ท่ามกลางความจอแจและสตรีตฟู้ดที่ไม่เคยหลับไหลของเยาวราช ฉันค้นพบบาร์ลับที่เหมาะเหลือเกินกับคำว่า hidden gem ซ่อนตัวอยู่บนชั้น 4 ของตึกเก่าอายุกว่าร้อยปี ความลึกลับนั้นเริ่มตั้งแต่ต้องเดินเข้าไปในตรอกเล็กๆ ถึงหน้าอาคารที่ติดป้ายตัวหนังสือสไตล์โบราณว่าห้างขายยาโพทง เหวี่ยงสายตาไปด้านข้างก็สะดุดกับป้าย Opium Bar ที่มาในฟอนต์สมัยใหม่เรียบเท่พร้อมไฟเลดที่ให้ความรู้สึกแตกต่างกับบรรยากาศแวดล้อมอย่างมีนัยยะ สาวเท้าเข้าไปด้านใน ขึ้นลิฟต์เล็กๆ ไปชั้น 4 เปิดประตูเข้าไปก็พบกับห้องขนาดไม่ใหญ่นักแต่ต้องร้องว้าวกับบรรยากาศบาร์หรูเท่แบบวินเทจ ให้ฟีลเก่าแต่เก๋ ตกแต่งสไตล์จีนผสมไทย ผนังสีดำกับกลุ่มดอกโบตั๋นสีทองสวยจนอดเก็บภาพไม่ได้ และที่กินพื้นที่ไปครึ่งหนึ่งของห้องก็คือบาร์พร้อมเคาน์เตอร์ที่ด้านหลังเป็นชั้นสูงจรดเพดานเรียงรายด้วยเหล้าสารพันชนิด
Opium Bar ไม่มีฝิ่นขาย แต่มีค็อกเทลที่มากับคอนเสปต์ Liquid Surreality แปลแบบตรงตัวก็คือ ‘ของเหลวเสมือนจริง’ แปลแบบให้ได้ความหมายคือของเหลวที่จะชวนให้คุณเคลิบเคลิ้มล่องลอยอยู่ในโลกเสมือนจริงที่อาจจะแยกแยะไม่ออกว่ากำลังฝันหรือตื่น ให้ความรู้สึกหลอนๆ ลอยๆ แบบเดียวกับการสูบฝิ่น อันเป็นส่วนหนึ่งของที่มาของชื่อบาร์ กับอีกส่วนที่ว่าห้องนี้เมื่อกว่าร้อยปีเคยเป็นห้องสำหรับใช้สูบฝิ่น
“ผมไม่ได้จะมอมเมาเยาวชนหรืออยากให้ใครเมานะครับ” เค-อานนท์ ฮุนตระกูล บาร์ไดเรกเตอร์และเจ้าของ Opium Bar หัวเราะ “แต่อยากให้มาร่วมสัมผัสความรู้สึกสุดขอบของความจริงและความฝันที่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยค็อกเทล”
สุดขอบของความจริงกับความฝันนั้นสามารถถูกผลักดันได้ด้วยวิทยาศาสตร์ Opium Bar จึงมากับค็อกเทลแก้วแล้วแก้วเล่าที่ผ่านการทดลอง ทดสอบ วิเคราะห์ พัฒนา
ค็อกเทลในการรับรู้ของคนทั่วไปน่าจะหมายถึงการนำเหล้าโน้นนี้มาผสมกับไซรัป รสชาติหวานๆ กินแล้วเมาง่าย แต่เมื่อมันคือ ‘การผสม’ แน่นอนว่าย่อมจะเปิดช่องให้ความคิดสร้างสรรค์ที่เมื่อรวมกับความใส่ใจในทุกองค์ประกอบ ค็อกเทลแต่ละแก้วจึงเปรียบเสมือนงานทดลองทางวิทยาศาสตร์ ที่มีปลายทางคือสร้างมิติใหม่ เปิดโลกให้ผู้ดื่มทั้งหน้าตา กลิ่น สัมผัส และรสชาติ
“ค็อกเทลเป็นเรื่องของการคิด เพราะมันคือการผสม เราต้องคิดว่ารสชาติแบบนี้มีจริงไหม จะทำได้ยังไง แยกกันก็รสหนึ่ง พอเอามารวมกันกลับกลายเป็นอีกรส หรือหน้าตาแบบนี้แต่รสชาติทำไมไม่เหมือนที่คิด นี่คือความตั้งใจของผม อยากให้คนที่มาตั้งคำถามนี้ และเมื่อดื่มก็อยากให้ได้ความรู้สึกคุ้นชิน ดื่มแล้วนึกถึงสถานที่ที่เคยไปเที่ยว หรือนึกถึงความทรงจำตอนเด็ก ผมพยายามให้ค็อกเทลของเราดึงความรู้สึก ดึงอารมณ์ขึ้นมา รวมทั้งเปิดโลกใหม่ว่าค็อกเทลมันเป็นแบบนี้ได้ด้วยนะ”
เพราะเติบโตมากับการหลบไปเล่นอยู่หลังบาร์ในร้านอาหารไทยของครอบครัวที่ฝรั่งเศสมาแต่เด็ก เคจึงสนุกกับการจับเครื่องดื่มโน่นมาผสมนี่และกลายเป็นความชอบ ที่แม้จะต่อมาเขาจะเป็นเจ้าของร้านอาหารหลายแห่ง แต่การเปิดบาร์ก็เป็นสิ่งที่อยากทำ ไม่รวมเรื่องที่เขาเองก็เป็นนักดื่มและพบเรื่องชวนหงุดหงิดตามประสานักดื่ม เป็นเหตุให้เมื่อลงมือทำบาร์ เขาจึงทำมันจากมุมมองของคนดื่ม
หวานไป เขาบอกว่าค็อกเทลที่นี่หวานน้อย
รสชาติรสสัมผัสจืดจาง เขาย้ำว่าที่นี่ใส่เหล้าเยอะกว่าบาร์อื่นแน่นอน เพราะคิดไปถึงเนเจอร์ของเหล้าที่เมื่อเจอความเย็นจะข้นขึ้น และค็อกเทลเป็นเครื่องดื่มที่ต้องเย็น ความข้นจะให้สัมผัสที่ดีต่อการดื่ม
เมาแล้วแฮงก์ เขายืนยันว่าไม่ต้องห่วงเพราะเลือกใช้เหล้าคุณภาพดี ที่แปลว่ามีส่วนประกอบที่จะเป็นพิษภัยกับร่างกายน้อยกว่า รวมถึงทำไซรัปเองด้วยการปั่นน้ำตาลกับน้ำแทนการต้ม เพราะอ่านเจอจากที่ไหนสักแห่งว่าการใช้ความร้อนจะทำให้โมเลกุลน้ำตาลเปลี่ยนและส่งผลให้แฮงก์
“ไม่มีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์รับรองนะครับ“ เคว่า “แต่ผมคิดว่ามันก็ไม่เสียหายอะไรถ้าเราจะลอง ไซรัปของเราเลยใช้เบลนเดอร์ปั่นน้ำตาลกับน้ำที่อุณหภูมิห้องโดยไม่ผ่านความร้อน”
จริงๆ ฉันควรเก็บไปเล่าตอนท้ายเรื่อง แต่บอกเลยก็แล้วกันว่าแม้จะเมาชนิดเข้าบ้านแล้วภาพตัดหลังดื่มไป 6 แก้วในวันนี้ ทว่ากลับตื่นมาพร้อมอาการปกติ ไม่มึนงง ไม่คลื่นไส้ ไม่ปวดหัวเลยสักนิด… ทฤษฎีนี้ถือว่าได้ผลนะ
ค็อกเทลคือศาสตร์แห่งการผสมเหล้าและไซรัป แต่เหล้ามีหลากหลายชนิด แถมยังหลากหลายยี่ห้อ จินคนละยี่ห้อนำมาทำค็อกเทลก็ให้กลิ่นให้รสไม่เหมือนกัน ความยาก (แต่ก็สนุกด้วย) ของคนทำบาร์ก็คือจะจับอะไรมาใส่กับอะไรเพื่อที่จะส่งเสริมอินกรีเดียนท์ ในแง่มุมนี้การทำค็อกเทลก็ไม่ต่างจากการทำอาหาร ที่ต้องเสาะแสวงหาสูตรและวัตถุดิบที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นเนื้อสัมผัส รสชาติ กลิ่น อย่างที่ต้องการ
“ทุกอย่างมีเหตุผล จะใช้เหล้าอะไรก็ได้ไม่ได้ ต้องเลือก พอมาแนวนี้ก็เลยคิดคอนโทรลไกลไปถึงสิ่งที่จะเอามาผสม” ความสนุกในน้ำเสียงของเคทำให้ฉันอดตื่นเต้นกับสิ่งที่เขาจะคอนโทรลไปด้วยไม่ได้ “อย่างไซรัป ซื้อเอาก็ได้ แต่รสชาติมันไม่เป๊ะ อาจจะหวานไป หรือบางยี่ห้อที่ไม่แพงมาก กลิ่นที่ได้เหมือนที่เจอตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป เพราะมันเป็นกลิ่นสังเคราะห์ เครื่องดื่มกลิ่นพีชสามยี่ห้อกลิ่นเดียวกัน เพราะมาจากคนขายเดียวกัน เราไม่อยากได้แบบนั้น ก็เลยทำเอง กลิ่นอาจจะเบาเมื่อเทียบกับกลิ่นจากผู้ผลิตรายใหญ่ แต่มันมีเสน่ห์ของมันในความอ่อน และค็อกเทลเป็นศาสตร์ของการผสม เราเลยต้องบาลานซ์ไม่ให้มีอะไรที่โดดออกมา”
ที่นี่จึงทำไซรัปเอง ทำจินเอง ใช้เจแปนนีสสเปียร์มิ้นต์และอิตาเลี่ยนเบซิลที่แม้จะไม่ได้เพาะพันธุ์เอง แต่เคปลูกเองที่บ้านหลังได้ต้นมาจากเพื่อน (“มันให้กลิ่นที่มีมิติมากกว่ามิ้นต์และเบซิลทั่วไป แล้วยังมั่นใจว่าออร์แกนิกส์แน่นอนเพราะผมปลูกเอง รบกับฝูงเพลี้ยเอง” เขาหัวเราะ) รวมทั้งของตกแต่งแก้วที่มากับแนวคิด zero waste อย่าง Bloody Mary ค็อกเทล tomato juice ข้นคลั่กที่ Opium Bar ทำเป็นเวอร์ชั่นน้ำใสโดยสกัดเพียง tomato water มาใช้ ส่วนเนื้อมะเขือเทศที่เหลือถูกนำไปปรุงรส บด ปาดบนกระดาษไข อบ กลายสภาพเป็นเหมือนหนังจากเนื้อมะเขือเทศ และใช้ตกแต่งแก้ว
ความครีเอทยังรวมถึงเมนูเล่มโตความหนา 17 หน้ากับเครื่องดื่มจำนวนกว่าร้อยแก้ว แบ่งแบบเก๋ๆ และเข้าใจง่ายตามหมวดเครื่องดื่ม (ไม่ใช่ตามหมวดหล้าแบบที่คุ้นเคย) ไล่เรียงไปตามความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ Apéritif ค็อกเทลเรียกน้ำย่อย จิบเบาๆ ฆ่าเวลาระหว่างรอเพื่อน Lighter/ Low alcohol Cocktails ค็อกเทลแอลกอฮอล์ต่ำ เหมาะสำหรับดื่มก่อนมื้ออาหาร
ฉันได้ลอง Elle Esque (340 บาท) การรวมร่างของอีสานรัมเกาะฝรั่งเศส กับเนียมลิเคียวร์ทำเองจากใบเนียม ที่ให้กลิ่นหอมหวานคล้ายใบเตย แต่เพิ่มความเขียวที่ไม่ได้แปลว่าเหม็นเขียว ผสมกันออกมาให้รสและกลิ่นคล้ายมะพร้าวซะอย่างนั้น เหมาะกับการเป็นแก้วเปิดโลก surreality จริงๆ
Sparkle ค็อกเทลผสมโซดา แต่ Judge Me Not (380 บาท) ก็ไม่ได้ให้ความซ่าขนาดนั้น รสชาติโดยรวมออกเปรี้ยวอมหวานด้วยเหล้าบ๊วยผสมน้ำมะนาว ความเก๋อยู่ที่โฟมเบซิลกลิ่นหอมโรยด้วย Potong Crack หรือผงที่ใช้ทำเมนูไก่ดำปรุงรส หยิบยืมมาจากร้านอาหาร Potong ของเชฟแพมที่อยู่ด้านล่าง (เคบอกว่าเขาหยิบสิ่งละอันพันละน้อยจากอาหารของเชฟแพมมาใช้ในค็อกเทลเยอะเชียว) ยกแก้วขึ้นมาจะได้กลิ่นเค็มนัวเตะจมูก แต่เมื่อจิบจะได้รสชาติหวานอมเปรี้ยวสดชื่นที่เหมือนจะไปกันไม่ได้ แต่ไปกันได้
Hiyajiru (420 บาท) จากหมวด Acid ค็อกเทลที่มีส่วนผสมของซิตรัสและกรดต่างๆ มากับส่วนผสมอย่างสาเก ซุปมิโสะเย็น วาซาบิ น้ำสัปปะรด อบด้วยควันไม้โอ๊คหอมๆ ก่อนเสิร์ฟ เป็นอีกแก้วที่เรียกได้ว่าเปิดโลกแห่งรสชาติ เพราะโดดเด่นด้วยรสเค็มนัวบวกเผ็ดซ่านิดๆ และแม้ระดับความเข้มข้นของเหล้าจะอยู่ที่ระดับ 2 แต่รับรู้ถึงความขมติดลิ้นชัดเจน
Acid+ ค็อกเทลผสมเหล้าตั้งแต่ 2 ประเภทขึ้นไป Solo ค็อกเทลเน้นเหล้าประเภทเดียว ปิดด้วย Duo ค็อกเทลที่ชูโรงด้วยเหล้า 2 ประเภทขึ้นไป หมวดสุดท้ายนี้ได้ลอง Monkey Do (480 บาท) ค็อกเทลสปิริตฟอร์เวิร์ด ไม่เพียงส่วนผสมอย่างน้ำกล้วยสีใส ยังนำจินไปฟรีซกับดอกจำปี รสชาติขมเข้มข้น (แน่นอน เพราะหมวดนี้ ‘แรง’ ที่สุด) แต่ก็ชิลล์กับกลิ่นหอมที่แม้จะอ่อนเบาแต่ก็คุ้นเคย
เมนูแต่ละหน้าดีไซน์เป็นรูปปิรามิด ด้านบนคือค็อกเทลคลาสสิค ด้านล่างซ้ายและขวาเป็นค็อกเทลซิกเนเจอร์ที่ได้แรงบันดาลใจจากตัวบน เพื่อช่วยให้นักดื่มเห็นแนวทางของการไปต่อแก้วต่อๆ ไป แล้วยังมีหมวด Bottle Infusion ค็อกเทลขวดใสเบสิกที่บาร์เทนเดอร์จะอินฟิวส์เพิ่ม แม้เป็นขวดเดิม แต่จะเพิ่มมิติทั้งกลิ่นรสเมื่อรินแก้วต่อๆ ไป และ Non Alcoholic ก็คือม็อกเทล แต่ขอให้ลืมม็อกเทลทั่วไปที่มักให้ฟีลน้ำผลไม้ผสมโซดา เพราะม็อกเทลของที่นี่มากับรสชาติและองค์ประกอบซับซ้อนเหมือนค็อกเทลทุกอย่าง เพียงแค่ไม่ใส่เหล้า
เล่ามาถึงตอนนี้ถ้าคิดว่าครีเอทมากแล้ว ฉันขอบอกว่ายัง! ยังเหลือพระเอกที่ต้องเปิดตัวตอนท้าย นั่นคือโอมากาเสะค็อกเทล คอร์สค็อกเทล 4 แก้วที่แก้วแรกจะออกแบบให้ตรงกับความชอบและตัวตนของผู้ดื่ม และอีก 3 แก้วมาตรฐาน แก้วแรกนั้นบอกว่าเป็นแก้วเดียวในโลกก็อาจจะได้ เพราะต้องจองล่วงหน้า จากนั้นก็กรอกแบบสอบถามออนไลน์ เพื่อทีมจะได้นำไปตีโจทย์ออกมาเป็น LS หรือ Liquid Surreality ค็อกเทลสีใสเหมือนน้ำเปล่า แต่ผ่านการดีไซน์ทั้งรสชาติ กลิ่น และการนำเสนอที่ผู้ดื่มจะต้องถามตัวเองว่านี่มันเรื่องจริงหรือฝัน น้ำเปล่าที่ไม่ใช่น้ำเปล่ามันมีอยู่จริง…
LS ของฉันหน้าตาเหมือนน้ำเปล่าใส่น้ำแข็ง แต่เสิร์ฟพร้อมสเปรย์กลิ่นลาเวนเดอร์ แค่ได้กลิ่นก็สดชื่น จิบแรกให้รสชาติหวานนิดเปรี้ยวน้อยเจือจางอวลเบาอยู่ในปาก จิบต่อไปรสชาติจัดขึ้นพร้อมกลิ่นหอมของอะไรสักอย่างที่ทำให้นึกถึงกลิ่นหญ้าและความสดชื่นของภูเขา จิบสามความเปรี้ยวหวานผสานด้วยความขมของแอลกอฮอล์โดดเด่น เคถามว่าเป็นไปตามที่คาดหวังไหม ก็ต้องตอบว่าใช่ การตอบคำถามเพียง 5-6 ข้อ สามารถตีโจทย์ออกมาได้ขนาดนี้ชวนประทับใจไม่น้อย
ส่วนว่าคำถามคืออะไรบ้างนั้น ขออุบไว้ให้ไปลองกันเอง แล้วลุ้นกันว่าค็อกเทล LS ที่ถูกดีไซน์มาเฉพาะตัวคุณจะทำให้ว้าวได้ขนาดไหน อ้อ แต่อาจจะต้องรอสักนิด เพราะตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเทสต์และหาบทสรุปสำหรับ 3 แก้วในคอร์ส เพื่อจะได้มอบประสบการณ์การดื่มที่พิเศษและเหนือชั้นที่สุดอย่างที่ทีมตั้งใจ ซึ่งน่าจะพร้อมภายในปลายเดือนกรกฎาคมที่ Opium Bar จะแกรนด์โอเพนนิ่ง
ระหว่างนี้สามารถแวะเวียนไปสนุกกับการดื่มแบบที่แม้จะยังให้ความรู้สึกคุ้นเคย แต่ก็เปิดมิติ เปิดโลก เปิดประสบการณ์จริงปนฝันตามความตั้งใจของเคที่อยากให้ Opium Bar เป็นสถานที่สำหรับสังสรรค์พร้อมเอนจอยกับเครื่องดื่มดีๆ ในมือ
“ผมไม่ได้อยากมอมเมาใคร” เคย้ำก่อนเราจะอำลากันในค่ำคืนนี้ “ผมแค่อยากให้ทุกคนได้เอนจอยกับเพื่อนด้วยเครื่องดื่มที่อร่อยขึ้น เหมือนเราเหยาะแม็กกี้ในไข่ดาว เติมเครื่องปรุงในก๋วยเตี๋ยว สิ่งที่เราทำคือเพิ่มความอร่อย เพิ่มความสนุกให้การดื่ม”
Opium Bar
พิกัด: 422 ซอยวานิช 1 เยาวราช
เปิด-ปิด: 17.00-00.00 น. วันพฤหัสบดี-จันทร์ (ปิดวันอังคาร-พุธ)
โทร: 082 979 3950
เว็บไซต์: www.opiumbarbangkok.com