุบสารกันเชื้อรา’ เคลือบผิว (ซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการพ่อค้าคนกลาง) เพื่อยืดระยะเวลาการเก็บรักษา และให้ทนต่อแรงกระทบ สารดังกล่าวหยุดปฏิกิริยาของเนื้อมังคุดไม่ให้กลายเป็นไตหรือเน่าเสียจากแรงกระทบกระเทือนได้ จึงเอื้อต่อการขนส่ง

ส่วนวิธียืดอายุให้ ‘มังคุดอินทรีย์’ เก็บได้นาน ขนส่งได้ไกลจึงต้องอาศัย ‘ความประณีต’ ของชาวสวนที่บรรจงเก็บผลต่อผล เลือกผลที่เปลือกไม่บางเกินไปสำหรับการขนส่ง พิถีพิถันจนถึงขั้นตอนลงกล่องส่งต่อไปยังผู้บริโภค แทนการชุบยา และด้วยเซลล์ที่แข็งแรงตามธรรมชาติของมังคุดอินทรีย์ หากไม่ได้รับแรงกระทบกระเทือนก็อยู่ได้นานเกือบ 20 วัน

มังคุดเป็นยา ใช้ประโยชน์ได้ทั้งผล

มังคุดมีฤทธิ์เย็น ช่วยคลายร้อนได้ดี จนมีคำกล่าวที่ว่า กินทุเรียนแล้วให้กินมังคุดตามเพื่อเอาฤทธ์เย็นเข้าสู้ (ถึงรู้อย่างนี้แต่ก็แนะนำให้กินอย่างพอดี) ส่วนเปลือกมังคุดมีมูลค่าไม่แพ้เนื้อ เพราะมีสารแซนโทน (XANTHONE) มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เครือข่ายของพี่รัฐไท ขายเปลือกมังคุดให้กับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น นำไปสกัดทำยาฆ่าเชื้อ เป็นยาปฏิชีวนะ (สมัยก่อนผู้เฒ่าผู้แก่บ้านเราเขาก็ใช้เปลือกมังคุดตากแห้งเก็บไว้ฝนกับน้ำปูนใสทำยาดื่มแก้ท้องเสีย ทาแผลพุพอง อักแสบ โรคผิวหนังอย่างกากเกลื้อนและสิวมานานแล้ว)

ปัจจุบันที่เครือข่ายไม่ได้ส่งเปลือกไปขายเพราะเก็บไว้แปรรูปเอง ได้ทั้งสบู่ โลชั่น ครีมอาบน้ำ และน้ำมังคุดซึ่งสกัดโดยใช้เนื้อผสมกับเปลือก น้ำมังคุดเป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ พี่รัฐไทบอกว่าถ้าแจงสรรพคุณตามหลักภูมิปัญญาที่กินกันมานาน น้ำมังคุดนั้นให้ความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า เพราะมีฤทธิ์เย็น แต่สรรพคุณทางยาของมังคุดจะให้ผลได้ 100 เปอร์เซนต์ ก็ต่อเมื่อมังคุดอยู่ในสภาพดินดี ไม่มีสารเคมี ถ้ากินมังคุดเคมี นอกจากเสพรสชาติ สรรพคุณทางยาแทบไม่มี เพราะถูกบล็อกด้วยสารเคมีปนเปื้อน สารเร่งการเจริญเติบโตต่างๆ

อากาศไม่ดี บางปีไม่ได้กิน

สันนิษฐานว่ามังคุดมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่หมู่เกาะซุนดา (แถบมาเลเซีย อินโดนีเซีย) ชอบอากาศร้อนชื้น จึงปลูกได้ดีทางภาคใต้และภาคตะวันออกของไทย ด้วยรูปทรงน่ารักรสชาติหวานอมเปรี้ยวหอมเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ได้รับฉายา Queen of Fruits ถูกใจทั้งไทยเทศ แม้เป็นที่ต้องการ แต่ไม่สามารถควบคุมการผลิตให้ออกมาเยอะได้ เพราะการให้ดอกออกผลมีดินฟ้าอากาศเป็นองค์ประกอบสำคัญ ฤดูกาลต้องไม่แปรปรวนนัก อย่างปีนี้ผลผลิตมังคุดแถบภาคตะวันออกค่อนข้างน้อยเพราะฝนตกชุก ไม่มีระยะเวลาให้กระทบหนาว กระทบแล้ง ฝนมาแบบต่อเนื่อง บางปีบางสวนไม่มีสักลูก ปีไหนมาก-น้อย ก็เหมือนกันทั้งจังหวัดและไม่เว้นว่าเคมีหรืออินทรีย์ แม้ไม่สามารถควบคุมปริมาณได้ แต่ที่สวนเกษตรอินทรีย์ควบคุมได้ทุกปีคือคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค

มังคุดผิวเรียบ ผิวลาย ผิวสายเลือด?

‘สายเลือด’ เป็นคำที่ชาวสวนเรียกมังคุดผลสีเขียว มีเส้นสีม่วงอมแดงเหมือนสีเลือดเป็นสายเป็นปื้นรอบผล บางคนเข้าใจผิดว่าเป็นมังคุดอ่อน จริงๆ แล้วเป็นมังคุดแก่ระยะเก็บเกี่ยว เมื่อสอยลงมาจากต้น มังคุดก็จะค่อยๆ สุกเป็นสีม่วงแดงจนม่วงเข้มทั้งผล เจอมังคุดแบบนี้เมื่อไหร่มั่นใจได้เลยว่าเพิ่งสอยสดๆ ลงมาจากต้น แก่จริงๆ รอให้สุกก็กินได้อร่อย

ส่วน ‘มังคุดผิวเรียบ’ กับ ‘มังคุดผิวลาย’ ฟันธงให้หายคาใจว่าไม่ใช่มาตรวัดรสชาติ แต่มีผลต่อความน่ากิน ผิวเรียบมันสวยชวนกินจึงราคาดี และวิธีที่จะทำให้ผิวเกลี้ยงเกลา คือฉีดยาป้องกันแมลงอย่างพวกเพลี้ยไฟ ในระยะออกดอก ติดผล ส่วนชาวสวนอินทรีย์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะใช้ยาหมักจากพืชสมุนไพรฉีดกำจัดแมลง ผลที่ได้อาจไม่สวยเท่าเคมีแต่ก็ไม่ขี้เหร่จนเกินไป

เกร็ดเกี่ยวกับมังคุด รู้แล้วอร่อย กินสนุก

  • เนื้อในมังคุดมีกี่กลีบ ดูได้จากก้น ที่ก้นมังคุดจะมีกลีบอยู่ จำนวนของกลีบจะเท่ากับกลีบเนื้อในเป๊ะๆ คราวหน้าก่อนกินลองสำรวจก้นมังคุดดูค่ะ
  • มังคุดลูกเล็กๆ อร่อยกว่า ที่อร่อยเพราะความเสี่ยงที่จะเจอมังคุดเนื้อแก้วมีน้อย (เนื้อแก้ว คือเนื้อใส แข็ง รสชาติจืดๆ) มักเกิดกับกลีบเนื้อใหญ่ๆ และกลีบใกล้เคียง ซึ่งมังคุดลูกเล็กๆ เสี่ยงน้อยเพราะกลีบเนื้อเล็กตามลูก และมีเนื้อแน่น อร่อย สาเหตุการเกิดเนื้อแก้วยังไม่แน่ชัด ธาตุอาหารอาจไม่สมดุล หรือได้รับน้ำมากเกิน แต่! บางคนก็ชอบกินเนื้อแก้วนะ เขาว่ากรอบดี อันนี้แล้วแต่รสนิยม
  • เมล็ดกินได้ เมล็ดมังคุดเมล็ดใหญ่ๆ ก็กินได้ ไม่มีพิษภัย เคี้ยวพร้อมเนื้อรสชาติมันๆ

 

กินมังคุดอินทรีย์ สนับสนุนระบบนิเวศที่ดี

เดิมพี่รัฐไทก็ทำสวนผลไม้ด้วยกระบวนการเคมี แต่เมื่อผลลัพธ์ที่ได้จากการทำเกษตรเคมีนำไปสู่การตั้งคำถามกับตัวเองถึงความมั่นคงในชีวิตของตนและคนรุ่นลูก จึงตัดสินใจหันกลับมาทำเกษตรอินทรีย์ แม้การเริ่มต้นนั้นยากแต่มีจุดตั้งต้นคือ ‘ใจ’

“ใครก็ทำได้ สิ่งแรกที่ต้องมีคือ ‘ใจ’ ถามตัวเองว่าเราห่วงรายได้ หรือความมั่นคงของลูกหลานกันแน่ รุ่นเรายังป่วยไข้ขนาดนี้ แล้วรุ่นลูกเราจะเป็นยังไง ระบบนิเวศแวดล้อมจะเป็นยังไง ในเมื่อน้ำที่ออกจากสวนไหลลงดิน ลงแหล่งน้ำธรรมชาตินั้นไม่สามารถใช้อุปโภคได้เลย อากาศรอบๆ ไม่บริสุทธิ์เลย”

ผลผลิตมังคุดอินทรีย์ส่วนใหญ่ขายส่งตรงถึงผู้บริโภค และห้างสรรพสินค้าบางแห่งในกรุงเทพฯ ไม่ผ่านล้ง (สถานที่ที่พ่อค้าคนกลางรับซื้อผลไม้) ไม่ขายรวมกับเกษตรเคมี ปัจจุบันมีสวนทั่วจังหวัดจันทบุรีเกือบ 40 สวนอยู่ในเครือข่ายศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจชุมชนปัถวี เช่นเดียวกับเกษตรกรอีกหลายคน หลายจังหวัดที่หันมาทำเกษตรอย่างปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งต่อความมั่นคงในชีวิตและระบบนิเวศยังคนรุ่นต่อไป ในฐานะผู้บริโภคร่วมขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตและระบบนิเวศที่ดีได้ ด้วยการสนับสนุนผลผลิตจากสวนเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ

 

แนะนำสวนอิินทรีย์ สั่งมังคุดอินทรีย์มาดับร้อน หรือลิ้มรสผลไม้อินทรีย์ชนิดอื่นๆ ได้ที่

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS