Oh! Vacoda คาเฟ่ที่อยากให้ทุกคนรักอะโวคาโด

3,040 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
เพราะเราอยากเห็นคนไทยทุกคนกิน (อะโวคา) โด้!

ก่อนที่จะเป็นผลไม้ยอดนิยมหน้าตาคุ้นเคย กาลครั้งหนึ่งผลไม้ทุกชนิดเคยเป็นอาหารแปลกหน้ามาก่อน จนกระทั่งมีคนมาพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะกับการกินมากขึ้น มีคนสร้างสรรค์เมนูต่างๆ เพิ่มขึ้น มีการส่งต่อส่วนขยายพันธุ์ไปยังดินแดนอื่นๆ เรียกว่ากว่าผลไม้สักอย่างจะเป็นผลไม้มหาชนได้ก็ใช้เวลานานโข – กับ ‘ลูกเนย’ ก็เช่นกัน

ลูกเนย เป็นชื่อไทยของอะโวคาโด ผลไม้ท้องถิ่นจากเม็กซิโก เนื้อสัมผัสคล้ายเนย เนียนละเอียด มีรสชาติหอมมันเป็นเอกลักษณ์ นอกจากความหอมมันชุ่มฉ่ำของอะโวคาโดแล้ว สิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ก็คือคุณค่าทางอาหาร เพราะอะโวคาโดถือเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงที่สุดในโลกทีเดียว

อย่างไรก็ตามที บางทีรสชาติหอมมันของอะโวคาโดก็แปลกลิ้นเกินไปสำหรับคนไทยส่วนหนึ่ง ทำให้ไม่เป็นที่นิยมมากนัก นอกจากนี้ในผลดิบยังมีสารแทนนินที่ให้รสขมอยู่มาก หากใครเผลอไปกินลูกดิบเข้ารับรองว่าเป็นอันต้องเข็ดไปตลอดชีวิต หลายคนจึงพลาดประโยชน์มหาศาลและความอร่อยในแบบของอะโวคาโดไปอย่างน่าเสียดาย

แต่ Oh! Vacodaไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น

Oh! Vacoda ผวนมาจาก อะโวคาโด

ชื่อคาเฟ่แห่งนี้ถูกคิดขึ้นมาง่ายๆ ซนๆ อย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วความหมายของการพลิกกลับชื่ออะโวคาโดนี้ยังหมายถึงการหยิบจับเอาผลไม้ไขมันดีชนิดนี้มาพลิกแพลงให้เข้าปากคนไทยมากขึ้น ดังนั้นมันจึงกลายเป็นทุกอย่างที่เอาเข้าปากแล้วเคี้ยวกร้วมๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเค้ก ชีสเค้ก ไอศกรีม กาแฟ ชา สมูตตี้ หรือแม้กระทั่งผัดกะเพรา! นั่นก็เพราะ เพียงพลอย – รุจิยาทร โชคสิริวรรณ และบอม – วัชรพงษ์ ทองยาน เจ้าของร้านทั้งสองคนออกแบบเมนูขึ้นโดยมีเป้าหมายหลักคือการทำให้อะโวคาโดเป็นที่รักของทุกคน

เพียงพลอย – รุจิยาทร โชคสิริวรรณ และบอม – วัชรพงษ์ ทองยาน

“ถ้าไปเม็กซิโก จะเห็นเลยว่าอะโวคาโดมันมีหลายอย่างมาก มีลูกยาว มีลูกอ้วน มีลูกกลม แล้วเมื่อก่อนมันเป็นผลไม้ที่ไม่ได้มีค่าเลย คนกินไม่ได้ จนกระทั่งคุณลุงแฮช (RudolphGustav Hass) หยิบมาพัฒนาสายพันธุ์เมื่อไม่กี่สิบปีนี้เอง 60-70 ปี แต่จริงๆ มันเป็นผลไม้ที่เกิดมานานแล้วนะ แค่ไม่มีใครกิน มันเหมือนผลไม้อะไรสักอย่างที่คนไม่รู้จะกินยังไง จนคุณลุงแฮชมาพัฒนาสายพันธุ์ เพราะฉะนั้นอะโวคาโดถือเป็นผลไม้ใหม่ของโลกด้วย เป็น New world fruit”

เพียงพลอยเริ่มเล่าประวัติอะโวคาโดให้เราฟัง เราจึงได้ถึงบางอ้อว่ารูปคุณลุงฝรั่งที่ติดอยู่ตรงผนังร้านด้านหนึ่งนี่คือคุณลุงแฮชผู้มีคุณูปการต่อวงการอะโวคาโดทั่วโลกนั่นเอง

“เราชอบอะโวคาโดเพราะมันทำได้ทั้งของคาวและของหวาน แต่ด้วยความที่มันเป็นผลไม้ที่ยังค่อนข้างใหม่ ตอนที่เราเริ่มทำร้านนี้เรามีปัญหามาก เพราะคนไทยลองของใหม่ยาก กลายเป็นว่าเราต้องเล่าให้ฟังก่อน โชคดีที่เราเปิดร้านมาพร้อมๆ กับกระแสอะโวคาโดทั่วโลกกำลังบูม แต่ถามว่ายังต้องอธิบายอยู่ไหม ก็ยังต้องอธิบายอยู่ (หัวเราะ)

“ร้านเราตั้งแต่เปิดมาก็คือตั้งใจเลยว่าไม่อยากให้เป็นแค่ร้านอะโวคาโดแฟนซี ทำเมนูให้ถ่ายรูปแล้วสวยแค่นั้นจบ แต่เราอยากใช้อะโวคาโดกับทุกเมนู เครื่องดื่ม อาหาร เค้ก ขนม ชา ค็อกเทล เพราะเราอยากให้ทุกคนกินอะโวคาโดได้ ซึ่งจริงๆ โครงการหลวงพัฒนาสายพันธุ์มานานแล้ว แค่คนไทยไม่นิยมกิน” เพียงพลอยบอกความตั้งใจเบื้องหลังการออกแบบแต่ละเมนูของร้าน ยิ่งยืนยันความคิดของเราที่ว่า ภายใต้ภาพลักษณ์แบบคาเฟ่สดใส จริง ๆ แล้ว Oh! Vacoda ต้องทำการบ้านมาหนักกว่าที่คิด

“ยิ่งอะโวคาโดพื้นเมืองยิ่งยาก เพราะมันติดรสขม เสี้ยนมันเยอะ ในร้อยลูกจะมีเจอลูกที่อร่อยมากๆ แค่ 10% เองมั้ง เพราะฉะนั้นคนไทยก็เลยมีมุมมองว่าอะโวคาโดมันยิ่งไม่อร่อยเข้าไปใหญ่ อีกอย่างหนึ่งก็คือคนไทยไม่รู้วิธีกิน เพราะส่วนใหญ่อะโวคาโดดันไปอยู่ในอาหารต่างชาติ ไปอยู่ในสลัด มันเอามาทำอาหารไทยไม่ได้ ร้านเราเลยพยายามทำทุกเมนูให้อะโวคาโดเป็นอาหารที่ถูกปากคนไทยให้ได้ เพราะเราอยากหยิบอะโวคาโดไทยมาใช้มาก” บอมเสริมก่อนเราจะเริ่มลงมือจัดการเมนูอะโวคาโดยอดนิยมประจำร้าน

เริ่มเรียกน้ำย่อยกันด้วย Avoothie (150 บาท) สมูตตี้อะโวคาโดที่ลบภาพอะโวคาโดแบบเดิมๆ ด้วยการเพิ่มรสเปรี้ยวชื่นใจจากมะนาว กลายเป็นอะโวคาโดปั่นเนื้อหนึบที่มีความสดชื่นนำขบวน เคล็ดลับความอร่อยของขวดนี้ไม่ใช่ความซับซ้อนอื่นใดเลย เพียงแค่เลือกใช้อะโวคาโดที่มีคุณภาพดี นำมันมาปั่นให้เนื้อเนียนละเอียดแล้วใส่น้ำมะนาว ไม่ต้องเติมน้ำตาล นม หรือส่วนประกอบอื่นใดทั้งสิ้น เป็นความข้นนวลเนียนของอะโวคาโดในอีกมิติหนึ่งที่ไม่ว่าจะรักหรือไม่รักอะโวคาโดก็ควรลอง ที่สำคัญคือเมนูนี้หากซื้อเป็นแบบ takeout ก็ยกไปทั้งขวดได้เลยแบบ zero-wasted เพียงแค่วางเงินมัดจำค่าขวดเพิ่มไว้นิดหน่อย (15 บาท) เมื่อนำขวดมาคืนทางร้านก็จะคืนเงินมัดจำให้เต็มจำนวน

ไปต่อกันที่จานหลักอย่าง กะเพราอะโวคาโดชิปส์ (190 บาท) เมนูที่เห็นแล้วต้องยกนิ้วให้กับความครีเอท สมกับมอตโต้ของร้านที่บอกว่าเป็น Bangkok styled avocado cafe ด้วย เพราะคนกรุงเทพฯ น่าจะเป็นคนกลุ่มที่กินผัดกะเพราเยอะที่สุดในโลกก็ว่าได้ (ฮ่า) Oh! Vacoda ก็เลยจับผัดกะเพรามารวมกับอะโวคาโดมันเสียเลย ออกมาเป็นเมนูผัดกะเพรารสจัด กินคู่กับอะโวคาโดชุบเกล็ดขนมปังทอด เซอไพรส์ก็คือตัวอะโวคาโดทอดเองก็มีการปรุงกลิ่นรสกะเพราซ่อนไว้อยู่แล้ว เราจึงเพลิดเพลินกับการหยิบมากินเปล่าๆ เป็นสแน็กมากๆ ซึ่งไม่ควรลอกเลียนแบบเพราะสุดท้ายแล้วอะโวคาโดจะหมดก่อน ข้าวจะเหลือ!

กินคาวแล้วไม่กินหวานก็พาลจะไม่ครบสำรับ เราจึงเลือกจิ้มเอา The real avocado cheesecake (175 บาท) เป็นเมนูลำดับต่อมา ซึ่งเห็นชื่อกับหน้าตาก็อดขำไม่ได้ เพราะนี่คือ ‘the real’ ชีสเค้กอะโวคาโดจริงๆ เนื่องด้วยว่ามันมีหน้าตาเหมือนอะโวคาโดจำลอง เป็นเวอร์ชันการ์ตูน 3D ของอะโวคาโด ที่ออกมาแบบเป็นป๊อปอาร์ตนิดๆ รสชาตินวลเนียนแต่หนักแน่นด้วยความหอมมันของอะโวคาโด เบรกความมันด้วยความกรุบกรอบของครัมเบิ้ลที่เป็นฐาน และรสชาติที่เข้มขึ้นของส่วนเม็ดอะโวคาโด (ซึ่งก็เป็นช็อกโกแลตที่ทำมาจากอะโวคาโดอีกนั่นแหละ) เชื่อแล้วว่าเป็นเดอะเรียลอะโวคาโดชีสเค้กจริงๆ

ปิดท้ายกันด้วยกาแฟให้จบบ่ายของวันนี้อย่างสมบูรณ์ ด้วย Affocado (145 บาท) ไอศกรีมสีเขียวรสหวานฉ่ำ มีความหวานมันจากอะโวคาโด ตัดด้วยรสเข้มข้นจากเอสเพรสโซ่ช็อตร้อนๆ ที่ราดลงบนเนื้อไอศกรีม เป็นความรู้สึกก้ำกึ่งระหว่างของคาว ของหวาน และกาแฟ ตักกินได้เพลินๆ แบบหมดถ้วยไม่รู้ตัว

นอกจากนี้ยังมีเมนูน่าลองอีกอย่างคือชาอะโวคาโด ชาเฮาสต์เบลนด์ที่ใส่เม็ดอะโวคาโดเข้าไปด้วย ซึ่งเมนูนี้เกิดจากความตั้งใจจะไปให้ถึงการเป็น zero wasted café ให้สุดทางด้วยการเอาเม็ดอะโวคาโดซึ่งเป็นส่วนที่เหลือทิ้ง นำมาแปรรูปโดยการทำให้แห้งแล้วเบลนด์ให้เป็นรสชาติต่างๆ นอกจากจะได้ชาที่มีอาฟเตอร์เทสต์แบบถั่วนิดๆ เคลือบอยู่ในช่องปากแล้ว ชาจากเม็ดอะโวคาโดยังมีสารที่ช่วยเรื่องการลดความอ้วนและลดไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้อีกด้วย

อะโวคาโดไทย ไปทางไหนดี?

ระหว่างนั่งกินสารพัดเมนูอะโวคาโดเราก็ถือโอกาสคุยเจ๊าะแจ๊ะกับเจ้าของร้านทั้งสองคน ซึ่งเป็นทั้งคนครีเอทเมนูและเป็นคนทำเองทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ จึงได้เรื่องเซอร์ไพรส์เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอย่างก็คือบางเมนูของร้านเลือกใช้อะโวคาโดไทยเป็นส่วนผสมด้วย – ถ้าไม่บอกเราก็คงคิดว่าใช้อะโวคาโดพันธุ์แอชทั้งหมด เพราะความหอมมันและคุณภาพของอะโวคาโดไม่ต่างจากสายพันธุ์แฮชเลยเชียวล่ะ

“เราเริ่มใช้อะโวคาโดไทยในเมนูของเราตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว เพราะว่าช่วงปลายปีอะโวคาโดไทยมีค่อนข้างเยอะ และคุณภาพคาดหวังได้ แต่ว่ามันก็จะสวิงนะ ขึ้นๆ ลงๆ ทั้งๆ ที่มาจากสวนเดียวกัน คนขายคนเดียวกัน เรารู้เลยว่าเขาปลูกเอง ดูแลเอง เพราะเราไปคุยกับเขามาโดยตรง แต่กลายเป็นว่า ที่ส่งมา อาทิตย์นี้อร่อยมาก อีกอาทิตย์หนึ่ง ไม่อร่อยเลย ใช้ไม่ได้ มันสวิงมาก ก็เลยค่อยๆ ปรับ ต้องผสมแฮชเข้าไปด้วย เพื่อให้รสชาติอยู่ตัว คือเราไม่สามารถใช้อะโวคาโดไทยได้ทั้งหมดในตอนนี้หรอก ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่ยังไงเราก็คิดว่าควรจะต้องใช้อะโวคาโดไทยด้วย เพราะว่ามันคือการสนับสนุนเกษตรกร

“ตอนนี้เกษตรกรปลูกอะโวคาโดกันเยอะ แต่ไม่มีแหล่งระบาย มีเกษตรกรทักมาหาเราในเพจเยอะมาก อยากส่งอะโวคาโดให้ เพราะเขาปลูกไว้แต่ไม่รู้จะส่งไปให้ใคร เราก็อยากช่วยนะ แต่คุณภาพมันยังแรนดอมมาก เราต้องค่อยๆ เลือก บอกให้เขาลองส่งมาก่อน ไม่ต้องมาก ถ้ามีฟีดแบ็กยังไงเราจะส่งไป แต่ปัญหาคืออะโวคาโดเซนสิทีฟกับอุณหภูมิมาก เก็บยาก ส่งมาให้ 10 กิโลกรัม เราน่าจะเอามาใช้ได้จริงๆ ไม่ถึงครึ่ง เป็นทุกล็อตเลย เราก็ต้องยอมเสียต้นทุนไป” เพียงพลอยเล่าในขณะที่มือยังง่วนเตรียมเมนูใหม่เสิร์ฟลูกค้าโต๊ะอื่น ก่อนที่บอมจะพูดต่อ

“อะโวคาโดไทยส่วนใหญ่จะเรียกว่าพันธุ์พื้นเมือง คือตอนได้เม็ดมาปลูกเกษตรกรไม่รู้ว่ามันคือพันธุ์อะไร ปลูกไปปลูกมามันก็มีลักษณะที่คละกันมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจริงๆ แล้วพันธุ์พื้นเมืองก็จะมียิบย่อยอีกเป็นร้อยๆ สายพันธุ์เลย เพียงแต่เราเรียกรวมๆ ว่าพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งข้อดีของเขาก็มีนะ คือลูกใหญ่ ราคาถูกกว่าอะโวคาโดนำเข้า แต่ข้อเสียคือจืด เสี้ยนเยอะ

“เราพยายามสังเกตว่าช่วงไหนที่พอจะใช้สายพันธุ์พื้นเมืองได้ก็จะหยิบมาใช้ เดี๋ยวนี้อะโวคาโดในไทยมีขายเยอะแยะไปหมด ช่วงกลางปีก็จะเป็นพันธุ์ปีเตอร์สันที่ลูกกลมๆ เหมือนลูกแอปเปิล เม็ดใหญ่ พันธุ์นี้จะเนื้อคล้ายๆ แฮชเลยแต่มีเสี้ยนเยอะกว่า ต่อมาก็จะเป็นบูท 7 บูท 8 ก็จะทรงคล้ายๆ กัน เม็ดใหญ่เหมือนกัน แต่จะลูกโตกว่า แล้วหลังจากนั้นก็จะเป็นพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งต้องวัดดวงเอา ถ้าใช้ได้ก็ดี ใช้ไม่ได้ก็ต้องตัดใจคัดทิ้ง (หัวเราะ)

“จริงๆ เราเชื่อว่าอะโวคาโดไทยน่าจะไปได้ไกลว่านี้นะ เพียงแค่ว่าเกษตรกรเรายังไม่มีรู้วิธีดูแล และเราไม่ได้มีระบบขนส่งที่เข้าใจผลไม้มากเท่าไร ส่งมาแบบชื้นก็เน่า ส่งมาแบบร้อนก็เน่า ต้องอยู่ในอุณหภูมิที่ค่อนข้างต่ำ คือถ้าช้ำมาก็นับถอยหลังได้เลย ทั้งที่จริงๆ เส้นศูนย์สูตรประเทศเราก็พอๆ กับเม็กซิโก เราก็ควรจะปลูกอะโวคาโดดีๆ ได้เหมือนกัน”

การอยู่ตรงกลางระหว่างโลกที่วัดผลด้วยคุณภาพของสินค้ากับโลกที่วัดผลด้วยคุณภาพชีวิตของเกษตรกรคงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในขณะที่ Oh! Vacoda กำลังสนุกสนานกับการแปลงโฉมอะโวคาโดเป็นเมนูต่างๆ แต่อีกด้านหนึ่งก็คือบทบาทของการเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภคด้วย เพราะว่าเส้นทางของ ‘ลูกเนย’ ในไทยยังคงมีด่านต่างๆ ให้ข้ามผ่านกันอีกมากมาย

แม้ทางเดินของอะโวคาโดสู่การเป็นผลไม้สายมหาชนจะยังคงอีกยาวไกล แต่ทว่าจุดเริ่มต้นอย่างที่เราเห็นในวันนี้ก็งดงามและอร่อยมากเลยทีเดียวล่ะ

Avo Fun Facts!

  • อะโวคาโดสายพันธุ์แฮช ถูกตั้งชื่อขึ้นตามผู้พัฒนาสายพันธุ์อย่าง Rudolph Gustav Hass ซึ่งเอาสายพันธุ์อะโวคาโดพื้นเมืองในเม็กซิโกมาปรับปรุงใหม่ จนได้สายพันธุ์ที่มีเนื้อเนียน ผลเล็ก รสชาติหวานมัน หลังจากนั้นอะโวคาโดจึงกลายเป็นผลไม้ที่แพร่หลายไปทั่วโลก
  • ชาวญี่ปุ่นเรียกอะโวคาโดว่า ‘เนยแห่งป่า’ (森のバター) เพราะมีรสเหมือนเนย ส่วนชาวจีนเรียกว่า ‘ลูกแพร์จระเข้’ (鳄梨) เพราะอะโวคาโดมีผิวเหมือนจระเข้
  • การเลือกอะโวคาโดคือเรื่องปราบเซียน แต่บอมและเพียงพลอยเผยวิธีสังเกตง่ายๆ ก็คือ หากเป็นอะโวคาโดสายพันธุ์แฮช ให้เลือกซื้ออะโวคาโดยการสังเกตที่สีเปลือก ลูกที่สุกพอดีแล้วเปลือกจะเป็นสีม่วงเข้ม ส่วนอะโวคาโดพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกในไทยเปลือกจะไม่เปลี่ยนสี ต้องเลือกโดยการใช้วิธีกด
  • การเลือกอะโวคาโดโดยใช้วิธีกด ทำได้โดยการกดเบาๆ บนผิวอะโวคาโด โดยเฉพาะส่วนท้ายของผล หากนิ่มดีแสดงว่าอะโวดาโดสุกพร้อมกิน สาเหตุที่ต้องกดส่วนท้ายของผลก็คือ โดยธรรมชาติแล้วอะโวคาโดจะสุกไล่ลงมาจากขั้วผล ดังนั้นหากเลือกกดดูเฉพาะขั้วผลอาจได้ลูกที่ด้านบนสุกแต่ด้านล่างยังดิบอยู่นั่นเอง
  • ปัจจุบันมีเกษตรกรบางส่วนออกมาขายอะโวคาโดผ่านช่องทางออนไลน์เองโดยตรง ลองเสิร์ชดูตามโซเชียลมีเดียต่างๆ แล้วเลือกซื้อตามอัธยาศัย นอกจากจะได้อะโวคาโดคุณภาพมาตรฐานในราคาเป็นมิตรแล้ว ยังได้สนับสนุนเกษตรกรอีกด้วย

Oh Vacoda Café

พิกัด: ซอย อารีย์สัมพันธ์ 4 แขวง สามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
เวลาเปิด-ปิด: 12:00 – 20:00 (ปิดวันอังคาร)
Instagram: https://www.instagram.com/ohvacoda/
โทร: 0805697892

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS