ทริปตามหาทุเรียนอินทรีย์ แถมพ่วงผลไม้สด ปลอดสาร อร่อย ดีต่อใจ

4,738 VIEWS
PIN

image alternate text
หน้าร้อนก็ต้อง 'ผลไม้ไทย' โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'ทุเรียน' ที่เป็นช่วงสุกกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ นั่งทำงานไปไถฟีดไป เจอแต่คนไปกินทุเรียน ไม่ได้แล้ว จุดนี้มันต้องปิดคอมพ์ คว้ากระเป๋า โดดขึ้นรถตู้ เป้าหมายคือจันทบุรี ดินแดนแห่งบุฟเฟต์ทุเรียนและผลไม้ต่างๆ ไปค่ะพี่สมศักดิ์!

แต่ถึงจะหน้ามืดอยากกินทุเรียนแค่ไหน เราก็ไม่ลืมปรัชญาการกินในแบบ KRUA.CO นั่นคือเลือกสรรของที่ดีมีประโยชน์ (พยายามให้) ปลอดโรคที่สุด ในบรรดาสวนผลไม้มากมายหลายสิบของจังหวัด เลยถูกจำกัดวงแคบลงไปที่การค้นหาสวนผลไม้อินทรีย์ ทำการเกษตรด้วยวิธีธรรมชาติปลอดสารเคมี และในที่สุดก็มาลงตัวที่ ‘สวนภูทิพย์ธารา’ สวนเกษตรผสมผสานขนาด 150 ไร่ มีผลไม้หลากหลายชนิดตั้งแต่ทุเรียน ลองกอง มังคุด เงาะ ลำไย สละ ไว้รอท่า และไม่ใช่แค่มากินบุฟเฟต์ผลไม้อย่างเดียว ที่นี่ยังเปิดให้เที่ยวชมสวน เก็บผลไม้จากต้น รวมทั้งการให้ความรู้เชิงเกษตรทั้งการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อทำปุ๋ยขี้ไส้เดือน การเลี้ยงหนอนมะพร้าว การทำปุ๋ยจุลินทรีย์ ไปจนถึงการปลูกผักสวนครัวและดอกไม้

จากอำเภอขลุง ลัดเลาะไปตามเส้นทางขึ้นเขา วกไปเวียนมาเพลินตากับวิวทิวทัศน์สองข้างทางอยู่สัก 30 นาที บ่ายสองโมงเราก็มาถึงสวนภูทิพย์ธารา เนื่องจากมาวันธรรมดา เลยมีคณะคุณลุงอีกคณะเดียวที่เป็นเพื่อนร่วมกินบุฟเฟ่ต์ (ถ้ามาวันเสาร์-อาทิตย์ คนจะเยอะชนิดต้องจองคิวกันยาววว) อาจจะเงียบเหงาไปสักหน่อย แต่ข้อดีคือทั้งน้องนิรินและคุณแม่พรทิพย์ ศิริเจริญธรรม เจ้าของสวนมีเวลาพูดคุยให้ข้อมูล พาเราเที่ยวชมอย่างใกล้ชิดและยาวนาน

ด่านแรกที่รออยู่คือโรงอาหารและร้านค้ากลายๆ เปิดโล่ง ตั้งโต๊ะยาวพร้อมเก้าอี้ กับรอยยิ้มสดใสของนิริน-ลูกสาวของคุณพรทิพย์-เจ้าของสวน ที่กำลังอธิบายความแตกต่างของทุเรียนแต่ละพันธุ์ให้คณะคุณลุงฟังอย่างออกรส เธอหันมาทักทายคณะเราพร้อมถามว่ากินข้าวกินปลามาหรือยัง ถ้ายังเชิญรับประทานข้าวก่อนได้ พร้อมแนะนำเมนูหมูชะมวง แกงสับปะรด ไข่ทอดชะอม และน้ำพริกกะปิ ที่เป็นเมนูเด็ดขึ้นชื่อ เพราะการมาสวนภูทิพย์ธารา นอกจากบุฟเฟ่ต์ผลไม้ตามฤดูกาลแล้ว คุณยังจะได้กินข้าวกับอาหารในแบบคนจันท์ที่ประกอบจากผลผลิตผักสวนครัวปลูกแบบอินทรีย์ในสวนอีก 1 มื้อ จะกินข้าวแล้วถึงกินผลไม้ หรือจะกินผลไม้ก่อนแล้วค่อยกินข้าวก็ได้ ตามแต่ความสมัครใจ

แล้วก็ถึงเวลาที่รอคอย บุฟเฟ่ต์ทุเรียนมาในรูปของทุเรียนสุกเหลืองอร่ามกลิ่นหอมมมมมในถาดซีลพลาสติกใส ซึ่งจะมีทุเรียนพันธุ์ไหนบ้างนั้น ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าช่วงที่เราไปทุเรียนพันธุ์ไหนสุกพอดี อย่างตอนที่เรามานี้มีทุเรียนหมอนทอง ชะนี พิเศษมากๆ คือมีพวงมณีและจันทบุรี 2 มาอย่างละ 1 พูเล็กๆ คุณพรทิพย์บอกว่าเป็นพวงมณีกับจันทบุรี 2 ลูกสุดท้ายของปีนี้ ความที่ไม่ค่อยชอบหมอนทอง กวาดตามองถาด เห็นทุเรียนสีเหลืองเข้ม พูเล็กๆ น่ารัก หน้าตาดูไม่ค่อยคุ้นเคย เลยเลือกคว้าเข้าปากก่อน พูแรกหมดก็หยิบอีกพูที่เหลือทันที (อันนี้เราจะไม่กระโตกกระตากให้เพื่อนร่วมโต๊ะรู้ว่ามันอร่อยมาก ปล่อยให้พวกนางกินหมอนทองกันไป)

จริงๆ เรื่องความอร่อยหรือไม่อร่อยเป็นเรื่องส่วนบุคคล คนที่ชอบหมอนทองอาจจะไม่ชอบพวงมณีหรือจันทบุรี 2 ที่พันธุ์แรกมีความคล้ายคลึงกับชะนี ในขณะที่พันธุ์หลังเป็นลูกผสมของชะนี แต่คนชอบทุเรียนชะนีเป็นชีวิตจิตใจอย่างเรา หลงรักเจ้าสองพันธุ์นี้มาก ทั้งสีเหลืองเข้มแปลกตา รสหวานเข้ม หอมเย็นเข้าจมูก เนื้อสัมผัสเนียนลื่นมีความเหนียวในแบบชะนี ชอบจนรีบบอกว่าขอซื้อกลับบ้าน (กลัวคนแย่ง) แล้วก็ฝันสลายกับคำตอบว่า “หมดแล้วค่ะ ต้องรอปีหน้า” #ร้องไห้ 

นอกจากทุเรียน ข้างๆ ยังมีกระจาดขนาดเขื่องบรรจุมังคุด ลองกอง สละ ลำไย เงาะ ให้ได้ลองลิ้มชิมรสชาติ ซึ่งขอบอกว่ากรุณาสละเวลาจากถาดทุเรียนมาชิมให้หมดทุกชนิด ไม่อย่างนั้นจะถือว่าคุณพลาดมาก เพราะแม้เจ้าผลไม้ประดามีในกระจาดนี้จะไม่มีมงกุฎราชาแห่งผลไม้ไว้เชิดชู แต่มันอร่อยมาก มากแค่ไหน ก็แค่ไม่เคยกินสละ มังคุด ลำไย ลองกอง เงาะ ที่อร่อยขนาดนี้มาก่อนในชีวิตคนเมืองของเรา ซึ่งก็อาจจะเหมือนคนเมืองส่วนใหญ่ ที่การกินผลไม้หมายถึงผลไม้ตามรถเข็นหน้าออฟฟิศ ตามรถกระบะเปิดท้ายที่วิ่งตามตรอกซอกซอย หรือถ้ามีเงินหน่อยก็ไปเดินซื้อผลไม้คัดเกรดในซูเปอร์มาร์เก็ต นี่จึงถือเป็นการมากินผลไม้ (ที่ใกล้เคียงกับคำว่า) สดจริงๆ ครั้งแรก

นางเอกในกระจาดคือสละพันธุ์สุมาลี-สละชื่อดังของจังหวัด แถมสละของสวนภูทิพย์ธารายังได้รางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศถึง 2 ปี นอกจากกลิ่นหอมที่พุ่งเข้าจมูกทันทีที่กัด ยังให้รสหวานจัดเจือเปรี้ยวแค่เพียงเบาบาง เนื้อแน่นกรอบ กัดดังกร๊วบโดยไม่มีน้ำไหลเลอะเทอะ ใครมีความฝังใจว่าสละต้องมีรสอมเปรี้ยว ท้าให้มาชิมสละที่นี่ หวานจนอยากจะหยิบขึ้นมาถามว่าแกเป็นสละจริงๆ หรือเปล่า

นางรองเรายกให้ลำไย จันทบุรีก็มีลำไยนาจา และไม่ใช่แค่มี อีกเช่นกันที่มันคือลำไยที่อร่อยสุดตั้งแต่เคยกินมา ลูกโต เนื้อกรอบเด้ง หวานบาดใจ และไม่มีน้ำไหลเลอะเปื้อนมือเลยสักหยด ไม่รู้เพราะดีงามเบอร์นี้หรือเปล่า ลำไยจันท์เลยไม่ค่อยมีวางขายในท้องตลาดให้คนไทยได้ลิ้มรส เนื่องจากถูกพ่อค้าชาวจีนจองแบบเหมาสวนตั้งแต่ยังไม่ออกดอก แต่สำหรับที่นี่ จะมีการเก็บลำไยบางส่วนไว้ให้ผู้ที่มาชมสวนได้กินและได้ซื้อติดมือกลับบ้านไปบ้าง (แต่ก็ไม่เยอะนะ ช้าหมด อดเช่นกัน) ลองกองกับเงาะก็ทั้งลูกโต หวานหอม เนื้อแน่น และไม่มีน้ำเลอะเทอะ

เรื่องไม่มีน้ำนี้ถือเป็นความแปลกและประทับใจส่วนตัวของเรา เพราะปกติเป็นคนไม่ชอบกินผลไม้ที่น้ำเยอะเลอะเทอะเปื้อนมือ และทั้งสี่ชนิดที่ว่ามาก็เป็นหนึ่งในส่วนที่ไม่ชอบ แต่การมากินที่นี่วันนี้ เปลี่ยนความคิดไปเลย เออ ลำไย สละ ลองกอง เงาะ ที่ไม่มีน้ำไหลย้อยก็มีอยู่จริงวุ้ย และสุดท้ายคือมังคุด ที่แม้เนื้อสัมผัสหรือรสชาติจะไม่ได้แตกต่างจากมังคุดที่กินมาทั้งชีวิตมากนัก แต่มันมีความเนื้อแน่นและสดรู้สึกได้ชัดเจนว่าเพิ่งโดนสอยลงมาจากต้นแน่ๆ นี่สินะคือความฟินนนนนนของการมากินผลไม้ถึงสวน

หลังพุงกางเพราะข้าวและผลไม้ก็ได้เวลากลิ้ง เอ๊ย เดินชมสวนพร้อมเด็ด สอย ชิม แอนด์แชร์ ได้ตามสะดวก น้องนิรินพาเราเดินขึ้นเนินไปยังสวนลำไยที่อยู่ไม่ไกลจากโรงอาหารนัก เห็นช่อลำไยห้อยระย้าสวยงามทำเอาชาวกรุงตื่นตาตื่นใจไปตามๆ กัน เธอยังคะยั้นคะยอบอกให้เด็ดมาชิม (หลังเห็นพวกเรามีความอิดออด เพราะอิ่มมากแล้วจริงๆ) เอาละ ชิมก็ชิม เด็ดมา 1 ลูก แกะเข้าปาก กัดกร๊วบ โอ้โห ที่ว่าหวานๆ ในกระจาดเมื่อกี้ยังหวานได้อีก หวานเจี๊ยบเหมือนน้ำเชื่อม เนื้อแน่นแข็งกรอบ แต่จะมีน้ำมากกว่าลำไยที่วางทิ้งไว้ในกระจาดอยู่สักหน่อย ต้นเงาะก็เห็นแล้ว กำลังออกพวงระย้าสีแดงสดสวย มองหาต้นทุเรียนเป็นลำดับต่อไป เจออยู่ 1 ต้นที่ยังมีผลห้อยอยู่บ้าง ช่างภาพก็สั่งทันที

“พี่ เข้าไปยืนใต้ต้นหน่อย รูปจะได้สวยๆ”

หลังยืนโพสต์ให้นางถ่ายเสร็จสรรพ นิรินที่ยืนยิ้มอยู่ข้างช่างภาพก็ให้ความรู้ว่าเวลาเจอต้นทุเรียน อย่าเข้าไปยืนใต้ต้น หรือถ้าจะยืนใต้ต้นก็ให้แหงนมองให้ดีว่าไม่ได้อยู่ใต้ลูกทุเรียน เพราะทุเรียนที่แก่แล้วหล่นง่ายมาก บางทีแค่ลมพัดก็หล่นปุลงมาเลย แล้วทำไมไม่บอกตั้งแต่ก่อนพี่จะเข้าไปยืนล่ะหนู! (“หนูมองให้แล้วค่ะ ไม่มีทุเรียนอยู่บนหัว ปลอดภัย” เธอหัวเราะ) และก็อย่างที่บอกตอนกินบุฟเฟต์ว่าหลายพันธุ์เหลือให้เราได้กินเป็นลูกสุดท้าย เพราะช่วงนี้ทุเรียนแทบจะวายหมดสวนแล้ว เลยได้เห็นแค่ไม่กี่ต้นที่ยังมีผลห้อยอยู่

ระหว่างเดินลุยหญ้าที่สูงเลยข้อเท้าขึ้นมาหน่อยลัดเลาะไปตามสวน เราโดนทั้งมดทั้งยุงกัดไม่รวมแมลงตัวเล็กที่ไม่รู้ว่าเป็นตัวอะไรอีก นิรินอธิบายว่าสวนของเธอเป็นสวนอินทรีย์ปลอดสารเคมี ใช้วิธีจ้างคนดายหญ้ามานับสิบปี หน้าดินจึงนุ่มมากจนเธอบอกว่าถ้าไม่เกรงใจก็จะให้เราลองถอดรองเท้าเดินย่ำดินแล้วจะพบว่ามันนุ่มจริงๆ อีกทั้งยังให้เราตั้งใจดมกลิ่นให้ดี จะพบว่าอากาศสะอาดบริสุทธิ์ไร้กลิ่นสารเคมีใดๆ ซึ่งก็จริงอย่างที่เธอว่า เพราะทั้งดินทั้งอากาศทั้งต้นไม้มีความสะอาดปราศจากสารพิษ มดแมลงต่างๆ เลยอาจจะเยอะไปสักหน่อย พยักหน้ารับหงึกๆ พร้อมตบยุงข้างแก้มไปด้วย 1 ตัว

ก่อนจะมาเป็นสวนอินทรีย์ สวนภูทิพย์ธาราก็เป็นสวนผลไม้ที่ใช้สารเคมีเหมือนสวนส่วนใหญ่ จนกระทั่งคุณพรทิพย์ฉุกคิดขึ้นมาว่าตัวเธอเองเวลาจะกินอะไรยังต้องเลือกของที่สะอาดปลอดภัย เธอจึงอยากให้ผลไม้จากสวนของเธอสะอาดปลอดภัยสำหรับคนกินด้วยเช่นกัน หลังไปเข้าอบรมเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ เธอก็เริ่มปรับเปลี่ยนสวนให้กลายเป็นสวนอินทรีย์ จากช่วงแรกเริ่มที่ลองผิดลองถูก แบ่งโซนทดลอง ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง อีกทั้งยังต้องลงทุนโดยไม่มีรายได้กว่า 2-3 ปี เนื่องจากต้องรอให้ผลไม้เติบโตและออกดอกออกผล ใช้เวลากว่า  10 ปี วันนี้สิ่งที่สองแม่ลูกลงมือทำปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม ผลผลิตจากสวนภูทิพย์ธาราได้รับการยอมรับทั้งเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย และเป็นหนึ่งในสวนอินทรีย์ที่เป็นตัวอย่างให้เกษตรกรด้วยกันเองและผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้วิธีการทำเกษตรแบบปลอดสารเคมี ซึ่งคุณพรทิพย์บอกว่ายินดีต้อนรับและให้ความรู้อย่างยิ่งเพื่อสนับสนุนให้ทุกคนทำการเกษตรแบบอินทรีย์

เดินไปคุยไป แป๊บเดียวก็ผ่านน้ำตกเข้าสู่พื้นที่ของสวนสละที่ทั้งคุณพรทิพย์และนิรินบอกว่าเป็นสวนที่สวยที่สุด มัวหันหน้าคุยกับสองแม่ลูก หันมาอีกทีก็เผชิญกับดงต้นสละขนาดใหญ่โตสูงท่วมหัว ลักษณะต้นทรงพุ่มประดับเปลือกแข็งและหนามกับใบเรียวยาวเรียงรายกันเป็นระเบียบ เว้นช่องเล็กไว้เป็นทางเดิน เหนือศีรษะมองแทบไม่เห็นท้องฟ้า เพราะต้นสละเบียดบังปกคลุมจนหมด เหมือนอยู่ๆ ก็หลุดจากโลกมาโผล่ในท้องพระโรงของเมืองเอเรบอร์ในหนังเรื่อง The Lord of the Rings ก็อาจจะเว่อร์ไปสักหน่อย แต่นาทีที่หันหน้าไปจ๊ะเอ๋กับสวนสละ มันให้อารมณ์แบบนี้จริงๆ สวย สง่า เย็น สมแล้วกับที่เป็นสวนสวยที่สุดในพื้นที่

และแน่นอน สายกินอย่างเรา เมื่อหายตะลึงกับความงามแล้วก็เหวี่ยงสายตาไปหยุดที่สละพวงใหญ่ระย้าย้อยที่ห้อยอยู่ตามต้น มันช่างอุดมสมบูรณ์ มีทั้งพวงที่เพิ่งติด (ให้ความรู้กันสักหน่อยว่าสละพันธุ์สุมาลีผสมพันธุ์เองไม่ได้ ต้องมีต้นตัวผู้และต้นตัวเมียปลูกแยกกัน จากนั้นมนุษย์เรานี่แหละที่ต้องทำหน้าที่แม่สื่อ จับมาผสมกันเอง ซึ่งที่นี่ก็มีการเลี้ยงผึ้งชันโรงไว้ใกล้ๆ เพื่อให้ผึ้งช่วยทำหน้าที่ผสมพันธุ์อีกอย่าง) พวงที่เริ่มออกผลเล็กๆ น่ารัก ไปจนถึงพวงที่ผลเป็นสีส้มอวบกลมน่ากิน อาจจะเพราะเห็นสายตาเรา นิรินจึงปลิดผลสละออกมายื่นให้ ซึ่งก็อีกเช่นกัน มันจะหวานจะฉ่ำจะกรอบอะไรกันเบอร์นี้ อร่อยมากจนที่ว่าอร่อยๆ นักหนาในกระจาดเมื่อกี้ชิดซ้ายตกคูไปเลย นี่ไงความดีงามของการมาเด็ดผลไม้จากต้นแล้วส่งเข้าปาก สดมาก เด้งมาก ฉ่ำมาก ขอให้มาลอง!

ออกจากสวนสละ ก็เข้าสู่โรงทำปุ๋ยอินทรีย์ มีทั้งปุ๋ยไส้เดือน ที่ใส่ไส้เดือนลงไปในมูลวัวเพื่อให้ไส้เดือนกินและขับถ่ายแปรสภาพเป็นปุ๋ยชั้นดีใส่อะไรก็งอกงาม ซึ่งเป็นปุ๋ยหลักของสวนภูทิพย์ธารา ทั้งน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพ ไปจนถึงการเลี้ยงหนอนมะพร้าวสำหรับส่งขาย ข้อหลังนี้คุณพรทิพย์บอกว่าเห็นเขาทำกันเธอก็ทำบ้างตามประสาคนชอบทำอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ไปเรื่อย

จากสวนสละเรายกขบวนกันขึ้นรถกระบะไปยังสวนมังคุดที่อยู่ห่างออกไปหน่อย ลงเดินชมสวนที่มีภาพภูเขาเป็นฉากหลังสวยงามยามพระอาทิตย์ใกล้ตก แล้วยังได้ลงมือสอยมังคุดเป็นครั้งแรก พยายามใช้ไม้สอยอยู่สักพัก ทำมังคุดเขาตกดินไปหลายลูกก็เปลี่ยนวิธีเป็นด้อมๆ มองๆ หาลูกเตี้ยๆ แล้วเด็ดด้วยมือเอาเถอะ ริจะเป็นชาวสวนคาดว่าจะไม่รุ่งเอาจริงๆ ซึ่งถ้ามังคุดสุกตกดินหรือโดนกระแทกแรงๆ จะเสียของไปเลย แต่ลูกที่เราสอยแล้วร่วงนี้เป็นมังคุดที่ตกได้ เพราะยังไม่สุก สรุปว่าก็ได้สนุกสนานกับการลองสอยมังคุดแล้วเอาลูกทั้งสีเขียว ชมพู ม่วงอ่อน ม่วงแก่ มาเรียงรายกันดูสีสันสวยงามเพลินตา เป็นความสุขแบบเรียบง่ายอย่างที่หาไม่ได้ในเมืองกรุง

ไม่แปลกใจเลยที่ทั้งคุณพรทิพย์และน้องนิรินดูมีความสุขเหลือเกินกับการเดินดูต้นโน้น จับต้นนี้ บอกเล่าถึงเรื่องราวของการปลูก การดูแลผลไม้พันธุ์นี้พันธุ์นั้น ต่อให้ทั้งสองคนไม่ต้องพูดว่า “ทำในสิ่งที่รัก เลยมีความสุข” เราก็สัมผัสได้ชัดเจนจากสีหน้าและรอยยิ้มของทั้งสองคน

สวนภูทิพย์ธารา
ที่อยู่: ตำบลบ่อเวฬุ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
โทร. : 098 635 4699
FB: สวนภูทิพย์ธารา
IG: @Phuthiptara
Line: @phuthiptara

 

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS