Sweet Chef รายการแข่งทำขนมที่กินได้จริง

5,254 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
คาเฟ่สีม่วงอ่อนที่หยิบเอาเมนูผู้ชนะจากรายการแข่งทำขนมมาให้ผู้ชมได้ลิ้มรสกันแบบเทปต่อเทป

พลังของรายการแข่งทำอาหารคือการได้เห็นเมนูซึ่งผ่านวิธีคิดมาอย่างดีและพิถีพิถันในการนำเสนอของผู้เข้าแข่งขัน หวังชนะใจกรรมการเพื่อผ่านเข้ารอบต่อไป แต่ปัญหาคือเมนูเหล่านั้นปรากฏเพียงครั้งเดียวในเกมและเราในฐานะคนดูก็ไม่รู้ว่าจะตามไปกินที่ไหนต่อ นี่จึงเป็นช่องทางให้รายการแข่งทำขนม Sweet Chef Thailand ต่อยอดสู่ธุรกิจในโลกคู่ขนาน ด้วยการเปิดร้านขนมขึ้นเพื่อขายเมนูในรายการให้เราตามไปพิสูจน์ได้จริง

สุภาสนา สิริแสงทักษิณ (เสื้อขาว) ผู้จัดการร้าน Sweet Chef Cafe และเหล่าผู้เข้าแข่งขันเจ้าของสูตรขนมต่างๆ
สุภาสนา สิริแสงทักษิณ (เสื้อขาว) ผู้จัดการร้าน Sweet Chef Cafe และเหล่าผู้เข้าแข่งขันเจ้าของสูตรขนมต่างๆ

ในทีวี Sweet Chef Thailand ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 20.15 น. ทางช่อง Workpoint ส่วนในโลกจริงนั้น Sweet Chef Café ตั้งอยู่ที่สยามสแควร์ ซอย 3 โดยจะมีเมนูใหม่หมุนเวียนเข้าร้านทุกวันจันทร์ทันทีหลังรายการออกอากาศหนึ่งวัน นี่เป็นการแข่งขันที่วัดผลแพ้ชนะจากกติกาในรายการ และประเมินได้จริงจากยอดขายในร้านซึ่งผู้เข้าแข่งขันเจ้าของสูตรจะได้เปอร์เซ็นต์จากยอดขายของเมนูตัวเองด้วย นับเป็นนวัตกรรมความบันเทิงด้านอาหารที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

วิรัตน์ เฮงคงดี ผู้ผลิตรายการ Sweet Chef Thailand
วิรัตน์ เฮงคงดี ผู้ผลิตรายการ Sweet Chef Thailand

วิรัตน์ เฮงคงดี ผู้ดำเนินการผลิต ในนาม ‘โต๊ะกลม’ เป็นผู้ผลักดันแนวคิดที่พยายามสร้างช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ๆ ภายใต้การแข่งขันในธุรกิจทีวีดิจิทัลที่ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ โดยเขาอธิบายว่า “ธุรกิจสื่อถูก disrupt ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะสื่อออฟไลน์ วิทยุ โทรทัศน์ บิลบอร์ด แมกกาซีน เราจัดให้อยู่หมวดเดียวกัน เพราะเราถูกออนไลน์ช่วงชิงพื้นที่ ปีหนึ่งสมมติมี 7-8 หมื่นล้านบาท ที่เป็นเม็ดเงินของสินค้าทั้งหมดรวมกันโยนลงมาเพื่อโฆษณา แบ่งไปให้ทีวี วิทยุ บิลบอร์ด นั่นนี่ ทุกวันนี้เงินก้อนนี้มีเท่าเดิม ซึ่งเวิร์คพอยต์เราก็ยังสามารถเข้าไปแย่งชิงเค้กก้อนเดิมได้อยู่ มันก็ใหญ่พอที่จะหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมได้แหละ แต่ยากสำหรับทีวี เพราะคู่แข่งมีทั้งออนไลน์และสองคือการประมูลช่องดิจิทัลทำให้เกิดช่องโทรทัศน์ขึ้นมา 24 ช่อง แต่เดิมเรามีแค่ 4-5 ช่อง สมมติเรามีร้อยบาท แบ่งกัน 5 ช่อง บางคนอาจจะได้ 50 บาท บางคนอาจจะ 40 บาท บางคนแค่ 10 บาท น้อยหน่อยแต่ทุกคนอยู่ได้

“การมีทีวีขึ้นมาหนึ่งช่อง เราต้องคิดแล้วนะว่าหนึ่งชั่วโมงจะได้ตังค์เท่าไรจากการที่เราทำคอนเทนต์ออกไป ถ้าหนึ่งชั่วโมงนี้เราใช้ตังค์หนึ่งหมื่นบาท วันหนึ่งต้องใช้เงินแสนสอง ต่อเดือนก็ราวๆ สามล้านหก ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีทางที่เราจะใช้ทุนสร้างต่อรายการแค่หมื่นเดียว คิดดูว่าต้องใช้เงินเท่าไรที่จะทำให้ช่องอยู่ได้ แล้วทั้งอุตสาหกรรมมันเท่าไร ในขณะที่งบโฆษณามันมีอยู่เท่าเดิม เพราะฉะนั้นมีคนตายแน่นอน”

ร้านตกแต่งให้ไปในทิศทางเดียวกับฉากรายการ โดยมีไอเดียเป็นเรือนคหบดีที่มีไว้รับรองแขกพิเศษด้วยเมนูซึ่งมีที่นี่ที่เดียวในโลก แต่ลดทอนความเป็นทางการให้ดูใกล้ชิดผู้คนด้วยรายละเอียดที่มาจากเครื่องใช้ในครัวอย่างไม้นวดแป้ง ที่ตีไข่ เป็นต้น และในร้านจากเปิดเพลงที่ราวกับอยู่ในเทพนิยาย
ร้านตกแต่งให้ไปในทิศทางเดียวกับฉากรายการ โดยมีไอเดียเป็นเรือนคหบดีที่มีไว้รับรองแขกพิเศษด้วยเมนูซึ่งมีที่นี่ที่เดียวในโลก แต่ลดทอนความเป็นทางการให้ดูใกล้ชิดผู้คนด้วยรายละเอียดที่มาจากเครื่องใช้ในครัวอย่างไม้นวดแป้ง ที่ตีไข่ เป็นต้น และในร้านจากเปิดเพลงที่ราวกับอยู่ในเทพนิยาย

เมื่อช่องทางการสร้างรายได้หลักของธุรกิจโทรทัศน์ไม่ได้เติบโตขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ผู้ผลิตต้องหาวิธีสร้างคอนเทนต์เพื่อนำไปสู่รายได้จากช่องทางที่แตกต่างจากเดิมเพื่อการหล่อเลี้ยงธุรกิจและการเติบโต “ก่อนหน้านี้เรามองเค้กก้อนเดิมตลอด บางทีเราอาจต้องไปหาเค้กก้อนอื่นบ้าง เพราะโลกนี้ยังมีเค้กอีกหลายก้อน จริงๆ ตลาดรถยนต์มีมูลค่าเท่าไร ตลาดเครื่องดื่มมีมูลค่าเท่าไร ตลาดที่อยู่อาศัยมีมูลค่าเท่าไร ทำไมเราไม่เคยไปสนใจ แล้วเราไปขอแบ่งกับเขาบ้างได้ไหม แต่จู่ๆ จะให้เราไปทำร้านอาหาร ทำรถยนต์ ก็คงไม่ใช่ เราก็เลยวนกลับมาหาจุดแข็งตัวเองว่าที่จริงเราทำอะไรเป็น ปกติคนเขามาจ้างเราโฆษณาสินค้า เพื่อให้คนรู้ว่าของของคุณดียังไง เราเลยพยายามมาคิดว่าเราทำอะไรได้บ้าง ก็มาสู่รายการอาหาร ซึ่งรายการแข่งทำอาหารก็มีเยอะแล้ว ดูแล้วก็อยากกินแต่มันหากินไม่ได้”

“ชูปาเปา” โดย ลี่ พรชนัน (EP 1)
“ชูปาเปา” โดย ลี่ พรชนัน (EP 1)
“มูสหยดน้ำผึ้ง” โดย โนเบล กัญจนพร (EP 1)

ถูกของวิรัตน์ที่ว่ารายการแข่งทำอาหารนั้นมีเยอะแยะ ในฐานะผู้ผลิตรายการทีวีเขาจึงพยายามตีโจทย์รายการแข่งทำอาหารเสียใหม่เพื่อสร้างความต่าง จนนำมาสู่รายการแข่งทำขนม “ประชากรเป็นผู้หญิงราว 70% ซึ่งผู้หญิงและเด็กคือคนที่กินขนม ไม่ว่าผู้หญิงจะโตแค่ไหนก็กินขนม และขนมเป็นอะไรที่โคตรอารมณ์เลย เพราะมันไม่มีตรรกะในการกิน ไม่ต้องคำนึงว่ากินแล้วจะอ้วนหรือผอม ไม่มีขนมชิ้นไหนบอกว่าดีต่อสุขภาพแล้วจะขายดี เพราะคุณกินขนมก็เพื่อต้องการความอร่อย คุณยอมผิดบาปเพื่อการกินขนมแล้วเดี๋ยวค่อยไปลดอย่างอื่นเอา มันเป็นอาหารที่มีแพชชั่นมากเพราะมันนำมาซึ่งความสุข

“ไอติมกะทิ รักเก่าที่บ้านเกิด” โดย อิน ณรงค์ฤทธิ์ (EP 2)

“แนวคิดไม่ได้ยาก แต่การทำให้มันเกิดขึ้นได้จริงนั้นยากกว่า” วิรัตน์เปิดหัวข้อสนทนาใหม่กับเรา “ต้องมั่นใจว่ารายการอยู่ในพื้นที่ที่คนเห็น รายการต้องสนุก ร้านต้องพร้อม แล้วทั้งสองอย่างต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน” นี่แหละความสนุกในโลกแห่งความเป็นจริง “ตอนแรกเราคิดใหญ่กว่านี้อีก คือขนมที่คุณได้เห็นสามารถไปกินตามร้านกาแฟที่มีสาขาทั่วประเทศ แล้วเราก็ไปคุยกับเขาก่อนจะเข้าไปคุยกับผู้ใหญ่เพื่อมีอะไรไปแสดงให้เห็นว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่สิ่งสำคัญคือขนมเราต้องหน้าตาดีด้วย เพราะในรายการคนเขาไม่ได้ชิมก็ไม่รู้หรอกว่ามันอร่อยยังไง การพรีเซนต์ก็ต้องสำคัญ มันเลยมีความเป็น fine dine ซึ่งแบบนี้ไม่สามารถจัดส่งได้ทั่วประเทศ มันต้องไปกินที่ร้าน สุดท้ายเลยสรุปที่ร้านเดียวเล็กๆ อย่างน้อยให้คนรู้สึกว่าต้องตั้งใจเดินทางไปเพื่อจะได้กินจริงๆ แล้วแฮปปี้สมกับที่รู้สึกอยากกินตอนเห็นมันในรายการ”

เพื่อให้การเดินทางของทั้งรายการแข่งทำขนมกับร้านขนมในโลกแห่งความจริงเดินทางมาบรรจบกันอย่างลงตัว จึงต้องอาศัยผู้ที่มาดำเนินการร้านอย่างจริงจัง และควบคุมทุกรายละเอียดไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งร้าน การนำเสนอขนมแต่ละอย่าง กระทั่งสูตรขนม โดยเฉพาะแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อความอยู่รอดในระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับทุกรายละเอียดที่นำเสนอเอาไว้ สุภาสนา สิริแสงทักษิณ คือผู้ที่มารับช่วงต่อนั้น เธอเล่าว่า “ร้านนี้คิดขึ้นพร้อมรายการเลย อย่างงานออกแบบร้านก็คิดมาพร้อมกับฉากรายการ มีการแชร์องค์ประกอบกัน เรื่องการเตรียมตัวยากที่สุดเลย ในการที่จะทำเมนูจากการแข่งขันให้เป็นจริง เพราะตอนเข้าแข่งขันเขาใช้วัตถุดิบที่ดีเลิศกันทั้งนั้น เราก็ไม่อยากทำให้มันด้อยกว่า ตอนแรกก็มีคิดกันหลายทาง เช่น หรือเราจะเอาแค่คล้ายๆ ดี แต่ตัวเจ้าของสูตรเองเขาก็ไม่ยอมหรอก เช่น วิปครีม ผู้เข้าแข่งขันคนนี้ใช้ยี่ห้อนี้ อีกคนใช้อีกยี่ห้อ เราก็ต้องเปลี่ยนตามผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งเขาจะแชร์สูตรมาให้เรา แล้วเขาก็จะเข้ามาสอนวิธีการทำเอง ชิมเอง พรีเซนต์เอง รายการออกอากาศทุกวันอาทิตย์ วันจันทร์เขาก็จะเข้าร้านเพื่อดูแลทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้น เอาจริงๆ กำไรต่อจานน้อยมากแทบจะเป็นธุรกิจเพื่อการอยู่รอดไม่ได้ แต่เราอยากให้โมเดลนี้เกิด อยากให้คนได้รับประสบการณ์แบบเดียวกับในรายการจริงๆ ซึ่งก็อาจไม่ได้ตรงเป๊ะร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ให้ใกล้เคียงที่สุด”  

“เค้กบัวบูชา” โดย ลูกแพร์ สุภัชชา (EP 2)

แผนระยะยาวสำหรับ Sweet Chef Café คือไม่ว่ารายการจะได้ไปต่อหรือไม่ในซีซั่นต่อไป นั่นเป็นเรื่องของอนาคต ทว่าเมื่อจบซีซั่นนี้แล้ว ร้านจะยังดำเนินการต่อไปพร้อมเมนูขนมในรายการที่ได้รับความนิยม อีกทั้งยังมีขนมที่จะต่อยอดเพื่อยืนระยะช่วงชีวิตของวิญญาณ Sweet Chef Thailand ให้ยาวนานที่สุด จึงกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าร้านขนมหนึ่งคูหานี้คือความหวานจากผลผลิตความบันเทิงที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง  

น้ำดอกดาหลา เป็นส่วนหนึ่งของขนม “ชิฟฟอนวันฝนแรก” โดย มิน กิตติศักดิ์ (EP 1) และน้ำส้มซ่า เกิดขึ้นเพราะส้มซ่าเป็นส่วนประกอบของ “เค้กส้มฉุนสยาม”โดย บิ๊ก ณัฐศักดิ์ (EP 1) และ “ไอติมกะทิ รักเก่าที่บ้านเกิด” โดย อิน ณรงค์ฤทธิ์ (EP 2)
น้ำมันม่วงนมสด พัฒนาจากการที่ร้านมีสีม่วง

ข้อควรรู้ก่อนไปกินขนมที่ Sweet Chef Café

  1. ควรทำการบ้านด้วยการดูรายการ Sweet Chef Thailand เพื่อให้เห็นความพิเศษของแต่ละเมนูที่มีรายละเอียดซ่อนอยู่อย่างรุ่มรวย แล้วเลือกไว้ในใจก่อนไปสั่งที่ร้าน
  2. จะมีเมนูใหม่เข้าร้านทุกวันจันทร์หลังรายการออกอากาศ โดยแต่ละเมนูจะมีอายุอย่างต่ำสองสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับยอดขายและความยากง่ายในรายละเอียดของแต่ละเมนู ดังนั้นหากเล็งเมนูไหนว่าจะต้องลองสักครั้งในชีวิต ควรไปตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังจากออกอากาศ เพื่อได้ลิ้มรสที่เต็มอรรถรสที่สุด
  3. ด้วยองค์ประกอบของแต่ละเมนูที่มีอยู่อย่างจำกัดในแต่ละวัน จึงทำให้มีจำนวนจำกัดต่อวัน
เชฟขณะทำ“ทาร์ตจู่กว๋อจิง ผลึกแห่งแผ่นดิน” โดย กานต์ วรเมธ (EP 2)

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS